BRN แถลงครบ 59 ปีตอกย้ำปม 110 นายกฯเตือนอย่าขยายความ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกลุ่มบีอาร์เอ็น ออกแถลงการณ์และคลิปภาพนิ่งทาง YouTube อ่านคำแถลงในวาระครบรอบ 59 ปีการสถาปนากลุ่มบีอาร์เอ็น ตอกย้ำประเด็นสนธิสัญญาแองโกล-สยาม เมื่อ 110 ปีก่อนทำให้ "ปาตานี" สูญเสียอธิปไตย
คลิปในวาระครบรอบ 59 ปีการก่อตั้งกลุ่มบีอาร์เอ็น มีความยาว 5.59 นาที เผยแพร่ทาง YouTube เนื้อหากล่าวถึงการต่อสู้ของกลุ่มบีอาร์เอ็นเพื่อปลดปล่อยปาตานีจากอาณานิคมของสยาม โดยอ้างว่าปัญหานี้ไม่ใช่ความขัดแย้งใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน แต่เกิดขึ้นเมื่อ 234 ปีมาแล้ว ภายหลังจากสยามยึดครองรัฐปาตานีเป็นเมืองขึ้น ทำให้ชาวปาตานีสูญเสียอธิปไตย แต่อำนาจความเป็นรัฐอธิปไตยของชาวปาตานียังคงอยู่ กระทั่งมีการลงนามสนธิสัญญาแองโกล-สยาม แบ่งแยกดินแดนระหว่างอังกฤษ-สยาม เมื่อปี ค.ศ.1909 หรือ พ.ศ.2452 กลายเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งและปัญหาที่แท้จริง
สยามใช้วิธีกลลวงและแผนชั่วร้ายหลายรูปแบบเพื่อให้รัฐปาตานีสูญหายไปจากแผนที่โลก ทำให้เมื่อ 13 มี.ค.1960 หรือปี พ.ศ.2503 จึงมีการตั้งกลุ่มบีอาร์เอ็นเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิความเป็นเจ้าของรัฐปาตานี พร้อมกันนี้บีอาร์เอ็นขอเรียกร้องให้นานาชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ และขอให้ชาวปาตานีอดทนรอสันติภาพอย่างถาวรที่จะเกิดขึ้นต่อไป
การออกแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็นในวันที่ 13 มี.ค. ตรงกับวันคล้ายวันสถาปนาบีอาร์เอ็นที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 โดยเป็นแถลงการณ์ที่ออกตามหลังความเคลื่อนไหวติดป้ายผ้าและพ่นสีบนถนนเป็นคำว่า "PATANI 110" มาตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดย "PATANI 110" หมายถึงวาระครบรอบ 110 ปีของสนธิสัญญาแองโกล-สยาม ระหว่างอังกฤษกับสยาม ที่ลงนามกันเมื่อวันที่ 10 มี.ค.2452 (ค.ศ.1909) ส่งผลแบ่งแยกดินแดนมลายูออกเป็น 2 ส่วน และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดินแดน "ปาตานี" หรือ "หัวเมืองปัตตานี" เดิม เป็นส่วนหนึ่งของไทยโดยสมบูรณ์
กระทั่งวันอาทิตย์ที่ 10 มี.ค. ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 110 ปีสนธิสัญญาแองโกล-สยามพอดี ได้เกิดระเบิดกว่า 10 จุดใน จ.สตูล และพัทลุง ทำให้ฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า น่าจะเป็นปฏิบัติการที่เชื่อมโยงกันกับปัญหาไฟใต้ และการโหมกระแส "PATANI 110"
วันอังคารที่ 12 มี.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวเรื่องนี้ในเชิงเตือนสื่อมวลชนว่า ต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ที่มีการเผยแพร่ประเด็น 110 ปีสนธิสัญญาแองโกล-สยาม ว่าควรขยายต่อหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องในอดีตที่ผ่านมานานมากแล้ว จึงถือเป็นประวัติศาสตร์ แต่สถานการณ์ปัจจุบันทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้ดี เพราะจะเป็นประวัติศาสตร์ในอนาคต ฉะนั้นจึงขอให้ทุกภาคส่วนอย่าขยายความ ทั้งเรื่อง 110 ปีสนธิสัญญาแองโกล-สยาม และเหตุระเบิดใน 2 จังหวัด เพราะความรุนแรงหากถูกขยายความก็จะเกิดน้ำหนัก สุดท้ายจะกลายเป็นการบีบบังคับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าอันตรายที่สุด
ส่วนความคืบหน้าคึดีระเบิดกว่า 10 จุดใน จ.สตูลและพัทลุงนั้น เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้บางส่วนแล้ว โดยเป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บอกว่า จากการรวบรวมหลักฐานทั้งหมด พบว่าผู้ก่อเหตุเชื่อมโยงกับเหตุระเบิดรูปปั้นนางเงือกที่ชายหาดแหลมสมิหลา อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ปีที่แล้ว เพราะรูปแบบและองค์ประกอบระเบิดที่ใช้มีลักษณะใกล้เคียงกัน ส่วนผู้ก่อเหตุคาดว่ามีไม่เกิน 6 คน เป็นกลุ่มที่มาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
----------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
ถอดรหัส PATANI 110 กับสนธิสัญญาอังกฤษ-สยาม รับรองอธิปไตยไทยเหนือปาตานี?
บึ้มสตูล-พัทลุงพบหลักฐานโยงชายแดนใต้ สงสัยปม 110 - ป่วนการเมือง
บึ้มสตูล-พัทลุงคนร้ายชุดเดียวกัน รัฐตั้ง 3 ปม "การเมือง-ไฟใต้-ภัยแทรกซ้อน"
แฉทีมบึ้มพัทลุง-สตูลมีหน่วยล่วงหน้า เซฟเฮาส์สั่งการ
ชายแดนใต้วุ่นต่อ รัฐรับป่วนใต้ขยายพื้นที่ โยง "PATANI 110"
"ไปป์บอบม์"ถล่มจุดตรวจ สภ.ยี่งอ - พ่นสี 110 ลามป้ายหาเสียง