"อุดมเดช"หลุดเก้าอี้รมต. สะเทือนถึงหัวหน้าผู้แทนพิเศษดับไฟใต้?
การหลุดจากตำแหน่งใน ครม.ประยุทธ์ 5 ของ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ถูกจับตาว่าจะกระทบกับนโยบายดับไฟใต้ของรัฐบาลหรือไม่ เพราะ "บิ๊กโด่ง-อุดมเดช" นั่งเก้าอี้หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ หรือ "ครม.ส่วนหน้า" เพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในปัจจุบัน
รายชื่อ ครม.ประยุทธ์ 5 มีรัฐมนตรีหลายคนหลุดจากตำแหน่งไปเลย โดยเฉพาะ "รมต.สีเขียว" จากสายทหาร และหนึ่งในนั้นคือ "บิ๊กโด่ง" พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม โดยในตำแหน่งนี้มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม เข้ามาเสียบแทน
พล.อ.อุดมเดช สวมหมวกอีก 1 ใบ เป็น "หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง "องคาพยพ" ที่รัฐบาล คสช.ใช้ในภารกิจดับไฟใต้ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในรัฐบาลชุดอื่น
ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อการนี้มี 13 คน มี พล.อ.อุดมเดช เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมประสานระหว่างคณะรัฐมนตรีกับหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อให้การแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการบูรณาการโครงการพัฒนาต่างๆ ทำให้รวดเร็วและทันท่วงที ไม่ต้องติดขัดเรื่องระบบราชการที่บริหารงานแบบแท่ง
เมื่อ พล.อ.อุดมเดช พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ทำให้เกิดคำถามจากหลายฝ่ายว่า ต้องหลุดจากตำแหน่ง "ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ" ด้วยหรือไม่ โดยขณะนี้มีแนวคิดแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกมองว่าสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ เพราะผู้ที่ดำรงตำแหน่ง "ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ" ไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี เห็นได้จาก "ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ทั้งคณะมี 13 คน ในจำนวนนี้มีเพียง 2 คนที่เป็นรัฐมนตรี คือ พล.อ.อุดมเดช กับ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นรองหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯด้วย
ขณะที่อีกฝ่ายมองว่า การที่ พล.อ.อุดมเดช ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีแล้ว น่าจะกระทบกับสถานะ "หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ" เพราะหน้าที่ผู้แทนพิเศษฯ คือเป็นตัวกลางประสานระหว่างคณะรัฐมนตรีกับหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ หาก "หัวหน้าผู้แทนพิเศษฯ" ไม่ได้นั่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วย การนำเสนอข้อมูลหรือประสานงานอะไรต่างๆ ก็จะไม่ได้รวดเร็วตามวัตถุประสงค์ของการตั้งผู้แทนพิเศษฯ
แม้จะยังมี พล.อ.สุรเชษฐ์ รองหัวหน้าผู้แทนพิเศษฯ เป็นรัฐมนตรีอยู่ แต่น้ำหนักในการทำงานย่อมไม่เท่าผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้า
นี่คือคำถามที่ต้องรอนโยบายของ คสช.และรัฐบาลว่าจะตัดสินใจอย่างไร
ผลกระทบอีกด้านที่หากมองแค่เผินๆ อาจเห็นไม่ชัดเจนนัก แต่จริงๆ แล้วมีแรงกระเพื่อมพอสมควร ก็คือ "ตัวตน" และ "คอนเนคชั่น" ของ พล.อ.อุดมเดช เพราะอดีตนายทหารผู้นี้ต้องบอกว่าคลุกคลีกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาค่อนข้างนาน โดยเฉพาะในหมวกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราขอาณาจักร หรือ กอ.รมน. เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ซึ่งเป็นเลขาธิการ กอ.รมน.(ลธ.รมน.) โดยตำแหน่ง เคยนั่งเป็น ผบ.ทบ. ซึ่งสวมหมวกอีกใบเป็นรอง ผอ.รมน.โดยตำแหน่ง และเขายังเคยทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต. ในช่วงแรกๆ หลังจาก คสช.เข้าควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินด้วย ก่อนจะผ่องถ่ายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มารับหน้าที่ในปัจจุบัน
คปต.เองก็เป็นอีกหนึ่งองคาพยพที่ คสช.ใช้ขับเคลื่อนภารกิจดับไฟใต้ ในแง่ของการบูรณาการหน่วยงานและงบประมาณ เชื่อมต่อกับ "ผูู้แทนพิเศษของรัฐบาล" นั่นเอง
นอกจากนั้นในแวดวงของผู้รับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ทุกวันนี้ มีอดีตนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 14 (ตท.14) รุ่นเดียวกับ พล.อ.อุดมเดช ที่มีบทบาทสูงอยู่หลายคน เช่น พล.อ.อักษรา เกิดผล หรือ "บิ๊กโบ้" หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯอยู่ด้วย, พล.อ.จำลอง คุณสงค์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งทำหน้าเป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯอยู่เช่นกัน รวมถึง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รองหัวหน้าผู้แทนพิเศษฯ ก็เป็นนายทหาร ตท.14
คอนเนคชั่นเหล่านี้จะว่าไปในด้านหนึ่งก็ช่วยให้งานขับเคลื่อนไปได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น...
และด้วย "เซนต์คาเบรียลคอนเนคชั่น" ซึ่งหมายถึงความเป็นศิษย์เก่าสมัยเรียนมัธยมที่เขาเดินตาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรณ พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์มาจากเบ้าหลอมเดียวกัน นี่ยังไม่นับตำแหน่งอดีตผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 รอ.) ที่จัดเป็น "บูรพาพยัคฆ์แท้" เช่นเดียวกับ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ "บิ๊กป๊อก" พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทำให้หลายคนเชื่อว่า อย่างไรเสีย "พี่ๆ 3 ป. ป้อม-ประยุทธ์-ป๊อก" ก็คงไม่ทิ้ง "น้องโด่ง" คนนี้ และน่าจะยังเหนียวในเก้าอี้ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ ต่อไป
อย่างน้อยๆ ก็เพื่อรองรับผลงานดับไฟใต้อีกขั้นหนึ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า ก็คือ การกำหนด "พื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรก" จากผลงานของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ที่นำโดย พล.อ.อักษรา เพื่อน ตท.14 ของ พล.อ.อุดมเดช