ลุ้นจับใบแดงเป็นทหารที่ชายแดนใต้ อีกหนึ่งหวังพลังใจหนีพ้นปัญหาสังคม...
"อยู่ในพื้นที่น่ากลัว เป็นห่วงลูก ทั้งยาเสพติดและปัญหาอื่นๆ เยอะมาก...คิดว่าเป็นทหารแล้วจะได้พ้นจากปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ได้"
เป็นความในใจของ มาซือนะ มะนาหิง แม่ของ มารูวรรณ วาเด็ง หนึ่งในชายไทยที่เข้าเกณฑ์ทหาร จับใบดำ-ใบแดงร่วมกับเพื่อนๆ วัยเดียวกันอีกหลายพันคนในปีนี้ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
มาซือนะอยากให้ลูกเป็นทหาร ทั้งๆ ที่หากมองจากสายตาคนทั่วไปผ่านสถานการณ์ความไม่สงบและความขัดแย้งในดินแดนปลายด้ามขวานมานานกว่า 15 ปี น่าจะคิดว่าผู้คนในพื้นที่นี้ไม่ชอบทหาร และไม่อยากข้องแวะใดๆ กับคนในเครื่องแบบ
แต่มาซือนะคิดอีกอย่าง และเล่าถึงปัญหาความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้านที่นางต้องเผชิญ
"อยากให้ลูกอยู่ในกรอบระเบียบ ลูกจะได้โตเป็นผู้ใหญ่มากกว่านี้ เขาจะได้อยู่ในสังคมได้ ที่สำคัญคิดว่าดีกว่าอยู่ที่บ้าน เพราะวัยรุ่นเยอะมาก มีวัยรุ่นมากมายตกเป็นผู้ต้องสงสัย แต่ถ้าลูกเป็นทหาร ลูกจะได้รอดพ้นจากปัญหานี้ได้"
นี่คือเหตุผลประการแรกที่มาซือนะเล่าให้ฟัง เป็นเหตุผลเรื่องคดีความมั่นคง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าวัยรุ่นชายมุสลิมแทบทุกคนในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน มีโอกาสตกเป็นผู้ต้องสงสัยเมื่อมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะในพื้นที่ตำบลหรืออำเภอไหนก็ตาม
"อยู่ในพื้นที่ก็น่ากลัว เป็นห่วงลูก ทั้งยาเสพติดและปัญหาอื่นๆ เยอะมาก"
ปัญหายาเสพติดที่ระบาดอย่างหนัก คือเหตุผลประการที่ 2 ที่ทำให้มาซือนะอยากให้ลูกเป็นทหาร ขณะที่เหตุผลสำคัญข้อต่อมาคือปัญหาการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งมีเด็กและเยาวชนจำนวนมากจบการศึกษาแค่ชั้นประถมเท่านั้น
"เขาไม่เรียนจนจบ ป.6 แต่มาขอกรีดยางเลย ก็เลยไม่ได้ส่งเขาเรียน กลัวว่าเขาจะตามคนอื่นไม่ทัน ก็เลยคิดว่าเป็นทหารน่าจะดีกับเขา และพ้นจากปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ได้"
แม้การตรวจเลือกทหารปีนี้จะมีการตั้งโต๊ะเก็บ "ดีเอ็นเอ" แต่เมื่ออยากให้ลูกเป็นทหารแล้ว ก็ไม่มีอะไรเป็นเงื่อนไขหรืออุปสรรคในความคิดของมาซือนะ
"คิดว่าไม่เป็นไร เจ้าหน้าที่คงไม่ได้มีอคติกันทุกคน การตรวจดีเอ็นเออาจเป็นข้อดีในบางครั้ง เหมือนประเทศเพื่อนบ้านเราที่เขาเก็บตั้งแต่เกิดที่โรงพยาบาล เพื่อที่เวลาไปประสบอุบัติเหตุที่ไหน ก็จะสามารถยืนยันความเป็นตัวตนได้ ฉะนั้นจึงคิดว่าไม่น่าใช่เรื่องแปลก"
มารูวรรณ วาเด็ง ลูกชายของมาซือนะ ยอมรับตรงๆ ว่ามาจับใบดำ-ใบแดง เพราะแม่ขอ
"จริงๆ แม่ตั้งใจจะให้สมัครเลย แต่ผมเฉยๆ ก็เลยเลือกเสี่ยงดวง ถ้าหยิบได้ใบแดงก็ไป ถ้าไม่ได้ก็อยู่กรีดยางที่บ้าน"
มารูวรรณซึ่งได้มาสัมผัสบรรยากาศจริงๆ ของการเกณฑ์ทหาร ยอมรับว่ามีคนสมัครเป็นทหารแบบไม่ตัองจับใบดำ-ใบแดงเยอะมาก เหมือนกับเสียงร่ำลือที่เคยได้ยินมาก่อนหน้านี้ทุกปี ทั้งๆ ที่ดินแดนแห่งนี้มีปัญหาความไม่สงบ และทหารมีสถานะเป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้ง
"คนสมัครเยอะมาก อาจจะเป็นเพราะเขาอยู่บ้านก็อยู่เฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร ถ้าไปเป็นทหารก็จะได้เงินเดือน แต่จะต้องอยู่ในกฎระเบียบและวินัยของทหารก็ตาม" มารูวรรณ คาดคะแนน
"ที่หมู่บ้านมีผู้เข้ารับคัดเลือกทหารทั้งหมด 8 คน ไม่มีใครได้ใบแดงเลย พวกเขาดีใจมาก ส่วนผมเฉยๆ ไม่ได้ดีใจ ไม่ได้เสียใจ เพราะแม่อยากให้เป็นทหาร แต่ผมเฉยๆ ก็เลยเสี่ยงดวง"
และผลของการเสี่ยงก็คือได้ "ใบดำ" ไม่ต้องเป็นทหาร แม้มารูวรรณจะออกตัวว่ารู้สึกเฉยๆ แต่อีกใจหนึ่งก็คิด เพราะแม่หวังไว้มากจริงๆ
"แม่เขาหวังมาก ก่อนจะคัดเลือกทหาร แม่หุงข้าวเลี้ยงอาหารทำบุญ และทำพิธีละหมาดขอพรให้เจอสิ่งดีๆ ผมจึงคิดว่าสิ่งที่ได้ใบดำถือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผมและแม่ เพราะเป็นไปตามประสงค์ของพระเจ้าแล้ว"
กระบวนการคัดเลือกทหารปีนี้มีตรวจดีเอ็นเอเป็นปีแรก แต่มารูวรรณไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหา
"ก็เฉยๆ คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร อาจเป็นผลดีก็ได้ ส่วนเรื่องไม่ดีที่อาจเกิดขึ้น ก็ถือว่าอยู่ที่ความประสงค์ของอัลลอฮ์"
ภาพรวมของการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นกองประจำการที่ชายแดนใต้ มีการบูรณาการกำลังทุกฝ่ายเพื่อดูแลความปลอดภัยอย่างเต็มกำลัง
พ.ท.ภูวนาท จันทรประนต ประธานคณะกรรมการตรวจเลือกฯ ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา บอกว่า คณะกรรมการฯทำงานด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม และโปร่งใส คัดเลือกผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง มีขนาดร่างกายตามที่ทางราชการกำหนด ไม่มีโรคที่ขัดต่อการรับราชการทหาร การปฏิบัติของคณะกรรมการในขั้นตอนต่างๆ นั้น หากผู้ใดเห็นว่าไม่ถูกต้องก็โต้แย้งได้ทันที หากเห็นว่าคณะกรรมการกระทำการไม่เป็นธรรมหรือมีการทุจริตในระหว่างการตรวจเลือกไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ให้แจ้งมาได้
สีสันที่อำเภอเบตง คือมีสาวประเภทสองเดินทางมาเข้ารับการตรวจเลือกด้วย หนุ่มในคราบสตรีคนนี้เป็นชาวอำเภอเบตง แต่ไปทำงานอยู่ที่คลินิกเสริมความงานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เขากลับมาเกณฑ์ทหารในรูปลักษณ์ที่หลายคนบอกว่างามกว่าผู้หญิงแท้ๆ เสียอีก
แม้ในเทศกาลเลือกตั้งที่ผ่านมา นโยบายเลิกเกณฑ์ทหารจะกลายเป็นประเด็นหาเสียงที่หลายพรรคการเมืองหยิบมาโฆษณาจนทำให้เกิดการถกแถลงว่า ตกลงการเกณฑ์ทหารยังควรมีอยู่หรือไม่ในสังคมไทย
แต่เรื่องราวจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เรื่องนี้ไม่ได้ตัดสินว่าการเกณฑ์ทหารควรมีหรือไม่ควรมี ทว่าสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือ กิจกรรมนี้ก็ยังคงเป็นความหวัง ความฝัน และสร้างสีสันเสมอมา...