ความจริงจากพื้นที่กรณี"พลทหาร ป.โท"ถูกซ้อมตาย ข่าวร้ายรับวันต่อต้านการทรมานสากล
ใครที่ไม่ได้เกาะติดข่าวสารความเคลื่อนไหวจากชายแดนใต้ เมื่อได้เห็นกำหนดการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “สังคมไทยกับความรุนแรงที่ต้องแก้ไข” ซึ่งจัดโดยภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมุ่งกล่าวถึงการเสียชีวิตของ พลทหารวิเชียร เผือกสม ทหารเกณฑ์จาก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส อาจจะทำให้รู้สึกกังขาว่ามีเรื่องอะไรกันอีกแล้วหรือ?
พลทหารวิเชียร เผือกสม เป็นใคร เกี่ยวพันอะไรกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และไฉนการตายของเขาจึงกลายเป็นประเด็นใหญ่บนเวทีเสวนาทางวิชาการในโอกาสวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบ 77 ปี ซึ่งเพิ่งจัดกันไปเมื่อวันจันทร์ที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมานี้เอง
“ทีมข่าวอิศรา” มีความจริงจากพื้นที่มารายงาน...
พลทหารผู้เคราะห์ร้าย
พลทหารวิเชียร เผือกสม อายุ 25 ปี เป็นพลทหารประจำกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ตั้งอยู่ที่บ้านปิเหล็งใต้ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งค่ายทหารแห่งนี้เคยถูกคนร้ายบุกปล้นอาวุธปืนจำนวน 413 กระบอก เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 นับเป็นเหตุการณ์ที่ถือกันว่าเป็นปฐมบทความรุนแรงรอบใหม่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
พลทหารวิเชียร หรืออดีตพระวิเชียร เผือกสม มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.สงขลา เพิ่งสึกจากการเป็นพระและเข้ารับการเกณฑ์ทหาร โดยก่อนหน้านั้นเขาสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาการศึกษาพัฒนาชุมชนมหาบัณฑิต จากภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ญาติได้รับแจ้งเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2554 ว่า พลทหารวิเชียรเสียชีวิต โดยหลักฐานจากการชันสูตรศพของแพทย์จากโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นราธิวาส ระบุว่าเสียชีวิตเนื่องจากไตวายเฉียบพลัน กล้ามเนื้อฉีกขาดรุนแรง ร่างกายถูกของแข็งกดทับ
นอกจากนั้นยังมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายปรากฏชัดเจนทำให้น่าเชื่อว่า พลทหารวิเชียรน่าจะถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงจนเสียชีวิต
ตามหาความเป็นธรรม
วันที่ 8 มิ.ย.2554 นายวิสิทธิ์ เผือกสม ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนว่า น้องชายของเขาคือ พลทหารวิเชียร เผือกสม อายุ 25 ปี อยู่บ้านเลขที่ 129/2 ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งเป็นทหารประจำการที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ เนื่องจากผลชันสูตรทางการแพทย์ลงความเห็นว่าถูกทุบตีด้วยของแข็งจนฟันหัก ซี่โครงเดาะ ร่างกายมีรอยเหมือนถูกกดทับด้วยของแข็ง และเสียชีวิตด้วยอาการไตวายเฉียบพลัน
นายวิสิทธิ์ กล่าวว่า น้องชายขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารเนื่องจากอยู่ระหว่างบวชและศึกษาเล่าเรียน เมื่อจบปริญญาโทจึงลาสิกขามาสมัครเป็นทหารเมื่อเดือน เม.ย.2554 และถูกส่งไปประจำการที่กองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส แต่ทนการฝึกหนักไม่ไหว จึงหลบหนีกลับบ้านที่ จ.สงขลา ทว่าก็ไม่มีเงินค่ารถอีก เจ้าหน้าที่จึงติดตามนำตัวกลับไปในค่าย และถูกทำร้ายร่างกายจนหมดสติ กระทั่งเมื่อต้นเดือน มิ.ย.ทราบข่าวจากญาติของผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่เตียงติดกันที่โรงพยาบาลเป็นคนแจ้งให้ทราบ
"ญาติไปที่โรงพยาบาลก็พบว่าพลทหารวิเชียรเสียชีวิตแล้ว จึงนำศพกลับบ้าน ขณะนี้แจ้งความกับตำรวจไว้แล้ว มีหลักฐานเป็นใบรับรองแพทย์และใบชันสูตรศพ ยืนยันว่าพลทหารวิเชียรเสียชีวิตเพราะถูกรุมทำร้ายร่างกาย และญาติตกลงกันว่าจะไม่เผาศพหากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกองพันพัฒนาที่ 4" นายวิสิทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ญาติของพลทหารวิเชียรได้นำเรื่องเข้าแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สภ.เมืองนราธิวาส และเข้าร้องเรียนต่อแม่ทัพภาคที่ 4 ด้วย
ต่อมา พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ได้สั่งการให้สอบสวนข้อเท็จจริงกรณี พลทหารวิเชียร ถูกรุมซ้อมจนเสียชีวิตแล้ว หลังจากที่ญาติได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์เอาไว้ ซึ่งในเบื้องต้นทราบว่าทางต้นสังกัดที่รับผิดชอบได้ควบคุมตัวผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำร้ายร่างกายพลทหารวิเชียรแล้วจำนวน 4 คน ส่วนสาเหตุการทำร้ายร่างกายยังอยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริง
ความจริงจากพื้นที่
จากการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงจากหลายๆ แหล่งในพื้นที่ของ “ทีมข่าวอิศรา” ทำให้พบประเด็นเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้าที่พลทหารวิเชียรจะเสียชีวิตที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2554 เจ้าหน้าที่ทหารจากค่ายปิเหล็งได้โทรศัพท์แจ้งญาติว่า พลทหารวิเชียรหนีทหาร และอีกหนึ่งวันถัดมา เจ้าหน้าที่ทหารก็โทรศัพท์แจ้งญาติอีกครั้งหนึ่งว่าพบตัวแล้ว แต่ไม่ได้แจ้งว่ามีการส่งตัวพลทหารวิเชียรไปที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
แหล่งข่าวจากโรงพยาบาล ระบุว่า ก่อนที่พลทหารวิเชียรจะสิ้นใจ ได้บอกกับคนในโรงพยาบาลว่าเขาถูกซ้อม มีเจ้าหน้าที่ร่วมซ้อมทั้งหมด 11 นาย ยศสูงสุด “ร้อยโท”
ต่อมามีคนจากโรงพยาบาลโทรศัพท์ไปบอกญาติของพลทหารวิเชียรว่า พลทหารผู้เคราะห์ร้ายนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล แต่เมื่อญาติโทรศัพท์ไปสอบถามที่ค่ายปิเหล็ง กลับได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่รายหนึ่งว่าพลทหารวิเชียรยังอยู่ในค่ายปกติดี ไม่มีปัญหาอะไร
กระทั่งญาติได้ตามไปตรวจสอบที่โรงพยาบาล และพลทหารวิเชียรก็สิ้นใจเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2554
จากการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ ทำให้ญาติเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ให้ตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า มีเพียงเจ้าหน้าที่จากหน่วยต้นสังกัดมาขอเจรจา และมอบเงินช่วยเหลือให้ 500,000 บาท จากนั้นญาติจึงร้องเรียนไปที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองท่านหนึ่ง ทำให้เรื่องมีความคืบหน้าบ้าง มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้น 1 ชุด
ผลสอบเบื้องต้นระบุว่า มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทั้งหมด 13 นาย ยศสูงสุด “ร้อยตรี” และยังมีพลทหารร่วมด้วย แต่ญาติยังไม่ปักใจเชื่อ เพราะข้อมูลบางจุดไม่ตรงกับคำบอกเล่าที่พลทหารวิเชียรให้ข้อมูลกับคนในโรงพยาบาลก่อนเสียชีวิต
ที่สำคัญเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องบางส่วนถูกทำโทษโดยการ “กักขัง” ยังไม่มีการดำเนินคดีอย่างสมเหตุสมผล ส่วนเรื่องการหนีทหารนั้น ญาติตั้งข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ฝึกกันด้วยวิธีใดจึงทำให้พลทหารวิเชียรต้องตัดสินใจหนีทหารทั้งๆ ที่ไม่มีเงินติดตัวเลย
ข่าวร้ายรับวันต่อต้านการทรมาน
เหตุร้ายที่เกิดกับ พลทหารวิเชียร เป็นช่วงเดียวกับการรณรงค์เนื่องในโอกาส “วันต่อต้านการทรมานสากล” ซึ่งกำหนดไว้วันที่ 26 มิ.ย.ของทุกปี โดยในปีนี้องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยรวม 10 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ร่วมชื่อ “การทรมานคืออาชญากรรม” เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธกรณีตามอนุสัญญาฯ เพื่อป้องกันและขจัดการทรมานโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายซึ่งยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทย พร้อมให้กำหนดให้การทรมานเป็นอาชญากรรม กำหนดกลไกเพื่อคุ้มครองพยาน เยียวยาเหยื่อจากการทรมาน และการสอบสวนที่เป็นอิสระ เพื่อขจัดวัฒนธรรมการลอยนวลจากความผิด
เนื้อความตามแถลงการณ์ระบุว่า มาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้รับรองสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายโดยการห้ามทรมาน ทารุณกรรม หรือลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2550 ทำให้การกระทำใดๆ โดยเจ้าพนักงานของรัฐที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานอย่างสาหัส ซึ่งเป็นกระทำเพื่อให้ได้รับคำสารภาพ ลงโทษ ข่มขู่ให้กลัว หรือเพราะเหตุใดๆ บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติ ถือเป็น “การทรมาน” ซึ่งรัฐมีพันธกรณีในการป้องกันและต่อต้านไม่ให้เกิดการทรมานดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่ได้ดำเนินการกำหนดมาตรการใดๆ ไม่ว่าในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการอย่างจริงจังเพื่อป้องกันการกระทำทรมาน เยียวยาผู้เสียหาย คุ้มครองพยาน หรือนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ทำให้การทรมานยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและดำรงอยู่ในสังคมไทย ไม่ว่าภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนใต้ สถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการเรียกร้องทางการเมือง หรือภายใต้การบังคับใช้กฎหมายปกติ
ทั้งนี้ เนื่องในวันต่อต้านการทรมานสากล องค์กรสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องรัฐให้เร่งดำเนินการปฏิบัติตามพันธกรณีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทรมาน โดยการออกกฎหมายเฉพาะ แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหรือกำหนดมาตรการใดๆ เพื่อ
1.ให้ฐานความผิดเรื่องการทรมานเป็นฐานความผิดเฉพาะ และกำหนดอัตราโทษที่เหมาะสมกับฐานความผิดดังกล่าว ปัจจุบันในกฎหมายไทยยังไม่มีฐานความผิดว่าด้วยการทรมานที่เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานของรัฐ
2.ให้มีกลไกพิเศษในการสืบสวนสอบสวน และมีกลไกในการตรวจสอบที่อิสระและเป็นกลางจากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดกรณีทรมานในคดีซึ่งมีการร้องทุกข์ว่ามีการทรมานเกิดขึ้น เพราะปัจจุบันเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดไม่ถูกนำตัวมาลงโทษ เนื่องจากผู้ที่ทำการสอบสวนและผู้กระทำผิดมักมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในทางใดทางหนึ่ง ทำให้ขาดความเป็นอิสระและเป็นกลางในการสอบสวน
3.ให้มีการคุ้มครองพยานที่มีมาตรฐานและปลอดภัย ฝึกอบรมและเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ และมีงบประมาณสนับสนุนเพียงพอที่จะทำให้ระบบการคุ้มครองพยานเกิดประสิทธิภาพได้จริง
4.ให้สร้างระบบการเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะทางจิตใจต้องมีการบำบัดฟื้นฟูอย่างเป็นรูปแบบ พร้อมทั้งพัฒนาระบบนิติจิตเวชให้แพทย์มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบภาวะทางจิตของผู้เสียหายที่มีภาวะความเครียด วิตกกังวล ภายหลังผ่านประสบการณ์เลวร้าย (Post Traumatic Stress Disorder -PTSD)
5.ให้มีหลักประกันต่อผู้เสียหายว่าคำร้องทุกข์จะได้รับการตรวจสอบโดยสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม และจะไม่ถูกดำเนินคดี ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 62 ได้บัญญัตคิรับรองไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิติดตามและร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยการของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ บุคคลซึ่งให้ข้อมูลสุจริตแก่องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่นั้นย่อมได้รับการคุ้มครอง
แต่กลับปรากฏในประเทศไทยว่า ผู้รอดชีวิตจากการทรมานโดยการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐกลับไม่ได้รับการคุ้มครอง และถูกฟ้องกลับในภายหลัง หากกลไกยุติธรรมของรัฐล้มเหลวในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ
สำหรับองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ร่วมกันออกแถลงการณ์ฉบับนี้ ประกอบด้วย เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ศูนย์ข้อมูลชุมชน มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และกลุ่มบุหงารายา
บทสรุปการเสียชีวิตของ พลทหารวิเชียร เผือกสม และอีกหลายกรณีในประเทศไทย คงหนีไม่พ้นข้อความที่เขียนไว้ในเอกสารประชาสัมพันธ์การเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “สังคมไทยกับความรุนแรงที่ต้องแก้ไข” ซึ่งจัดโดยคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ระบุว่า...
สังคมไทยยังเป็นสังคมแห่งความรุนแรง และไม่เคารพในสิทธิมนุษยชน แม้กระทั่งในหน่วยราชการ จึงไม่เป็นหนทางการพัฒนาไปสู่ ความสันติ และความเป็นประชาธิปไตย!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์ http://aryaforum.freeforums.org/topic-t126.html