ยูเอ็นจี้ไทยสอบ "ไอโอสีดำ" คุกคาม "อังคณา-นักสิทธิมนุษยชน"
การใส่ร้ายและบิดเบือนข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อลดความน่าเชื่อถือ หรืออาจถึงขั้นบ่อนทำลายการทำงานของนักสิทธิมนุษยชนไทยหลายคน กลายเป็นประเด็นระดับสากลไปแล้ว เมื่อคณะผู้แทนพิเศษขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น สอบถามเรื่องนี้มายังรัฐบาลไทย ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง
เมื่อเร็วๆ นี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้ทำหนังสือถึง อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อสอบถามข้อมูลการถูกข่มขู่ คุกคาม และขู่ฆ่า ว่าเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด ผ่านช่องทาง ใด พร้อมขอเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน้าจอภาพที่ปรากฏคำขู่ ชื่อหรือนามแฝงของผู้ที่ส่งคำขู่
นอกจากนั้นยังขอขัอมูลว่าได้มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดไว้บ้างหรือไม่ และต้องการให้หน่วยงานรัฐหน่วยใดดำเนินการในเรื่องใด
หนังสือของดีเอสไอที่ทำถึงอังคณานี้ ขอข้อมูลรวมไปถึงกรณีของ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ อัญชนา หีมมิหน๊ะ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มด้วยใจ ซึ่งมีข้อมูลถูกข่มขู่ คุกคาม และขู่ฆ่าด้วยเช่นกัน
สำหรับเหตุผลที่ดีเอสไอต้องทำหนังสือขอข้อมูลการถูกข่มขู่ คุกคามจากนักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คนนั้น ในหนังสือของดีเอสไออ้างว่าเป็นเพราะทั้ง 3 คนไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่าถูกข่มขู่ คุกคาม และขู่ฆ่าทางอินเทอร์เน็ต อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของนักสิทธิฯทั้ง 3 คน
ดีเอสไออ้างว่าได้รับหนังสือจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ที่สอบถามเรื่องนี้มายังดีเอสไอ ซึ่งเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในสังกัดกระทรวงยุติธรรมเช่นกัน
อย่างไรก็ดี อังคณา กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ไม่เคยร้องเรียนเรื่องนี้ผ่านผู้แทนของยูเอ็น หรือคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แต่เชื่อว่ายูเอ็นน่าจะได้ทราบข่าวเรื่องนี้ในประเทศไทย และแสดงความสนใจ จึงสอบถามมายังรัฐบาลไทย
ส่วนเรื่องการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ข่มขู่ คุกคาม หรือให้ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์นั้น อังคณา บอกว่า ที่ผ่านมาได้เคยแจ้งไปแล้วถึง 2 ครั้ง โดยแจ้งกับพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.60 และครั้งที่สองเมื่อ 18 ก.ย.60 โดยครั้งหลังเป็นการบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องโรฮิงญา ช่วงที่มีกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าไทยควรช่วยรับผู้อพยพชาวโรฮิงญา อันสืบเนื่องจากความรุนแรงในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาหรือไม่ ปรากฏว่ามีการโพสต์ภาพและตัดต่อข้อมูลเท็จด้วยข้อความทำนองว่า...อังคณาสนับสนุนให้รับผู้อพยพชาวโรฮิงญา เพราะแผ่นดินบนโลกนี้รวมทั้งไทย พระอัลเลาะห์เป็นผู้สร้าง...ซึ่งอังคณายืนยันว่าไม่เคยพูดหรือให้สัมภาษณ์ด้วยถ้อยคำลักษณะนี้
ทั้ง อังคณา พรเพ็ญ และอัญชนา ถูกโจมตีผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในหลายรูปแบบ เริ่มต้นจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งบางฝ่ายมองว่าเข้าข้างกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง หรือที่เรียกกันว่า "โจรใต้" ทำให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงได้ประโยชน์ แต่ทั้ง 3 คนยืนยันว่าการแสดงบทบาทในเรื่องนี้ เป็นไปเพื่อถ่วงดุลอำนาจรัฐให้แก้ไขปัญหาภายใต้หลักการเคารพสิทธิมนุษยชนและความแตกต่างหลากหลายทางภาษา ศาสนา และชาติพันธุ์ เพราะหากมีปฏิบัติการนอกกฎหมาย หรือใช้กฎหมายพิเศษในการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว จะกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดการใช้ความรุนแรงเข้าใส่กันอย่างไม่รู้จบ
ยิ่งไปกว่านั้นการโจมตีผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตในระยะหลังๆ มีการพัฒนารูปแบบโดยใช้เพจที่ไม่ระบุตัวตน มีการตัดต่อภาพ เขียนข้อความเท็จ รวมไปถึงการวาดการ์ตูนลายเส้น โดยมีเจตนาให้ผู้รับสารเกลียดชังนักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คน ซึ่งไม่ใช่การติชมโดยสุจริต และภายหลังได้ลุกลามไปถึงประเด็นอื่นๆ ที่นอกเหนือจากปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่มุ่งสร้างอคติให้กับผู้นับถือศาสนาอิสลาม
เช่น การสร้างเพจข่าวเท็จ นำบทสัมภาษณ์ของอังคณาไปรายงานใหม่ โดยบิดเบือนให้เข้าใจว่า อังคณาพูดว่าการกระทำของผู้ก่อเหตุรุนแรงที่สร้างสถานการณ์รูปแบบต่างๆ กว่าสิบจุด เมื่อวันที่ 2 พ.ย.59 ซึ่งมีเจตนาทำลายสาธารณูปโภค และชีวิตทหารกับประชาชนผู้บริสุทธิ์นั้น "ไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน" ทั้งๆ ที่บทสัมภาษณ์จริงของอังคณา ไม่ได้พูดเช่นนั้น
บางฝ่ายเชื่อว่าข้อมูลเท็จที่ส่งผ่านอินเทอร์เน็ตเหล่านี้ บางส่วนมาจากเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยที่ใช้ "ปฏิบัติการข่าวสาร" หรือ ไอโอ (Information Operation) เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือ (ดิสเครดิต) นักสิทธิมนุษยชน ซึ่งมักมีบทบาทตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานความมั่นคง
แม้การใช้ "ปฏิบัติการข่าวสาร" หรือ ไอโอ จะไม่ใช่เรื่องผิด และมีใช้กันทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายที่ต่อสู้กับรัฐ แต่ข้อมูลเท็จที่นำมาใช้เพื่อสร้างความเกลียดชังกับอีกฝ่าย เรียกกันว่า Black IO หรือ Dirty IO ซึ่งโดยหลักการแล้วมักใช้ในสงคราม ไม่ใช่ใช้ในปัญหาความขัดแย้งทางความคิดเห็นระหว่างคนในชาติเดียวกันเอง
เป็นที่น่าสังเกตว่า เฉพาะตัวอังคณา ได้แจ้งความกับ บก.ปอท.ไปแล้วถึง 2 ครั้ง แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ ในทางคดี เพราะไม่มีความคืบหน้าจากพนักงานสอบสวนแจ้งกลับมาเลย ทว่าเมื่อมีความเคลื่อนไหวจากทางผู้แทนยูเอ็นสอบถามมายังรัฐบาลไทย ปรากฏว่าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอย่างดีเอสไอได้ส่งหนังสือไปสอบถามข้อมูล ทั้งๆ ที่ฝ่ายตำรวจเองก็รับแจ้งความไปแล้วถึง 2 คดี ในห้วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา
ส่วนนักสิทธิมนุษยชนอีก 2 คน คือ พรเพ็ญ กับ อัญชนา ก็ถูกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แจ้งความดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ร่วมกับ สมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เมื่อครั้งเปิดรายงานการซ้อมทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเดือน ก.พ.59 แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ต.ค.60 อัยการจังหวัดปัตตานีมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี
เจมส์ โกเมซ ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า แม้การสั่งไม่ฟ้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คนจะเป็นเรื่องดี แต่จริงๆ แล้วไม่ควรที่จะมีการดำเนินคดีกับพวกเขาตั้งแต่แรกเลยด้วยซ้ำ เพราะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คนไม่ได้ทำอะไรผิด นอกจากแสดงความกล้าหาญยืนหยัดต่อสู้อย่างสันติเพื่อสิทธิมนุษยชนของผู้อื่นจากการทำรายงานเปิดโปงการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
"ทางการไทยต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงจังเพื่อสร้างบรรยากาศที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถทำหน้าที่ของพวกเขาได้โดยไม่กลัวการตอบโต้หรือเอาคืน ทางการไทยยังควรยกเลิกการดำเนินคดีทั้งหมดต่อบุคคลที่ถูกจำคุกหรือต้องเข้ารับการไต่สวนเพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของพวกเขาอย่างสันติด้วย" เจมส์ โกเมซ กล่าว
แอมเนสตี้ยังเรียกร้องให้ทางการไทยลดการฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาท เนื่องจากพบว่าข้อหานี้มักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว และภาคประชาสังคมในประเทศ ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างสันติตลอดหลายปีที่ผ่านมา
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ภาพและข้อความบิดเบือนใส่ร้ายอังคณา ซึ่งเป็นหลักฐานที่เจ้าตัวใช้แจ้งความดำเนินคดีกับ ปอท.
2 เอกสารการแจ้งความของอังคณากับพนักงานสอบสวน ปอท.
3 การ์ตูนที่เขียนโจมตีบีอาร์เอ็น และบทบาทของนักสิทธิมนุษยชน กับเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่
3 นักสิทธิมนุษยชน 3 คนที่ถูก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความดำเนินคดีจากกรณีการเปิดรายงานการซ้อมทรมาน
อ่านประกอบ :
รายงานเปิดปากคำ 54 ผู้ร้องเรียนถูกทรมานชายแดนใต้
ทหารสวนรายงานซ้อมทรมานมีตัวตนแค่ 18 แถมไม่จริง "พรเพ็ญ"ลั่นสู้ทวงศักดิ์ศรี
ผบ.ทบ.อ้างรักษาเกียรติกองทัพ แจ้งจับ 3 นักสิทธิฯเปิดรายงานซ้อมทรมาน