ไขกลยุทธ์ป่วนใต้...ทำไมก่อเหตุได้ทั้งๆ ที่ด่านเต็มเมือง
เหตุการณ์ลอบวางระเบิดเมื่อช่วงค่ำของวันอาทิตย์ที่ 20 พ.ค.61 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่กลุ่มก่อความไม่สงบเปิดปฏิบัติการแบบ "ปูพรม" คือก่อเหตุหลายจุดพร้อมกัน เพื่อแสดงศักยภาพว่ายังสามารถก่อเหตุได้ และยังทำได้หลายพื้นที่ในคราวเดียว
"สัญญะ" ที่ผู้ก่อเหตุต้องการสื่อถึงสังคมผู้รับข่าวสารก็คือ พวกเขายังมีแนวร่วมอยู่เป็นจำนวนมาก และยังมี "เสรีในการปฏิบัติ"" แทบทุกพื้นที่ แม้แต่ในเขตเมืองหรือย่านเศรษฐกิจที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
สรุปเหตุป่วนใต้เที่ยวล่าสุด มีการก่อเหตุรวมทั้งสิ้น 24 จุด กระจายใน 14 อำเภอของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ความมั่นคงทั้งหมด 37 อำเภอ เรียกว่ามีอำเภอที่เกิดเหตุรุนแรงเกือบครึ่งของพื้นที่ โดยเป้าหมายคือ "ตู้เอทีเอ็ม" ซึ่งได้รับความเสียหายมากถึง 17 จุด ที่เหลือเป็นระเบิดเสาไฟฟ้า และยิงก่อกวนฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง
"สัญญะ" ที่กลุ่มผู้ก่อเหตุต้องการสื่อ นอกเหนือจากการโชว์ศักยภาพของขบวนการก็คือ การทำลายความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในพื้นที่ เพราะเป้าหมายของการก่อเหตุอยู่ที่ "ตู้กดเงินสด" ซึ่งเกี่ยวพันกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชน
แต่หากพิจารณาถึงแก่นแท้ของปฏิบัติการ จะพบว่าการก่อเหตุลักษณะนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมาก็เคยเกิดมาแล้ว นั่นก็คือเหตุป่วนใต้เมื่อวันที่ 9 ต.ค.56 หรือเกือบ 5 ปีก่อน ครั้งนั้นคนร้ายลอบวางระเบิดและวางเพลิงรวมๆ แล้ว 34 จุด ส่วนใหญ่เป็นตู้เอทีเอ็ม ทำให้ตู้กดเงินเสียหายไปถึง 28 ตู้ รูปแบบการปฏิบัติการก็คล้ายคลึงกัน คือใช้แนวร่วมที่เป็นวัยรุ่น แต่งกายเป็นผู้หญิง สวมฮิญาบ และสวมหมวกกันน็อคปิดบังใบหน้า ลอบวางระเบิดแสวงเครื่องแบบตั้งเวลาตามตู้เอทีเอ็มพื้นที่ต่างๆ
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ให้สัมภาษณ์หลังเหตุการณ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 พ.ค.ว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมเมื่อ 5-6 ปีก่อน ฉะนั้นกลุ่มที่บงการก่อเหตุน่าจะเป็นแนวร่วมกลุ่มเก่า หรือหน้าเดิมๆ ตอนนี้พอจะรู้ตัวผู้กระทำแล้ว และเตรียมยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะถอดหมวกกันน็อคและเปิดเบาะรถจักรยานยนต์ในย่านเศรษฐกิจของเมืองใหญ่ทั้งหมดใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้
อย่างไรก็ดี หากเจาะลึกถึงภาพรวมของเหตุการณ์จะพบว่า จริงๆ แล้วเหตุระเบิดตู้เอทีเอ็มที่เกิดในย่านเศรษฐกิจและชุมชนเขตเมืองจริงๆ มีอยู่ 6 จุดในเทศบาลเมืองปัตตานีเท่านั้น ส่วนจุดอื่นๆ อำเภออื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นตู้กดเงินที่ตั้งอยู่โดดๆ หรือแม้จะอยู่ในย่านชุมชน แต่ช่วงเวลาหลัง 1 ทุ่มในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เงียบเหงา แทบจะร้างผู้คนไปหมดแล้ว การนำระเบิดไปวางจึงไม่ใช่เรื่องยาก
ฉะนั้นประเด็นที่น่าจับตาจริงๆ ก็คือ คนร้ายนำระเบิดเข้าไปก่อเหตุในพื้นที่เมืองปัตตานีได้อย่างไร ทั้งๆ ที่มีการตั้งด่านตรวจคุมเข้มกันบนถนนแทบทุกสาย ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นหัวข้อที่ชาวบ้านร้านตลาดพากันวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางอยู่ในขณะนี้
เพราะปัจจุบันในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี มีการตั้งด่านตรวจใหญ่บนถนนสายหลักที่มุ่งเข้าเมืองทุกด้าน เช่น ถนนหน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ปัตตานี, วงเวียนหอนาฬิกา ใกล้โรงแรมมายการ์เด้น, ทางเข้าตลาดสด, ถนนโรงอ่าง, เชิงสะพานจะบังติกอ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีจุดตรวจย่อยบนถนนสายรองแทบทุกสาย
แต่สาเหตุที่คนร้ายยังสามารถเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดไปก่อเหตุในย่านเศรษฐกิจของเมืองปัตตานีได้นั้น ข้อมูลจากฝ่ยความมั่นคงระบุว่าเป็นเพราะ
1.ระเบิดที่คนร้ายใช้เป็นระเบิดขนาดเล็ก สามารถซุกซ่อนได้ตามเสื้อผ้า กระเป๋า หรือในรถจักรยานยนต์
2.การตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ โดยสภาพความเป็นจริงแล้ว ไม่สามารถตรวจละเอียดได้ เพราะทำให้ประชาชนทั่วไปไม่ได้รับความสะดวกสบาย และอาจเป็นเงื่อนไขในการโจมตีเจ้าหน้าที่
3.เส้นทางเข้าสู่เมืองปัตตานีไม่ได้มีเฉพาะถนนสายหลักและสายรอง แต่ยังมีถนนสายย่อยๆ ทะลุตามตรอกซอกซอย ซึ่งคนร้ายสามารถใช้หลบเลี่ยงการเข้าด่านได้แทบทุกจุด โดยเจ้าหน้าที่เองก็ไม่มีกำลังมากพอที่จะตั้งด่านตรวจทุกถนน
4.พื้นที่เมืองปัตตานี ยังมีถนนสายนอกที่เชื่อมไปยัง อ.หนองจิก แหล่งกบดานสำคัญของทีมระเบิดที่เรียกกันว่า "ทีมปัตตานี" (ซึ่งเกี่ยวพันกับคดีลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์หลายครั้ง) ขณะที่การเคลื่อนย้ายระเบิด มีแนวร่วมที่ทำหน้าที่นี้เป็นการเฉพาะ มี "ทีมล่วงหน้า" คอยแจ้งจุดที่เจ้าหน้าที่ตั้งด่าน เพื่อให้ทีมเคลื่อนย้ายระเบิดสามารถหลบเลี่ยงได้ เมื่อนำระเบิดเข้ามาพักไว้ในเขตเมืองแล้ว ก็รอคำสั่งจากผู้บงการ เพื่อนำระเบิดไปวาง โดยใช้แนวร่วมอีกชุดหนึ่งที่เป็นแนวร่วมรุ่นใหม่ ไม่มีหมายจับ และมีลักษณะหน้าตาท่าทางไม่เป็นพิรุธในสายตาของเจ้าหน้าที่ ทำให้คนร้ายสามารถวางระเบิดได้อย่างง่ายดาย ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
สำหรับการเลือกจังหวะเวลาก่อเหตุในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงเดือนรอมฎอน ก็เพราะเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจได้รับนโยบายจากผู้บังคับบัญชา ไม่ให้เข้มงวดในการตรวจมากนัก เพราะเกรงจะทำลายบรรยากาศเดือนแห่งการถือศีลอด ซึ่งเป็น "เดือนแห่งบุญ" และพี่น้องประชาชนที่เป็นมุสลิม จะออกไปละหมาดตอนค่ำ และประกอบพิธีทางศาสนากับเกือบตลอดทั้งคืน เหล่านี้จึงกลายเป็นช่องว่างให้คนร้ายก่อเหตุได้ง่ายขึ้่นไปอีก
นี่คือสถานการณ์ล่าสุดจากชายแดนใต้ที่ทำให้ความหวังสันติสุขลดฮวบลงไป ซ้ำเติมข่าวร้ายก่อนหน้านี้ที่ว่าการพูดคุยสันติสุขกับ "กลุ่มมารา ปาตานี" ต้องหยุดชะงัก และฝ่ายมารา ปาตานี เองก็ไม่ได้เข้าร่วมในกระบวนการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรก
ทั้งหมดคือความอ่อนไหวของสถานการณ์ และต้องรอดูว่าหลังจากนี้จะมีอะไรแรงๆ ตามมาอีกหรือไม่!
---------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ตู้เอทีเอ็มบางส่วนที่ถูกลอบวางระเบิด เป็นตู้ที่ตั้งอยู่โดดๆ และห่างไกลชุมชน
2-3 ภาพผู้ต้องสงสัยนำระเบิดไปวางที่ตู้เอทีเอ็ม ในวงกลมสีแดงคือระเบิดแสวงเครื่องแบบตั้งเวลา
4 ตู้เอทีเอ็มหน้าธนาคารใหญ่ในเขตเมืองก็โดน
อ่านประกอบ :
บึ้มป่วน-ยิงก่อกวน-วางวัตถุต้องสงสัย 12 อำเภอ 3 จังหวัด!
ใต้ป่วนบึ้มตู้เอทีเอ็ม 4 จังหวัดกว่า 20 จุด ยิงครู-ปาระเบิดเพลิงเผาบ้าน