6 ประเด็นกังขาโครงการ "ซีซีทีวี" โรงเรียนชายแดนใต้ 500 ล้าน!
ประเด็นความไม่ชอบมาพากลในการ "ตรวจรับงาน" การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือ ซีซีทีวี ของโรงเรียนหลายแห่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกเปิดขึ้นมาในช่วงนี้ ถือว่าร้อนแรงและน่าจับตาอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะประเด็นร้องเรียนที่ส่งถึงส่วนกลางว่ามี "ทหาร" เข้าไปเกี่ยวข้องข่มขู่ให้ "ครู" ที่เป็นกรรมการตรวจรับงาน ยอมลงนามตรวจรับ ทั้งๆ ที่กล้องผิดสเปค และไม่ตรงตามทีโออาร์
เรื่องนี้จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะไม่ใช่แค่ข้อสงสัยว่ามีทุจริต แต่ยังมีการกล่าวหาว่ามีการข่มขู่กันด้วย...
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่าโครงการนี้เป็นโครงการจัดซื้อและติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในโรงเรียนพื้นที่เสี่ยงของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชื่อโครงการ Safe Zone School งบประมาณ 577 ล้านบาท รับผิดชอบโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันสถานการณ์การลอบทำร้ายครูและเผาโรงเรียนซึ่งเกิดขึ้นอย่างหนักตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
โครงการนี้ถูก "กลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชัน" ออกมาเปิดโปงว่า มีคลิปเสียงอ้างว่าเป็นนายทหารเข้าไปแทรกแซงข่มขู่ครูในพื้นที่ ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจรับงานติดตั้งกล้องซีซีทีวี เพื่อให้ยอมลงนามรับงานที่ผิดสเปค ไม่ตรงทีโออาร์ ทำให้ครูเดือดร้อน ตกเป็น "แพะรับบาป" ถูกสอบสวนดำเนินคดีเสียเอง
6 ประเด็นกังขา...
ผลจากการลงพื้นที่ของ "ทีมข่าวอิศรา" พบประเด็นน่าสังเกต 6 ประเด็น คือ
1.โครงการนี้ใช้งบปี 57 ต่อเนื่องถึงปี 58 ดำเนินการมาหลายปีแล้ว เป้าหมายคือโรงเรียนพื้นที่เสี่ยง จึงมีนโยบายให้ "ฝ่ายความมั่นคง" เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจเลือกและจัดซื้อจัดจ้างบริษัทที่เข้ามารับงานติดตั้งซีซีทีวีด้วย
2.กลุ่มครูในพื้นที่มองว่า การให้ "ฝ่ายความมั่นคง" เข้ามามีบทบาทสูงในการตรวจเลือกบริษัท อาจทำให้มีการเอื้อประโยชน์กัน / และฝ่ายครูขาดอิสระในการพิจารณา ทำให้ได้กล้องที่มีสเปคไม่ตรงกับความต้องการ
3.โรงเรียนกลุ่มเสี่ยงที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการจัดสรรกล้องไม่เท่ากัน มี 6 กล้องบ้าง 8 กล้องบ้าง 12 กล้องบ้าง ตามความเหมาะสม
4.พบกล้องเสีย หรือไม่ตรงตามสเปค ในโรงเรียนรอบนอก หรือโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล แต่โรงเรียนในเขตเมืองใช้งานได้ตามปกติ
5.การตรวจรับงานมีความพยายามเร่งรัด และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามากดดันให้เซ็นรับงาน จนนำมาสู่การเปิดเผย "คลิปเสียงข่มขู่" โดยอ้างว่าเป็นเสียงของทหารระดับ "เสธ." คนหนึ่ง
6.ครูทั่วๆ ไปในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ค่อยอยากพูดเรื่องนี้ แต่ช่วงเดือนที่ผ่านมามีการย้าย ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาฯ จำนวนหลายคนโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนใหญ่เป็น ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาใน จ.ยะลา ทำให้กลุ่มครูในพื้นที่ค่อนข้างเครียดและกลัวผลกระทบ เนื่องจากที่ผ่านมามีครูบางส่วนโดนตรวจสอบดำเนินคดี เพราะไปลงนามตรวจรับงานทั้งๆ ที่กล้องผิดสเปค
เปิดใจครูชายแดนใต้...
"ทีมข่าวอิศรา" ได้พูดคุยกับครูคนหนึ่งที่มีบทบาทในโครงการจัดหากล้องซีซีทีวี และตรวจรับงาน จนตอนนี้ต้องถูกย้ายออกจากตำแหน่ง ครูคนนี้เล่าว่า จุดเริ่มต้นของโครงการสืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่มีคนร้ายเข้าไปยิงครูถึงในโรงเรียน ทำให้มีโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในโรงเรียนเพื่อป้องปรามเหตุร้าย โครงการนี้ไม่ได้ติดตั้งครอบคลุมทุกโรงเรียน แต่เลือกเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยงภัย แต่ละโรงเรียนได้จำนวนกล้องตามขนาดของโรงเรียน เช่น 6 ตัว 8 และ 12 ตัว
จากนั้นมีการจัดทำ "ทีโออาร์" เชิญฝ่ายการเงินและฝ่ายแผนของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาไปประชุมกันหลายครั้ง กระทั่งเดือน มี.ค.58 ทาง สพฐ.มีหนังสือมาถึงทั้ง 12 เขตพื้นที่การศึกษาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้จัดการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามจำนวนโรงเรียนที่แจ้งไป และให้ดำเนินการแล้วเสร็จในปลายเดือน มีถ.ค.นั้นเลย เพราะเป็นงบประมาณของปี 57
"แต่ละเขตได้งบประมาณมาเขตละ 40-50 ล้านบาท ต่อมากรมบัญชีกลางได้ขยายเวลาให้ถึงเดือน ก.ย.58 เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างถูกต้อง แม้กรมบัญชีกลางจะขยายเวลา แต่รัฐบาลก็เร่งรัดให้เบิกจ่ายงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้จ่ายให้หมดในเดือน พ.ค.58 ทุกฝ่ายจึงเร่งมาหมด และให้มีรายชื่อทหารเป็นคณะกรรมการร่วมกำหนดราคากลาง ร่วมจัดซื้อ และตรวจรับ โดยในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาจะมีคนของเขต 2 คน ทหาร 1 คน ใช้การจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษทั้งหมด เมื่อจะพิจารณาจัดซื้อจากบริษัทไหน ก็ต้องประชุมพิจารณาร่วมกันว่าจะเชิญบริษัทไหนมาเสนอราคา" ครูที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ เล่ารายละเอียด
"ในการเชิญบริษัทมาเสนอราคานั้น มีหนังสือของ กอ.รมน.ภาค 4 สน.(กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า) เน้นว่าต้องเป็นบริษัทที่เคยทำงานในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 2 ปี กล้องที่จะจัดซื้อต้องเชื่อมโยงกับกล้องของฝ่ายความมั่นคงได้ เรามองว่าเป็นการเอื้อหรือล็อคสเปคหรือเปล่า เพราะต้องติดตั้งโปรแกรมพิเศษเข้าไปด้วย ฝ่ายความมั่นคงมีรายชื่อมา 4 บริษัท หากโรงเรียนหรือเขตพื้นที่การศึกษาไม่รับตามนี้ ก็จะไม่รับประกันว่างานจะเสร็จ ทำให้ขาดอิสระในการพิจารณา เพราะไม่ว่าบริษัทไหนจะมาเสนอราคา ก็จะได้เพียง 4 บริษัทนี้เท่านั้น และทั้ง 4 บริษัท มีโปรแกรมพิเศษที่เพิ่มเข้ามา แต่กระบวนการตรวจรับก็ยังขัดแย้งกัน แต่ยอมรับว่ากล้องส่วนใหญ่ที่ติดตั้งแล้วใช้งานได้ดี"
ครูรายนี้บอกด้วยว่า ไม่ค่อยอยากให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน เพราะเรื่องกำลังร้อนแรงและกระทบกับตำแหน่งหน้าที่ ขณะนี้ก็ถูกย้ายออกจากตำแหน่งเป็นการชั่วคราว
ขณะที่ครูโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งใน จ.ปัตตานี ซึ่งติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในโครงการนี้ เล่าว่า เมื่อหมดระยะเวลารับประกันสินค้า ฝ่ายความมั่นคงได้มาสำรวจ โดยมาพร้อมกับบริษัทรับเหมา และเก็บอุปกรณ์ต่างๆ ไปทั้งหมด ก่อนจะแจ้งว่าหากอยากติดตั้งใหม่หรือปรับปรุงอะไร ทางโรงเรียนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
"พอเรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ บอกตรงๆ ว่าทำให้ครูในพื้นที่เสียขวัญอย่างมาก" ครูโรงเรียนประถมในปัตตานี ระบุ
"ประวิตร" รู้ช้า อ้างยังไม่ได้รับรายงาน
ข้อกล่าวหานี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับฝ่ายความมั่นคง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 มี.ค.61 ผู้สื่อข่าวก็เลยไปสอบถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต.ด้วย โดย พล.อ.ประวิตร ตอบว่า ยังไม่ได้รับรายงานปัญหา แต่ขอให้มั่นใจว่าการทุจริตทุกอย่าง หากเป็นเรื่องของภาครัฐ ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท.จะเข้าไปดูแล ตรวจสอบ และดำเนินการ แต่ถ้าเป็นเรื่องการเมือง จะเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ฉะนั้นไม่ต้องห่วง
ด้าน พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยตนเอง บอกว่า ปัญหาการจัดซื้อกล้องซีซีทีวีในโรงเรียนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเรื่องร้องเรียนมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 58 ที่ผ่านมาได้รวบรวมข้อมูลเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กระทั่งมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน และพบว่ามีข้าราชการจำนวนหนึ่งเข้าข่ายกระทำความผิด จึงส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการ และได้ทำหนังสือย้ำไปอีกครั้งเมื่อเดือน ม.ค.61 ที่ผ่านมา เพื่อขอให้เร่งรัดสอบสวนเอาผิด
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : กล้องซีซีทีวี และจอมอนิเตอร์ในโครงการ Safe Zone School ที่ชายแดนใต้