ชมมิวนิค-ตะลุยเมืองสปาเช็ก สตง.ชี้ไปเที่ยวมากกว่า! เปิดผลสอบ 24อปท.พิจิตร ดูงานยุโรป
"...สตง.พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่อปท.ในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมและศึกษาดูงานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า มีเจตนาที่จะไม่ถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น เพือเป็นไปตามหนังสือสั่งการ รวมทั้งการรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของทางราชการ และการรักษาวินัยการเงินการคลังที่ดีของอปท..."
รายชื่อ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวน 24 แห่ง ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สั่งเรียกเงินคืน จากการเบิกจ่ายให้ตัวแทนเข้าร่วมโครงการเดินทางศึกษาดูงานในต่างประเทศ หลักสูตร "การบริหารจัดการด้านการศึกษา วัฒนธรรมท้องถิ่น การปกครองท้องถิ่น และการบริหารจัดการด้านผังเมือง ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" ณ ประเทศเยอรมันนี เช็ก สโลวัค ฮังการี และออสเตรีย ในช่วงวันที่ 19-27 ก.พ.2556 ที่ไม่ชอบด้วยระเบียบและหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องของกระทรวงมหาดไทย ว่า มีชื่อหน่วยงานไหนบ้าง ถูกสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมาเสนอไปแล้ว (อ่านประกอบ : เปิดครบรายชื่อ24 'เทศบาล-อบต.'พิจิตร ตะลุยทริป ดูงานยุโรป-สตง.สั่งเรียกเงินคืน)
ขณะที่ รายชื่อบุคคลที่ร่วมคณะเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศครั้งนี้ จำนวน 45 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ปรากฏชื่อเป็นตัวแทนจากหน่วยงานในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดพิจิตร เป็นทางการจำนวน 39 ราย กลุ่มสอง มีจำนวน 6 ราย เป็นบุคคลอื่นที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของหน่วยงานในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัดพิจิตร ร่วมเดินทางไปด้วย (ปรากฏชื่อ นางเบญจมาส เปลี่ยนวงษ์ ภรรยา นายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าฯพิจิตร ช่วงปี 2556 ด้วย) สำนักข่าวอิศรา ก็นำข้อมูลมาเสนอไปแล้วเช่นกัน (อ่านประกอบ : เมียผู้ว่าฯ-อัยการ ไปด้วย!โชว์ครบ45ชื่อตัวแทนเทศบาล-อบต.พิจิตร ตะลุยทริปดูงานยุโรป)
แล้วผลการตรวจสอบโครงการเดินทางศึกษาดูงานในต่างประเทศครั้งนี้ ของ สตง. มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง?
"การศึกษาดูงานในสถานที่ต่างๆ มีลักษณะเป็นการไปท่องเที่ยวมากกว่า"
คือ ประโยคสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่าในรายงานผลการตรวจสอบของ สตง.ที่แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร รับทราบเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 พ.ย.2559 ที่ผ่านมา
พร้อมระบุข้อมูลรายละเอียดดังนี้
สตง. โดยสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดพิจิตร ได้รับทราบข้อมูลว่า ในช่วงปี 2556 จังหวัดพิจิตร ได้มีการอนุมัติให้ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ ตามโครงการฝึกอบรมและศึกษาดูงาน หลักสูตร "การบริหารจัดการด้านการศึกษา วัฒนธรรมท้องถิ่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถ่ิน การปกครองท้องถ่ิน และการบริหารจัดการด้านผังเมือง ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" ณ ประเทศเยอรมันนี เช็ก สโลวัค ฮังการี และออสเตรีย ในระหว่างวันที่ 19-27 ก.พ.2556
โครงการดังกล่าว จัดโดย มหาวิทยาลัยปทุมธานี โดยกำหนดให้มีการฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้จำนวน 2 วัน ณ โรงแรมเอวาน่า กรุงเทพมหานคร และศึกษาดูงาน ณ ประเทศ เยอรมันนี เช็ก สโลวัค ฮังการี และออสเตรีย จำนวน 6 วัน ซึ่งมีเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดพิจิตร ร่วมโครงการทั้งหมด 25 แห่ง ตัวแทนรวม 39 ราย (เทศบาลตำบลโพธิ์ประทับช้าง ส่งตัวแทนร่วมเดินทางไปด้วย แต่เนื่องจากเดินทางไปโดยใช้เงินส่วนตัว จึงไม่นับเป็น 1 ใน 24 แห่งที่ถูกตรวจสอบเรื่องนี้) และข้าราชการสำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถ่ินจังหวัดพิจิตร พร้อมผู้ติดตามรวม 6 ราย รวมทั้งสิ้น 45 ราย (อ่านประกอบ : เมียผู้ว่าฯ-อัยการ ไปด้วย!โชว์ครบ45ชื่อตัวแทนเทศบาล-อบต.พิจิตร ตะลุยทริปดูงานยุโรป)
ในจำนวนนี้ เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณจำนวน 37 ราย (มี 2 รายใช้เงินส่วนตัว) รายละ 99,8000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,692,600 บาท
จากการตรวจสอบรายงานผลการเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศตามโครงการดังกล่าว พบว่า ในการเดินทางศึกษาดูงานในต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ได้แก่
วันที่ 1 เยี่ยมชมนครมิวนิค ชมจัตุรัสมาเรียนพลาสท์ ประเทศเยอรมันนี
วันที่ 2 เยี่ยมชมเมืองคาร์โลรี วารี ซึ่งเป็นเมืองแห่งสปา ที่ใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐเช็ก และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์เครื่องแก้วเจียระไน "โบฮีเมีย" และเดินเล่นบนสะพานชาร์ล สะพานเก่าแก่ข้ามแม้น้ำวัลตาวา
วันที่ 3 เข้าชมสถาปัตยกรรมของปราสาทแห่งปร๊าก ที่สร้างขึ้นอยู่บนเนินเขา สาธารณรัฐเช็ก
วันที่ 4 อันลือชื่อ ชมความสวยงามของทิวทัศน์ และอารยธรรมฮังการี เยี่ยมชมอาคารรัฐสภา ประเทศฮังการี
วันที่ 5 เยี่ยมชมพระราชวังโบราณ ชมโบสถ์ แมทเธียส ประเทศฮังการี และเยี่ยมชมพระราชวังเชินบรุนน์ แห่งราชวงศ์ ฮัปสเบิร์ก ประเทศออสเตรีย
(ภาพตัวอย่าง พระราชวังเชินบรุนน์ จาก https://th.wikipedia.org/wikiB6nbrunn.jpg)
วันที่ 6 ชมเมืองซาลส์บวร์ก นำชมสวนดอกไม้ "มิราเบล" ซึ่งเป็นฉากหนึ่งในการถ่ายทำภาพยนต์และเดินเล่นในย่านการค้า ถนนเกรไทร์เด้น ประเทศออสเตรีย
(ภาพตัวอย่างสวนดอกไม้ "มิราเบล" จาก Pixabay)
ประกอบกับโครงการดังกล่าว มีผู้ร่วมเดินทางซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และบุคคลอื่นร่วมเดินทางไปด้วย โดยใช้จ่ายเงินส่วนตัว
แสดงให้เห็นว่า การศึกษาดูงานในสถานที่ต่างๆ มีลักษณะเป็นการไปท่องเที่ยวมากกว่า ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการเหตุผลและวัตถุประสงค์ของโครงการ
นอกจากนี้ สตง.ยังตรวจสอบพบว่า มีการดำเนินการไม่เป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงมหาดไทย กำหนด ใน 1-3 ประเด็นดังนี้
หนึ่ง ไม่มีหนังสือตอบรับจากหน่วยงานที่ไปศึกษาดูงานครบทั้ง 5 ประเทศ ให้ตรวจสอบ
สอง อนุมัติโดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างวิสัยทัศน์ให้กับผู้บริหารมากกว่าความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภารกิจที่รับผิดชอบโดยตรงและเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานอย่างแท้จริง
สาม ผู้ที่เดินทางไปราชการบางราย เช่น นักบริหารงานคลังองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก/องค์การบริหารส่วนตำบลท้ายพุ่ง และนักบริหารสาธารณสุข เทศบาลตำบลท่าเสา มิได้เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว
สตง.พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่อปท.ในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมและศึกษาดูงานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า มีเจตนาที่จะไม่ถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น เพือเป็นไปตามหนังสือสั่งการ รวมทั้งการรักษาไว้ซึ่งประโยชน์ของทางราชการ และการรักษาวินัยการเงินการคลังที่ดีของอปท.
สตง.อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 เห็นควรให้จังหวัดพิจิตร พิจารณาดำเนินการดังนี้
1. สั่งการให้อปท.ในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร ทั้ง 24 แห่ง นำเงินงบประมาณที่เบิกจ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการดังกล่าว จำนวน 3,692,600 บาท ส่งคืนคลังอปท.ให้ครบถ้วนเสร็จสิ้นโดยเร็ว
2. ให้รายงานผลความคืบหน้ากรณีสอบสวน นายอัศม์เดช บูรนนท์ธวัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลทับคล้อ ถูกกล่าวหาว่าละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ (กรณีการเซ็นอนุมัติให้นางรัชต์วดี บูรนนท์ธวัฒน์ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลทับคล้อ ภรรยาเดินทางไปศึกษาดูงานด้วยโดยไม่มีอำนาจ)
3.ให้ถือปฏิบัติตามแนวทางหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทยอย่างเคร่งครัดต่อไป
---------------------
ทั้งนี้ หากนับช่วงระยะเวลาที่ สตง.แจ้งผลการตรวจสอบเรื่องนี้ ไปให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร พิจารณาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพ.ย.2559 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาผ่านมาแล้วกว่า 8 เดือน
ต้องย้ำอีกครั้งว่า ผลการตรวจสอบเรื่องนี้ ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร โดยเฉพาะการเรียกเงินคืนจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด!
ขณะที่ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวระดับสูงจาก สตง. ว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม อปท.ทั้ง 24 แห่ง ที่เบิกจ่ายเงินหลวงไปใช้ดำเนินการโดยไม่ถูกเบียบจะต้องนำเงินส่งคืนคลังให้ครบถ้วนโดยเร็ว ดังนั้น สตง. จะให้เวลาจังหวัดพิจิตร และอปท.24 แห่ง อีกประมาณ 1 เดือนนับจากนี้ หากยังไม่มีความคืบหน้าอะไรอีก สตง. จะเสนอเรื่องนี้ พร้อมรายชื่อผู้เกี่ยวข้อง ให้ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) พิจารณากำหนดมาตรการจัดการขั้นเด็ดขาดต่อไป
ซึ่งอาจมีผลถึงขั้นเสนอเรื่องให้ใช้อำนาจตาม ม. 44 ด้วย!
(อ่านประกอบ : สตง.ขีดเส้น1เดือน เทศบาล-อบต.พิจิตร 24 แห่ง ไม่คืนเงินดูงานยุโรป ส่งชื่อศอตช.ฟัน)
หมายเหตุ : ภาพประกอบเรื่องจากบางส่วน เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน