รู้จัก "สุกรี ฮารี" หัวหน้าคณะพูดคุยฝั่งมาราฯ ก่อนเปิดตัวให้สัมภาษณ์สื่อไทย
เป็นข่าวใหญ่ส่งท้ายสัปดาห์ช่วงครึ่งหลังของเดือน มี.ค.61 เมื่อสื่อมวลชนระดับ "เซเลบ" จากประเทศไทย ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์พิเศษเปิดใจ "สุกรี ฮารี" หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝั่ง "มารา ปาตานี"
กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "มารา ปาตานี" ทำหน้าที่เสมือน "องค์กรร่ม" ของขบวนการต่อสู้กับรัฐไทย ที่ปัจจุบันเรียกว่า "ผู้เห็นต่างจากรัฐ" จำนวน 6 กลุ่ม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ "บีอาร์เอ็น" โดย สุกรี ถูกระบุว่าเป็นแกนนำและตัวแทนบีอาร์เอ็นใน "มารา ปาตานี"
การมีแกนนำบีอาร์เอ็นใน "องค์กรร่ม" ที่เซ็ตขึ้นมาพูดคุยกับรัฐบาลไทย ทำให้การพูดคุยเพื่อสันติสุขหนนี้ดูมีน้ำหนัก เพราะฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่า "บีอาร์เอ็น" คือขบวนการที่มีอิทธิพลสูงสุดในการควบคุมนักรบทั้งที่ติดอาวุธและไม่ติดอาวุธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในรูปแบบ "การก่อเหตุร้ายรายวัน" มานานกว่า 14 ปี
สุกรี ได้รับฉันทานุมัติจากสมาชิก "มารา ปาตานี" ให้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ส่วนตำแหน่งประธานมารา ปาตานี เป็นของ อาวัง ยาบะ หรือ อาวัง ยาบัต ซึ่งทั้งคู่เคยร่วมโต๊ะพูดคุยมาบ้างแล้วในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 55-56
"มารา ปาตานี" เคยแถลงข่าวเปิดตัวกลุ่มของตนเอง เมื่อวันที่ 27 ส.ค.58 ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยครั้งนั้น สุกรี ฮารี ก็ขึ้นเวทีร่วมแถลงข่าวด้วย แต่เขาไม่ได้มีบทบาทในการสื่อสารกับกองทัพสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศมากนัก
ฉะนั้นการเปิดตัวให้สัมภาษณ์สื่อไทยในครั้งนี้ จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นการ "เปิดตัว" ต่อสื่ออย่างเป็นทางการครั้งแรกของเขา
เนื้อหาที่ให้สัมภาษณ์ คนที่สนใจปัญหาไฟใต้คงได้ติดตามอ่านและชมไปหมดแล้ว แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบก็คือ สุกรี ฮารี เป็นใครมาจากไหน ก่อนจะมาเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ของ "มารา ปาตานี"
พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่ศึกษาโครงสร้างของขบวนการบีอาร์เอ็นมากที่สุดคนหนึ่ง และยังเคยร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติภาพ ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วย ได้เล่าถึงประวัติของ สุกรี ฮารี จากความทรงจำของตนเอง จากประสบการณ์ทั้งงานยุทธการและบนโต๊ะพูดคุยฯ
สุกรี ฮารี หรือที่ พล.อ.สำเร็จ เรียกชื่อติดปากว่า "มะสุกรี ฮารี" เป็นลูกชายของ ดร.สะมะแอ ฮารี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาคนปัจจุบัน ตัวมะสุกรีเองเคยเป็นอุสตาซ หรือครูสอนศาสนา ของโรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยาลำใหม่ หรือ ปอเนาะลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา
มะสุกรี เคยเป็นหัวหน้าฝ่ายเยาวชน หรือ เปอร์มูดอ ของ "กัสยะลา" (การแบ่งเขตการปกครองพื้นที่ของบีอาร์เอ็น) เคยศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของไทย จึงรู้ภาษาไทยและพูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว เขาจบการศึกษาด้านศาสนาจากโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จึงอยู่ในสายของ สะแปอิง บาซอ อดีตครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยาฯ (ฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่า สะแปอิง บาซอ เป็นผู้นำจิตวิญญาณของขบวนการบีอาร์เอ็น ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)
พล.อ.สำเร็จ เล่าว่า มะสุกรี ไม่ได้คุมสายทหาร และไม่ได้อยู่สาย ดูนเลาะ แวมะนอ (อดีตครูใหญ่โรงเรียนญิฮาดวิทยา หรือ ปอเนาะญิฮาด ซึ่งฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อว่าเป็นผู้นำบีอาร์เอ็นคนปัจจุบัน)
"พูดง่ายๆ ว่า มะสุกรีไม่ได้ใกล้ชิดกับดูนเลาะ แต่ใกล้ชิดกับสะแปอิงมากกว่า" พล.อ.สำเร็จ สรุป
มะสุกรี ถูกเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ จับกุมเมื่อราวๆ ปี 48 ในคดีที่รู้จักกันในขณะนั้นว่า "คดี 8 อุสตาซ" สมัยนั้นดีเอสไอมี พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ เป็นอธิบดี และมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นรองอธิบดี (ต่อมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. และเป็น 1 ใน 3 ทหารเสือ หรือ 3 แกนนำคนสำคัญในคณะพูดคุยฯ ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์)
ดีเอสไอจับกุมอุสตาซ 8 คนในข้อหาเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน โดยมะสุกรีเป็นหนึ่งในนั้น แต่คดีของเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง เขากับอุสตาซทั้งหมดถูกยื่นฟ้องต่อศาล มีการสืบพยานไปแล้วหลายปาก แต่เมื่อมีการรัฐประหารเมื่อปี 49 และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เข้ามาบริหารประเทศ ได้มีนโยบายให้ประกันตัวผู้ต้องคดีความมั่นคงคนสำคัญๆ เพื่อลดเงื่อนไขความขัดแย้ง ซึ่งจำเลยในคดี "8 อุสตาซ" อยู่ในกลุ่มได้รับการ "ปล่อยชั่วคราว" หรือ "ประกันตัว" ด้วย โดยมีข้าราชการระดับสูงเป็น "นายประกัน"
ทว่าภายหลังได้อิสรภาพ ทั้ง 8 คนก็หลบหนี บางคนเสียชีวิตจากเหตุปะทะ ส่วนมะสุกรีหายหน้าไป คาดว่าหลบหนีไปอยู่ฝั่งมาเลเซีย และเปิดตัวอีกครั้งบนโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติภาพในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อปี 55-56
"มะสุกรี เคยร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพในรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ตอนนั้นเขายังมีเพาเวอร์ในกลุ่มเยาวชนเปอร์มูดอ เป็นคนพูดเก่ง แต่ไม่โผงผาง" พล.อ.สำเร็จ เล่าย้อนถึงมะสุกรี เมื่อครั้งพบกันบนโต๊ะพูดคุยฯ
"มะสุกรี พูดเก่งมาก และสนิทสนมกับ อับดุลการิม คอลิบ (หรือ อับดุลการิม กาหลิบ) โฆษกบีอาร์เอ็นในสมัยที่ร่วมโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติภาพ ที่มี นายฮัสซัน ตอยิบ เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝั่งบีอาร์เอ็น ผมไปร่วมโต๊ะพูดคุยในฐานะที่ปรึกษา โดยรัฐมนตรีกลาโหมสมัยนั้น (พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต) ส่งเข้าไป ซึ่งผมก็ออกตัวล่วงหน้าว่าจะเข้าไปร่วมรับฟังเฉยๆ จะไม่พูดอะไร ฉะนั้นบนโต๊ะพูดคุยจริงจัง ผมก็ไม่ได้พูดกับมะสุกรี ได้คุยกันตอนกินข้าว จำได้ว่าเขาพูดไทยได้คล่องแคล่ว และพูดเก่งมาก"
แม้จะเป็นการพูดคุยระหว่างร่วมโต๊ะกาแฟ หรือโต๊ะอาหาร แต่เนื้อหาในการพูดคุย พล.อ.สำเร็จ ยังจำได้เป็นอย่างดี...
"ผมเคยถามมะสุกรีว่า อยากกลับไทยไหม เขานิ่ง ไม่ตอบ ก็เลยถามย้ำว่าจะกลับไหม สุดท้ายเขาตอบว่าอยากกลับ แต่กลัวเจ้าหน้าที่ ตอนนั้นทหารจากกองทัพภาคที่ 4 ที่เป็นตัวแทนคณะพูดคุยฯ ก็เลยรับประกันความปลอดภัย แต่ผมก็ไม่รู้ว่าเขาเคยแอบกลับมาหรือเปล่า"
พล.อ.สำเร็จ บอกด้วยว่า มะสุกรี มีความใกล้ชิดกับ ฮัสซัน ตอยิบ ผู้อาวุโสในบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยในยุคนั้น และยังสนิทกันมากกับ อับดุลการิม คอลิบ แต่พอโต๊ะพูดคุยล้มไป (ช่วงก่อนการรัฐประหารปี 57) ความเคลื่อนไหวของคนเหล่านี้ก็เงียบหาย กระทั่งมาเป็น มารา ปาตานี ในการพูดคุยรอบใหม่ในรัฐบาล คสช. และมะสุกรีก็มาปรากฏตัวอีกครั้ง คราวนี้มาเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเองเลย
อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ผู้สนใจศึกษาโครงสร้างของขบวนการบีอาร์เอ็น และแนวทางดับไฟใต้ ยังแสดงทัศนะเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนี้ว่า ไม่ทราบข้อมูลลึกๆ ว่ากระบวนการพูดคุยทำกันอย่างไร แต่เงื่อนไขความสำเร็จต้องพยายามใช้การพูดคุยทางลับ สร้างความเชื่อมั่นให้กับแกนนำที่เราคุยด้วย แล้วค่อยๆ ทำความเข้าใจให้หันมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหากับรัฐบาล
"เรื่องพูดคุยเจรจา ส่วนที่เปิดเผยต่อสาธารณะก็เปิดไป ให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกก็ทำไป ส่วนที่ปิดลับ ที่เป็นเทคนิคก็ต้องทำ ส่วนหลังนี้ไม่ต้องหวังผลบนโต๊ะเจรจา แต่ดึงมาคุยส่วนตัวให้เขาเข้าใจ ใช้ความจริงใจสร้างความเชื่อมั่น และพยายามคุยในบ้านเรา เพื่อที่ว่าสุดท้ายมาเลเซียจะได้ไม่ต้องมายุ่ง เราต้องเปิดเวทีเอง"
ส่วนงานทางยุทธวิธีในความรับผิดชอบของทหาร พล.อ.สำเร็จ บอกว่า ต้องใช้ยุทธวิธีให้ถูก ต้องไม่ทำให้บนถนนเป็นสนามรบ เพราะถนนเป็นสนามรบของบีอาร์เอ็น
"ผมพูดเรื่องนี้ไปนานมาก แต่วันนี้ก็ยังเป็นอยู่เหมือนเดิม" อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเกษียณอายุราชการมาหลายปีแล้ว กล่าว
ก้าวต่อไปของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในรัฐบาล คสช. คือการสร้าง "พื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรก" ร่วมกัน แต่ พล.อ.สำเร็จ มองว่าเป็นโจทย์ที่ยากเกินไป
"ผมไม่เข้าใจคำว่าพื้นที่ปลอดภัย ทำไมต้องกำหนดเป็นอำเภอ ถามว่ามีอำเภอไหนบ้างที่ปลอดภัย ลองเข้าไปอยู่สิ ก็จะรู้ว่ามันไม่มีที่ไหนปลอดภัยจริงๆ ฉะนั้นหากกำหนดเป็นระดับอำเภอจะทำยาก ทหารจะดูแลไหวได้อย่างไร โดนก่อเหตุหน่อยเดียวก็เสียเครดิตแล้ว และเท่าที่ทราบยังเลือกอำเภอยากเป็นอำเภอนำร่อง เพราะเป็นอำเภอสัญลักษณ์ด้วย"
"พื้นที่ปลอดภัยอย่าไปทำเป็นอำเภอ ควรจะทำเป็น 'บริเวณปลอดภัย' ก็พอ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด แต่ถ้าแค่เซฟเฮาส์มันก็เล็กไป ถ้าใช้สำนักงานอิสลามฯ แล้วเปิดให้ทุกฝ่ายเข้าได้ ให้คนของคณะพูดคุยทั้งสองฝ่ายมาอยู่ประจำ ฝ่ายละ 5 คน 6 คน แล้วเปิดให้ทั้งสองฝ่ายมีเสรีในการพูดคุยทุกอย่าง ถ้าทำได้ก็เป็นโมเดล ถือว่า 'บริเวณปลอดภัย' เกิดขึ้นแล้ว" พล.อ.สำเร็จ เสนอไอเดีย
เมื่อถามถึงทิศทางปัญหาไฟใต้ ณ ปัจจุบัน อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ตอบแบบตรงไหนตรงมาว่า คงต้องรอเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เพราะตอนนี้ คสช.คงให้น้ำหนักปัญหาไฟใต้น้อยลงแล้ว คงไปมุ่งที่เรื่องการเมืองมากกว่า
"วิธีการทำงานต้องให้เสรีการปฏิบัติกับ รองผอ.รมน. (รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หมายถึง ผบ.ทบ.) ถ้าทำได้ งานน่าจะดีกว่านี้ โดยระดับรัฐมนตรีไม่ควรมายุ่งกับงานปฏิบัติมาก เพราะรัฐมนตรีไม่รู้รายละเอียด ต้องใช้คนที่มีประสบการณ์ ที่สำคัญงานดับไฟใต้ทุกวันนี้อยู่ในความควบคุมของทหารทั้งหมด ถ้าจะคงรูปแบบนี้ต่อไป ก็ควรมอบหมายให้ รองผอ.รมน.มีอำนาจสูงสุด ผบ.ทบ.ควรมีเสรีในการปฏิบัติ แต่ทุกวันนี้ทำอะไรไม่ได้มาก ทำได้แค่ไปตรวจเยี่ยมหน่วยในพื้นที่"
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ สุกรี ฮารี ในความทรงจำของ พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย และแนวทางดับไฟใต้ในมุมมองของอดีตนายทหารที่ได้ชื่อว่ารู้จัก "บีอาร์เอ็น" มากที่สุดคนหนึ่ง!
---------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 สุกรี ฮารี บนเวทีแถลงข่าวของ "มารา ปาตานี" เมื่อเดือน ส.ค.58
2-3 พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย
หมายเหตุ : ภาพทั้งหมดจากแฟ้มภาพอิศรา
อ่านประกอบ :
อ่านเกม "มารา ปาตานี" แถลงการณ์นี้เพื่ออะไร?
ใครเป็นใครบนเวทีแถลงของ "มาราฯ" แย้มอนาคตปาตานีขึ้นกับคนพื้นที่เอง