- Home
- South
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวภาคใต้
- กองทัพจัดทดสอบ"จีที 200"หาระเบิดเจอ นักวิทย์ยังไม่เชื่อ ชี้เป็นแค่การสาธิต
กองทัพจัดทดสอบ"จีที 200"หาระเบิดเจอ นักวิทย์ยังไม่เชื่อ ชี้เป็นแค่การสาธิต
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
หน่วยอีโอดีกองทัพบกจัดทดสอบเครื่อง "จีที 200" โชว์สื่อที่ราชบุรี ซ่อนระเบิดในลังวางกลางสนาม ปรากฏชี้แม่นเป๊ะ มั่นใจประสิทธิภาพเต็มเปี่ยม ด้านนักวิทยาศาสตร์ติงเป็นแค่การสาธิต แถมประดิษฐ์เครื่องล้อเลียน "จีที 200" เดินถือโชว์หน้าจอทีวี ชี้เป้าวัตถุต้องสงสัยได้เหมือนกัน ย้ำเป็นเรื่องจิตใต้สำนึก ไม่ใช่วิทยาศาสตร์
วันที่ 27 ม.ค.2553 ที่กองคลังแสง 6 กรมสรรพาวุธทหารบก อ.เมือง จ.ราชบุรี พ.อ.ทวีศักดิ์ จันทราสินธุ์ ผู้บังคับหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด (อีโอดี) หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย กองทัพบก (ฉก.อโณทัย) ได้เชิญสื่อมวลชนทุกสาขาเข้าชมการทดสอบการใช้เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 ภายหลังถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพการค้นหาสารประกอบระเบิด
พ.อ.ทวีศักดิ์ กล่าวก่อนเริ่มทดสอบว่า เครื่องจีที 200 สามารถตรวจจับสารที่ใช้ประกอบเป็นระเบิดและสารเสพติดได้ โดยจะใช้การ์ดในการตรวจแยกสาร ขณะที่เครื่องยี่ห้ออื่นๆ อาจจะแยกไม่ได้ และเครื่องนี้ไม่ต้องใช้แบตเตอร์รี่ ไม่มีแหล่งจ่ายไฟ แต่จะใช้ไฟฟ้าสถิตจากตัวคนถือเครื่องเพื่อทำปฏิกิริยากับสนามแม่เหล็กของสสาร อายุการใช้งานของเครื่อง 15 ปี แค่เพียงเช็ดถูและเก็บรักษาอย่างดีก็ใช้ได้
"ในภาคใต้มีเครื่องจีที 200 มากกว่า 500 เครื่อง แต่การจะชี้ได้ว่ามีสารระเบิดและสารเสพติดหรือไม่นั้น ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งเรื่องของเครื่องมือ และพยานแวดล้อมที่จะทำให้สามารถรู้ได้ว่ามีสารระเบิดหรือยาเสพติด"
พ.อ.ทวีศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ตลอดปี 2552 ที่ผ่านมา ทางหน่วยได้จัดทำสถิติการใช้เครื่องจีที 200 พบว่าสามารถช่วยชีวิตได้ถึง 23 ครั้ง จำนวนคนที่ปลอดภัยจากประสิทธิภาพของจีที 200 ก็มีเป็นจำนวนมาก ทั้งยังทำให้เหตุลอบวางระเบิดลดลงเกือบครึ่ง นอกจากตรวจจับได้จริงแล้ว ยังสามารถป้องปรามให้กับผู้ที่จะนำระเบิดมาก่อเหตุหรือมีสารเสพติดไว้ที่ตัวด้วย เพราะเครื่องจีที 200 สามารถชี้จุดในวงกว้างให้แคบลงได้ ตรวจหาในระยะใกล้และไกลได้ ทั้งยังตรวจได้ทั้งบนบก ทางอากาศ และในน้ำ
ส่วนสาเหตุของการเจาะจงซื้อเครื่องยี่ห้อนี้ ทั้งๆ ที่เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดมีหลายยี่ห้อนั้น พ.อ.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเพราะมีบริษัทตัวแทนจำหน่าย จีที 200 เพียงบริษัทเดียวที่นำเครื่องมาให้ทดสอบ และเมื่อทดสอบแล้วเห็นว่าใช้การได้ดี จึงตัดสินใจเลือกใช้ ส่วนบริษัทอื่นมาทีหลัง การใช้งานที่ผ่านมายังไม่พบข้อผิดพลาดอะไรเลย
จากนั้นเจ้าหน้าที่หน่วยอีโอดี ได้สาธิตการใช้เครื่อง โดยนำวัตถุระเบิดไปซ่อนในลังหนึ่งในสามลังที่วางไว้กลางสนามหญ้ากว้างหน้าหน่วย จากนั้นจึงใช้เครื่องจีที 200 ทำการค้นหาโดยเจ้าหน้าที่อีโอดี ปรากฏว่าเครื่องสามารถชี้ลังที่ซ่อนวัตถุระเบิดได้อย่างแม่นยำ โดยเจ้าหน้าที่บอกว่าวัตถุระเบิดที่นำไปซ่อนนั้นห่อหุ้มไว้ด้วยกระดาษฟรอยด์ แสดงว่าเครื่องจีที 200 สามารถตรวจทะลุสิ่งห้อหุ้มได้ด้วย
นักวิทย์ชี้แค่ "สาธิต" ไม่ใช่ "ทดสอบ"
ด้าน นายจุฬา พิทยาภินันท์ นิสิตปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ไปสังเกตการณ์การทดสอบของทหาร กล่าวว่า การทดสอบครั้งนี้ไม่ถูกหลักวิทยาศาสตร์ แต่เป็นแค่การสาธิต เพราะเป็นสถานที่เปิดและมีคนมามุงดู การทดสอบที่จะได้รับการยอมรับทางวิทยาศาสตร์ต้องเป็นวิธีการที่สากลรับรอง เช่น double blind testing หรือตาบอดสองฝ่าย คือฝ่ายผู้ซ่อนวัตถุกับผู้หาวัตถุต้องไม่มาเจอหน้ากัน และทดลองในสถานที่ปิด เพื่อลดการเบี่ยงเบนโดยสภาพแวดล้อมให้มากที่สุด อีกทั้งต้องทดสอบซ้ำหลายๆ ครั้ง เพื่อนำมาประเมินความถูกต้องในเชิงสถิติด้วย เพราะหากตรวจพบเพียง 25-50% ก็จะมีอัตราความน่าจะเป็นเท่ากับการเดาสุ่ม
"เรื่องไฟฟ้าสถิตจากร่างกายผู้ถือเครื่องที่อ้างว่านำไปดูดผลักกับสนามแม่เหล็กของสารที่ต้องการตรวจนั้น ในทางวิทยาศาสตร์ไม่เชื่อว่าจะมีเทคโนโลยีใดๆ ในโลกทำได้ ขณะที่ตัวเครื่องก็ไม่มีแหล่งกำเนิดพลังงานใดๆ ที่จะส่งไปหมุนเสาอากาศได้เลย" นายจุฬา กล่าว
ทำเครื่องมือเลียนแบบ "จีที 200" ถือโชว์
ช่วงเย็นวันเดียวกัน นายจุฬา พร้อมด้วย ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชื่อดัง ได้เดินทางไปออกรายการของ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ทางไทยทีวีสีช่อง 3 โดย ผศ.ดร.เจษฎา ได้นำเครื่องมือที่ทำเลียนแบบจีที 200 มาโชว์ในรายการ โดยเป็นการนำเสาอากาศมาติดกับประแจด้วยสก๊อตเทป ใช้ชื่อว่า "เจดี 300" จากนั้นก็ทดลองเดินถือให้ชี้กระปุกยาลดความอ้วนซึ่งตั้งห่างประมาณ 5 เมตร ปรากฏว่าชี้ได้อย่างแม่นยำ
ผศ.ดร.เจษฎา กล่าวว่า การชี้หรือไม่ชี้ของเสาอากาศขึ้นกับจิตใต้สำนึกของคนถือ หากสงสัยหรือคิดว่าวัตถุต้องสงสัยอยู่ด้านไหน ก็จะเอียงมือไปทางด้านนั้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอธิบายได้เช่นเดียวกับการเล่นผีถ้วยแก้ว ซึ่งไม่มีใครยอมรับว่าเป็นคนออกแรงผลักถ้วย เนื่องจากการผลักด้วยเป็นไปโดยจิตใต้สำนึกของผู้เล่นเอง
รมว.วิทย์พร้อมตรวจสอบ "จีที 200"
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงกระแสเรียกร้องให้ตรวจสอบเครื่อง จีที 200 ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการส่งอุปกรณ์ดังกล่าวมาให้ผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงวิทยาศาสตร์ตรวจสอบ แม้จะมีการพูดคุยในเบื้องต้นระหว่างหน่วยงานทางการทหาร กระทรวงกลาโหม และกระทรวงวิทยาศาสตร์ ถึงความต้องการที่จะสร้างเครื่องตรวจระเบิดขึ้นเองจากฝีมือนักวิจัยไทยมาก่อนหน้านี้ก็ตาม
"กระทรวงวิทยาศาสตร์พร้อมทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการตรวจสอบที่สามารถให้คำตอบได้ชัดเจนเป็นที่น่าเชื่อถือของสังคม แต่ตอนนี้ยังให้คำตอบไม่ได้ เพราะยังไม่เห็นเครื่อง ถ้าหน่วยงานทหารส่งมาให้ตรวจสอบหรือศึกษาก็ยินดี เพราะปัจจุบันข้อมูลเชิงลึกของเครื่อง จีที 200 ก็ยังไม่มีความชัดเจน" คุณหญิงกัลยา ระบุ
ป.ป.ส.ชู"อัลฟา 6"หายาเสพติดแม่นกว่าสุนัขดมกลิ่น
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พล.ต.ท.กฤษณะ ผลอนันต์ เลขาธิการ ป.ป.ส. เปิดแถลงข่าวยืนยันประสิทธิภาพของเครื่องตรวจหาสารเสพติดระยะไกลแบบพกพา รุ่น อัลฟ่า 6 โดยระบุว่า ป.ป.ส.สั่งซื้อเครื่องมือดังกล่าวไว้ใช้งานจำนวน 15 เครื่อง สามารถตรวจสารเสพติดได้ 8 ชนิด โดยสั่งซื้อจากประเทศอังกฤษ และให้กองทัพภาคที่ 3 นำไปใช้ในภารกิจตรวจค้นยาเสพติดตั้งแต่ปี 2550
ต่อมาในปี 2551 ได้สั่งซื้อด้วยวิธีอีอ็อคชั่นมาใช้งานในสำนักงาน ป.ป.ส.ภาคต่างๆ และด่านตามแนวชายแดน โดยสั่งซื้อมาในราคาเครื่องละ 400,000 บาท และได้สั่งซื้อเพิ่มอีก 15 เครื่อง อยู่ระหว่างการส่งมอบ แต่ไม่ใช่บริษัทเดียวกับบริษัทที่จำหน่าย จีที 200
"ก่อนตรวจรับสินค้า เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ป.ป.ส.จะตรวจเช็คเครื่องทุกเครื่องว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ จากสถิติการปฏิบัติงานในพื้นที่พบว่ามีความแม่นยำมากถึง 70% ส่วนความผิดพลาดของเครื่องยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน แต่ยืนยันว่าเครื่องดังกล่าวเป็นเพียงการตรวจสอบเบื้องต้น ไม่ใช่การยืนยันผลทันทีว่าเป็นสารเสพติด เพราะเจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์จะต้องใช้น้ำยาตรวจพิสูจน์อีกครั้ง" พล.ต.ท.กฤษณะ ระบุ และว่า เครื่องอัลฟ่า 6 มีประสิทธิภาพกว่าการใช้สุนัขดมกลิ่นหาสารเสพติด เพราะสุนัขมีข้อจำกัดด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะหลายครั้งสุนัขเมารถระหว่างเดินทาง ทำให้ทำงานได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ
-------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบโดย กิตตินันท์ รอดสุพรรณ ศูนย์ภาพเนชั่น