กอปศ.เผยกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา จัดงบใหม่ให้เด็กยากจน "เปลี่ยน 50 สต.สุดท้าย เป็น 5 บาทแรก"
กอปศ.เผยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จัดสรรงบประมาณแบบใหม่ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเด็กยากจน 4.3 ล้านคน “สมพงษ์”ชี้เป็น Start up ของการปฏิรูปการศึกษา เหตุช่องว่างคุณภาพการศึกษาเด็กเมืองชนบทต่างกันถึง 20 เท่า ตอกย้ำเด็กยากจนเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาให้ห่างขึ้น ยูเนสโก้ย้ำหากแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาส่งผลจีดีพีเพิ่ม 1.7%
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวทีวิชาการร่างพ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จัดโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และองค์การยูเนสโก สำนักงานกรุงเทพฯ
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ และกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) กล่าวว่า คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปทางการศึกษา ได้รับมอบหมายภารกิจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 54 ให้ยกร่างพ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมาย จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมทางวิชาการเพื่อรับฟังข้อมูลทางวิชาการและประสบการณ์ในระดับนานาชาติที่เป็นประโยชน์ต่อการตรากฎหมาย ซึ่งรัฐบาลและกอปศ.เห็นตรงกันว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศ แม้ว่าที่ผ่านมาการลงทุนงบประมาณทางการศึกษาจะสูงกว่า 500,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อ 10 กว่าปีก่อนถึงเกือบ 2 เท่า แต่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงอยู่ ยังมีเด็กเยาวชนมากกว่า 670,000 คน ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาหรือราว 5% ของประชากร เพราะความยากจน
"องค์การยูเนสโกประเมินว่า มีเด็กหลายคนที่มีศักยภาพในการเรียนต่อแต่ต้องออกจากระบบการศึกษาซึ่งจะสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 1.7% ของ GDP ประเทศไทยต่อปี คิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท"
ดร.ประสาร กล่าวถึงข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการยังพบว่า มีนักเรียนยากจนในระบบการศึกษามากกว่า 2 ล้านคนที่ครอบครัวมีรายได้ต่อคนต่อเดือนต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือนหรือวันละ 100 บาท ขณะที่การจัดสรรงบประมาณเพื่อเด็กเยาวชนยากจนมีเพียงวันละ 5-15 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการไปโรงเรียนในแต่ละวัน งบประมาณส่วนนี้รวมปีละ 3,000 ล้านบาท หรือ 0.5% ของงบประมาณการศึกษาของประเทศ และไม่ได้รับจัดสรรเพิ่มขึ้นตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ขณะที่งบประมาณด้านการศึกษาของประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี นั่นคือ เด็กเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์กว่า 2 ล้านคนได้รับการจัดสรรงบประมาณ 50 สตางค์สุดท้ายของงบประมาณการศึกษา จึงเป็นที่มาของการเขียนรัฐธรรมนูญให้มีกองทุนที่มีภารกิจสำคัญในการปฏิรูปประเทศผ่านการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเสริมสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพของครู โดยมีการบริหารจัดการอย่างเป็นอิสระ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์แบบใหม่” ดร.ประสาร กล่าว
ดร.ประสาร กล่าวว่า กอปศ. จึงกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานของกองทุนเพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษาให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 7 กลุ่ม คือ เด็กปฐมวัยในครอบครัวยากจน เด็กเยาวชนวัยเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานนอกระบบการศึกษา นักเรียนยากจนและด้อยโอกาสในระบบการศึกษา เยาวชนและประชาชนที่ยากจนและต้องการการพัฒนาศักยภาพ ครูและสถานศึกษาผู้ดูแลเด็กเยาวชนในกลุ่มเป้าหมายของกองทุน รวมทั้งสิ้น 4.3 ล้านคน โดยมีหลักการจัดการงบประมาณแบบใหม่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 4 ข้อคือ
1. ความคุ้มค่าแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง เริ่มตั้งแต่เด็กปฐมวัยที่ยากจน เพราะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและเตรียมความพร้อมก่อนวัยเรียน
2. ลงทุนให้เพียงพอ โดยกองทุนจะเป็นหลักประกันให้ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการจัดสรรจากเงิน 5 บาทแรกเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเสมอ ไม่ว่านโยบายการศึกษาจะเปลี่ยนไปก็ตาม ด้วยหลักการ “เปลี่ยน 50 สตางค์สุดท้าย เป็น 5 บาทแรก” ของงบประมาณด้านการศึกษา
3. ลงทุนอย่างฉลาดและโปร่งใส โดยใช้ข้อมูล นวัตกรรมใหม่ๆ และระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ในการคัดกรองเด็กยากจนโดยติดตามพัฒนาการนักเรียนรายบุคคล และใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าตรวจสอบการเงินที่เข้าบัญชีเพื่อป้องกันการทุจริตและการรั่วไหลของการใช้เงิน เน้นความโปร่งใสที่ต้องมีการรายงานข้อมูลแก่คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และประชาชนเป็นประจำทุกปี
และ 4. ร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เกิดการบูรณาการทรัพยากรและข้อมูลร่วมกัน ทั้งนี้กองทุนที่ตั้งขึ้นมาใหม่ต้องมีทรัพยากรที่เพียงพอในการแก้ไขปัญหาและมีความอิสระในการจัดการ ไม่เช่นนั้นกองทุนใหม่ก็เป็นกลไกแบบเดิมไม่ได้ผลต่างจากสิ่งที่เคยมีมา
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นนวัตกรรมการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและเป็นตัวอย่างที่ดีในสังคมไทย กองทุนนี้ถือเป็น Start up ของการปฏิรูปการศึกษาเพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำของประเทศ ซึ่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะเห็นได้จากครูกระจุกในเมือง ต่างจังหวัดครูไม่ครบชั้น สอนไม่ตรงสาขาวิชา และระบบการสอบแข่งขันยิ่งทำให้เกิดแต้มต่อของเด็กในเมืองในการเข้าศึกษาต่ออุดมศึกษาที่ต่างกันถึง 20 เท่า ซึ่งคุณภาพทางการศึกษาที่ต่างกันยิ่งเป็นตัวตอกย้ำเด็กยากจนให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่ห่างขึ้นไปอีก หากไม่ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจลงก็ไปไม่ถึงไทยแลนด์ 4.0 ดังนั้นกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจึงถือเป็นนวัตกรรมแก้ความเหลื่อมล้ำด้วยวิธีการจัดสรรงบประมาณแบบใหม่ จากเดิมที่คิดแบบเหมาจ่ายถัวเฉลี่ยเด็กจนรวย ในเมืองชนบทเท่ากัน เปลี่ยนเป็นการจัดสรรเงินไปสู่กลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้รูปแบบการจัดการกองทุนต้องยึดถือ 3 ข้อ คือ 1. การมีงบประมาณที่เพียงพอในการแก้ไขปัญหา เพราะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศจึงต้องจัดสรรให้เพียงพอต่อกลุ่มเป้าหมาย 2. คณะกรรมการกองทุนที่มีความหลากหลายและมีความรับผิดชอบต่อการบริหารกองทุน และ 3. ความโปร่งใสและยึดหลักธรรมาภิบาล โดยมีระบบฐานข้อมูลที่สามารถตรวจสอบได้ทั้งผู้รับเงินและผู้ให้เงิน
นายฮิวจ์ เดอลานีย์ หัวหน้าฝ่ายการศึกษา องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า ยินดีกับรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางการศึกษาโดยกำหนดในรัฐธรรมนูญ และออกเป็นกฎหมายการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนโดยพุ่งเป้าไปที่งบประมาณการศึกษา 5% เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเด็กกลุ่มยากจน เพราะจากการศึกษาถึงปัจจัยที่ทำให้เข้าไม่ถึงระบบการศึกษาพบว่ามาจากความยากจน เพราะการศึกษาคือการลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้สำหรับการศึกษา ความห่างไกลของพื้นที่ การศึกษาของมารดา ภาษา สถานการณ์อพยพ ซึ่งพบว่าในบางจังหวัดของไทยมีเด็กที่เป็นผู้อพยพที่ไม่ได้เรียนหนังสือถึง 40% และเพศ โดยพบว่า เด็กผู้หญิงที่อยู่ในครอบครัวยากจนในภาคเหนือมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาน้อยที่สุดซึ่งถือเป็นเด็กที่ต้องเผชิญกับความไม่เสมอภาคแบบซ้ำซ้อน ทั้งนี้การทำงานของกองทุนต้องมีระบบฐานข้อมูลและใช้นวัตกรรมใหม่เพื่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่ใช่ระบบทดแทนภาครัฐที่มีอยู่เดิม เช่น เงินอุดหนุนเด็กยากจนของกระทรวงศึกษา กองทุนสามารถให้อุดหนุนเพิ่มเติมตั้งแต่เด็กปฐมวัย และกองทุนต้องรู้จำนวนเงินที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดการวางแผนระยะยาวได้
นายอิชิโร มิยาซาวา ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การยูเนสโก กรุงเทพ กล่าวว่า รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้มีความพยายามและใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหาเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา แต่เป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงเด็กจำนวน 5 หรือ 10% สุดท้ายที่ยากจนที่สุดของประเทศ งานวิจัยของยูนิเซฟพบว่า งบประมาณด้านการศึกษาของรัฐ 46% ถูกใช้ไปเพื่อสนับสนุนการศึกษาของเด็กจำนวน 10% ที่ได้รับการศึกษาที่ดีอยู่แล้ว ทำให้เด็กนอกระบบการศึกษาจำนวน 5% สุดท้ายนี้ไม่ได้รับการดูแล นี่คือสาเหตุที่ทำให้ประเทศอาเซียนร่วมกันร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการสร้างเสริมความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนที่ตกหล่น นั่นคือเด็ก 100% ที่ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ในกรณีของไทยถ้าสามารถให้การศึกษากับเด็กทุกคนได้ ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 228,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นจำนวน1.7% ของ GDP กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงทางการศึกษาจึงถือเป็นความก้าวหน้าอย่างมากของประเทศไทย ซึ่งตนจะผลักดันให้ประเทศต่างๆ เดินตามแนวทางของประเทศไทยเพื่อเป็นตัวอย่างสำคัญในการลดช่องว่างทางการศึกษา
ศ.ดร.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย มูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ กล่าวว่า จากการศึกษาต้นทุนต่อหัวของเด็กยากจนและเด็กในพื้นที่ห่างไกลพบความซับซ้อนของปัญหาที่เด็กแต่ละคนประสบ ทำให้การจัดชุดสวัสดิการสิทธิประโยชน์มีความแตกต่างหลากหลายเพื่อให้ตรงและตอบสนองกับปัญหาและความต้องการของเด็กแต่ละคน อย่างไรก็ตามความช่วยเหลือพื้นฐานของเด็กแต่ละกลุ่มนำมาสู่การคำนวณงบประมาณพื้นฐานสำหรับกองทุนฯคือ การจัดการเด็กเยาวชนกลุ่มเป้าหมายปีละ 3.65 ล้านคน และแต่ละคนมีเป้าหมายเฉพาะที่แตกต่างหลากหลายตามสภาพปัญหาและเงื่อนไขของการรับเงินอุดหนุน งบประมาณสมทบในการบริหารจัดการจึงอยู่ที่ไม่เกิน 5% ของงบการศึกษา เพื่อเป็นต้นทุนการจัดการประมาณ 270 บาทต่อเด็กเยาวชนผู้รับประโยชน์ 1 คน ซึ่งต้นทุนนี้ครอบคลุมการบริหารจัดการและการวิจัยเพื่อเสนอแนะกองทุนฯในการจัดตั้ง ดำเนินการ และประเมินผล