มจธ. ส่งนักวิจัยฝังตัว ทำ Social Lab พัฒนาคนบนพื้นที่สูง อ.บ่อเกลือ จ.น่าน
กว่าสิบปีแล้ว ที่ มจธ. ได้ส่งนักวิจัยทำงานเต็มเวลา 24 ชั่วโมงตลอด 7 วัน จำนวน 10 คน เข้าไปฝังตัวกลมกลืนกับชาวบ้าน อยู่ กิน และนอนเหมือนกับชาวบ้านเพื่อให้เข้าใจถึงรากหรือต้นเหตุของปัญหา แล้วจึงจะเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่เรามีเข้ากับบริบทของพื้นที่
อำเภอบ่อเกลือ เป็นหนึ่งใน 15 อำเภอของจังหวัดน่าน ประกอบไปด้วย 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ่อเกลือเหนือ ตำบลบ่อเกลือใต้ ตำบลดงพญา และตำบลภูฟ้า มีหมู่บ้านรวมกันทั้งหมด 39 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 4,302 ครัวเรือน หรือประมาณ 14,641 คน ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าชนกลุ่มน้อยมากกว่า 10 ชนเผ่า มีความหลากหลายทางชาติพันธ์สูง อาทิ ชนเผ่าลัวะ ม้ง คนเมือง ไทลื้อ อีสาน และมละบริ
นอกจากนั้น พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอบ่อเกลือตั้งอยู่ในร่องเขาสูงสลับซับซ้อน ทำให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่าและพันธุ์ไม้นานาชนิด แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาป่าที่ขึ้นชื่อว่าเป็นป่าต้นน้ำน่านที่สำคัญได้ถูกทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลโดยตรงกับแม่น้ำน่าน โดยไม่ว่าจะเกิดน้ำท่วมหรือน้ำแล้งก็จะส่งผลกระทบมาถึงคนพื้นราบในภาคกลางอย่างแน่นอน
ป่าต้นน้ำน่านถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากน้ำจากแม่น้ำน่านคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 40-50 เปอร์เซ็นต์ในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยคิดเป็นปริมาณน้ำที่มากพอๆกับแม่น้ำปิง วัง และยมรวมกัน ปัจจุบันจึงมีหลายภาคส่วนหมุนเวียนเข้ามาดูแลและช่วยกันฟื้นฟูป่าอยู่โดยตลอด
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เองก็ได้มีโอกาสปฏิบัติงานในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่านด้วยเช่นกัน โดยนายสุเมธ ท่านเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวง และโครงการตามพระราชดำริ สถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. กล่าวว่า มจธ. ได้ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดน่านผ่าน 2 โครงการ โครงการแรกคือโครงการภูฟ้าพัฒนา ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเน้นการพัฒนาอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และน้ำเป็นหลัก
“ต้นน้ำน่านจริงๆอยู่ที่ตำบลบ่อเกลือเหนือ และปัญหาหลักๆ ของป่าเมืองน่านที่กำลังถูกทำลายเพราะชาวเขาและชาวบ้านโดยการส่งเสริมปัจจัยการผลิตจากพ่อค้ามีความจำเป็นต้องบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพดเพื่อหารายได้มาดูแลครอบครัว
สิ่งที่น่าตกใจคือเมื่อสิบปีที่แล้วที่ มจธ. เริ่มทำงานที่นี่มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดบนเขาประมาณ 3 แสนไร่ และสิบปีผ่านไป ปัจจุบันนี้เพิ่มขึ้นเป็น 8 แสนไร่ แต่ถ้าเราเข้าใจปัญหาจะเห็นว่าที่ชาวเขาเลือกที่จะปลูกข้าวโพดก็เพราะว่า การใช้ชีวิตร่วมกับสังคมปัจจุบัน พวกเขาก็ต้องการใช้เงินในการดำเนินชีวิตเช่นกัน ต้องใช้เงินซื้อข้าว ต้องใช้เงินส่งลูกเรียนเหมือนกับเราแต่บนดอยไม่มีงานอื่นให้เขาเลือกทำมากนักนอกจากการเกษตร จึงไม่แปลกหากพวกเขาจะเลือกทำการเกษตรที่ให้ค่าตอบแทนทันที เป็นความอยู่รอดที่ไม่มีทางเลือก”
นายสุเมธ บอกว่า หากเราต้องการให้คนที่อยู่บนดอยหยุดรุกล้ำพื้นที่ป่าก็ต้องเสนอทางเลือกอื่นในการประกอบอาชีพให้พวกเขา แต่เพื่อให้เหมาะกับบริบทของพื้นที่ก็ยังคงต้องเป็นด้านการเกษตร แต่ต้องเป็นการทำเกษตรที่สร้างรายได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอด้วย
“ทางเลือกหนึ่งที่เราเสนอให้เขาคือการทำเกษตรประณีต ปลูกพืชที่มีมูลค่าสูงทดแทนการปลูกข้าวโพด อย่างผักสลัดต่างๆ รวมถึงสตรอเบอรี่ และการปลูกข้าวไร่ โดย มจธ.นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีเข้าไปสอดแทรกเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตของพืชผัก และเพาะพันธุ์เมล็ดข้าวดี เพื่อสนับสนุนให้ชาวเขายังเห็นความสำคัญของการปลูกข้าวไร่ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่กำลังจะสูญหายไป เนื่องจากสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและลาดชันสูงไม่เหมาะต่อการทำการเกษตร แต่ชาวเขามีภูมิปัญญาในการปลูกข้าวไร่ในที่ลาดชันได้เป็นอย่างดี จึงควรสนับสนุนและพัฒนาเพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้
นอกจากนั้น ยังมีชาวเขาเผ่าลัวะที่อยู่ในพื้นที่บ้านก่อก๋วงนอก ซึ่งส่วนใหญ่จะทำอาชีพรับจ้างและปลูกข้าวไร่ เราก็เข้าไปสนับสนุนให้ปลูกผักสลัดและสตรอเบอรี่ขายในช่วงฤดูหนาวเป็นรายได้เสริมด้วย
จนปัจจุบันร้านอาหารหลายแห่งในอำเภอบ่อเกลือก็เลือกใช้ผักจากที่นี่
และไม่ใช่แค่ชาวลัวะที่บ้านก่อก๋วงเท่านั้น แต่ยังมีชาวมละบริตำบลภูฟ้าที่ มจธ. เราเข้าไปฝังตัวอยู่กับพวกเขาเป็นเวลาเกือบสิบปี เพราะพวกเขาต้องออกจากป่ามาใช้ชีวิตอยู่ในสังคม
"เราต้องเพิ่มความสามารถในการประกอบอาชีพ สอนให้พวกเขาทำการเกษตรเป็นเพื่อเลี้ยงตัวเอง ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลกที่ชาวมละบริทำการเกษตรเป็นอีกด้วย ทั้งการปลูกข้าวกินเอง ปลูกผัก ปลูกสตรอเบอรี่ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา และสอนให้รู้จักทำบัญชีรายรับรายจ่ายและเรียนรู้ที่จะวางแผนชีวิตและอนาคตต่อไป”
นายสุเมธ เล่าต่อถึงการทำงานผ่านโครงการที่สอง คือ โครงการภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามแนวพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเน้นเรื่องการศึกษาพัฒนาอาชีพให้กับเด็กและเยาวชน
“มจธ. เข้าไปในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือโดยมีเป้าหมายว่า สิ่งที่เราจะเข้าไปทำในพื้นที่ ไม่ว่าเรื่องใดก็ตามต้องมีความมั่นคง มีคนสานต่อ และยั่งยืนในที่สุด สิ่งเหล่านี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อความสำนึกและหวงแหนในถิ่นอาศัยเกิดขึ้นจากคนภายในพื้นที่นั้นเอง และไม่ใช่เฉพาะคนรุ่นเก่าหรือผู้นำพื้นที่เท่านั้น แต่กำลังสำคัญที่เราต้องสร้างและปลูกฝัง คือ กลุ่มเด็กและเยาวชนในพื้นที่ที่จะเติบโตขึ้นมาแทนที่กลุ่มคนรุ่นก่อนๆ ต่อไป”
ในส่วนของเด็กและเยาวชนนั้น มีการจัดตั้งกองทุนเด็กดอย เพื่อสนับสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาอาชีพแก่ชาวเขาเพื่อศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นและการฝึกอาชีพ ซึ่งปัจจุบันมีเด็กชาวเขาหลายคนศึกษาอยู่ในรั้ว มจธ. และยังได้พยายามกระตุ้นให้ชาวมละบริที่ออกมาจากป่าเห็นความสำคัญของการศึกษาและสนับสนุนทุนให้แก่ชาวมละบริภูฟ้าให้ได้มีโอกาสศึกษาจนจบระดับปริญญาตรีเป็นครั้งแรกและคนแรกของโลก (อ่านประกอบ:จบปริญญาตรีแล้ว..ชาวมละบริ คนแรกของโลก )
นอกจากนั้น ยังได้พัฒนาการฝึกทักษะอาชีพให้กับครูและนักเรียนบนดอยด้วยการจับมือกับวิทยาลัยการอาชีพปัว โดย มจธ. เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนในเครือข่ายดรุณสิกขา 7 แห่งในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ โดยจัดให้มีหลักสูตรการอาชีพ เพื่อสนับสนุนการศึกษาสู่การมีงานทำและมีวิชาชีพติดตัวทั้งในระดับชั้นมัธยมศึกษา และระดับ ปวช. โดยตั้งเป้าว่าจะเปิดในปีการศึกษา 2560 นี้
ศูนย์ประสานงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านบ่อหลวงเป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลบ่อเกลือใต้ เป็นชุมชนขนาดใหญ่มีบ่อเกลือที่เป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์บนภูเขาที่เก่าแก่และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเป็นจุดศูนย์กลางของอำเภอบ่อเกลือ
กลุ่มนักวิจัย มจธ. มีแนวคิดที่จะทำประโยชน์ให้บ้านบ่อหลวงด้วยจึงเกิดเป็นโครงการมัคคุเทศก์น้อยขึ้น เพื่อฝึกฝนเด็กในชุมชนให้รู้จักกระบวนการวิจัย การตั้งคำถาม และได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนของตัวเอง รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลและเผยแพร่ต่อนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของอำเภอบ่อเกลือ
ปัจจุบันมีเด็กเข้าร่วมโครงการมัคคุเทศก์น้อยแล้วจำนวน 31 คน ทำหน้าที่อาสาบริการข้อมูลและนำเที่ยวในชุมชนโดยไม่มีค่าบริการ ซึ่งนอกจากกระบวนการ และความรู้ต่างๆที่เด็กจะได้รับแล้วยังได้ฝึกภาษาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย
“มจธ. ส่งนักวิจัยเข้ามาทำงานในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือตั้งแต่ปี 2545 แต่เราไม่ได้เข้ามาช่วยพัฒนาอย่างเดียว มจธ.เรียกงานแบบนี้ว่า Social Lab เรียนรู้คู่สังคม เราใช้กระบวนการเรียนรู้เป็นศูนย์กลางไม่ว่านักเรียน นักศึกษา อาจารย์ นักวิจัย ชาวบ้าน หรือใครก็ตามต่างก็มาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน กว่าสิบปีแล้ว ที่ มจธ. ได้ส่งนักวิจัยทำงานเต็มเวลา 24 ชั่วโมงตลอด 7 วัน จำนวน 10 คน เข้าไปฝังตัวกลมกลืนกับชาวบ้าน อยู่ กิน และนอนเหมือนกับชาวบ้านเพื่อให้เข้าใจถึงรากหรือต้นเหตุของปัญหา แล้วจึงจะเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่เรามีเข้ากับบริบทของพื้นที่
มจธ. เราส่งนักวิจัยไปทำ Social Lab ในหลายพื้นที่ไม่เฉพาะบ่อเกลือ แต่ไม่ว่าจะไปที่ไหนเราก็จะฝังตัวอยู่จนกว่าชุมชนหรือสังคมจะดีขึ้น และเกิดความยั่งยืนแล้วจึงจะถอนตัวออกมาซึ่งมักจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี” นายสุเมธกล่าวเสริม
นายสุเมธกล่าวทิ้งท้ายว่า ทีมนักวิจัย มจธ. ที่บ่อเกลือยังมีอีกหนึ่งโครงการที่กำลังผลักดันให้เกิดขึ้นนั่นก็คือ สวนทนบุรีรมย์ หรือเรียกง่ายๆว่าสวนอดทน โดยการนำพื้นที่ท้ายหมู่บ้านบ่อหลวงมาทำเป็นพื้นที่บ่มเพาะเกษตรกร สร้างโอกาสและสร้างอาชีพทางเลือก บ่มเพาะเยาวชนให้คิดเป็น ทำเป็น และรู้จักประโยชน์ของวัสดุในท้องถิ่น และรู้จักนำมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นศูนย์นิทรรศการและจัดกิจกรรมในฤดูกาลท่องเที่ยว เป็นการเพิ่มฟังก์ชันของการท่องเที่ยวอำเภอบ่อเกลือ สร้างรายได้เพิ่มเติมให้เยาวชนและชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงเป็นสวนที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเป็นครอบครัวสามารถเข้ามาเรียนรู้เรื่องราววิถีชีวิต และเล่นสนุกกับทรัพยากรของท้องถิ่นได้อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ฟังคนต้นน้ำ พูดถึงป่าหาย ที่ “น่าน”
คนหิวป่าหาย ณ “น่าน” เมื่อความยากจน คือปัญหา