- Home
- South
- เวทีวิชาการ
- เมื่อความรุนแรงไม่เลือกเป้าหมาย...."คนสาธารณสุข" อันตรายที่สามจังหวัดชายแดน
เมื่อความรุนแรงไม่เลือกเป้าหมาย...."คนสาธารณสุข" อันตรายที่สามจังหวัดชายแดน
แวลีเมาะ ปูซู
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แม้แต่ในภาวะสงครามก็ยังมีกติกา และหนึ่งใน "กติกาสากล" ของสงคราม ก็คือหมอ พยาบาล และสำนักงานทางสาธารณสุขทุกแห่งถือเป็น "พื้นที่ปลอดความรุนแรง" ทว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บุคลากรทางการแพทย์กำลังตกเป็นเป้า ทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ขณะที่สถานพยาบาลในระดับชุมชนก็ถูกเผาทำลายไปหลายสิบแห่ง
เฉพาะในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีบุคลากรทางสาธารณสุขถูกยิงไปแล้ว 3 ราย คือ นายแวอูเซ็ง คอเล๊ะ อายุ 54 ปี พนักงานสุขภาพชุมชนประจำสถานีอนามัยบ้านปิเหล็ง ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส (วันที่ 14 พ.ค.) นางซีน๊ะ แวเลาะ อายุ 41 ปี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) บ้านกอลำ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และนายอิบรอเฮ็ม วาแวนิ อายุ 30 ปี ลูกจ้างโรงพยาบาลยะรัง (วันที่ 28 เม.ย.)
โดยทั้ง 3 คนเสียชีวิต!
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ยังเกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดที่หน้าโรงพยาบาลบันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา ด้วย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2550 เกิดเหตุสะเทือนขวัญที่สุดในหมู่บุคลากรทางการแพทย์ เมื่อคนร้ายบุกเข้าไปในสถานีอนามัย ต.ประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และใช้อาวุธปืนยิง นางอัจฉรา สกนธวุฒิ หัวหน้าสถานีอนามัยประจัน และ นายเบญจพัฒน์ แซ่ติ่น นักวิชาการสาธารณสุข 5 อย่างโหดเหี้ยม
นี่คือความรุนแรงที่เกิดกับบุคลากรที่ทำหน้าที่รักษาผู้คนโดยไม่เลือกฝ่าย ไม่เลือกข้าง ไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา
จากข้อมูลการก่อเหตุที่กระทบกับสถานีอนามัย ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2547 จนถึงวันที่ 19 ม.ค.2553 พบการกระทำรุนแรงต่ออาคารสถานีอนามัย ทั้งวางเพลิงเผา ระเบิด และการก่อเหตุอื่นๆ บริเวณบ้านพักของเจ้าหน้าที่ และยิงข่มขู่ แยกเป็นใน จ.ปัตตานี 12 แห่ง จ.ยะลา 7 แห่ง และ จ.นราธิวาส 5 แห่ง เฉพาะ จ.ยะลา และนราธิวาส ไม่มีเหตุระเบิด ขณะที่อีก 2 จังหวัด คือ จ.สงขลาและสตูล ไม่มีเหตุรุนแรงที่กระทำต่อสถานีอนามัย
ส่วนสถิติการทำร้ายเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งข้าราชการและลูกจ้าง (ไม่นับรวม อสม.) ตลอด 6 ปีไฟใต้ คือวันที่ 4 ม.ค.2547 ถึงวันที่ 19 ม.ค.2553 มี "คนสาธารณสุข" เสียชีวิต 22 ราย และบาดเจ็บทั้งสิ้น 24 ราย โดย จ.ปัตตานี เกิดเหตุประทุษร้ายมากที่สุด คิดเป็น 2 ใน 3 ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งหมดที่ปฏิบัติงานอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อพิจารณาข้อมูลลึกลงไป จะพบว่าสัดส่วนผู้ถูกทำร้ายราว 2 ใน 3 เป็นลูกจ้างของหน่วยงานสาธารณสุข ซึ่งส่วนใหญ่ประสบเหตุช่วงเดินทางระหว่างบ้านกับที่ทำงาน
ส่วนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 26 ราย เสียชีวิต 53 ราย จากข้อมูลสถิติที่รวบรวมได้พบว่า อสม.ใน จ.นราธิวาส ประสบเหตุความไม่สงบมากที่สุด คือมีสัดส่วนผู้เสียชีวิตถึง 2 ใน 5 ของ อสม.ที่เสียชีวิตทั้งหมด รองลงมาเป็น อสม.ใน จ.ปัตตานี และยะลา โดยไม่พบผู้ประสบเหตุใน จ.สงขลา
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ในฐานะกรรมการมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ (มยส.) กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็คงเหมือนกับประชาชนทั่วไป ส่วนตัวมองว่าจำนวนครั้งที่เกิดเหตุรุนแรงในปัจจุบันลดลงกว่าในอดีต แต่การเกิดเหตุแต่ละครั้งกลับเพิ่มความรุนแรงค่อนข้างมาก จากเหตุยิงเป็นเหตุระเบิดมากขึ้น การทำร้ายทำลายเล็กๆ น้อยๆ ไม่ค่อยมีแล้ว จะเป็นการระเบิดกับยิง ซึ่งกรณียิงนี้ เป้าหมายหลักๆ ยังไม่ใช่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่อาจจะเป็นลูกหลงหรืออาจจะเกี่ยวกับเหตุผลอื่น
"จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมในส่วนของสาธารณสุข จะมีเหตุเผาอนามัยและยิงช่วงประมาณปี 2547-2548 ค่อนข้างเยอะ จากนั้นตัวเลขช่วงหลังๆ จะนิ่ง เหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่โดนทำร้ายเทียบเป็นกราฟแล้วไม่ค่อยมีและลดลงเยอะ มองว่ามันพ้นจุดไปแล้ว วันนี้ทุกคนยังทำหน้าที่ของตัวเองเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าความกังวลในเรื่องเหตุร้ายยังมีอยู่ เพราะมันไม่เลือกใคร ทั้งเหตุระเบิดและยิง"
นพ.สุภัทร กล่าวต่อว่า เพื่อไม่ให้เหตุร้ายที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบในแง่ความรู้สึกและการทำงานของบุคลากรในโรงพยาบาล สิ่งที่โรงพยาบาลทุกแห่งในพื้นที่ควรทำมี 2 ส่วนคือ การสร้างให้เป็นเขตปลอดภัย และการตระหนักบทบาทของโรงพยาบาลให้เกิดความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
"การทำให้โรงพยาบาลเป็นเขตปลอดภัย ปัจจุบันทำได้ดีพอสมควร แต่ดีในทีนี้มองว่าไม่ใช่แค่ติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือจัดรปภ.เฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง หรือมีห้องกันกระสุนนะ เพราะหัวใจสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลปลอดภัยคือการทำหน้าที่ทางการแพทย์อย่างเต็มที่ โดยไม่เลือกข้างแบ่งฝ่าย"
"การทำบทบาทของโรงพยาบาลให้เป็นกลาง ผมมองว่าเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ถ้าฝ่ายความมั่นคงเข้ามาติดต่อ บอกว่าอยากได้ข้อมูลของผู้ป่วย เราไม่ควรให้ เพราะถือเป็นความลับของผู้ป่วย หรือคนๆ หนึ่งโดนยิงมา เรารีบไปแจ้งความหรือบอกตำรวจว่าวันนี้มีคนโดนยิงมาด้วย มาดูได้ไหมว่าเขาเป็นฝ่ายไหน อย่างนี้ไม่ควรทำ ถ้าเราปลอดเรื่องลักษณะนี้ ก็จะทำให้โรงพยาบาลอยู่ได้ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง" นพ.สุภัทร ระบุ
เขาย้ำว่า การวางตัวเป็นกลาง ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและมาตรฐานของโรงพยาบาลที่ต้องดูแลคนทุกคนอย่างดีที่สุด เมื่อหายก็ปล่อยกลับบ้าน ไม่หายก็ให้นอนโรงพยาบาล ถ้าอาการหนักก็ส่งต่อ ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็จะไม่มีปัญหา ส่วนเครื่องมือรักษาความปลอดภัยต่างๆ เป็นเพียงสิ่งที่โรงพยาบาลทำเสริมให้เกิดเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย
แต่ถึงกระนั้น นพ.สุภัทร ยอมรับว่า แม้จะทำให้โรงพยาบาลเป็นเขตปลอดภัย แต่ความยากอยู่ที่การจัดการนอกโรงพยาบาลและในชุมชน
“อย่างกรณีของบุคลากรทางการแพทย์ที่ อ.ยะรัง เสียชีวิตและบาดเจ็บในชุมชน ตรงนี้เราบอกไม่ได้และทำอะไรไม่ได้แล้ว มันก็ต้องเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องมีทักษะในการระวังตัวเองให้มากที่สุด การนำไปสู่กระบวนการปรับระบบยังไม่มี เพราะที่มีอยู่เดิมมันดีที่สุดแล้ว เราช่วยได้เฉพาะในรั้วโรงพยาบาล แต่นอกรั้วโรงพยาบาลทุกคนต้องดูแลตัวเอง เนื่องจากนอกโรงพยาบาลทุกคนก็เป็นแค่ประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น"
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ บอกด้วยว่า เหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับบุคลากรทางสาธารณสุข เรามีระบบการดูแลเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ทั้งการช่วยเหลือเยียวยาเป็นตัวเงินและจิตใจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้น ย่อมส่งผลต่อขวัญกำลังใจของคนทำงาน
"ถ้าเทียบกับช่วง 2 ปีที่ผ่านมา วันนี้เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ท้อมากมายแล้ว ต่างจากเมื่อปีที่เกิดเหตุรนแรงใหม่ๆ มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต บาดเจ็บจำนวนมาก ความเศร้าหมองมันครอบงำเป็นเดือน เป็นอาทิตย์ ความหวั่นไหว เช่น ทำเรื่องขอย้าย ทำเรื่องลาออก มีการขอย้ายสูงมาก แต่ปัจจุบันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ความเคยชินเข้ามาแทน ถ้ามองอีกแง่หนึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้ทุกคนยังอยู่ในพื้นที่ สามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้” นพ.สุภัทร ระบุ
ด้าน นพ.สมชัย พงษ์ธัญญะวิริยา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะหริ่ง จ.ปัตตานี แพทย์ชนบทดีเด่นประจำปี 2552 กล่าวว่า เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นย่อมทำให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่บุคลากรทางการแพทย์ แต่ในส่วนของโรงพยาบาลยะหริ่งเองไม่ถึงกับได้รับกระทบมาก ขวัญกำลังใจของทุกคนยังดีอยู่ ขณะที่ฝ่าย รปภ.ของโรงพยาบาล ก็ได้กำชับให้ตรวจตรารถต่างๆ ที่เข้ามาใช้บริการมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยให้เจ้าหน้าที่ และเข้มงวดเรื่องการเดินทาง
“หลักๆ ที่จะเป็นเป้าหมายก็คือกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่เดินทาง ซึ่งผมก็ได้เน้นย้ำเรื่องความไม่ประมาท แม้จะหวาดกลัวก็ตาม การรู้จักสังเกตรถที่ขับตามมาข้างหลังเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนเจ้าหน้าที่คนไหนที่กลัวและไม่มั่นใจในความปลอดภัย เราก็จะให้พักที่บ้านพักของโรงพยาบาลเลย"
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยะหริ่ง ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หลังจากเหตุการณ์รุนแรงเริ่มคลายตัวไปสักระยะหนึ่ง ล่าสุดพบว่าบุคลากรทางสาธารณสุขเริ่มตกเป็นเป้ามากยิ่งขึ้น ความหวาดกลัวจึงเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเทียบกันแล้ว คิดว่าเหตุการณ์ช่วงปี 2550 รุนแรงและหนักกว่าปัจจุบันมาก ฉะนั้นกลุ่มประชาชนทั่วไปและ อสม.ที่เป็นเป้าของกลุ่มก่อความรุนแรง ต้องช่วยกันดูแลความผิดปกติที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านของตนเอง
"เมื่อบุคลากรทางการแพทย์โดนลักษณะนี้ การทำงานก็คงมีท้อบ้างแต่ไม่ถอย ที่ท้อก็เป็นเรื่องปกติ ทุกคนคงอดคิดไม่ได้ว่าเราเป็นบุคลากรทางการแพทย์ มีหน้าที่รักษาประชาชนให้หายเจ็บป่วย ไม่ได้ไปทำร้ายใคร มันไม่น่าเกิดเหตุร้ายหรือตกเป็นเป้าหมายเลย" นพ.สมชัย กล่าว
ขณะที่ อสม.รายหนึ่งในเขต อ.ยะรัง กล่าวถึงเหตุคนร้ายลอบยิง นางซีน๊ะ แวเลาะ อายุ 41 ปี อสม.บ้านกอลำ อ.ยะรัง จนเสียชีวิตว่า ไม่นึกว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงกับผู้หญิงตัวเล็กๆ ได้ ในฐานะที่ร่วมทำกิจกรรมกับนางซีน๊ะมาตลอด รู้สึกเสียใจ เพราะนางซีน๊ะเป็นคนดี ชอบช่วยเหลือคนอื่น และเป็นที่รักของทุกคน
"ก๊ะสงสารลูกๆ ของซีน๊ะที่ต้องกำพร้าแม่ อยากให้รัฐบาลเร่งติดตามตัวคนร้ายมาลงโทษโดยเร็ว พร้อมช่วยเหลือบุตรของซีน๊ะให้ได้เรียนต่อและเยียวยาจิตใจให้พวกเด็กๆ ด้วย"
ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน อย่าปล่อยให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เต็มไปด้วยความรุนแรงแบบไม่มีข้อยกเว้นอีกเลย...
------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กราฟแสดงจำนวน อสม.ที่ถูกประทุษร้ายจากเหตุการณ์ความไม่สงบ
2 กราฟแสดงจำนวนข้าราชการและลูกจ้างสาธารณสุขที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง
3 นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
4 นพ.สมชัย พงษ์ธัญญะวิริยา