แก้กฎหมาย กอ.รมน. เปิดทางกองทัพคุมประเทศ?
ฮือฮาพอสมควร กับการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 51/2560 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือที่รู้จักกันดีในนาม "พ.ร.บ.ความมั่นคง" ซึ่งก็คือกฎหมายที่ให้อำนาจหน่วยงานที่ชื่อ กอ.รมน. แก้ไขปัญหาภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในนั่นเอง
ที่ผ่านมากฎหมายฉบับนี้ถูกใช้ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่จังหวัดสมุทรสาคร และเคยใช้ควบคุมการชุมนุมในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยถือเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษ แต่เป็น "ยาแรง" ในระดับต่ำกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
กฎหมายฉบับนี้เพิ่งบังคับใช้เมื่อปี 2551 และไม่เคยถูกแก้ไขในสาระสำคัญมาก่อน ทว่าล่าสุดมีการปรับแก้ที่เรียกได้ว่า "รื้อใหญ่" พอสมควร แต่ไม่ใช่การ "รื้อโครงสร้าง" กอ.รมน. ทว่าเป็นการขยายฐานอำนาจของ กอ.รมน. ซึ่งโดยนัยก็คือกองทัพบก ให้แผ่ลงไปถึงจังหวัดทุกจังหวัดมากกว่า
เหตุผลในการแก้ไขกฎหมายมี 3 ข้อใหญ่ๆ คือ ปัจจุบันภัยคุกคามเปลี่ยนรูปแบบอย่างรวดเร็ว ทั้งภายในและภายนอก ภัยคุกคามเกิดได้จากทั้งบุคคลและภัยธรรมชาติที่เป็นสาธารณภัย การติดตามตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์จึงต้องมีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ฉะนั้นจึงให้อำนาจ กอ.รมน.เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับต่อสถานการณ์และบูรณาการหน่วยงานรัฐทุกระดับ
ประเด็นหลักๆ ที่ถูกแก้ไขใหม่ คือการเพิ่มนิยามของคำว่า "การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร" จากเดิมที่หมายถึงภัยคุกคามทั่วๆ ไป แต่ของใหม่ให้หมายรวมถึง "สาธารณภัย" ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและคาดว่าจะเกิดด้วย
เมื่อตามไปดูกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะพบว่า ความหมายของคำว่า "สาธารณภัย" นอกจากพวกอัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาด ภัยธรรมชาติ และอุบัติเหตุแล้ว ยังหมายความรวมถึงภัยทางอากาศ และการก่อวินาศกรรมด้วย โดยกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ แต่กฎหมาย กอ.รมน.ที่แก้ไขใหม่โดย คสช. ได้โอนอำนาจส่วนนี้มาให้ กอ.รมน.เป็นเจ้าภาพแทน ขยายขอบเขตความรับผิดชอบไปถึงภัยทางอากาศและวินาศกรรม
นอกจากนั้นยังให้อำนาจ กอ.รมน.ทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคาม โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบให้ตามแผนด้วย ซึ่งประเด็นนี้ในกฎหมายเก่าไม่ได้ระบุเอาไว้
ในส่วนของคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ คณะกรรมการระดับชาติ ได้เพิ่มรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กระทรวง DE เข้าไปอยู่ในโครงสร้างด้วย
ขณะที่เดียวกัน ตามกฎหมายเดิม แม้จะกำหนดให้มี "กอ.รมน.ภาค" แต่ก็ใช้ทรัพยากรบุคคลและงบประมาณจากกองทัพภาค ซึ่งก็คือทหารเป็นหลัก แต่ในกฎหมายใหม่ที่แก้ไขโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ได้ดึงเอาฝ่ายอัยการ คือ อธิบดีอัยการภาค และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระในกระบวนการยุติธรรม มาอยู่ในโครงสร้าง กอ.รมน.ภาค ที่มี "แม่ทัพ" เป็นหัวหน้า ในฐานะ "ผอ.รมน.ภาค" ด้วย
เช่นเดียวกับ กอ.รมน.จังหวัด แม้ "ผอ.รมน.จังหวัด" ยังคงเป็น "ผู้ว่าราชการจังหวัด" เหมือนกฎหมายเดิม แต่กฎหมายเก่าใช้โครงสร้างของฝ่ายปกครองสนับสนุนงาน กอ.รมน. ส่วนกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ได้ดึงเอาผู้แทนทุกส่วนราชการจากทุกกระทรวงในจังหวัดมาร่วมในโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นอัยการ เกษตรฯ พาณิชย์ ศึกษาธิการ พลังงาน แรงงาน และสาธารณสุข โดยมีผู้แทนมณฑลทหารบกที่ดูแลพื้นที่จังหวัดนั้นร่วมอยู่ในโครงสร้างด้วย
ทั้ง กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด มีอำนาจจัดทำแผนป้องกันแก้ไขปัญหาภัยคุกคามทุกรูปแบบ รวมถึงงานด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย ด้านเศรษฐกิจและสังคมของทุกส่วนราชการในจังหวัดที่เชื่อมโยงกับความมั่นคงภายในจังหวัดทั้งหมด
ภาพรวมของ พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่แก้ไขใหม่ อาจสรุปได้อย่างไม่เกินเลยว่า มีการขยายโครงสร้างและฐานอำนาจของ กอ.รมน.ซึ่งมี "กองทัพบก" เป็นหน่วยนำ ลงไปกำกับแผนงานทุกด้านในการบริหารจัดการประเทศ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค
น่าสังเกตว่าการแก้ไขกฎหมายความมั่นคงโดยใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ครั้งนี้ เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ยอมใช้กระบวนการทางสภานิติบัญญัติตามปกติ ทั้งๆ ที่ สนช.ก็เป็นคนของรัฐบาล คสช.อยู่แล้ว หรือนี่คือความรีบเร่งเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมืองในช่วงปีสุดท้ายของโรดแมพ คสช. ก่อนเข้าสู่โหมดเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่จากพลเรือน
------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : "สุรชาติ" วิพากษ์ติดดาบ กอ.รมน. เครื่องมือกองทัพในสงครามการเมือง!