ไข 2 ปม "โต้ปราบยา - ไล่ล่าชคต." ต้นเหตุใต้ป่วน!
เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นถี่ยิบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงนี้ มีเป้าหมายมุ่งไปที่ "กองกำลังภาคประชาชน" และคนที่ทำงานให้กับรัฐอย่างชัดเจน
เป้าโจมตีของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง หากนับเฉพาะสถานการณ์ในช่วงเดือน พ.ย.61 จะเห็นว่าคนร้ายพุ่งเป้าไปที่กองกำลังภาคประชาชน และคนทำงานให้รัฐอย่างลูกจ้าง 4,500 เป็นหลัก มีเหตุยิงกลางตลาดเกิดขึ้น 3 ครั้ง และเหตุต่อเนื่องยิงตอบโต้หลังปิดล้อมตรวจค้น 1 ครั้ง มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 6 นาย เป็นทหารพราน 1 นาย อส.4 นาย และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ 1 คน ส่วนอีก 3 รายได้รับบาดเจ็บ เป็นทหารพราน 1 นาย และ อส.อีก 2 นาย
หากพิจารณาตามลำดับเวลา สามารถไล่เรียงเหตุการณ์ได้แบบนี้
- วันศุกร์ที่ 2 พ.ย.คนร้ายลอบยิงทหารพรานเสียชีวิต 1 นาย ได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 นาย กลางตลาดนัดใน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี
- วันพฤหัสบดีที่ 22 พ.ย. คนร้ายจ่อยิง อส.กลางตลาดนัดใน อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ทำให้ อส.เสียชีวิต 2 นาย
- วันอาทิตย์ที่ 25 พ.ย. คนร้ายยิงเจ้าหน้าที่ชุด รปภ.ตลาดนัดท่าหยี อ.เทพา จ.สงขลา ทำให้ อส.เสียชีวิต 2 นาย ผู้ช่วยผูู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ เสียชีวิตอีก 1 ราย
- เช้ามืดวันจันทร์ที่ 26 พ.ย. คนร้ายยิงเปิดทางขณะแหกด่านเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นจากเหตุยิงชุด รปภ.ตลาดนัดท่าหยี ที่อำเภอเทพา ทำให้ อส.ได้รับบาดเจ็บอีก 2 นาย
จะเห็นได้ว่าเหตุรุนแรงเกือบทั้งหมด อส.ตกเป็นเป้าสังหารหลัก โดย อส.เหล่านี้จัดเป็น "กองกำลังภาคประชาชน" ที่ปัจจุบันประกอบกำลังเป็น "ชุมคุ้มครองตำบล" หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "ชคต."
"ชุดคุ้มครองตำบล" มีบทบาทสูงมากในการรักษาความปลอดภัยพื้นที่ชายแดนใต้ในปัจจุบัน เพราะมี อส.บรรจุจากคนพื้นที่ ทำงานร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ.ซึ่งรู้จักและเชี่ยวชาญพื้นที่เป็นอย่างดี จนทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบไม่สามารถก่อเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ ประเภทวางระเบิดหรือซุ่มโจมตีทหารตำรวจได้ง่ายๆ เหมือนเมื่อก่อน คนร้ายจึงต้องเบนเป้ามาจัดการ "กองกำลังภาคประชาชน" โดยเฉพาะ อส.แทน
ที่สำคัญในปีงบประมาณ 2563 คือตั้งแต่ปลายปีหน้า กองทัพมีนโยบายถอนทหารหลักออกจากพื้นที่ทั้งหมด แล้วส่งมอบพื้นที่ให้ ชคต.จำนวน 262 ชุด 262 ตำบล รับผิดชอบพื้นที่แทน ฉะนั้น ชคต.โดยเฉพาะ อส. จึงมีบทบาทหลักในภารกิจรักษาความปลอดภัยแทนทหาร พวกเขาจึงกลายเป็นเป้าของผู้ก่อเหตุรุนแรง
กองกำลังภาคประชาชน ยังมี ชรบ. หรือ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน อรม. หรือราษฎรอาสารักษาเมือง อรบ. อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน ทสปช. หรือไทยอาสาป้องกันชาติ และ อปพร. อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนด้วย ทั้งหมดนี้มีกำลังทั้งสิ้น 95,974 นาย ทำงานประสานกับ ชคต.อีกทีหนึ่ง
แต่เนื่องจาก ชคต.ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่เอง การวางแผนโจมตีด้วยยุทธวิธีทางทหารจึงมักไม่ประสบความสำเร็จ เพราะฝ่าย ชคต.มักรู้ทัน หรือได้ข่าวล่วงหน้าก่อน ช่องโหว่ที่คนร้ายสามารถก่อเหตุได้ตลอดเวลาจึงเหลือเพียง "ตลาดนัด" ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนชายแดนใต้ เปิดตลาดกันแทบทุกตำบล และเมื่อมีตลาดนัดก็จะต้องมีกำลังพลไปรักษาความปลอดภัย ซึ่งก็คือ "ชุดคุ้มครองตำบล" นั่นเอง ส่วนกำลังพลกลุ่มอื่นๆ ทั้งทหารหลัก ทหารพราน ก็ต้องไปจ่ายตลาด หาซื้อของกินของใช้ และไปเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจ ทำให้ตกเป็นเป้าสังหารอย่างง่ายดาย
เจ้าหน้าที่ระดับปฏฺิบัติการในพื้นที่ ยอมรับว่า การดักยิงกำลังพลในตลาดแทบไม่สามารถป้องกันได้เลย เพราะคนร้ายแฝงตัวมากับประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของจำนวนมาก หนำซ้ำเมื่อถูกล็อคเป้าโจมตี เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตอบโต้ได้ถนัด เพราะเกรงว่าประชาชนจะถูกลูกหลง ทำให้เป็นฝ่ายตั้งรับและสูญเสียทุกเหตุการณ์ ส่วนฝ่ายคนร้ายไม่สนใจผลกระทบใดๆ หลายๆ เหตุการณ์กระสุนพลาดไปโดนชาวบ้านในตลาดได้รับบาดเจ็บไปก็มี เหยื่อบางคนเป็นผู้หญิงด้วยซ้ำ
าสุดกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้แจ้งเตือนไปยังหน่วยกำลังทุกหน่วย ให้ถือว่าตลาดเป็น "พื้นที่สังหาร" ห้ามกำลังพลไปจ่ายตลาดหรือเดินจับจ่ายซื้อของโดยเด็ดขาด หากจะซื้อกับข้าว ให้ซื้อจากรถกับข้าวที่ผ่านหน้าฐานปฏิบัติการเท่านั้น พร้อมให้กำนันผู้ใหญ่บ้านช่วยกันวางมาตรการรักษาความปลอดภัยพื้นที่ตลาดให้มากขึ้น
ขณะที่ฝ่ายตำรวจ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ก็แจ้งเตือนเช่นกัน โดยกำชับว่าตำรวจทุกนายห้ามเข้าตลาดเด็ดขาด
อย่างไรก็ดี เรื่องให้กำนันผู้ใหญ่บ้านช่วยวางมาตรการรักษาความปลอดภัย ไม่รู้จะสำเร็จหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ทำงานให้รัฐก็ตกเป็นเป้าสังหารเหมือนกัน เหมือนกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบที่ถูกยิงเสียชีวิตล่าสุดที่ อ.เทพา จ.สงขลา ขณะทำหน้า รปภ.ตลาดร่วมกับ อส.
อีกประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายความมั่นคงให้น้ำหนักว่าน่าจะเป็นสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นถี่ยิบในช่วงนี้ ก็คือนโยบายปราบยาเสพติดขั้นเด็ดขาดของ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ที่เริ่มดีเดย์มาตั้งแต่รับตำแหน่งเมื่อเดือน ต.ค.61 โดยมีเป้าหมายปิดล้อม ตรวจค้น และปราบปรามมากกว่า 7,000 เป้าหมาย ที่ผ่านมีการจับกุมต่อเนื่อง จนทำให้เครือข่ายค้ายาไม่พอใจ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา เพิ่งมีการจับกุมอดีตทหารพรานที่ถูกปลดจากราชการเพราะปัญหายาเสพติด โดยอดีตทหารพรานได้พาพวกปล้นรถกระบะเพื่อนำรถไปก่อเหตุทวงหนี้ยาเสพติดที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งเป็นอำเภอรอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ถูก "ชุดคุ้มครองตำบล" สกัดจับเอาไว้ได้
หลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์สังหาร ชคต.กลางตลาด 2 เหตุการณ์ติดๆ กัน คือเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี อส.เสียชีวิต 2 นาย และเหตุยิง ชคต.ชุด รปภ.ตลาดใน อ.เทพา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 25 พ.ย. มี อส.และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเสียชีวิตอีก 3 ราย
ทั้งสองเหตุการณ์ทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงให้น้ำหนักว่า การลอบสังหาร ชคต.ช่วงนี้ อาจมีสาเหตุจากการตอบโต้แก้แค้นนโยบายปราบยาเสพติดของแม่ทัพด้วย และคนร้ายน่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน หรือเครือข่ายเดียวกัน
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
ยิงเจ้าหน้าที่ชุด รปภ.ตลาดนัดดับ 3 หลังรัฐแจ้งเตือนตลาดเป็น"พื้นที่สังหาร"
ห้ามกำลังพลจ่ายตลาด-ปลดหัวหน้า ชคต. หลัง 2 อส.กะพ้อถูกยิงดับ
ยิงกลางตลาดดับ 2 อส. แฉก่อเหตุรอบ 3 ในห้วง 3 เดือน
ชาวบ้านรับไม่ได้ยิงทหารพรานดับกลางตลาดยะหริ่ง ถามทำแบบนี้จะอยู่อย่างไร?