ปิดโรงงานซีฟู้ดดังปัตตานี สวนทางรัฐบอกเศรษฐกิจดี พื้นที่ใกล้สันติสุข?
มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เชื่อมโยงทั้งแง่มุมเศรษฐกิจ นโยบายรัฐ และความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการปิดตัวของโรงงานซีฟู้ดระดับโลกที่ จ.ปัตตานี
สาเหตุหลักๆ เพราะแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการเข้มตามมาตรฐาน "ไอยูยู ฟิชชิ่ง" ของรัฐบาลไม่ไหว รวมทั้งเจอผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากปัญหาความไม่สงบ แม้จะมีรายได้จากการส่งออกอาหารทะเล โดยเฉพาะปลาหมึกระดับพันล้านต่อปี แต่ก็ยังขาดทุนต่อเนื่อง ทำให้ต้องเลิกจ้างคนงานร่วม 1,000 ชีวิต ขณะที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดผวาโรงงานอื่นล้มตามเป็นโดมิโน่
โรงงานซีฟู้ดระดับโลกนี้ ชื่อว่า "บริษัทเทพพิทักษ์ซีฟูดส์ จำกัด" ตั้งอยู่ที่ ต.บานา อ.เมืองปัตตานี เมื่อวันสุดท้ายของเดือน ต.ค.61 มีกิจกรรมมอบเงินชดเชยการเลิกจ้างแก่พนักงานจำนวนถึง 937 คน รวมเป็นเงิน 68,905,380 บาท หลังจากโรงงานเทพพิทักษ์ซีฟูดส์ ต้องปิดตัวลง และรวมสายการผลิตกับบริษัทแม่ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คือ บริษัทในเครือโชติวัฒน์
นายอดิศร กลิ่นพิกุล ผู้จัดการฝ่ายบุคคล บอกว่า รู้สึกเสียดายที่ต้องเลิกกิจการ แต่ธุรกิจก็คือธุรกิจ สายการผลิตบางส่วนจะยุบไปรวมกับสาขาหาดใหญ่ และพนักงานบางส่วนจะย้ายไปทำงานที่หาดใหญ่ด้วย แต่บางส่วนก็ต้องเลิกจ้าง สถานการณ์วันนี้ทุกคนรับทราบมาตลอด ก่อนหน้านี้ก็เลิกจ้างไปล็อตแรกแล้ว 200 คน จึงมีการเตรียมพร้อม มีการแจ้งพนักงานทุกคนให้รับทราบถึงปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุก็ชัดเจนว่ามาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการเข้มของรัฐบาลตามมาตรฐาน "ไอยูยู ฟิชชิ่ง" ของสหภาพยุโรป และปัญหาความไม่สงบที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
สำหรับ บริษัท เทพพิทักษ์ซีฟูดส์ จำกัด เป็นบริษัทไทยที่โด่งดังในระดับโลก มีฐานอยู่ที่ จ.ปัตตานี ประกอบกิจการส่งออก "ปลาหมึกแช่แข็ง" ไปยังหลายประเทศ ทั้งยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ โดยวัตถุดิบทั้งหมดรับมาจากประมงพื้นบ้าน ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล ฉะนั้นเมื่อมีมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับ "ไอยูยู ฟิชชิ่ง" ออกมา ทำให้ประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบและหยุดออกเรือเป็นจำนวนมาก ขณะที่ทางบริษัทต้องว่าจ้างพนักงานเพิ่มในการจัดทำเอกสารรายงานหน่วยงานรัฐตามมาตรฐานใหม่ ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นจนแบกรับไม่ไหว
นายอดิศร ยังบอกด้วยว่า สถานการณ์ความไม่สงบที่ยังเกิดอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ให้ต้องเลิกจ้างพนักงาน เพราะลูกค้ารายใหม่ไม่กล้าเข้ามาในพื้นที่ แม้แต่หน่วยราชการบางหน่วยยังไม่กล้าลงมา บางบริษัทที่จะขอให้มาอบรมพนักงานของเทพพิทักษ์ ยังไม่กล้าลงมาในพื้นที่เลย
กิจกรรมการจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างและปิดโรงงาน ถือเป็นงานใหญ่จริงๆ เพราะ บริษัทเทพพิทักษ์ซีฟูดส์ จำกัด เป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่สุดในปัตตานี จึงมีหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด และแรงงานจังหวัด เข้าร่วมสังเกตการณ์ และให้กำลังใจพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง
นายตติยะ ฉิมพาลี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี บอกว่า บริษัทเทพพิทักษ์ซีฟูดส์ เป็นโรงงานขนาดใหญ่โรงงานแรกของปัตตานีที่้ต้องปิดตัวลง โดยในปัตตานีมีโรงงานทั้งหมด 40 โรง แบ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ 5 โรง ขนาดกลาง 20 โรง และขนาดเล็ก 15 โรง หลังจากนี้ไม่อยากเห็นโรงงานที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ต้องมีชะตากรรมแบบเดียวกับบริษัทเทพพิทักษ์ฯ ที่ผ่านมาก็ได้พูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีมาตลอดว่า ความไม่สงบไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่สุดที่ส่งผลกระทบทำให้อุตสาหกรรมวิกฤติ แต่เป็นการประมงมากกว่า ทุกคนทราบว่าเป็นนโยบายของรัฐบาล แต่ก็ไม่มีใครอยากให้สถานการณ์มาถึงจุดนี้
ผู้บริหารโรงงานรายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์ออกชื่อ กล่าวว่า จริงๆ แล้วโรงงานเทพพิทักษ์ฯ ไม่ใช่โรงงานแห่งแรกที่ต้องปิดตัว แต่มีโรงงานในพื้นที่ปิดกิจการไปแล้วหลายแห่ง ทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก มีพนักงานที่ถูกเลิกจ้างรวมๆ แล้วประมาณพันกว่าคน หากรวมกับครั้งนี้ ซึ่งมีพนักงานเลิกจ้างอีกนับพันคน ต้องถือว่ามีผู้ได้รับผลกระทบในระดับครอบครัวไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคน
"สาเหตุที่เป็นรากเหง้าของปัญหาจริงๆ เกิดจากภาวะเศรษฐกิจโลก ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก ทุกโรงงานเจอผลกระทบหมดทั้งแต่ปี 56 ส่วนปัจจัยอื่นๆ ทั้งสถานการณ์ความไม่สงบ และมาตรการไอยูยู ถือว่าเป็นปัจจจัยเสริม ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐหลงกับตัวเลขจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) ซึ่งผูกขาดกับธุรกิจขนาดใหญ่ แต่เมื่อลงไปดูตามตลาด แม่ค้าร้องจ๊ากกันทั้งนั้น เพราะนั่นคือสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง" ผู้บริหารโรงงาน กล่าว
ในอดีต โรงงานเทพพิทักษ์ซีฟูดส์ฯ มียอดส่งออกปีละกว่า 2 พันล้านบาท แต่ระยะหลังปริมาณการส่งออกลดลงหลายสิบเปอร์เซ็นต์ ขณะที่ต้นทุนสูงขึ้น แม้ยอดการส่งออกจะยังอยู่ที่กว่า 1,400 ล้านบาทในปีล่าสุด แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว กลับติดลบ ขาดทุนกว่า 11 ล้านบาท และมียอดขาดทุนสะสมค่อนข้างสูง
โรงงานเทพพิทักษ์ซีฟูดส์ เป็นกิจการของ บริษัท ห้องเย็นโชติวัฒน์หาดใหญ่ จำกัด (มหาชน) ในเครือโชติวัฒน์ โดยบริษัทห้องเย็นโชติวัฒน์หาดใหญ่ฯ ถือหุ้น 99.9657% ของโรงงานเทพพิทักษ์ซีฟูดส์ ขณะที่กิจการในเครือโชติวัฒน์หลายกิจการก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการ ไอยูยู ฟิชชิ่ง เช่นกัน
นางชุติมา สักมาก อายุ 50 ปี พนักงานของโรงงานเทพพิทักษ์ฯ เล่าว่า ทำงานมา 14 ปี อยู่ในแผนกบรรจุภัณฑ์ รู้สึกพอใจกับเงินชดเชยที่บริษัทฯจ่ายให้ แต่หลังจากนี้คงต้องหาทำงานนอกระบบบริษัท เพราะอายุมากแล้ว เงินค่าชดเชยที่ได้จะนำไปตั้งหลัก และเตรียมไว้เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในช่วงที่หางานใหม่
"ที่นี่เขามีสวัสดิการดี เงินเดือนเข้าตรงทุกเดือน ดูแลทุกคนเหมือนคนในครอบครัว เรามีความสุขดีที่ได้ทำงานที่นี้" พนักงานหญิงวัย 50 ปีกล่าวด้วยเสียงเศร้าๆ
ขณะที่ นายอิสมะแอ สาและ พนักงานอีกคนหนึ่ง บอกว่า ตกใจมากกับการปิดตัวของโรงงานเทพพิทักษ์ฯ เพราะโรงงานนี้ใหญ่มาก มีชาวบ้านจาก 8 อำเภอทำงานในโรงงาน และชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่จำนวนมากส่งปลาหมึกให้กับโรงงานเทพพิทักษ์ฯ หลังจากปิดตัว ผู้เกี่ยวข้องทุกคนคงได้รับผลกระทบอย่างหนักแน่นอน
"ก็รู้สึกเสียใจที่โรงงานปิด แต่ก็คิดว่าทุกคนต้องมีทางออกให้ได้กับภาวะแบบนี้ เรารู้ดีว่าเศรษฐกิจแย่ แต่รัฐบาลเขาบอกดีขึ้น พอมีโรงงานขนาดยักษ์ปิดตัวแบบนี้ ทุกคนเห็นชัดหรือยังว่ามันแย่ขนาดไหน และจะแย่ตามๆ กันอีกมาก" นายอิสมะแอ กล่าว
ความรู้สึกของ ชุติมา และอิสมะแอ ก็คล้ายๆ กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทุกคน คือทั้งเสียใจ และกังวลกับอนาคตว่าจะหางานใหม่ได้หรือไม่ โดยหลายคนตั้งคำถามว่า ทั้งๆ ที่หน่วยงานรัฐบอกว่าเศรษฐกิจดี และสถานการณ์ความไม่สงบก็ดีขึ้น แต่ทำไมโรงงานถึงต้องปิดตัว
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บริษัท เทพพิทักษ์ซีฟู้ดส์ จำกัด
2 อดิศร กลิ่นพิกุล ผู้จัดการฝ่ายบุคคล
3-4 พนักงานมารอรับค่าชดเชย และถ่ายรูปอำลากัน
5 ร่วมกันร้องเพลงส่งท้ายปิดกิจการ