สนช.ผ่านฉลุยร่างพ.ร.บ.ควบคุมยาสูบฯ-มุ่งป้องกันนักสูบหน้าใหม่
พิจารณาสองวัน สมาชิกสนช.ลงมติวาระ3 เห็นสมควรให้ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย
วันที่ 3 มีนาคม เวลา 10:00 น.ที่รัฐสภา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีระเบียบวาระการประชุมพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. .... วาระ 3 ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จแล้ว ต่อจากเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่มีการพิจารณาถึง มาตรา 37
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.นี้ มีสมาชิก สนช.เสนอคำแปรญัตติ อาทิ นายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกสนช. ขอเติมความในวรรคสอง มาตรา 41 โดยให้ผู้สูบบุหรี่ในสังคมมีที่ยืน และให้ตัดคำว่า อาจ ออก "อาจกำหนดให้มีเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่"
ขณะที่ดร.ปกป้อง ศรีสนิท กรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กล่าวว่า ประเทศไทยทุกตารางนิ้วเป็นเขตสูบบุหรี่ได้ แต่หากใช้เสรีไปกระทบผู้ไม่สูบบุหรี่ กฎหมายต้องเข้ามาดูแลพิษบุหรี่มือ 2 พื้นที่ประเทศไทยสูบบุหรี่ได้อยู่แล้ว แต่บางพื้นที่เป็นพื้นที่สาธารณะใช้ประโยชน์ร่วมกัน ให้เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ เพราะใช้สิทธิเสรีภาพไปกระทบคนอื่น เช่น โรงพยาบาล โรงเรียนอนุบาล เป็นต้น ก่อนที่ประชุมสนช.ลงมติมาตรา 41 คงไว้ตามร่างเดิม
เมื่อถึงเวลา 11:20 น.นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ได้ให้ที่ประชุมสนช.พิจารณาทั้งร่างอีกครั้งหนึ่ง จากนั้น สมาชิกสนช.ลงมติวาระ 3 จำนวน 202 เห็นสมควรให้ร่าง พ.ร.บ.นี้ ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 8 จากจำนวนสมาชิกสนช.ที่มาประชุมทั้งสิ้น 210 ท่าน
ช่วงท้ายนายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. กล่าวถึงข้อกังวล โดยระบุว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้สุดโต่ง มีการแก้ไขให้อ่อนตัวลงแล้ว
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ กล่าวว่า ขอบคุณสมาชิกสนช.ที่ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นกฎหมายที่ยาก เป็นกฎหมายสุขภาพ พร้อมกับขอบคุณรัฐบาลที่กล้าหาญผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้จนผ่านสภาวาระ 3
"กฎหมายสองฉบับที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2535 มีปัญหา กฎหมายฉบับนี้สามารถแก้ไขเด็กและเยาวชนเรื่องห้ามแบ่งซองขาย และเรื่องการซื้อขาย ควบคุมการส่งเสริมการตลาด เชื่อว่าป้องกันนักสูบหน้าใหม่ปีละ 2 แสนคนลงได้"
อย่างไรก็ตามก่อนหน้าการประชุม นพ.เจตน์ กล่าวถึงกฎหมายยาสูบฯ ฉบับใหม่ จะทำให้เด็กและเยาวชนของเราเข้าถึงบุหรี่ยากขึ้น เพราะว่าเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่จะซื้อในประเภทแบบแบ่งซองขาย และในกฎหมายฉบับนี้จะห้ามแบ่งซองขาย
"บริษัทบุหรี่ข้ามชาติก็จะมีเงินเยอะ มีอำนาจ มีอิทธิพล แต่บริษัทบุหรี่ของไทยอยู่ภายใต้โรงงานยาสูบยาสูบ ดังนั้นตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโรงงานยาสูบ ซึ่งโดยหลักการ เราไม่ควรจะหารายได้จากบุหรี่ เพราะว่า ผลกระทบจะกระทบต่อเรื่องรายจ่าย รวมถึงเรื่องสุขภาพการเกิดโรคมะเร็ง ใน 1 ปี กระทรวงสาธารณสุขต้องเสียงบประมาณกับในส่วนนี้เป็นส่วนมาก เพราะฉะนั้นในกฎหมายบุหรี่และคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ในปี 2535 ใช้มาแล้ว 25 ปี แต่ปรากฏว่ายังไม่สามารถป้องกันนักสูบหน้าใหม่ได้ ก็เลยมีการออกกฎหมายฉบับนี้"
อย่างไรก็ตาม นพ.เจตน์ กล่าวด้วยว่า กฎหมายยาสูบฉบับใหม่ จะมีคณะกรรมการแห่งชาติ มีคณะกรรมการจังหวัดและคณะกรรมการกรุงเทพฯ ก็จะช่วยลงไปดูในระดับล่างลงไป เพราะว่าในคณะกรรมการแห่งชาติหรือกรมควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขเขาดูไม่ไหว ต้องอาศัยเครือข่ายและหน่วยงานอื่นๆร่วมมือ "หลักๆของเราก็คือ ป้องกันประชาชน นักสูบหน้าใหม่ เข้าถึงบุหรี่ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือการทำให้เรื่องของ CSR"