- Home
- Isranews
- ละเอียด!พฤติการณ์‘บิ๊ก พศ.’ป.ป.ช. ฟันเงินทอนวัดลอตใหม่-5 มี.ค.ศาลคดีทุจริตฯนัดพิพากษาอีก
ละเอียด!พฤติการณ์‘บิ๊ก พศ.’ป.ป.ช. ฟันเงินทอนวัดลอตใหม่-5 มี.ค.ศาลคดีทุจริตฯนัดพิพากษาอีก
เปิดละเอียด! พฤติการณ์ ‘นพรัตน์-พนม-ประนอม-บิ๊ก พศ.’ ร่วมมือ ‘พระเถระ-ฆราวาส’ ทุจริตเงินทอนวัด 5 แห่ง 3 จังหวัด ‘อำนาจเจริญ-ตาก-เพชรบุรี’ เสียหายเบ็ดเสร็จ 26.7 ล้าน – ‘พนม’ โดนพิพากษาคุกแล้ว 2 สำนวน 22 ปี 12 เดือน ลุ้น 5 มี.ค. อีกคดี ‘พระพรหมดิลก’ จำเลยด้วย
ยังคงไม่จบสำหรับมหากาพย์การทุจริตเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ ‘คดีเงินทอนวัด’
แม้ว่าคดีดังกล่าวพนักงานสอบสวน กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มข้น และมีการชี้มูลความผิด รวมถึงส่งอัยการฟ้องผู้ต้องหาไปแล้วหลายราย โดยมีคีย์แมนสำคัญคือ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีต ผอ.พศ. (ปัจจุบันหลบหนีคดี) นายพนม ศรศิลป์ อดีต ผอ.พศ. และนางประนอม คงพิกุล อดีตรอง ผอ.พศ. พร้อมด้วยพระเถระชั้นผู้ใหญ่จำนวนหนึ่ง
ในช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2562-ต้นปี 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาคดีเงินทอนวัดไปแล้วอย่างน้อย 2 สำนวน โดยมีนายพนม ศรศิลป์ เป็นจำเลยที่ 1 ถูกตัดสินจำคุกรวม 2 สำนวน โทษรวม 22 ปี 12 เดือน และมีพระเถระชั้นผู้ใหญ่รูปสำคัญ เช่น พระพรหมสิทธิธงชัย สุขโข อดีตพระราชาคณะเจ้าคณะรอง และอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม ถูกศาลตัดสินจำคุก 36 เดือน แต่รอการลงโทษ 2 ปี เป็นต้น (อ่านประกอบ : ศาลคดีทุจริตฯสั่งคุกจริง'พนม' 2 ปี 12 ด.โกงเงินทอนวัด-'พระพรหมสิทธิฯ'36 ด.รอลงโทษ 2 ปี, ศาลทุจริตฯสั่งคุก 20 ปี 'พนม ศรศิลป์' คดีเงินทอนวัด-มีอีก 36 สำนวนในชั้น ป.ป.ช.)
และในวันที่ 5 มี.ค. 2563 มีรายงานข่าวว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ นัดพิพากษาคดีเงินทอนวัดเป็นสำนวนที่ 3 โดยมีนายพนม ศรศิลป์ เป็นจำเลยที่ 1 เช่นเดิม และมีพระเถระผู้ใหญ่อีกรูปคือ พระพรหมดิลก หรือนายเอื้อน กลิ่นสี อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา และอดีตกรรมการมหาเถรสมาคม อดีตเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และพวก รวม 5 คนด้วย
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดในการไต่สวนคดีดังกล่าวในชั้น ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2563 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงข่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนและชี้มูลความผิดไปแล้ว 11 สำนวน รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 50 ล้านบาท และพิจารณาส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการแล้ว 24 สำนวน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสำนวนการไต่สวนและชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินทอนวัด เพิ่มเติมจำนวน 3 จังหวัด 5 วัด ได้แก่ จ.อำนาจเจริญ 1 วัด (วัดโคกเลาะ) จ.ตาก 3 วัด (วัดยางโองบน วัดยางโองน้ำ วัดยางโองสันกลาง) และ จ.เพชรบุรี 1 วัด (วัดห้วยตะแกละ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปรายละเอียดให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
หนึ่ง วัดโคกเลาะ ตำบลหนองแก้ว อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ
จากการไต่สวนข้อเท็จจริง พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า เมื่อประมาณปี 2555 นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ หรือสงกรานต์ สาทาวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ได้ติดต่อให้กับเจ้าอาวาสวัดโคกเลาะให้เขียนแบบคำขอเงินอุดหนุนบูรณะวัดเพื่อบูรณะอุโบสถและสมบทสร้างศาลากลางเปรียญ ศาลาปฏิบัติธรรม จำนวน 10,000,000 บาท และได้ส่งเอกสารไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
โดยนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ได้นำคำขอรับเงินอุดหนุนฯ ของวัดโคกเลาะไปคุยกับนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 เพื่อขอให้พิจารณาและจัดสรรเงินอุดหนุนฯ ให้แก่วัดโคกเลาะ โดยการเสนอดังกล่าวได้มีการจัดทำบันทึกการประชุมของคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์และการจัดสรรเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด ประจำปีงบประมาณ 2556 จำนวน 5 ครั้ง ปรากฏลายมือชื่อนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ คณะทำงานและเลขานุการ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เป็นผู้จดบันทึกการประชุม และนายเฉลิมพล มีศิลารัตน์ ประธานคณะทำงาน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นผู้ตรวจรายงานการประชุม ทั้งที่ไม่มีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาฯ เพื่อพิจารณาคำขอรับเงินอุดหนุนดังกล่าวและไม่ได้มีการประชุมของคณะทำงานพิจารณาฯ โดยพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่วัดโคกเลาะแต่อย่างใด ซึ่งนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ก็ได้พิจารณาและอนุมัติ นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ จึงได้จัดทำบันทึกขออนุมัติการใช้จ่ายเงินประจำงวดแล้วเสนอผ่านนายเฉลิมพล มีศิลารัตน์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และนางสาวประนอม คงพิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการ กองพุทธศาสนสถาน และนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ได้อนุมัติเงินอุดหนุนฯ ให้แก่วัดโคกเลาะจำนวน 7 ครั้ง รวมเป็นเงิน 8,213,000 บาท
ภายหลังจากที่ได้มีการอนุมัติเงินอุดหนุนฯ ให้แก่วัดโคกเลาะแล้ว นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้สั่งการให้ให้นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ไปเจรจาและขอเงินคืนบางส่วนกับเจ้าอาวาสวัดโคกเลาะ โดยขอคืนในการอนุมัติเงินครั้งที่ 3 และครั้งที่ 6 ซึ่งเจ้าอาวาสได้โอนเงินเข้าบัญชีของนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ตามที่นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์แจ้ง จำนวน 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 600,000 บาท จากนั้นนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ได้นำเงินดังกล่าวไปมอบให้กับนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์
การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุทำให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับความเสียหายเป็นจำนวนทั้งสิ้น 8,213,000 บาท
สอง วัดยางโองบน วัดยางโองน้ำ วัดยางโองสันกลาง ตำบลแม่สลิด อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก
จากการไต่สวนข้อเท็จจริง พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า เมื่อประมาณปี 2558 นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งให้นายสมเกียรติ ขันทอง หรือพระครูกิตติพัชรคุณ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 อดีตเจ้าอาวาสวัดลาดแค อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ไปหารายชื่อวัดและบัญชีเงินฝากของวัดที่จะรับเงินอุดหนุน ซึ่งพระครูกิตติพัชรคุณได้เสนอรายชื่อวัดในเขตอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก คือ วัดยางโองบน วัดยางโองสันกลาง และวัดยางโองน้ำ และมอบสำเนาหน้าสมุดบัญชีของทั้งสามวัดให้กับนายบรรหาร เมตไตรพันธุ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ตำแหน่งนายช่างโยธาชำนาญงาน ฝ่ายสำรวจและรังวัดที่ดิน เพื่อมอบให้นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ กองพุทธศาสนสถาน
ต่อมาที่ประชุมคณะทำงานพิจารณาการขอรับสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดฯ ได้มีมติอนุมัติเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด ให้วัดยางโองบน วัดยางโองสันกลาง และวัดยางโองน้ำ ทั้งที่วัดทั้งสามดังกล่าวยังไม่ได้มีการจัดทำแบบขอรับเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัด พร้อมแนบภาพถ่ายอาคารเสนาสนะที่จะบูรณะหรือก่อสร้าง และภาพถ่ายบริเวณวัด เพื่อขอรับเงินแต่อย่างใด ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การขอรับและการจัดสรรเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัด และการพัฒนาวัด ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2558 แต่นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ กลับเสนอให้จัดสรรงบประมาณให้กับวัดทั้งสามดังกล่าว
ต่อมานายฉัตรชัย ชูเชื้อ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพระพุทธศาสนาในฐานะรองประธานคณะทำงานฯ ได้เสนอบันทึกขออนุมัติการใช้จ่ายเงินอุดหนุนให้กับวัดยางโองบน วัดยางโองน้ำ และวัดยาง โองสันกลาง จำนวนวัดละ 2,000,000 บาท โดยเสนอผ่านนายชยพล พงษ์สีดา รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหา ที่ 2 และนายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้ลงนามอนุมัติ ต่อมาเมื่อวัดยางโองบน วัดยางโองน้ำ และวัดยางโองสันกลาง ได้รับเงินอุดหนุนฯ ดังกล่าว ได้โอนเงินให้พระครูกิตติพัชรคุณ เป็นจำนวน 1,920,000 บาท 1,930,000 บาท และ 1,920,000 บาท ตามลำดับ จากนั้นพระครูกิตติพัชรคุณได้มอบเงินจำนวนประมาณสามล้านบาทเศษ ให้นายบรรหาร เมตไตรพันธุ์ เพื่อนำไปมอบให้นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ และภายหลังเมื่อมีการร้องเรียนเรื่องดังกล่าว ก็ได้มีการเรียกคืนเงินบางส่วน
การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุทำให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับความเสียหาย เป็นจำนวน 6,000,000 บาท
สาม วัดห้วยตะแกละ ตำบลท่าแลง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
จากการไต่สวนข้อเท็จจริง พยานหลักฐานรับฟังได้ว่า เมื่อประมาณ 2556 นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และนางประนอม คงพิกุล ผู้อำนวยการกองพุทธศาสนสถาน ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ภายในกองพุทธสถาน ดำเนินการติดต่อวัดที่ต้องการเงินอุดหนุนในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด พร้อมทั้งแจ้งเงื่อนไขให้กับวัดต่างๆ ทราบว่า เมื่อได้รับเงินอุดหนุนแล้วจะต้องดำเนินการถอนเงินบางส่วนกลับคืนมาให้แก่นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ หรือนางประนอม คงพิกุล หากวัดใดยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวก็ให้เสนอรายชื่อวัดนั้นและจัดทำบัญชีรายชื่อวัด เพื่อเสนอขออนุมัติงบประมาณเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด ประจำปีงบประมาณ 2557 ต่อไป
ต่อมาประมาณเดือนตุลาคม 2556 นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ กองพุทธศาสนสถาน ได้ให้นางสาวรัสริน หรือระวีวรรณ หรือรสธร รวมสิน หรือกิตติธีระสิทธิ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ซึ่งเป็นภรรยาของนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ช่วยหารายชื่อวัด ที่ต้องการงบประมาณในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดมาให้ โดยมีเงื่อนไขว่าวัดที่ได้รับเงินอุดหนุน จะต้องนำเงินที่จะได้รับบางส่วนกลับคืนมาให้นายวสวัตติ์ฯ จากนั้นนางสาวรัสรินฯ จึงได้ไปติดต่อ นายฐานพัฒน์ ม่วงทอง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยเรียนของนางสาวรัสรินฯ โดยแจ้งให้นายฐานพัฒน์ฯ หารายชื่อวัด ในอำเภอท่ายาง หรือในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งนางสาวรัสรินฯ สามารถติดต่อประสานของบประมาณจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพื่อนำมาพัฒนาวัดให้ได้ และแจ้งด้วยว่าจะต้องนำเงินที่วัดจะได้รับบางส่วนกลับคืนไป เพื่อใช้ในการอย่างอื่น และจะมีค่าใช้จ่ายในการติดต่อให้แก่นายฐานพัฒน์ฯ ด้วย จากนั้นนายฐานพัฒน์ฯ จึงได้เดินทางไปติดต่อพระครูใบฎีกาอนันท์ เขมานนโท เจ้าอาวาสวัดห้วยตะแกละ เพื่อจัดทำบัญชีรายชื่อวัด เพื่อเสนอของบประมาณเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด
นายวสวัตติ์ฯ ได้จัดทำบันทึกขออนุมัติการใช้จ่ายเงินประจำงวด ผ่านนางสาวประนอมฯ เสนอต่อนายนพรัตน์ฯ หลังจากนั้นนายนพรัตน์ฯ ได้อนุมัติเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัดให้แก่วัดห้วยตะแกละ ทั้งที่ไม่ได้มีการจัดทำแบบขอรับเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัด พร้อมแนบภาพถ่ายอาคารเสนาสนะที่จะบูรณะหรือก่อสร้าง และภาพถ่ายบริเวณวัด เพื่อขอรับเงินแต่อย่างใด และมีการอนุมัติเงินอุดหนุนฯ ให้แก่วัดห้วยตะแกละจำนวน 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 8,500,000 บาท
ภายหลังจากที่ได้มีการอนุมัติเงินอุดหนุนฯ ให้แก่วัดห้วยตะแกละในแต่ละครั้งแล้ว นายวสวัตติ์ฯ หรือนางสาวรัสรินฯ จะโทรศัพท์แจ้งให้นายฐานพัฒน์ฯ ทราบว่ามีเงินโอนเข้าบัญชีวัดห้วยตะแกละแล้ว พร้อมกับแจ้งยอดเงินโดยให้ถวายวัดรวมสามครั้งเป็นเงินจำนวน 900,000 บาท (เก้าแสนบาทถ้วน) ที่เหลือจำนวน 7,600,000 บาท (เจ็ดล้านหกแสนบาทถ้วน) จะนำไปมอบให้นายวสวัตติ์ฯ เมื่อนายวสวัตติ์ฯ ได้รับเงินจากนายฐานพัฒน์ฯ จำนวนดังกล่าวแล้ว ก็ได้มีการมอบเงินให้แก่นายฐานพัฒน์ฯ รวมสามครั้งจำนวน 250,000 บาท (สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) เป็นค่าดำเนินการ ทั้งนี้ เมื่อนายวสวัตติ์ฯ ได้รับเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัดคืนจากวัดห้วยตะแกละดังกล่าวแล้วได้นำไปมอบให้แก่นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ หรือนางประนอม คงพิกุล
ต่อมาเมื่อปี 2557 ก็ดำเนินการแบบเดียวกับปี 2556 โดยปีนี้นายพนม ศรศิลป์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้อนุมัติวัดห้วยตะแกละจำนวน 4,000,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2557 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้โอนเงินเข้าบัญชีชื่อบัญชีกองทุนเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม วัดห้วยตะแกละ จำนวน 3,999,970 บาท (สามล้านเก้าแสนเก้าหมื่นเก้าพันเก้าร้อยเจ็ดสิบบาทถ้วน) (หักค่าธรรมเนียม 30 บาท) โดยให้ถวายวัดจำนวน 500,000 บาท (ห้าแสนบาท) ที่เหลือจำนวน 3,500,000 บาท (สามล้านห้าแสนบาท) จะนำไปมอบให้นายวสวัตติ์ฯ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 เมื่อนายวสวัตติ์ฯ ได้รับเงินจากนายฐานพัฒน์ฯ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 จำนวนดังกล่าวแล้ว ได้มอบเงินให้แก่ นายฐานพัฒน์ฯ จำนวน 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) เป็นค่าดำเนินการ และนำเงินที่ได้รับดังกล่าวนำไปมอบให้แก่นางสาวประนอม คงพิกุล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2
การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุทำให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับความเสียหายเป็นจำนวนทั้งสิ้น 12,500,000 บาท
รวมยอดเงินทั้ง 3 จังหวัด 5 วัด ทั้งสิ้น 26,713,000 บาท
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาแล้วมีมติเกี่ยวกับการกระทำทั้ง 5 วัดดังกล่าว ได้แก่
1. กรณีวัดโคกเลาะ ต.หนองแก้ว อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ผู้เกี่ยวข้องได้แก่ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ นายเฉลิมพล มีศิลารัตน์ นางสาวประนอม คงพิกุล และนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์มีมูลเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 85 (1) (7) และมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 นอกจากนั้น นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ยังมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 , 151 และนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ นายเฉลิมพล มีศิลารัตน์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (4) ด้วย
2.กรณีวัดยางโองบน วัดยางโองน้ำ วัดยางโองสันกลาง ต.แม่สลิด อ.บ้านตาก จ.ตาก ผู้เกี่ยวข้องได้แก่ นายพนม ศรศิลป์ นายชยพล พงษ์สีดา นายฉัตรชัย ชูเชื้อ และนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ มีมูลความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 และตามมาตรา 123/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (1) (2) (3) มาตรา 83 (3) ประกอบมาตรา 85 (7) และมาตรา 85 (1) (4) สำหรับนายบรรหาร เมตไตรพันธุ์ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ และพระครูกิตติพัชรคุณ มีมูลความผิดอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว
3.กรณีวัดห้วยตะแกละ ต.ท่าแลง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ผู้ที่เกี่ยวข้องได้แก่นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ นางสาวประนอม คงพิกุล นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ และนายพนม ศรศิลป์ มีมูลความผิดวินัย อย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 82 (1) , (2) , (3) ประกอบมาตรา 85 (7) และมาตรา 85 (1) , (4) และมีมูลความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 นอกจากนั้น นางสาวประนอม คงพิกุล และนายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ยังมีมูลความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (4) ด้วย สำหรับนางสาว รัสริน หรือระวีวรรณ หรือรสธร รวมสิน หรือกิตติธีระสิทธิ์ และนายฐานพัฒน์ ม่วงทอง มีมูลความผิดอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.ฟันอีกล็อต! คดีเงินทอนวัด 3 จว. 5 วัด เสียหาย 26.7 ล.-อดีตเจ้าอาวาสโดนด้วย
ศาลคดีทุจริตฯสั่งคุกจริง'พนม' 2 ปี 12 ด.โกงเงินทอนวัด-'พระพรหมสิทธิฯ'36 ด.รอลงโทษ 2 ปี
ศาลทุจริตฯสั่งคุก 20 ปี 'พนม ศรศิลป์' คดีเงินทอนวัด-มีอีก 36 สำนวนในชั้น ป.ป.ช.
‘นพรัตน์-บิ๊ก พศ.’โดนอีก! ป.ป.ช.แจ้งข้อหาพันทุจริตเงินทอนวัดญาณเมธี จ.เพชรบูรณ์
‘นพรัตน์’โดนอีก! ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาพันคดีเงินทอน 2 แห่ง-‘วัดพระพุทธบาทตากผ้า’ด้วย
ละเอียดยิบ! พฤติการณ์‘พนม-นพรัตน์’ คดีเงินทอน 3 วัด จ.ตาก ได้คืน 6 ล.
โอน 6 ล.ทอนคืนทั้งหมด! พฤติการณ์ ‘นพรัตน์’ร่วมมือเจ้าอาวาสคดีเงินทอน 3 วัด จ.ตาก
โดนอีกคดี! ป.ป.ช.ไต่สวน‘นพรัตน์’ปมเงินทอนวัด จ.ตาก-แจ้งข้อกล่าวหา 2 ครั้งไร้คนรับ
ป.ป.ช.บี้สำนักพุทธฯเอาผิด จนท.ให้ถ้อยคำเท็จคดีเงินทอนวัด-ลุยสอบทรัพย์สินเชิงลึกด้วย
‘นพรัตน์-พนม-ประนอม’ไม่รอด!ป.ป.ช.เชือด 2คดีโกงงบ พศ.โอนวัด ตปท.5ล.-เงินทอน17ล.
พฤติการณ์‘บิ๊ก พศ.’ถูก ป.ป.ช. ฟันคดีโอนให้วัด ตปท.5 ล.-เงินทอน 6 วัด 17 ล.
คตช.ลุยปราบทุจริตเงินทอนวัด331คดี!เผยผลใช้ ม.44ฟันแล้ว73คน-เอาผิดไม่ได้58คน
เปิด7สำนวนคดีเงินทอนวัดในชั้น ป.ป.ช.-3‘บิ๊ก พศ.’ถูกสอบ-เสียหายหลาย จว.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/