ฟังเสียงคนชายแดนใต้ "เอา-ไม่เอา" เขตปกครองพิเศษ?
คำสัมภาษณ์ของผู้นำมาเลเซียที่ว่า "เขตปกครองตนเอง" หรือ "เขตปกครองพิเศษ" น่าจะเป็นทางออกของปัญหาไฟใต้ที่ยืดเยื้อมาร่วม 15 ปี กลายเป็นประเด็นแหลมคมอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่ปลายด้ามขวาน
เพราะมาเลเซียมีสถานะเป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ การแสดงทัศนะเช่นนี้ เสมือนเป็นการ "เฉลยข้อสอบล่วงหน้า" หรือไม่?
น่าสนใจว่าความเห็นจากผู้คนหลากหลายกลุ่มในพื้นที่แกนกลางของปัญหาอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้...มองประเด็นนี้อย่างไร
เป็นสัญญาณของขบวนการฯ
อดีตแกนนำบีอาร์เอ็นที่หันหลังให้กับขบวนการแล้ว แต่ยังพำนักอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้ กล่าวว่า โมเดล "เขตปกครองตนเอง" เป็นสูตรสำเร็จที่ทุกคนในขบวนการเข้าใจมาตลอด และเคยมีการสรุปร่วมกันนานแล้วว่า การแบ่งแยกดินแดนเพื่อประกาศเอกราช คือเป้าหมายสูงสุดที่กลุ่มขบวนการตั้งไว้ แต่การต่อสู้ที่ดำเนินมาตลอด 20 ปี ยังไม่มีทีท่าว่าฝ่ายขบวนการจะชนะ มีแต่ทำให้สูญเสีย ฉะนั้นเขตปกครองตนเองจึงเป็นเป้าหมายรองที่เตรียมไว้อยู่แล้ว
"เรารู้มาตลอดว่าการใช้อาวุธไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องหรือจะนำไปสู่ชัยชนะได้ ดังนั้นทุกคนจึงร่วมหารือกันว่า เป้าหมายรองลงมาคือการปกครองตนเอง ถือว่าเป็นแนวทางที่ดีกว่าเราแพ้ หมายความว่าได้มาครึ่งหนึ่งของเป้าหมายก็ยังดีกว่าแพ้หรือต้องสูญเสียประชาชนต่อไป เราเชื่อว่าถึงที่สุดชาวบ้านก็จะเห็นด้วย"
อดีตแกนนำที่ยังสื่อสารกับคนในขบวนการอยู่ตลอด บอกว่า คนในขบวนการแบ่งแยกดินแดนยอมรับความจริงข้อนี้ เพียงแต่ยังไม่มีรัฐบาลไหนที่กล้าทำให้สำเร็จ
"มีแค่พูดว่าจะให้ แต่ไม่เคยให้อย่างเป็นกิจจลักษณะ ตอนนี้ทุกคนก็รอ และการที่นายกฯมาเลเซียพูดออกมาแบบนี้ แน่นอนว่าเขาต้องพูดคุยกับสมาชิกบีอาร์เอ็นมาด้วยแล้วอย่างแน่นอน ถือเป็นการส่งสัญญาณอีกครั้งหนึ่งของขบวนการ" อดีตแกนนำบีอาร์เอ็น กล่าว
ปกครองพิเศษ...สงบแน่หรือ?
จากอดีตแกนนำ ข้ามไปฟังกลุ่มเยาวชนที่เป็นแนวร่วมขบวนการอยู่ในปัจจุบันกันบ้าง น่าแปลกที่แนวร่วมที่รบจริง เจ็บจริง กลับไม่เชื่อว่าโมเดลเขตปกครองพิเศษจะเป็นทางออกที่ทำให้ชายแดนใต้สันติสุข
"ผมเห็นด้วยถ้ารัฐบาลจะให้ชาวปัตตานีปกครองตนเอง แต่ก็อยากจะตั้งคำถามกลับไปว่ารัฐบาลไทยจริงใจมากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างเหมือนอินโดนีเซียกับอาเจะห์ ทุกวันนี้สงบไหม หลังจากที่รัฐบาลอินโดฯให้อาเจะห์ปกครองตนเอง ขอตอบเลยว่าไม่สงบ ฉะนั้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักในเรื่องนี้ด้วย"
เยาวชนแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน บอกด้วยว่า เป้าหมายของการต่อสู้ในความรู้สึกของพวกตน คือการทำให้พี่น้องประชาชนมลายูอยู่ดีกินดีมีความสุข ไม่ใช่เรื่องการแยกดินแดนหรือต้องได้เขตปกครองพิเศษ เพราะโมเดลเหล่านั้นอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดก็ได้
ชาวบ้านไม่อยากได้ ขอแค่อยู่ดีกินดี
ขณะที่ความเห็นจากประชาชนรากหญ้าในพื้นที่อย่าง อัปเสาะ มาหามะ ชาวจังหวัดปัตตานี มองต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
"เราอยู่แบบนี้ก็ดีแล้ว แค่อย่าให้ของแพง ให้ของราคาถูก ยางราคาดีขึ้น ทุกอย่างก็ใช้ได้ ไม่เห็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมาก แค่นี้ชาวบ้านก็พอใจ รัฐบาลไม่มากดหรือรังแกชาวบ้าน เด็กๆได้เรียนหนังสือ ได้มีความรู้ ต่อไปก็จะดีขึ้นเอง เรื่องเขตปกครองพิเศษคิดว่าไม่ต้องก็ได้ เพราะเราอยู่แบบนี้ก็ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปปกครองตัวเอง ไม่ต้องไปแบ่งแยกดินแดนแล้ว ปรับเปลี่ยนอะไรนิดหน่อย ทุกอย่างก็ดีขึ้น และน่าจะทำได้จริงด้วย" อัปเสาะ กล่าว
ตัวแทนไทยพุทธขอดูรูปแบบก่อน
ส่วนท่าทีจากฝั่งพี่น้องชาวพุทธซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย บุษยมาส อิศดุลย์ ประธานกลุ่มเยาวชนนอกระบบบ้านบุญเต็ม ออกตัวว่า ขอดูรายละเอียดของโมเดลก่อนว่าปกครองตนเองระดับไหน และปกครองพิเศษในเรื่องใด จึงจะตัดสินใจได้ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้าน
"กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทย ก็พูดเรื่องนี้มาตลอด เป็นข้อเรียกร้องของเขา ไม่ต่างจากที่ผู้นำมาเลเซียพูด ก็คือการปกครองตนเองแบบไม่แบ่งแยกดินแดน กลุ่มผู้เห็นต่างฯเขาเสนอเรื่องการออกเป็นธรรมนูญของชาติในเรื่องการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม"
บุษยมาส ยังบอกว่า ในช่วงที่การเมืองไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งใหญ่ น่าจะมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับนโยบายดับไฟใต้มากขึ้นจากฝั่งพรรคการเมือง สมมติมีพรรคไหนสนับสนุนแนวคิดเขตปกครองพิเศษ ก็ควรแสดงออกมาให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนตัดสิน หรือหากมีนโยบายการแก้ไขปัญหาแบบอื่นๆ ก็ควรประกาศออกมา และควรเป็นนโยบายที่จับต้องได้ ไม่ใช่ล่องลอยขายฝัน
"จริงๆ แล้วประเทศไทยก็มีเขตปกครองพิเศษ เช่น พัทยา ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกของคนในชาติผิดปกติหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องดินแดน ฉะนั้นถ้าจะทำในสามจังหวัดใต้บ้าง ก็ต้องบอกให้ชัดว่าจะปกครองพิเศษอย่างไร ปกครองตนเองลักษณะไหน"
บุุษยมาส สรุปว่า ยังตอบไม่ได้ว่าจะรับได้หรือรับไม่ได้กับโมเดลเขตปกครองตนเอง เพราะต้องรอดูรายละเอียดให้ชัดเจนก่อน
กระจายอำนาจต้องอยู่ใต้กรอบ รธน.
มีความเห็นจากเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับโมเดล "เขตปกครองตนเอง"
ไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นอดีตคนทำงานในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ สมัยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ศอ.บต. มองว่า เสียงจากผู้นำมาเลเซียคือเครื่องยืนยันว่ากระบวนการพูดคุยฯมีความคืบหน้า และเป็นความคืบหน้าที่ประชาชนสัมผัสได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลทุกชุดยืนยันมาตลอดก็คือ การพูดคุยและการแก้ไขปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องภายในของไทย และจะต้องดำเนินการตามกรอบของรัฐธรรมนูญ
"สิ่งที่รัฐบาลยืนยันมาตลอด ก็คือการพูดคุยฯเป็นเรื่องภายใน เมื่อมีปัญหาความเดือดร้อนเกิดขึ้น ก็มาปรับความเข้าใจกัน พูดคุยกัน โดยไม่ทำอะไรนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญ ไม่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน"
ไกรศร บอกด้วยว่า ข้อตกลงในอนาคตหากจะมีเรื่องการปกครองรวมอยู่ด้วย ก็ต้องดูว่าจะขยับขยายตรงไหนได้บ้าง เช่น การกระจายอำนาจ ก็ต้องดูว่าพื้นที่มีความพร้อมขนาดไหน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็เปิดช่องทางสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนค่อนข้างมาก
"สมาชิก อบต. เทศบาล ก็เป็นคนในพื้นที่อยู่แล้ว เราใช้ประโยชน์ตรงนี้หรือยัง เนื่องจากภายใต้รัฐธรรมนูญไทยก็มีการกระจายอำนาจและสร้างการมีส่วนร่วมด้านการปกครองท้องถิ่นด้วย และวันนี้เราปรับปรุงเพื่อเดินสู่การปฏิรูปเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเกี่ยวพันกับทุกภาคส่วน พร้อมทั้งกระจายงบประมาณลงไป ฉะนั้นหากกำหนดรูปแบบให้ตรงตามความต้องการของประชาชน และตรงตามอัตลักษณ์ของพื้นที่ ก็หน้าจะเดินต่อไปได้" ผู้ว่าฯปัตตานี กล่าว
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : มหาธีร์: ทางออกไฟใต้ไม่ใช่เอกราช แต่อาจเป็นเขตปกครองตนเอง