นักวิจัยเสนอออก กม.ขยายอายุวัยเกษียณ-วาง 5 ขั้นตอนรับสังคมผู้สูงอายุ
นักวิจัยเผยปี 2557 ไทยเข้าสังคมผู้สูงอายุแท้จริง อาจกระทบศก.-ภาระสังคม แนะออก กม.บังคับใช้ให้ขยายอายุวัยเกษียณ ปรับระบบสวัสดิการ ปฏิรูป กม.ให้รองรับ ชี้ต้องเริ่มใน 5 ปีนี้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน
(ขอบคุณภาพประกอบจาก www.dailynews.co.th)
วันที่ 11 ตุลาคม มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จัดเวทีนโยบายสาธารณะ "มโนทัศน์ใหม่ของนิยามผู้สูงอายุ และอายุการทำงานที่เหมาะสม" ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 3 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดย ดร.อรพินท์ สพโชคชัย นักวิชาการอิสระ ผู้ทำการวิจัยฯ และอดีตคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวในหัวข้อ "ข้อเสนอเชิงนโยบายทิศทางการขับเคลื่อนของนิยามผู้สูงอายุและอายุการทำงานที่เหมาะสมของประเทศไทย"
ดร.อรพินท์ กล่าวตอนหนึ่งว่าโครงสร้างประชากรประเทศไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น มีอายุยืนขึ้น เฉลี่ยผู้ชาย 71.93 ปีผู้หญิง 78.82 ปี ขณะที่อัตราการเกิดลดลงเหลือ 1.61 (ข้อมูลปี 2553) ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2548 เป็นสังคมที่กำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุ (Ageing Society) ที่มีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี คิดเป็นร้อยละ 10.38 ของประชากร และในปี 2554 ได้เพิ่มเป็นร้อยละ 12.2 ซึ่งในปี 2573 ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุแท้จริง (Aged Society) ร้อยละ 25.12
"การที่จำนวนผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ แรงงานสูงอายุเสียสิทธิ์และโอกาสในการทำงาน คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุมีปัญหา ทำให้ประชากรวัยแรงงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศลดลง สร้างปัญหาและภาระสวัสดิการภาครัฐ ซึ่งนับว่าเป็นประเด็นที่ท้าทายในการหาทางออก"
ดร.อรพินท์ กล่าวต่อว่า นโยบายที่สามารถรองรับสังคมผู้สูงอายุสำหรับประเทศไทย ควรเป็นระบบผสมผสานระหว่างกรสนับสนุนโดยภาครัฐ การพึ่งพาตนเองและส่งเสริมความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว เพื่อเป็นตาข่ายทางสังคมที่รองรับประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเสนอเป็น 2 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการเชิงเศรษฐกิจ การขยายอายุการทำงาน ที่อาจให้กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพ และ 2.มาตรการเชิงสังคม สร้างหลักประกันทางสังคมและคุณภาพชีวิต เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยอาจมีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นเจ้าภาพ
"การขยายอายุการทำงาน หรือขยายอายุเกษียณ ควรกำหนดเป็นกฎหมายบังคับใช้ โดยมีการดำเนินงานบังคับใช้เป็นระยะๆ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีความพร้อม รวมถึงกำหนดให้นายจางต้องจ้างหรือรับแรงงานสูงอายุทำงานต่อ ส่งเสริมการออมและคุ้มครองแรงงาน ส่งเสริมการประกอบอาชีพสำหรับแรงงานสูงอายุ และเร่งกระตุ้นอัตราการเกิด เพื่อให้ประชากรเข้าสู่ภาวะสมดุล อย่างไรก็ตามต้องดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน มีระยะเวลาเตรียมความพร้อม โดยทำควบคู่ไปกับการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ"
แนวทางดำเนินงานรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทยในปี 2573 ดร.อรพินท์ ชี้ว่าควรใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 5 ปี สำหรับ 5 ขั้นตอนตามลำดับขั้นบันได ได้แก่ 1.สร้างศักยภาพ ความเข้มแข็งและองค์ความรู้ด้านแรงงานผู้สูงอายุให้เกิดการยอมรับ โดยเฉพาะกลุ่มนายจ้าง ที่สำคัญต้องมีการศึกษาวิจัยในมิติต่างๆ อย่างจริงจัง
2.ปรับกระบวนทัศน์ของคนในสังคมที่มีต่อความสำคัญและศักยภาพของกลุ่มผู้สูงอายุใหม่ 3.กำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการนำแรงงานผู้สูอายุที่มีคุณค่ากลับเข้าสู่ระบบการทำงาน 4.ทบทวน แก้ไขและปฏิรูปกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสม เช่น พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญ และ พ.ร.บ.ประกันสังคม 5.ปรับปรุงหรือปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมต่างๆ เช่น บริการสาธารณสุข สวัสดิการสังคมและระบบประกันชราภาพ เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ