- Home
- South
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวภาคใต้
- "พูโล" นัดประชุม "กลุ่มเห็นต่าง" ที่เยอรมัน หวัง "เอกภาพ" ก่อนคุยรัฐไทย
"พูโล" นัดประชุม "กลุ่มเห็นต่าง" ที่เยอรมัน หวัง "เอกภาพ" ก่อนคุยรัฐไทย
"องค์การพูโล" หนึ่งในขบวนการต่อสู้ที่อ้างอุดมการณ์ปลดปล่อยปาตานี (สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) จากรัฐไทย เป็นโต้โผเชิญประชุมกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐและขบวนการต่อสู้ทุกกลุ่มเข้าหารือ ที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ในวันที่ 24 ม.ค.ที่จะถึงนี้
แหล่งข่าวจากฝ่ายความมั่นคง เปิดเผยว่า พูโลกลุ่มที่มี นายกัสตูรี่ มาห์โกตา เป็นประธาน ได้เป็นแกนนำในการจัดประชุมครั้งนี้ โดยได้ส่งเทียบเชิญไปยังกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐทุกกลุ่ม ทั้งพูโลภายใต้การนำของคนอื่น ซึ่งปัจจุบันแตกออกเป็น 3 กลุ่ม รวมทั้งบีอาร์เอ็น บีไอพีพี จีเอ็มพี และอื่นๆ เพื่อไปประชุมร่วมกัน โดยอ้างวาระครบรอบ 47 ปีของการก่อตั้งองค์การพูโล (วันก่อตั้งคือ 22 ม.ค.2511)
อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการประชุม คือ การกำหนดท่าทีของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐให้เป็นเอกภาพ ก่อนเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กับตัวแทนรัฐบาลไทย โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก
การประชุมดังกล่าวนี้ใช้ชื่อว่า "ยูนิตี้ ทอล์ค" (Unity Talk) เบื้องต้นมีตัวแทนจากบางกลุ่มตอบรับแล้ว เช่น ตัวแทนจากจีเอ็มพี อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัดว่าขบวนการใหญ่ซึ่งรัฐไทยเชื่อว่ามีอิทธิพลมากที่สุดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้อย่างบีอาร์เอ็นจะเข้าร่วมด้วยหรือไม่ เช่นเดียวกับพูโลอีก 2 กลุ่มที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของนายกัสตูรี่
ปัจจุบัน พูโลแตกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มของนายกัสตูรี่ ซึ่งรู้จักกันดีในนาม "พูโลใหม่" 2.กลุ่มของนายซัมซูดิง คาน ซึ่งมีกองกำลังที่เรียกตัวเองว่า พีแอลเอ (Patani Liberation Army) เคยมีภาพการฝึกในพื้นที่ป่าเขาหลุดออกมาหลายครั้ง ทั้งยังเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงบางเหตุการณ์ทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้ และ 3.กลุ่มของ นายกาแม ยูโซะ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นพูโลของกลุ่มผู้อาวุโส หรือพูโลเก่า
พูโลทั้ง 3 กลุ่มไม่ลงรอยกัน แต่เป็นที่รู้กันดีเช่นกันว่าทั้งหมดต้องการพูดคุยเจรจากับรัฐบาลไทย เพียงแต่ไม่ยอมรับซึ่งกันและกันให้อีกกลุ่มเป็นตัวแทนของตนเท่านั้น
ด้านแหล่งข่าวจากมาเลเซีย ระบุว่า การประชุมยูนิตี้ ทอล์ค อาจได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบางหน่วยในประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้มีการพบปะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานดังกล่าวกับนายกัสตูรี่ ที่ประเทศอินโดนีเซีย
ที่ผ่านมาแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เดินทางเยือนมาเลเซียเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.57 และได้หารือกับ นายนาจิบ ราซัค ผู้นำมาเลเซีย เพื่อเดินหน้ากระบวนการพูดคุยรอบใหม่ที่ใช้ชื่อว่า "กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" ทั้งยังได้เปิดตัว พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทยแล้ว แต่ปรากฏว่าการพูดคุยกลับไม่มีความคืบหน้า
ทั้งนี้ เหตุผลที่รัฐบาลไทยหยิบยกขึ้นมาอธิบายตลอดมา คือ ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐไม่มีความพร้อม ไม่สามารถรวมตัวกันอย่างมีเอกภาพเพื่อส่งตัวแทนร่วมพูดคุยกับรัฐบาลไทยได้ โดยในการให้สัมภาษณ์ล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เน้นย้ำในเรื่องนี้ทำนองว่า "เราพร้อมแล้ว แต่เขา (ผู้เห็นต่าง) พร้อมหรือยัง"
ขณะที่ทางการมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย ก็ได้พยายามรวบรวมกลุ่มผู้เห็นต่างหลายกลุ่มให้ส่งตัวแทนเข้าร่วมโต๊ะพูดคุย แต่ก็ติดปัญหาที่บางกลุ่มไม่ยอมเข้าร่วม โดยเฉพาะบีอาร์เอ็น
"การจัดประชุมยูนิตี้ ทอล์ค จึงอาจเป็นความพยายามของหน่วยงานรัฐบางหน่วยในไทยที่จะแก้ปัญหาการรวมกันไม่ติด หรือความไม่เป็นเอกภาพของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ" แหล่งข่าวจากมาเลเซียกล่าว
ด้าน นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันพุธที่ 7 ม.ค.58 ถึงการเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติสุขว่า ได้มีการแลกเปลี่ยนอย่างไม่เป็นทางการกับหลายกลุ่ม และได้ความต้องการมาบ้างแล้ว บางกลุ่มก็ต้องการคุยแบบนี้ บางกลุ่มก็ต้องการคุยแบบอื่นที่ไม่ต้องการเปิดเผย
ส่วนกลุ่มที่พูดคุยด้วยแล้วมีใครบ้างนั้น ต้องสอบถามกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แต่เชื่อว่ามีการคุยเพื่อแลกเปลี่ยนกันแล้วหลายกลุ่ม และ พล.อ.อักษรา หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข น่าจะให้ข้อมูลได้ดีกว่า
ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มที่มีการแลกเปลี่ยนด้วยมีกลุ่มไหนบ้าง นายปณิธาน กล่าวว่า กลุ่มหลักๆ มีอยู่แล้ว อาทิ พูโลและบีอาร์เอ็น ซึ่งไม่น่ามีปัญหา เพราะมีช่องทางพูดคุยอยู่แล้ว ส่วนพวกกลุ่มนักรบอิสระต่างๆ บางพื้นที่ก็เป็นห่วงเรื่องคดีความ ซึ่งรัฐบาลก็เข้าใจคนเหล่านี้ อยู่ดีๆ จะให้ออกมาโดนจับได้อย่างไร ก็ต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัยและความสะดวกในการพูดคุยด้วย เพราะของแบบนี้ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปประกาศแล้วแถลงเลยโดยที่ยังไม่ได้รับประกันและจัดระบบอะไรกันเลย
"แต่แนวโน้มในการตอบรับถือว่าค่อนข้างดี เพราะ พล.อ.อักษรา ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นพวกใดพวกหนึ่ง จึงมีความรู้สึกว่าคุยด้วยได้ และทีมเก่าของ สมช.ที่ทำงานมาหลายปีก็ได้รับความไว้วางใจ ทีมใหม่ของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสมช. (อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 56) ก็ยังมีพื้นที่อยู่ แต่จะทำอย่างไรให้ระบบทั้งหมดเดินไป ซึ่งต้องใช้เวลา" นายปณิธาน กล่าว
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สัญลักษณ์องค์การพูโลจากแฟ้มภาพอิศรา
ขอบคุณ : ข่าวเฉพาะส่วนบทสัมภาษณ์ อ.ปณิธาน วัฒนายากร จากสำนักข่าวเนชั่น