นักวิชาการเผยคำเตือนบนซองบุหรี่ได้ผล เรียกร้องสนช.คงเนื้อหาร่างพ.ร.บ.คุมยาสูบ
นักวิชาการเรียกร้อง สนช. รักษาเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.คุมยาสูบ เผยผลวิจัยขยายคำเตือนบนซองบุหรี่ 85% ช่วยให้เยาวชนตั้งใจลด ละ เลิก ย้ำผลิตภัณฑ์ต้องเปิดเผยสารประกอบ เพื่อปกป้องสุขภาพคนไทย
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2560 ที่สโมสรกองทัพบก ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ(ศจย.) ร่วมกับเรือข่ายควบคุมยาสูบ จัดเสวนาวิชการและแถลงข่าว “โค้งสุดท้าย พ.ร.บ.คุมบุหรี่ เสียงเรียกร้องถึง สนช.”
นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.คุมยาสูบเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (FCTC) ที่ช่วยรับประกันความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมยาสูบ ในมาตรา 40 ระบุหน้าที่ของผู้ผลิตและผู้นำเข้าบุหรี่จะต้องส่งข้อมูลปริมาณการผลิต การนำเข้า รายได้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงข้อมูลที่จำเป็น เสนอต่อคณะกรรมการควมคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ
“ปัจจุบันบริษัทบุหรี่ต่างชาติไม่ต้องรายงานข้อมูลเหล่านี้ให้หน่วยงานทราบ ในขณะที่ภาครัฐมีข้อมูลของโรงยาสูบเท่านั้น รัฐจึงควรมีมาตรการที่ใช้บังคับกับบริษัทบุหรี่ต่างชาติเช่นกัน” นายไพศาล กล่าว และว่า ทั้งนี้ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ตามมาตรา 6 ที่จะมีรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน กำหนดคุณสมบัติชัดเจนว่าจะต้องไม่เป็นผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแซงอำนาจ
ภก.ดร.คทา บัณฑิตานุกูล ประธานเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อควบคุมยาสูบ กล่าวว่า พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยา อาหาร เครื่องสำอาง ผู้ประกอบการต้องแจ้งส่วนประกอบทั้งหมดในการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ดังนั้นในลักษณะเดียวกันบุหรี่ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทำลายสุขภาพ และเสพติดก่อให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย จึงจำเป็นต้องมีการแจ้งส่วนประกอบทั้งหมด ซึ่งในมาตรา 37 ของร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบระบุว่า ยาสูบที่จะขายในราชอาณาจักรต้องมีส่วนประกอบและสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ มีหน้าที่ต้องแจ้ง รายการส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบ และสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบนั้นให้กับสาธารณชนทั้งนี้การเปิดเผยดังกล่าวไม่ได้หมายความว่า เป็นการเปิดเผยสูตร หรือเปิดเผยความลับทางการค้าแต่อย่างใด
ส่วนผศ.ดร.มลินี สมภพเจริญ นักวิชาการคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงผลการศึกษาอิทธิพลของการส่งเสริมการขายบุหรี่ในประเทศไทยในปีพ.ศ.2560 โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ซื้อ สะสมสิ่งของที่มีตราบุหรี่ คือเยาวชนอายุระหว่าง 13-24 ปี และกลุ่มผู้จำหน่ายสิ่งของส่งเสริมบุหรี่ในร้านค้า พบว่า เยาวชนสนใจและอยากซื้อสิ่งของที่มีเครื่องหมายผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือสิ่งของเลียนแบบ พบว่า ประมาณร้อยละ 54.3 มีระดับความแรงจูงใจในการซื้อและยังส่งผลต่ออัตราการสูบบุหรี่ในระดับมาก
"ซึ่งร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบในมาตรา 32 ระบุว่า ห้ามนำชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบไปแสดงบนสินค้าอื่นที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ยาสูบ(เพื่อป้องกันการโฆษณาและการตลาดของบริษัทบุหรี่)"
ผศ.ดร.มลินี กล่าวด้วยว่า ผลการศึกษาประสิทธิผลของซองบุหรี่แบบเรียบและการขยายภาพคำเตือนสุขภาพบนซองบุหรี่เป็น 85% ต่อพฤติกรรมการบริโภคบุหรี่ของวัยรุ่นในเขตกรุงเทพฯ ปีพ.ศ.2559 พบว่า การขยายขนาดภาพคำเตือนช่วยการรับรู้ของเยาวชนกลุ่มผู้ไม่เคยสูบบุหรี่ มีความรู้สึกกลัวอันตรายจากบุหรี่ ทั้งยังช่วยให้เยาวชนที่สูบบุหรี่ตั้งใจว่าจะ ลด ละ เลิกมากขึ้น
ขณะที่รศ.ดร.เนาวรัตน์ เตริญค้า นักวิชาการคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง กิจกรรมความรับผิดชอบทางสังคม (CSR) ของอุตสาหกรรมยาสูบ เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมภาพลักษณ์ สร้างความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับในสังคม และยังเป็นเครื่องมือในการลดหรือยับยั้งแรงต่อต่านจากกลุ่มควบคุมยาสูบอีกด้วย ทั้งยังมีส่วนอย่างมากในการทำให้ผู้กำหนดนโยบายลดความสำคัญของการควบคุมยาสูบลง ด้วยเหตุนี้อุตสาหกรรมยาสูบและบริษัทบุหรี่ไม่ควรมีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโบายควบคุมยาสูบ ดังที่ระบุไว้ในมาตรา5.3 ของอนุสัญญาควบคุมยาสูบฯและร่างพ.ร.บ.ควบคุมฯ มีบัญญัติในมาตรา 35 ระบุว่า ห้ามผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้การอุปถัมภ์ (CSR) หรือให้การสนับสนุน กลุ่มบุคคล หน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรเอกชน ยกเว้นที่กระทำกันภายในระหว่างผู้ที่อยู่ในวงจรการค้า เช่นผุ้ผลิต ผู้นำเข้า ให้การอุปถัมภ์ชาวไร่ยาสูบ