เด็กกำพร้าชายแดนใต้...กับการดูแลด้วยใจของมูลนิธิบ้านเด็กกำพร้าปัญญาเลิศ
ไฟใต้ที่ยืดเยื้อยาวนานเกือบ 16 ปี ทำให้จำนวนเด็กกำพร้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นเรือนหมื่น...
ในจำนวนเด็กกำพร้านี้ มีทั้งกำพร้าจากเหตุผลทั่วไป และกำพร้าจากสถานการณ์ความไม่สงบ
เด็กกำพร้ากลุ่มหลังมีจำนวนพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วตามความรุนแรงที่คร่าชีวิตผู้คน โดยเฉพาะชาวบ้านตาดำๆ ในฐานะประชาชนผู้บริสุทธิ์
ข้อมูลจากสำนักส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 12 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือกระทรวง พม. ระบุว่า ตลอด 15 ปีมีเด็กกำพร้าทุกกลุ่มเพิ่มขึ้นถึง 9,806 คน
หากนับเฉพาะเด็กที่สูญเสียพ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่จากสถานการณ์ความไม่สงบ และในวันเกิดเหตุอายุไม่เกิน 25 ปี พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 7,297 คน แยกเป็น จ.ปัตตานี 2,657 คน ยะลา 1,914 คน นราธิวาส 2,513 คน และสงขลา 213 คน
เด็กกำพร้าที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบจำนวนหนึ่งได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ เมื่อคดีการเสียชีวิตของบุพการีได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่าย คือ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง หรือผู้นำท้องถิ่น ว่าสาเหตุเกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบ ไม่ใช่เป็นเรื่องขัดแย้งส่วนตัว เด็กกลุ่มนี้ก็จะได้รับการเยียวยาเป็นทั้งตัวเงินและดูแลเรื่องการศึกษาจนจบปริญญาตรี
ขณะที่เด็กจากครอบครัวที่ไม่ได้รับการรับรอง 3 ฝ่าย ก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ เพราะถือว่าเป็นความสูญเสียจากอาชญากรรมทั่วไป ทำให้มีปัญหาตามมาอีกไม่น้อย เช่นเดียวกับเด็กกำพร้าจากชีวิตปกติที่ต้องสูญเสียพ่อแม่ไป โดยไม่ได้เกิดจากสถานการณ์ความรุนแรง อย่างการเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ ก็มีจำนวนมากเช่นกัน ทั้งสองกลุ่มนี้ยังได้รับการช่วยเหลือดูแลไม่ทั่วถึงและไม่ครอบคลุม คุณภาพชีวิตและการศึกษาแทบจะติดลบ ซ้ำยังพ่วงความยากจนเข้าไปอีก
ด้วยเหตุนี้ในพื้นที่ชายแดนใต้จึงมีคนใจบุญรวมตัวกันเป็นมูลนิธิ สมาคม หรือตั้งกลุ่มขึ้นมา โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือเด็กกำพร้าและยากจนหลายกลุ่มหลายองค์กรด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ มูลนิธิบ้านเด็กกำพร้าปัญญาเลิศ ที่บ้านสุไหงปาแน ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี
มูลนิธิแห่งนี้จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 53 เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่รับดูแลเด็กกำพร้าและยากจนในดินแดนปลายด้ามขวาน โดยรับดูแลเฉพาะเด็กผู้หญิง
เจ๊ะรอฮานี ปูต๊ะ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เล่าว่า ขณะนี้มีเด็กกำพร้าและยากจนอยู่ในความดูแลของมูลนิธิจำนวน 160 คน มีอายุตั้งแต่ 8-22 ปี จุดประสงค์หลักคือรับทั้งเด็กกำพร้าที่ฐานะยากจน และยากจนแต่ไม่กำพร้า สนับสนุนให้ได้รับการศึกษา เพราะมีโรงเรียนอยู่ในมูลนิธิ หากแจ้งความประสงค์มายังมูลนิธิว่าต้องการเรียนที่นี่ ทางมูลนิธิก็จะลงไปสำรวจ
"เราจะลงพื้นที่ไปสำรวจบ้าน ดูรายได้ครอบครัวปีละไม่เกิน 40,000 บาท เรารับทั้งเด็กจากสถานการณ์ความไม่สงบ และเคสที่ไม่ได้การรับรองจากเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย เพราะถ้าเราไม่รับเขามาแล้ว เขาจะมีชีวิตต่อไปอย่างไร"
จริงๆ แล้วทางมูลนิธิมีหลักเกณฑ์ละเอียดยิบย่อยมากมายเพื่อวางกรอบการดูแลเด็กกำพร้าและยากจนให้ดีที่สุด โดยเฉพาะเกณฑ์เรื่องอายุ แต่บางเคสบางกรณีก็มีข้อยกเว้นเหมือนกัน เพราะเด็กมีความเดือดร้อนแสนสาหัสจริงๆ หากไม่ยื่นมือเข้าไปช่วย แล้วใครจะช่วย...
"สำหรับเด็กอายุ 8 ขวบนั้นมาในกรณีพิเศษ หลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายกรณีหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น พ่อแม่ไม่มี เจ้าหน้าที่ทหารพามา สภาพเป็นเด็กเร่ร่อน ถือเป็นกรณีพิเศษที่ต้องรับ ทั้งที่อายุไม่ถึง 12 ปี หากเราไม่รับเขาจะไปอยู่ที่ไหน โชคดีที่เรามีโรงเรียนในมูลนิธิ จึงให้ได้เรียนไปพร้อมกับเด็กปกติ แต่หากมีเด็กผู้ชายมาด้วยก็จะขอให้ไปที่อื่นที่เปิดรับเด็กกำพร้าเหมือนเรา แต่รับผู้ชายด้วย เพราะเราไม่ได้รับผู้ชาย" เจ๊ะรอฮานี อธิบายถึงงานของมูลนิธิ
สำหรับเกณฑ์เรื่องของความยากจนนั้น เจ๊ะรอฮานี บอกว่า ดูที่รายได้ประจำของพ่อแม่หรือผู้ปกครอง โดยมีผู้เซ็นรับรอง คืออิหม่ามหรือผู้ใหญ่บ้าน ว่ารายได้ไม่เกิน 40,000 บาทต่อปี ซึ่งคนตามชนบทบางครอบครัวมีรายได้ไม่ถึงอยู่แล้ว นอกจากนั้นก็ดูสภาพบ้านเรือน สุดท้ายก็มาคุยกับคณะกรรมการมูลนิธิว่าจะรับไม่รับ
"เราเริ่มรับเด็กที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์จากการแจ้งความจำนงว่าจะมาเรียนที่นี่ เขามีสิทธิ์ มีคนหนึ่งมาตอน ป.4 ออกตอนจบ ม.3 อีกคนพ่อโดนยิง ไม่ได้รับรองว่ามาจากสถานการณ์ ส่วนเคสที่มาในกรณีพิเศษ จำเป็นสุดๆ คือเด็กประถม เช่น สามพี่น้องจากสุคิริน (อ.สุคิริน จ.นราธิวาส) หกพี่น้องจากทุ่งยางแดง (อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี) ที่ให้มาเรียนกับเด็กในโรงเรียนปกติ เด็กที่ขัดสน แต่เราไม่สามารถรับได้ครอบคลุมทั้งหมด ด้วยจำนวนหอพักของเรามีจำกัด บางครอบครัวมีเด็กผู้ชายมาด้วย แต่เรารับเฉพาะผู้หญิง ต้องให้แยกกันอยู่"
เจ๊ะรอฮานี เล่าต่อว่า รายได้หลักของมูลนิธิคือการรับบริจาค แต่ก็ไม่เพียงพอ จึงต้องหารายได้จากส่วนอื่น เช่น ร้านเสื้อผ้าอัล-อัยตาม ที่บานา (อ.เมืองปัตตานี) ที่ตัดเย็บเสื้อผ้านักเรียนของโรงเรียนดารุลบารอกะฮฺ มีกำไรปีละแสนกว่าบาท ก็นำมาหมุนเวียน มีสวนทุเรียนของมูลนิธิจากการนำเงินไปซื้อ เมื่อถึงฤดูทุเรียนก็จะขายได้เงินจำนวนหนึ่ง ที่นี่เป็นมูลนิธิที่แล้วแต่ใครจะบริจาคมาก็บริจาคได้ตามความสมัครใจ ไม่ได้อยู่ภายใต้องค์กรไหนสนับสนุน เป็นน้ำใจจากทุกคน ทุกหน่วยงานที่เห็นความตั้งใจของมูลนิธิฯ
"เราไม่ต้องซื้อข้าวสารมา 3-4 ปีแล้ว เช่นวันนี้มีคนบริจาคมา 1 กระสอบ อีกวันมาอีก 10 กระสอบ ไม่ได้มาจากบริษัทขายข้าวสาร แต่เป็นน้ำใจ อีกส่วนหนึ่งมาจากการบริจาคของผู้ปกครองของเด็กในโรงเรียน คนละนิดคนละหน่อยเป็นน้ำใจ และความเชื่อใจของสังคมว่าเราดูแลจริงๆ ให้เงินมาแล้วถึงเด็กจริงๆ และสามารถบริหารจัดการได้"
ที่มาของค่าใช้จ่ายต่างๆ นับว่าไม่น้อยทีเดียว...
"ที่นี่มีหอพัก เครื่องแบบ และอาหารฟรีสามมื้อ งบที่รัฐบาลให้ค่าอาหารกลางวันมาสำหรับเด็กนักเรียนปกติ สามารถเอื้อเฟื้อเด็กในมูลนิธิได้ด้วย ส่วนอาหารเย็นและอาหารเช้ามาจากการบริจาค วันละ 45 บาทต่อคน เรียนวันอาทิตย์ถึงพฤหัสฯ หยุดวันศุกร์และเสาร์ เรียนทั้งศาสนาและวิชาการ"
"เงินที่ได้รับบริจาคมาต้องบอกว่าไม่เพียงพอ แม้จะมีเงินซากาตมาอีกจำนวนหนึ่งเป็นค่าอุปกรณ์การเรียนก็ตาม ในส่วนของอุปกรณ์การเรียนจะให้เด็กเบิกไปตามวาระที่ใช้ในการเรียน และให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมสมทบเดือนละ 100 บาท ไม่ใช่มาส่งลูกไว้แล้วไม่มาเยี่ยมหรือมาหาเลย แต่หากไม่มีความสามารถจริงๆ ก็ไม่ต้องสมทบ นอกจากนั้นทางมูลนิธิก็มีเงินฉุกเฉินจำนวนหนึ่งเตรียมไว้ให้เด็กเป็นกรณีพิเศษ นอกนั้นเงินจะลงไปที่ค่ากับข้าวทั้งหมด ให้เด็กได้กินอิ่ม นอนหลับ"
การติดอาวุธทางปัญญา ฝึกให้เด็กมีวินัยและช่วยเหลือตนเองได้ คือปรัชญาสำคัญของมูลนิธิบ้านเด็กกำพร้าปัญญาเลิศ...
"เด็กๆ จะทำอาหารเองในวันหยุด มีฐานฝึกฝนเรื่องการเกษตร ปลูกผัก ทำน้ำยาล้างจาน ตัดเย็บเสื้อผ้า ทำยาหม่อง เบเกอรี่ การดูแลครัวเรือน เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อต่อยอดอาชีพในอนาคต ฝึกแบ่งเวรทำความสะอาดกันในตอนเช้าและตอนเย็น ฝึกมารยาทไม่ให้ใส่รองเท้าของคนอื่น ไม่เอาของของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง"
"เด็กที่นี่มาจากหลากหลายครอบครัวและสิ่งแวดล้อม ถ้ามีปัญหาต้องพร้อมแก้ปัญหา ไม่ซ้ำเติมปัญหา เราเข้าใจว่าปัญหาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น ยืมกะละมังซักผ้ากันแล้วไม่คืน เพราะบางคนไม่มีของใช้ เมื่อเพื่อนมีก็เกิดความอยากได้ ก็ต้องตักเตือน (นาซีฮัต) กันไป"
การใช้ชีวิตของเด็กๆ ในมูลนิธิบ้านเด็กกำพร้าปัญญาเลิศ มีลักษณะเหมือนโรงเรียนประจำ แต่ก็อนุญาตให้กลับบ้านได้ในเทศกาลต่างๆ
"หนึ่งปีกลับบ้านได้ 4 ครั้ง รายอสองครั้ง ปิดเทอมแต่ละเทอม พ่อแม่ผู้ปกครองมาเยี่ยมได้เดือนละหนึ่งครั้งในวันหยุด การออกไปนอกมูลนิธิก็มีได้ เมื่อมีกิจกรรมจำเป็น แต่ส่วนใหญ่จะมีหน่วยงานหรือองค์กรมาทำกิจกรรมในโรงเรียนมากกว่า เมื่อเรียนจบชั้น 10 ซานาวี บางคนเรียนต่อโดยได้รับทุนไปเรียนต่างประเทศ บางคนไปเป็นครูสอนศาสนา บางคนไปมีครอบครัว เป็นช่วงวัยที่เป็นผู้ใหญ่และตัดสินใจได้มากขึ้น"
นัสรีน พุ่มพวง หนึ่งในเยาวชนที่อยู่ในมูลนิธิฯมานานหลายปี บอกว่า ชอบการเรียนและใช้ชีวิตที่นี่ เพราะได้เรียนทั้งศาสนาและวิชาสามัญ มีความสุขในสิ่งที่เป็นอยู่ ไม่ขวนขวายในสิ่งที่ไม่มี สุขใจในสิ่งที่อัลลอฮฺประทานให้
5 หน่วยงานรับหน้าที่ช่วยเหลือเยียวยาเหยื่อไฟใต้
การให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้นั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 และ 14 สิงหาคม 2555 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ พบว่ามี 5 หน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้ และมีหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาชัดเจน โดยเฉพาะในกรณีประชาชน ซึ่งรวมถึงเด็กด้วย ดังนี้
1. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) / ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือเยียวยาฯจังหวัด กรณีเสียชีวิต 500,000 บาท กรณีทุพพลภาพ 500,000 บาท กรณีบาดเจ็บสาหัส 50,000 บาท กรณีบาดเจ็บปานกลาง 30,000 บาท กรณีบาดเจ็บเล็กน้อย 10,000 บาท กรณีทรัพย์สินเสียหาย (มติคณะกรรมการประเมินระดับจังหวัด)
2. สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เงินสงเคราะห์ครอบครัว 6,000 บาท เงินฟื้นฟูสมรรถภาพ (บาดเจ็บสาหัส, ทุพพลภาพ) 200,000 บาท เงินยังชีพพิการรายเดือน (พิจารณาจากความพิการ) 1,000-3,000 บาท กรณีบาดเจ็บเล็กน้อย/ปานกลาง/สาหัส 3,000 บาท เงินยังชีพรายเดือนจนจบปริญญาตรี (กรณีผู้ปกครองเสียชีวิต, ทุพพลภาพ, บาดเจ็บสาหัส) อนุบาล, ประถม 1,000 บาทต่อเดือน ก่อนวัยเรียน, กศน, มัธยม, ปวช. 1,500 บาทต่อเดือน และ ปวส, ปริญญาตรี 2,500 บาทต่อเดือน
3. สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณปลอดภัยจังหวัด กรณีเสียชีวิต กรณีหัวหน้าครอบครัว 50,000 บาท กรณีสมาชิกครอบครัว 25,000 บาท กรณีทุพพลภาพ 10,000 บาท กรณีบาดเจ็บสาหัส 3,000 บาท กรณีบาดเจ็บเล็กน้อย 2,000 บาท (ค่าปลอบขวัญและกำลังใจ)
4. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เงินยังชีพรายปีจนจบปริญญาตรี (กรณีผู้ปกครองเสียชีวิต, ทุพพลภาพ ,บาดเจ็บสาหัส) ประถมวัย, กศน., ศาสนา 5,000 บาทต่อปีการศึกษา อนุบาล, ประถมฯ 6,000 บาทต่อปีการศึกษา มัธยม, ปวช. 10,000 บาทต่อปีการศึกษา ปวส., ปริญญาตรี 20,000 บาทต่อปีการศึกษา
5. สำนักงานยุติธรรมจังหวัดปัตตานี ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 20,000 บาท ค่าตอบแทนความเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรแต่ไม่เกิน 30,000 บาท ขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ อัตราวันละไม่เกิน 200 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
การให้ความช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ นั้น ให้นำเอกสารไปยื่น ณ ที่ว่าการอำเภอที่เกิดเหตุภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ