กูจิงลือปะ...โศกนาฏกรรมที่ยังไม่มีตอนจบ
แวลีเมาะ ปูซู
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“เห็นเด็กน้อยวัยขวบกว่ายืนร้องไห้กลางแดดที่ร้อนจัด เป็นภาพที่ดูแล้วรันทดใจมาก เพราะพ่อและแม่ของเด็กถูกยิงเสียชีวิตจาก....” เสียงของ รอฮานี จือนารา ขาดหายไปด้วยความสะเทือนใจ เมื่อบอกเล่าถึงชะตากรรมของครอบครัว บาราตี ลาบอ หญิงสาววัยเพียง 25 ปีซึ่งเพิ่งถูกยิงเสียชีวิตพร้อมกับมารดา นางเจ๊ะแมะ หะแย วัย 50 ปี ขณะที่สามีของบาราตีก็จากไปด้วยเหตุการณ์คล้ายๆ กันก่อนหน้านี้ ทิ้งให้เด็กน้อย 2 คนต้องกลายเป็นกำพร้า
รอฮานี ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานสันติอาสาสักขีพยานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เธอลงพื้นที่บ้านกูจิงลือปะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส หลังเกิดเหตุการณ์คนร้ายใจโหดใช้อาวุธปืนสงครามปลิดชีพ นางเจ๊ะแมะ และลูกสาว เสียชีวิตคาสวนยางพาราเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา
เด็กน้อยวัยขวบกว่าที่รอฮานีพูดถึงคือ ด.ญ.ฮากีมะห์ ลาบอ ลูกสาวคนเล็กของบาราตี ส่วนลูกชายคนโตคือ ด.ช.คอซิบ ยูโซ๊ะ ก็อายุแค่ 2 ขวบครึ่งเท่านั้น
“ตอนแรกฉันไม่ค่อยมั่นใจว่าจะเข้าไปเยี่ยมครอบครัวนี้ได้หรือไม่ เพราะไม่ได้เข้าไปที่กูจิงลือปะนานแล้ว แต่สุดท้ายก็เข้าไปได้โดยให้คนรู้จักพาเข้าไป ภาพแรกที่เห็นคือสภาพเด็กๆ 2 คน คือ คอซิบกับฮากีมะห์ ยืนอยู่ในห้องมืดๆ มีแสงไฟสลัวๆ รู้สึกสลดใจมาก แต่ทีมงานที่ไปด้วยกันก็รู้สึกดีขึ้นเมื่อได้รับการต้อนรับอย่างดีจาก การีมะห์ น้าสาวของเด็กๆ และ มะยาเซะ ลาบอ พ่อของบาราตี ซึ่งมีศักดิ์เป็นตาของเด็กทั้งสองคน”
ความรุนแรงเมื่อเช้าตรู่วันที่ 15 ก.พ. ไม่ได้สร้างบาดแผลลึกในหัวใจของสองเด็กน้อยที่ต้องกลายเป็นกำพร้าเท่านั้น แต่หนุ่มใหญ่วัย 47 ปีอย่างมะยาเซะก็เจ็บช้ำไม่แพ้กัน เพราะเขาต้องสูญเสียลูกสาวคือบาราตี และภรรยาคือเจ๊ะแมะ ไปในคราวเดียว ขณะที่ทั้งคู่ออกจากบ้านล่วงหน้าไปกรีดยางที่สวนยางพาราหลังหมู่บ้าน โดยที่เขาไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้เลย
ปัจจุบัน มะยาเซะ ต้องรับบท “คุณตา” เลี้ยงดูหลานๆ วัยแบเบาะทั้งสองคน...
รอฮานี เล่าว่า สิ่งที่ครอบครัวนี้กำลังประสบอยู่ คือเด็กทั้งสองคนต้องกินนมข้นหวานแทนนมปกติที่เด็กๆ ทั่วไปกินกัน หนำซ้ำ มะยาเซะ ซึ่งเป็นเสาหลักคนสุดท้ายของบ้านก็ยังหวาดผวากับความรุนแรงที่จู่โจมเข้าใส่เขา ซ้ำยังมีโรคเบาหวานรุมเร้าอีกด้วย ทำให้มะยาเซะไม่สามารถออกไปกรีดยางได้อีก ส่งผลให้ขาดรายได้ไปโดยปริยาย
“ครอบครัวของบาราตีมีปัญหาเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ สอบถามได้ความว่า เหตุที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาเพราะรัฐระบุว่าบาราตีกับแม่เป็นผู้ก่อการ จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา เมื่อผลเป็นแบบนี้ สภาพจิตใจของสมาชิกครอบครัวจึงย่ำแย่ลงไปอีก”
รอฮานี ขยายความว่า สาเหตุที่รัฐมองสองแม่ลูกแบบนั้น เพราะนางเจ๊ะแมะเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ ป.วิอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) ขณะที่ บาราตี ถูกออกหมาย พ.ร.ก. (อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในคดีเดียวกันคือ ทำร้าย ครูจูหลิง ปงกันมูล อดีตครูโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ จนเสียชีวิตเมื่อปี 2549
“เท่าที่คุยกับตาของเด็ก เขาปักใจเชื่ออย่างแน่นอนว่าการตายของภรรยาและลูกสาวไม่ได้เป็นการกระทำของฝ่ายขบวนการ และไม่ได้มาจากความขัดแย้งส่วนตัว เพราะทุกคนในบ้านไม่เคยมีปัญหากับใคร แต่เจ้าหน้าที่กลับบอกว่ากรณีนี้ช่วยไม่ได้ เพราะสามฝ่าย (ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง) ไม่ได้สรุปว่าเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ”
รอฮานี บอกว่า นางเจ๊ะแมะนั้น มีข่าวว่าอยู่ในบัญชีผู้ต้องหาตามหมายจับคดีทำร้ายครูจูหลิง แต่ก็ไม่ชัดเจนนัก และเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่เคยมาจับ ทั้งๆ ที่นางเจ๊ะแมะ กรีดยางอยู่ที่บ้านตลอด ไม่ได้หนีไปไหน ส่วนบาราตีก็ไม่ชัดเจนเช่นกันว่าถูกออกหมายจริงหรือไม่
“ฉันอยากให้ภาครัฐพิจารณาช่วยเหลือครอบครัวนี้ เพราะพ่อของเด็กก็เสียชีวิต ขณะที่ยายของเด็ก (นางเจ๊ะแมะ) ก็เสียชีวิตพร้อมกับลูกสาวซึ่งเป็นแม่ของเด็กๆ ทำให้ทั้งบ้านเหลือแต่ตากับน้า ความเป็นอยู่ก็ยากลำบาก จึงควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยา การที่จะระบุว่าทั้งสองคนเป็นผู้ร้าย อย่างน้อยก็ต้องมีหลักฐานมากกว่าการกล่าวหา” รอฮานี กล่าว
เหตุการณ์สังหารโหดสองแม่ลูกซึ่งเป็นผู้หญิงทั้งคู่ ได้รับความสนใจจากองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่อย่างมาก และจากการลงพื้นที่เข้าไปเยี่ยมเยียนสมาชิกของครอบครัวนี้ ทุกเสียงต่างยืนยันตรงกันว่า นางเจ๊ะแมะ และบาราตี เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบ แต่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มองเช่นนั้น ทำให้การช่วยเหลือเยียวยาไม่มีความคืบหน้า
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่รายหนึ่งซึ่งทำงานอยู่บนที่ว่าการอำเภอระแงะ ได้รับการชี้แจงว่า ขณะนี้ทางอำเภอยังไม่ได้รับการติดต่อจากญาติของผู้เสียชีวิต ทำให้ไม่สามารถเดินเรื่องช่วยเหลือเยียวยาได้ ซึ่งก็ไม่ทราบเหตุผลว่าเป็นเพราะอะไร
“ทางอำเภอจะให้ความช่วยเหลือแน่นอนเหมือนกับกรณีอื่นๆ และคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพียงแต่ขณะนี้ยังทำไม่ได้ เพราะไม่ได้รับเรื่องจากญาติผู้เสียชีวิตเลย” เจ้าหน้าที่รายนี้ ระบุ
ในรายงานชันสูตรพลิกศพ นางเจ๊ะแมะ และ น.ส.บาราตี ที่ “ทีมข่าวอิศรา” ได้ไปตรวจสอบ พบว่าสองแม่ลูกถูกยิงด้วยอาวุธปืนสงครามร้ายแรงคนละหลายนัด กระสุนเจาะเข้าตามจุดสำคัญของร่างกาย ทำให้เสียชีวิตคาที่ทั้งสองคน
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการโครงการเข้าถึงความยุติธรรมและคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า หลังจากรายงานการชันสูตรพลิกศพของนางเจ๊ะแมะและลูกสาวออกมา พบว่าการช่วยเหลือเยียวยาจากทางอำเภอ ตำรวจ และทหารยังไม่ชัดเจน แต่เบื้องต้นได้รับข้อมูลว่า มีเจ้าหน้าที่ติดต่อไปเพื่อขอเลขบัญชีของครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็นับว่าเป็นข่าวดีของครอบครัวลาบอ ที่รัฐตัดสินใจให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจังเสียที
“จริงๆ เรื่องนี้มีหลายฝ่ายให้ความสนใจและพยายามเรียกร้องความเป็นธรรม เพราะเห็นว่าผู้ถูกทำร้ายเป็นผู้หญิง ซ้ำยังถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม แต่กลับไม่ได้รับการเยียวยา ทั้งๆ ที่มีเด็กเล็กๆ 2 คนต้องเป็นกำพร้า และยังมีคนชราในครอบครัวอีก”
พรเพ็ญ เล่าด้วยว่า วันที่ลงพื้นที่บ้านกูจิงลือปะ บรรยากาศมีแต่ความเงียบงันและหวาดกลัว ทั้งๆ ที่เป็นการลงพื้นที่หลังเกิดเหตุการณ์ยิงสองแม่ลูกแล้วถึง 2 เดือน และผ่านเหตุการณ์ทำร้ายครูจูหลิงมาแล้วเกือบ 4 ปี
“ตอนนี้ทัศนคติของชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐต่างมองว่าอีกฝ่ายหนึ่งแย่ สิ่งที่เกิดขึ้นมองว่าเป็นทัศนคติของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง ถ้ามองในมุมของรัฐ ก็ควรทำให้กลไกของรัฐสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย เพราะจะอย่างไรก็ตามรัฐก็มีหน้าที่ต้องช่วยเหลือคุ้มครองประชาชนทุกคนอยู่แล้ว แม้ว่าเขาจะเป็นมุสลิมหรือเป็นเหยื่อของเจ้าหน้าที่รัฐก็ตาม การปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือน่าจะเป็นข้อยกเว้นมากกว่า”
“รัฐต้องหาเหตุผลให้ได้จริงๆ ว่านี่เป็นเรื่องครอบครัวตีกัน หรือเป็นความขัดแย้งกันเองระหว่างพี่น้อง แต่ยิ่งมีคำถามจากชาวบ้านมากขึ้นเท่าไหร่ ทุกฝ่ายก็น่าจะมาทบทวนกันมากขึ้นเท่านั้น เพราะการปฏิเสธให้ความช่วยเหลือเยียวยาในกรณีที่มีความสำคัญลักษณะนี้ มันจะยิ่งส่งผลต่อทัศนคติของชาวบ้าน”
พรเพ็ญ บอกอีกว่า หลายเรื่องที่ได้ติดตาม พบว่าหากเรื่องไหนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ กลไกการเยียวยาจะไม่ค่อยทำงาน เช่น กรณีของ อัสอารี สะมะแอ เด็กหนุ่มที่เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ปัจจุบันกลไกรัฐก็ยังไม่เข้าไปช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ ซึ่งจริงๆ สามารถพิสูจน์ได้ว่าเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือเปล่า
“กรณีสองแม่ลูกที่กูจิงลือปะนี้ สิ่งที่ทีมงานพอช่วยได้คือการสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อให้สมาชิกของครอบครัวที่เหลืออยู่ไม่แย่ไปกว่านี้” พรเพ็ญ บอก
ดูเหมือนโศกนาฏกรรมที่บ้านกูจิงลือปะจะยังไม่จบลงง่ายๆ...
-------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากทีมงานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
บรรยายภาพ : แม่สามีของบาราตี ซึ่งมีศักดิ์เป็นย่าของเด็กๆ และอาศัยอยู่หมู่บ้านเดียวกัน นั่งไกวเปลหลานอย่างโดดเดี่ยว