- Home
- South
- สกู๊ปข่าว
- ย่างปีที่ 7 ไฟใต้ (2) “จีที 200-เรือเหาะ-สติ๊กเกอร์” เครื่องมือเพื่อความมั่นคงในอุตสาหกรรมความไม่มั่นคง
ย่างปีที่ 7 ไฟใต้ (2) “จีที 200-เรือเหาะ-สติ๊กเกอร์” เครื่องมือเพื่อความมั่นคงในอุตสาหกรรมความไม่มั่นคง
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
น่าเสียดายที่ในภาวะการณ์ของเหตุร้ายรายวันซึ่งลดความถี่ลงอย่างมากตั้งแต่ต้นปี 2553 เป็นต้นมา ฝ่ายความมั่นคงมิอาจสร้าง “แต้มต่อ” ในภารกิจ “ดับไฟใต้” ได้ตามคาด เนื่องจากกำลังตกเป็นจำเลยของสังคมจากการเปิดโปงความไร้ประสิทธิภาพของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 ตามด้วยเรือเหาะติดกล้อง หรือบอลลูนตรวจการณ์
แทนที่จะเป็นฝ่ายรุกเพื่อกดดันกลุ่มก่อความไม่สงบให้ถอยร่นในปีที่ 7 ของสถานการณ์ใฟใต้ กลับกลายเป็นว่าฝ่ายความมั่นคงตกอยู่ในสถานะ “ตั้งรับ” จากสนิมแต่เนื้อในตน...
สถิติเหตุรุนแรงที่ดูดีขึ้นตั้งแต่ขึ้นปี 2551 เป็นต้นมา คืออัตราการก่อเหตุร้ายและความสูญเสียลดลงถึง 44% เมื่อเทียบกับปี 2550 จากนั้นก็เริ่มนิ่งในปี 2552 กล่าวคือมีเหตุร้ายรายวันเกิดขึ้นราวๆ 1,300 ครั้ง ทำให้หัวเรือใหญ่ของฝ่ายความมั่นคงอย่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เตรียมแผนเชิงรุกเพื่อจำกัดความเคลื่อนไหวของฝ่ายผู้ก่อเหตุ โดยจะใช้มาตรการเชิงป้องกันและป้องปรามอย่างน้อย 3 ประการ ดังที่เคยกล่าวเอาไว้บนเวที “6 ปีวิกฤติชายแดนใต้ แก้ปัญหาถูกทางจริงหรือ?” ซึ่งจัดโดยโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2552
“เราจะทำให้เหตุรุนแรงลดลงกว่านี้ได้อย่างไร คำตอบคือต้องเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกัน ใช้บอลลูนตรวจการณ์ ซีซีทีวี (กล้องโทรทัศน์วงจรปิด) เพื่อให้เกิดเหตุการณ์น้อยที่สุด ขณะนี้มีมาตรการควบคุมยานพาหนะ ต้องมาลงทะเบียน ติดบาร์โค้ด และจัดทำฐานข้อมูล มาตรการนี้จะเสร็จทั้งหมดช่วงต้นปีหน้า รถคันไหนไม่ติดบาร์โค้ดไม่ได้ คิดว่ามาตรการนี้จะช่วยได้ทางหนึ่ง”
ถอดรหัสจาก พล.อ.อนุพงษ์ ได้ว่า เครื่องมือที่ฝ่ายความมั่นคงจะใช้ในปี 2553 เพื่อ “ป้องกัน” และ “ป้องปราม” การก่อความรุนแรง ได้แก่
1. ซีซีทีวี
2. บอลลูนตรวจการณ์ หรือเรือเหาะติดกล้อง
3. มาตรการควบคุมยานพาหนะด้วยการติดสติ๊กเกอร์บาร์โค้ดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทุกคัน
ส่วนเครื่องมืออีกตัวหนึ่งที่ พล.อ.อนุพงษ์ ไม่ได้พูดถึง แต่ก็ใช้กันอยู่ทั่วไปและจนถึงนาทีนี้ฝ่ายความมั่นคงก็ยังยืนยันว่าจะใช้ต่อไปก็คือ "เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200"
ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ “ไม้เด็ด” ของฝ่ายความมั่นคงที่ตระเตรียมไว้สำหรับเปิดเกมรุกในปีนี้ ได้กลายเป็นหอกอันแหลมคมที่ย้อนกลับมาทิ่มแทงตัวเองจนสะบักสะบอม โดยที่ฝ่ายก่อความไม่สงบไม่ต้องทำอะไรเลย นี่คือสิ่งที่บอกไว้ว่าเป็นสนิมแห่งเนื้อในตน เริ่มจาก...
1.เครื่องตรวจระเบิด จีที 200
กลายเป็นข่าวใหญ่ต้อนรับปี 2553 ทั้งที่จริงๆ แล้ว จีที 200 ถูกติดตามตรวจสอบมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 เมื่อเครื่องมือตัวนี้ก่อปัญหาแสดงผลผิดพลาดอย่างน้อย 2 ครั้ง จนเกิดระเบิดคาร์บอมบ์ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2552 และมอเตอร์ไซค์บอมบ์ที่ตลาดพิมลชัยกลางเมืองยะลา เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ปีเดียวกัน
หลังความผิดพลาดแบบจังๆ 2 ครั้ง ไม่นับที่ผิดพลาดแต่ไม่เป็นข่าวอีกหลายครั้ง ก็มีความเคลื่อนไหวให้ตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่อง จีที 200 จากองค์กรภาคประชาสังคม นักวิทยาศาสตร์ และชุมชนในอินเทอร์เน็ต รวมทั้งโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา ซึ่งเกาะติดประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่อง
แต่ผ่านไปหลายเดือนก็ยัง “จุดไม่ติด” เพราะฝ่ายความมั่นคงไม่ยอมเปิดประเด็นนี้สู่สาธารณะ และพยายามใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว มีเพียง แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ที่ยอมรับกลางวงเสวนาที่จัดโดยโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา เมื่อ 15 พ.ย.2552 ว่า จีที 200 ไม่ได้ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ ไม่แม่นยำ 100% และไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในศาลได้
กระทั่งสำนักข่าว บีบีซี เสนอสกู๊ปข่าวการ “ผ่าเครื่อง” ที่มีลักษณะคล้าย จีที 200 แต่ใช้ชื่อทางการค้าว่า ADE 651 ผลปรากฏว่าเป็นเครื่องลวงโลก เพราะภายในไม่มีกลไกอิเล็กทรอนิกส์ใดๆ และไร้ประสิทธิภาพในการตรวจหาระเบิดอย่างสิ้นเชิง โดยบีบีซีเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 23-25 ม.ค.2553 และมีการแปลข่าวมานำเสนอในสื่อหนังสือพิมพ์ไทยบางฉบับ จนกลายเป็นข่าวฉาวอันโด่งดังในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา
ล่าสุดคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพในการพิสูจน์ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง จีที 200 ด้วยวิธีการที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อสร้างความกระจ่าง แต่ปัญหาก็คือหากถึงที่สุดแล้วในทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเครื่องมือชนิดนี้ไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง รัฐจะทำอย่างไรต่อไป
โดยเฉพาะกับการแสดงผลผิดพลาดแบบที่เรียกว่า false positive คือไม่มีสารที่ต้องการค้นหา แต่เครื่องบอกว่ามี ความผิดพลาดลักษณะนี้ทำให้ผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมากต้องสูญสิ้นอิสรภาพ ถูกจับกุมคุมขัง บางส่วนถูกดำเนินคดีตลอด 2-3 ปีที่ฝ่ายความมั่นคงเปิดยุทธการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม
นี่ยังไม่รวมการแสดงผลผิดพลาดแบบ false negative คือมีสารที่ต้องการค้นหา แต่เครื่องบอกว่าไม่มี ซึ่งทำให้หาระเบิดไม่เจอ กระทั่งตูมตามกลายเป็นความสูญเสียตามมาทั้งกำลังพลและชาวบ้าน
ที่สำคัญก็คือกระบวนการจัดซื้อที่เริ่มปรากฏร่องรอยความไม่โปร่งใสออกมาในลักษณะ “น้ำลดตอผุด” เพราะแต่ละหน่วยงานจัดซื้อในระดับราคาที่แตกต่างกันมาก ตั้งแต่ 4 แสนบาทไปจนถึง 1.2 ล้านบาท แม้จะมีคำอธิบายประมาณว่าเป็นเพราะสเปคของเครื่องแตกต่างกัน โดยเฉพาะจำนวนการ์ดที่ใช้ตรวจ ถ้าราคาถูกก็จะมีความสามารถในการตรวจจับสารได้น้อยชนิดกว่า ทว่าเมื่อตรวจสอบย้อนกลับไปถึงราคาต้นทางในประเทศอังกฤษ กลับพบว่าอยู่ที่ 2 แสนบาทเท่านั้น หนำซ้ำสื่อบางสำนักยังขุดคุ้ยไปถึงต้นทุนการผลิตจริงที่อ้างว่าราคาอยู่แค่หลักพัน!
กลายเป็นคำถามที่ฝ่ายความมั่นคงตกเป็นจำเลย...
2.บอลลูนตรวจการณ์
ยุทโธปกรณ์ที่มีรูปลักษณ์คล้ายเรือเหาะขนาดยักษ์ติดกล้องอินฟาเรดตัวนี้ สนนราคาสูงถึง 350 ล้านบาท หลังปรากฏข่าวฉาวเกี่ยวกับ จีที 200 ก็มีการเปิดประเด็นผ่านสื่อบางแขนงว่า บอลลูนตรวจการณ์ก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะเลื่อนกำหนดใช้งานมาแล้วถึง 2 ครั้ง ทั้ง 15 ม.ค. และ 1 ก.พ.2553 กระทั่งบัดนี้ก็ยังปล่อยขึ้นไปเป็น “ดวงตาบนฟากฟ้า” หรือ eye in the sky ตามเป้าหมายของฝ่ายความมั่นคงไม่ได้
เล่นเอาหน่วยในพื้นที่ต้องจัดทดสอบเรือเหาะโชว์สื่อเพื่อกลบกระแสวิจารณ์ แค่การนำขึ้นใช้งานจริงก็ยังไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจนเช่นเดิม
กรณีบอลลูนตรวจการณ์นี้ อย่าว่าแต่ชาวบ้านจะมองแล้วส่ายหัว เพราะขนาด ท.ทหาร เต็มตัวอย่าง พล.อ.หาญ ลีนานนท์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ก็เคยเขียนวิจารณ์เอาไว้อย่างเผ็ดร้อนในบทความชัด “บทเรียนจากการรบ” หลายต่อหลายครั้ง รวมถึงบทวิพากษ์จาก พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ อดีตที่ปรึกษากองทัพไทยด้วย
สรุปก็คือ เทคโนโลยีนี้สหรัฐเคยนำไปใช้ในสงครามอิรัก แม้อิรักจะมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย กลุ่มก้อนที่ต่อต้านทหารอเมริกันก็มีป้อมค่ายและเขตอิทธิพลชัดเจน ซึ่งน่าจะสอดรับกับศักยภาพของเรือเหาะ แต่ก็ยังไม่ปรากฏผลสำเร็จอย่างชัดแจ้ง
ส่วนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยพื้นที่เต็มไปด้วยป่าเขา หลายจุดรกทึบ แม้ไม่ใช่ป่าอนุรักษ์ก็เป็นป่ายาง แล้วประสิทธิภาพการใช้งานบอลลูนตรวจการณ์จะกว้างขวางเท่ากับใช้ในประเทศทะเลทรายหรือ?
คำถามอีกข้อก็คือ กลุ่มก่อความไม่สงบที่ก่อเหตุในภาคใต้ ไม่ได้ประกาศตัวตั้งกองกำลังมีฐานที่มั่นชัดเจนเหมือนที่อื่น จนป่านนี้ฝ่ายความมั่นคงยังไม่รู้ว่าผู้ก่อการเป็นใคร ซ้ำยังแฝงตัวอยู่กับชาวบ้านกระจายอยู่ในทุกอำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อธรรมชาติของสถานการณ์เป็นแบบนี้ “บอลลูนครวจการณ์” ที่ว่าดีแสนดีจะใช้ได้ผลได้อย่างไร โดยเฉพาะความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคา 350 ล้านบาท!
3.มาตรการควบคุมยานพาหนะ
แนวคิดการขึ้นทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทุกคันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ด้วยการติดสติ๊กเกอร์บาร์โค้ดให้สามารถตรวจสอบรถทุกคันได้อย่างสะดวกรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถไปทำคาร์บอมบ์และมอเตอร์ไซค์บอมบ์ เกิดขึ้นภายหลังจากคนร้ายกดระเบิดครั้งแล้วครั้งเล่าบริเวณตลาดสดทั่วทั้งสามจังหวัด
แต่เปิดให้ขึ้นทะเบียนได้ไม่ทันไร และยังไม่ทันได้ดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ ปัญหาก็ปรากฏ เพราะมีข่าวรถที่ติดสติ๊กเกอร์หรือบาร์โค้ดของทหาร (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ถูกกรีดทำลายโดยกลุ่มผู้ไม่หวังดี สร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนทั่วไป คล้ายๆ กับข่าวใครฝ่าฝืนทำงานวันศุกร์จะถูกตัดหูเมื่อหลายปีก่อน โดยที่ฝ่ายรัฐไม่อาจคุ้มครองประชาชนให้คลายความวิตกกังวลลงได้
ความรู้สึกในมุมของชาวบ้านก็คือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงออกมาตรการเพื่อให้ตัวเองทำงานง่าย สะดวก รวดเร็ว แต่ประชาชนกลับต้องรับความลำบากแทนโดยไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ
กลายเป็นความอึดอัดซ้ำเติมความรู้สึกของชาวบ้านที่เครียดกับการตั้งด่านอย่างมากมายของทหาร ตำรวจในพื้นที่มากขึ้นไปอีก!
4.ซีซีทีวี
โครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือ ซีซีทีวี (Close Circuit Television – CCTV) เพื่อสร้างเครือข่าย "ดวงตาอิเล็กทรอนิกส์" ให้กับฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น รัฐมีแผนติดตั้งกล้องมากถึง 3,596 จุด
โครงการนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (2549-2550) เฉพาะในส่วนของกระทรวงมหาดไทยใช้งบประมาณ 969 ล้านบาท จัดซื้อกล้อง 1,028 ตัวเพื่อติดตั้งตามจุดล่อแหลมต่างๆ และตามแผนจะต้องดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่เดือน พ.ย.2551 แต่กลับมีความล่าช้า จนถึงปลายปี 2552 หรือ 3 ปี 4 รัฐบาล 4 นายกฯ ปรากฏว่าบริษัทผู้รับเหมาเพิ่งติดตั้งกล้องไปได้แค่ 10% แถมที่ติดไปแล้วก็ยังใช้การไม่ได้อีกเป็นจำนวนมาก จนสุดท้ายกระทรวงมหาดไทยต้องยกเลิกสัญญา
เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านเอือมระอา สิ้นหวังกับทั้งโครงการของรัฐและเทคโนโลยีที่ถูกเลือกมาใช้!
ทั้งหมดนี้คือเครื่องมือ 4 ชนิดที่ฝ่ายความมั่นคงประกาศเดินหน้าเพื่อใช้ “กดดัน” และ “ป้องปราม” กลุ่มก่อความไม่สงบให้หมดที่ยืนในปี 2553 ทว่าเครื่องมือแต่ละตัวล้วนกำลังก่อปัญหา
ในแง่สิทธิมนุษยชน เครื่องมือของรัฐเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ย่อมละเมิดสิทธิประชาชนอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ฝ่ายความมั่นคงกลับไม่เคยสร้างความเข้าใจใดๆ หรือสอบถามพี่น้องประชาชนก่อนแม้สักครั้ง ส่งผลให้ชาวบ้านตกอยู่ในสถานะจำยอม ถูกกระทำ กระทั่งเบื่อหน่ายและไม่อยากร่วมมือกับรัฐ ทั้งๆ ที่มาตรการรักษาความปลอดภัยทั้งหลายจะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา
และที่ดูจะหนักหนายิ่งกว่าก็คือในแง่ของงบประมาณ เพราะเกือบทุกโครงการล้วน "จัดซื้อวิธีพิเศษ" คือไม่มีการเปิดซองประกวดราคา ไม่ว่าจะเป็นจีที 200 หรือบอลลูนตรวจการณ์ จึงถูกตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใส เมื่อเครื่องมือเหล่านั้นส่อแววไร้ประสิทธิภาพ
เฉพาะจีที 200 ข้อมูลทันสมัยที่สุด ณ ปัจจุบัน มีใช้อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 541 เครื่อง คิดราคาเฉลี่ยเครื่องละ 1 ล้านบาท (เพราะแต่ละเครื่องใช้การ์ดสูงสุด 18 ใบ) ก็เป็นเงินงบประมาณที่ต้องละลายไปถึง 541 ล้านบาท เมื่อรวมกับบอลลูนตรวจการณ์อีก 350 ล้านบาท และซีซีทีวี 969 ล้านบาท คิดตัวเลขคร่าวๆ ก็ 1,860 ล้านบาทเข้าไปแล้ว ยังไม่รวมมาตรการขึ้นทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ไม่มีตัวเลขงบประมาณอีก
นี่คือปัญหาที่หากฝ่ายความมั่นคงไม่เร่งแก้ไข คำกล่าวของนักวิชาการว่าด้วย “อุตสาหกรรมความไม่มั่นคง” ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์จำนวนมหาศาลที่บางฝ่ายได้รับจากสถานการณ์ไม่ปกติ อาจปรากฏเป็นจริงขึ้นในใจของประชาชน ท่ามกลางคำถามเรื่อง “เลี้ยงไข้” ที่พูดคุยสงสัยกันในพื้นที่มาเนิ่นนาน...
อย่าปล่อยให้เครื่องมือเพื่อความมั่นคงเหล่านี้ กลายเป็นปัจจัยที่โลดแล่นอยู่ในอุตสาหกรรมความไม่มั่นคง!
------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : ย่างปีที่ 7 ไฟใต้ (1) เทียบสถิติเหตุรุนแรงลดลงจริงหรือ?