อ้างถูกปิดปาก! ฝ่ายค้านวอล์กเอาท์-จบศึกซักฟอก นัดลงมติ รมต.รายคน 28 ก.พ.
ปิดแล้วอภิปรายไม่ไว้วางใจ! ฝ่ายค้านวอล์กเอาท์ ไม่ยอมสรุป อ้างไม่ได้อภิปรายต่อ นัดลงมติ รมต.รายคน 28 ก.พ. 63 - ปธ.วิป รบ. เผยให้เวลาบริหารจัดการเต็มที่ ฝ่ายค้านโอดไม่พอ ขออีกไม่เกินเที่ยงคืน แค่สี่ทุ่มก็ได้ 'สุชาติ' วินิจฉัยให้แค่คนเดียวตามกฎกติกา อย่าอ้างทำเพื่อประชาชน - 'ศรัณย์วุฒิ' ปูดปมเอื้อบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่คดีเลี่ยงภาษี-มี บ.อัพ ด. ได้รับผลประโยชน์จาก รง.ยาสูบ อ้างผลการสอบสวนยูเครนตีแผ่ปม 'จีทูเจี๊ยะ' จัดซื้อรถถัง Oplot แบบ 'เชียงกง' - นาง น.ตัวการใหญ่ ประท้วงวุ่นปมโยง 'จีทูเจี๊ยะ-จำนำข้าว'
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2563 มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล 6 ราย เป็นวันที่ 4 โดยยังอยู่ในช่วงการอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
@ปิดการอภิปรายแล้ว! ฝ่ายค้านวอล์กเอาท์-นัดลงมติ รมต.รายคน 28 ก.พ. 09.30 น.
เมื่อเวลาประมาณ 19.10 น. ที่ประชุมลงมติปิดการอภิปราย ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 251 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 7 เสียง ไม่ได้ลงคะแนน 2 เสียง จากผู้คนลงคะแนนทั้งหมด 260 คน และฝ่ายค้านไม่ใช้สิทธิอภิปรายสรุป การประชุมอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้สิ้นสุดลงแล้ว นัดประชุมเพื่อลงมติ 28 ก.พ. 2563 เวลา 09.30 น.
อย่างไรก็ดีก่อนหน้าการลงมติครั้งนี้ ฝ่ายค้านได้ประท้วงอย่างกว้างขวาง และกล่าวหาว่าฝ่ายรัฐบาลปิดปาก โดยขอให้เปิดอภิปรายอีกครั้ง เนื่องจากยังไม่ครบถ้วน แต่นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานในที่ประชุม ไม่ยินยอม เนื่องจากตามมติที่ประชุมวิป 2 ฝ่ายหารือกันแล้วว่า เวลาของฝ่ายค้านจบลงแล้ว ทำให้ฝ่ายค้านวอล์กเอาท์
เมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. ที่ประชุมถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากเวลาของฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเหลือเพียง 3 นาทีเท่านั้น ขณะที่ยังเหลือ ส.ส. ฝ่ายค้านที่เตรียมอภิปรายเหลืออีก 5 คน ส่งผลให้ตัวแทนคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) และประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายชวน หลีกภัย) จึงได้หารือกัน
@‘วิรัช’ให้อภิปรายได้อีกคนเดียว ต้องเสร็จสิ้นก่อน 19.00 น.
หลังจากนั้น นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ประธานวิปรัฐบาล หารือในที่ประชุมประเด็นนี้ว่า ในส่วนของเวลาของฝ่ายค้านนั้น หลังจากเหตุประท้วงข้างต้นเหลืออยู่ 1 นาที 16 วินาที จะใช้ประท้วงอีกยังไม่ได้เลย จากเริ่มต้นที่กำหนดเวลาให้ฝ่ายค้าน 21 ชั่วโมง ส่วนฝ่ายรัฐบาล 10 ชั่วโมง โดยในซีกรัฐบาลที่ตนดูแล ยากลำบากมากกว่าฝ่ายค้าน เพราะบางครั้งคณะรัฐมนตรีถูกถาม 2 คำ แต่ตอบได้แค่ 1 คำ เวลาน้อยกว่าฝ่ายค้านเท่าหนึ่ง แต่การจัดการถึงนาทีนี้ ในสัดส่วนของรัฐบาลเหลือเวลา 1 ชั่วโมง 15 นาที
“ดังนั้นที่เจรจากัน เรียนตรง ๆ ว่าอยากจะให้เวลาเพิ่ม แต่ขณะเดียวกันถ้าเผื่อดูแล้วใกล้เคียงกัน ถ้าเผื่อรัฐบาลใช้เวลาให้ครบอีก 1 ชั่วโมง 15 นาที ก็ใกล้เคียง 18.00 น. นิด ๆ พอดีจะได้ให้ในสัดส่วนของพรรคฝ่ายค้าน เร่งสรุป ซัก 1-2 วโมง แล้วลงมติพรุ่งนี้” นายวิรัช กล่าว
นายวิรัช กล่าวอีกว่า ส่วนที่ระบุว่ายังอภิปรายกันไม่ครบทุกคน ต้องเรียนตรง ๆ ว่า การอภิปรายไม่ครบทุกท่านหรืออย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่ต้องบริหารเวลาของทุกท่านเอง ถามว่ามีผิดในส่วนตรงไหนหรือไม่ เรียนว่าในอดีตมีการอภิปรายอย่างนี้ สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา คณะรัฐมนตรีถูกอภิปรายไม่ครบ ก็มีการโหวตกัน เสร็จสิ้นด้วยดี เพราะฉะนั้น ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่กำลังจะอภิปราย อันนี้ยินยอม ไม่ใช่ว่าไม่ให้เลย ให้อีกท่านหนึ่งที่จะเป็นท่านสุดท้าย ดูเวลาแล้วใกล้เคียงกันกับที่กำหนดไว้ว่าจะปิดการอภิปรายในช่วง 19.00 น. หรือก่อนเล็กน้อย หรือเกินเล็กน้อยก็ใกล้เคียง ขอเรียนเพื่อเป็นแนวทาง
@ ‘สุทิน’อ้างขออภิปรายอีกเพื่อผล ปย.ประชาชน-‘วันนอร์’ขอเสร็จ 4 ทุ่ม
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า สิ่งที่ประธานวิปรัฐบาลได้กรุณาเรียนเป็นความจริง มีการตกลงเช่นนั้น แต่การตกลงที่ว่าคือวางกรอบอย่างไรให้การอภิปรายเป็นไปได้ดีที่สุด อย่างไรก็ดีท่านประธาน (นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนนายชวน) อยู่ในสภามานาน เหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ตกลงที่ทุกคนพยายามปฏิบัติ แล้วปฏิบัติไม่ได้ หรือคลาดเคลื่อน เป็นเรื่องปกติ แม้ในสภาชุดนี้ กรณีนี้เป็นนัดสำคัญ ทุกฝ่ายพยายามเต็มที่แล้ว แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏแล้วว่าไม่จบตามนั้น เราก็ทบทวนกันได้
“การอภิปรายเราต้องยึดหลักประโยชน์กับประชาชน ประโยชน์กับสภา เรายืดหยุ่นมาตลอด วันนี้เป็นวันสุดท้ายของสมัยนี้ จบเวลา 24.00 น. พวกผมพยายามเร่งให้ทัน 19.00 น. เราพยายามใช้เวลาให้เต็มที่ มีการนำเสนออย่างสมบูรณ์ที่สุด แต่จนด้วยความสามารถทำไม่จบ ขอความกรุณาประธานว่า ถ้าหากคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชน เดิมจะจบ 19.00 น. ถ้าไม่จบต่อถึง 24.00 น. จะเสียหายอะไรหรือไม่กับประชาชน หรือเป็นผลดีกับประชาชน หรือผลดีกับสภา” นายสุทิน กล่าว
เช่นเดียวกันนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ ขอเวลาฝ่ายค้านอีก 2 ชั่วโมงได้หรือไม่ จบ 22.30 น. ก็จบก่อนเที่ยงคืน จะได้สบายใจ ประชาชนติดตามฟังจะได้สบายใจ ไม่ใช่ว่าเอาชนะคัดคานกัน ถ้ามีเวลาจะต่ออีกวัน แต่นี่ต่อไม่ได้ ขอแค่ 2 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาลใช้อีก 1 ชั่วโมงเพื่อตอบ
@ ‘สุชาติ’เหน็บทุกคนล้วนทำเพื่อประชาชน ยอมให้ได้อีก 20 นาที
อย่างไรก็ดีนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ประชุม กล่าวว่า ผู้แทนทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายค้าน ล้วนคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนเป็นใหญ่ แต่การประชุมมีกฎกติกา เราเห็นแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น ตอนแรกกำหนดไว้ 24-26 ก.พ. 2563 ท่าน (ฝ่ายค้าน) บอกยื่นอภิปราย 6 คนไม่พอ ขอขยายเป็น 4 วัน ประธานสภาฯก็ยอม วิปรัฐบาลก็ยอม เมื่อตกลงกันแล้วว่าถึงเวลา 19.00 น. วันที่ 27 ก.พ. 2563 จะหยุด ถ้าท่านบริหารเวลา น่าจะคำนึงว่าที่ท่านใช้ไป ถ้าไม่ทันจริง ๆ คุยกันได้ เหมือนกับที่ประธานสภาฯคุยกันอยู่ ก็คงอนุโลม คงไม่ต้องอ้างผลประโยชน์ประชาชน ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน เลือกมาจากประชาชนทั้งสิ้น ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ประชาชน ทุกคนทำเพื่อประชาชนทั้งนั้น นี่พยายามอนุโลมแล้ว ไกล่เกลี่ยเพื่อให้การประชุมเรียบร้อย พอแล้วยุติแล้ว อนุญาตได้ 20 นาที
@อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ชี้มีเงื่อนงำ วิ่งเต้นเอา 'บิ๊กป้อม' อภิปรายไว้ท้ายสุด
ต่อมาเมื่อเวลา 19.15 น.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ได้นำส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่แถลงข่าว หลังการวอร์คเอาท์จากห้องประชุมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยมีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และน.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่มาร่วมสังเกตการณ์
โดยนายพิธา กล่าวว่า สาเหตุที่เราต้องวอล์คเอาท์ออกมาเพราะเราถูกปิดกั้น เวลาการอภิปรายเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งตลอด 4 วันที่ผ่านมา เราอภิปรายอยู่ในกรอบเวลาทุกนาที แม้ว่าเราจะเป็น ส.ส.สมัยแรก แต่เราก็เข้าใจกฎและกติกาดี เรายื่นอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมต. ทั้งหมด 6 คน แต่ยังไม่ได้อภิปรายครบทุกคนเลย เราทำงานหนักมาตลอดหลายเดือน พยายามหาข้อมูลเชิงลึก แต่ทำไมต้องมาปิดกั้นเราด้วย จะไม่ให้เรานำเสนอข้อมูลและตรวจสอบรัฐบาลเลยใช่หรือไม่
ด้านนายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กรุงเทพฯ อดีตพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เราเข้าใจดีว่ามีข้อตกลงระหว่างวิปทั้ง 2 ฝ่าย เราเข้าใจกติกามาโดยตลอด แต่ข้อเท็จจริงมีการบีบเวลาของพวกเราโดยพรรคฝ่ายค้านด้วยกันเอง ตนไม่อยากที่จะคิดเช่นนั้น แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพรรคเพื่อไทย ด้วยความเคารพในฐานที่เป็นผู้รักประชาธิปไตย แต่คุณไม่รักษากติกาและรักษาวินัยในการใช้เวลา ทำให้พวกเราไม่มีโอกาสอภิปราย โดยปกติการอภิปรายไม่ไว้วางใจคนแรกก็คือนายกรัฐมนตรี ลำดับถัดมาก็ควรเป็นพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แต่กลับนำเอารัฐมนตรีคนอื่นขึ้นมาก่อน และปิดท้ายด้วยพล.อ.ประวิตร
“ผมก็ไม่อยากจะคิดว่ามันมีเงื่อนงำในการเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านบางพรรคหรือไม่ ซึ่งขอให้พี่น้องติดตามเสาะหาข้อเท็จจริงกันเอง เพราะตามประเพณีทางการเมือง พล.อ.ประวิตร เป็นรองนายกฯ คุณต้องอยู่ลำดับ 2 ของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนนายวิษณุ ต้องอยู่ลำดับ 3 แต่ขอเท็จจริงมีการวิ่งเต้นและเอาชื่อพล.อ.ประวิตรมาไว้ท้ายสุด นี่คือเรื่องจริงในสภา เราวางคิวอภิปราย ร.อ.ธรรมนัสในช่วงหัวค่ำ แต่ก็ถูกกินเวลาจนต้องไปอภิปรายในช่วงดึก แล้ววันนี้ผมถามว่าการใช้เวลาตลอด 4 วันที่ผ่านมา มีนายกฯ คนเดียวที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่รัฐมนตรีคนอื่นกลับไม่ถูกอภิปราย แต่เป็นการอภิปรายประกบทำไมคุณไม่อภิปรายตรงๆ”นายจิรวัฒน์ กล่าว
นายจริวัฒน์ กล่าวว่า 6 ปีที่ผ่านมา พวกท่านปิดปากประชาชน แต่วันนี้พวกท่านกลับมาปิดปากผู้แทนของประชาชนที่เข้ามาทำหน้าที่ในสภา ใช้สิทธิ์ประท้วงบ้างใช้สิทธิ์ในการหารือบ้าง แต่ไม่มีการเปิดโอกาสให้พวกเรา ประธานสภาเปิดโอกาสให้รัฐบาลพูด และเปิดโอกาสให้แกนนำพรรคฝ่ายค้านเบอร์หนึ่งพูด แต่พวกตนไม่มีปากมีเสียงในสภาหรืออย่างไร ตนขอถือว่ากรณีนี้พวกเราเจรจาให้รัฐบาลให้โอกาสพวกเราแล้ว สภาไม่ได้ถูกตรวจสอบความทุจริตที่ซุกอยู่ใต้สภามากี่ปี พวกเราจะทำหน้าที่ตรวจสอบทำไมไม่ได้ตรวจสอบ ถือว่ารัฐบาลไม่มีน้ำใจ
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ รองโฆษกอดีตพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เรื่องนี้เหมือนมวยล้ม พรรคเพื่อไทยใช้เวลาในการอภิปรายเกินเวลาที่ได้รับการจัดสรร ซึ่งจากสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ในการอภิปรายรัฐมนตรีไม่เคยเกินเวลาเลย พรรคอนาคตใหม่ได้เวลาอภิปราย รวม 11 ชั่วโมง ยังเหลือสมาชิกที่ยังไม่ได้อภิปรายอีกหลายคน ส่วนสมาชิกที่ได้อภิปรายไปก็ไม่มีใครใช้เวลาเกินตามที่ขอไว้ จึงยังเหลือเวลาอีกมาก และตั้งข้อสังเกตว่าทำไมพรรคเพื่อไทยไม่ยอมอภิปรายรัฐมนตรีบางคน เรื่องนี้ก็ขอให้ประชาชนไปตัดสินใจเอง
@ปูดปมเอื้อบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่คดีเลี่ยงภาษี-มี บ.อัพ ด. ได้รับผลประโยชน์จาก รง.ยาสูบ
เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. นายศรัณวุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจควบรวม 3 ราย ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ โดยยกประเด็นความไม่ชอบมาพากลในการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติเลี่ยงภาษีศุลกากร ยอมให้คู่ความเข้ามาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม สุดท้ายเสียค่าปรับแค่ 1,225 ล้านบาท ทำประเทศไทยเสียหายหลายหมื่นล้านบาท โดยอ้างว่า นายดอน และนายวิษณุ มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว และ พล.อ.ประยุทธ์ อาจมีส่วนรู้เห็นกับกรณีนี้ด้วย
นายศรัณย์วุฒิ ยังตั้งข้อสังเกตถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ มีการแต่งตั้ง พล.อ.ว. (ชื่อย่อ) เป็นประธานกรรมการโรงงานยาสูบ ก่อนดึงตัวกลับมาเป็นคนใกล้ชิด ต่อมาตั้ง พล.ท.ส. (ชื่อย่อ) เป็นประธานกรรมการโรงงานยาสูบ โดยดึง น.ส.ด. มาเป็นกรรมการโรงงานยาสูบ ก่อนเลื่อนขั้นเป็นผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ พร้อมอ้างอีกว่า ในการประมูลงานต่าง ๆ ของโรงงานยาสูบ จะต้องผ่านบริษัท อัพ (ไม่ระบุชื่อเต็ม) โดยมีบุคคลชื่อนายปรีชา (ไม่ระบุนามสกุล) มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงเอื้อประโยชน์แก่บริษัทพวกพ้อง รวมเป็นคู่สัญญากับโรงงานยาสูบกว่า 3.7 พันล้านบาท โดยมีปัญหาในการส่งมอบงาน นอกจากนี้ยังเปิดประเด็นด้วยว่า รัฐบาลอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่ภายในประเทศ
เมื่อจบประเด็นนี้ นายศรัณย์วุฒิ ได้ยื่นหนังสืออ้างว่าเป็นคำฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ ในกรณีต่าง ๆ ที่ได้อภิปรายมาแก่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรด้วย
@อ้างผลการสอบสวนยูเครนตีแผ่ปม 'จีทูเจี๊ยะ' จัดซื้อรถถัง Oplot
นอกจากนี้ นายศรัณย์วุฒิ ยังเปิดประเด็นเรื่องการจัดซื้อรถถัง Oplot จากยูเครนระหว่างปี 2557-2559 โดยอ้างถึงบริษัท ดาต้าเกท จำกัด และอ้างอิงบุคคลชื่อย่อ นาง น. และนาง อ. ที่ถูกระบุว่าอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่กงสุล และเจ้าหน้าที่พิเศษของทางการไทย ในการไปเจรจาจัดซื้อรถถังยูเครนดังกล่าว ขณะเดียวกันยังอ้างภาพถ่ายของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เดินทางไปประเทศยูเครนด้วยตัวเองด้วย
นายศรัณย์วุฒิ อ้างถึงเอกสารการสอบสวนของทางการยูเครนว่า ข้อเท็จจริงจากองทัพบกที่จัดซื้อรถถังดังกล่าวระบุว่าเป็นการจัดซื้อระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล (จีทูจี) อย่างไรก็ดีไม่ได้มีการจีทูจีกันจริง โดยผลการสอบสวนบ่งชี้ว่า นาง อ. และ นาง น. เป็นคนเจรจาก่อนทำสัญญาของฝั่งไทย ผ่านบริษัท ดาต้าเกท จำกัด โดยมีคนกลางได้รับเงินไปกระจายผ่าน 134 บริษัท มีการจ่ายเงินให้ฝั่งไทย 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา คิดเป็นเงินไทยขณะนั้นประมาณ 1 พันล้านบาท และมีการจ่ายให้ฝั่งยูเครน 14.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการบริหารการจ่ายเงินทุกฝ่ายมี นาง อ. เป็นคนจัดการ หลังจากนั้นจึงลาออกจากการปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่พิเศษฝั่งไทยในสถานทูตยูเครน
“นี่เรียกว่าจีทูจีเก๊ หรือจีทูเกี๊ยะ ท่านบุญทรงที่โดนก็ลักษณะแบบนี้” นายศรัณย์วุฒิ กล่าว
นายศรัณย์วุฒิ อ้างด้วยว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของประเทศยูเครน ส่งเรื่องมาให้กระทรวงการต่างประเทศไทยเพื่อสอบสวนกรณีดังกล่าว แต่มีไอ้โม่งเก็บเรื่องไว้ จนถึงวันนี้ยังไม่ได้มีการสอบสวน ใครจะกล้าสอบเนื่องจากขณะนั้นรัฐบาลมีมาตรา 44
@อ้างซื้อ 'รถถังเชียงกง' - นาง น.ตัวการใหญ่
นายศรัณย์วุฒิ เปิดภาพคลิปวีดีโออ้างว่ามาจากประเทศยูเครน ระบุว่า รถถังดังกล่าวเป็นแบบ ‘เชียงกง’ คือรถถังเก่าย้อมแมว ต้องใช้เวลาผลิตนานมาก หาชิ้นส่วนจากหลายประเทศ กว่าจะได้มา 7-8 ปี เคยไปดูถึงโรงงงานผลิต ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นโรงงาน ทั้งนี้ตามรายงานผลการสอบสวนของประเทศยูเครน มีนาง น. และนาง น. ถูกสอบสวนอย่างเป็นทางการ และถูกกล่าวอาเอาผิด แต่ยังจับกุมตัวไม่ได้ ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ตรวจสอบบ้านของนาง น. พบว่ามีลักษณะเป็นกึ่งทาวน์เฮ้าส์ แต่กลับเป็นคู่สัญญารัฐ 7-8 พันล้านบาทในการซื้อรถถังยูเครน
“คอร์รัปชั่นไม่มีหมดอายุ หมดอำนาจเมื่อไหร่ รับรองตายเกลี้ยง” นายศรัณย์วุฒิ ทิ้งท้าย
อย่างไรก็ดีเบื้องต้น พล.อ.ประยุทธ์ ลุกขึ้นใช้สิทธิพาดพิงสั้น ๆ ว่า รถถังในคลิปที่นายศรัณย์วุฒิเปิด เป็นคนละรุ่นกันกับที่กองทัพบกซื้อ และมอบหมายให้ รมช.กลาโหม ชี้แจง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการอภิปรายของนายศรัณย์วุฒิ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจำนวนหนึ่ง เช่น นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ได้ประท้วงเกือบตลอดเวลา โดยอ้างว่าเป็นข้อมูลเก่า และไม่มีความเชื่อมโยง นอกจากนี้ยังแขวะกลับนายศรัณย์วุฒิ ถึงเรื่องโครงการรับจำนำข้าวด้วย ทำให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ต้องขอประท้วงให้ถอนคำพูด ท้ายที่สุดนายสิระจึงถอนคำพูด
@ 'พล.อ.ประยุทธ์' แจง จัดซื้อ Oplot ไม่มี กม.บาร์เตอร์เทรด ยันล่าช้าเพราะปัญหายูเครนรัสเซีย
หลังจากการอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงในประเด็นที่นายศรัณวุฒิ ข้อกล่าวหาเรื่องการจัดซื้อรถถังรุ่น Oplot จากยูเครนว่าที่ผ่านมานั้นเราไม่มีกฎหมายการจัดซื้ออาวุธโดยใช้วิธีบาร์เตอร์เทรดหรือการเอาสินค้าไปแลกกับอาวุธเลย แต่ส่วนมากเป็นวิธีการว่าด้วยต่างตอบแทน เราไปซื้อสินค้าของเขา และเขาก็มาซื้อของเรา แต่มันก็ไม่ได้เท่าเทียมกันแต่อย่างใดเพราะมันเป็นเรื่องของเอกชนจะดำเนินการ
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่าเรื่องของการเจรจาค้าขายแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีนั้นมันเป็นเรื่องของแต่ละประเทศที่เขาจะมีกติกากันอย่างไร อย่างการค้าขายกันกับประเทศจีนและรัสเซีย รัฐบาลจะเป็นผู้รับรองบริษัท แต่ของเรารัฐบาลต่อรัฐบาลจะเป็นผู้เซ็นสัญญา ซึ่งพอเราไปติดต่อจะซื้ออาวุธกับประเทศเขา เขาก็โยนให้บริษัทดำเนินการ
“ช่วงที่ผ่านมา กรณีการส่งช้าหรือไม่ช้า เก่าหรือไม่เก่าก็ดูแล้วกัน ที่ผ่านมานั้นมีกรณีส่งช้านั้นเราต้องเข้าใจว่าเดิมนั้นเขาเคยเป็นประเทศเดียวกันมาก่อน ส่วนมากก้มีการผลิตที่ยูเครน แต่มันมีเครื่องที่ไปผลิตที่ประเทศรัสเซีย พอมีปัญหาเขาทะเลาะกันภายใน เขาก็ทำเรื่องขอมาว่าจะปรับนิดได้หรือไม่ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องของรัฐบาลต่อรัฐบาล แล้วก็เปลี่ยนรัฐบาลมาหลายครั้งแล้ว การผมที่ไปเยือนครั้งที่แล้ว ผมไม่ได้ไปเยือนซื้อรถถัง แต่ไปเยือนยูเครน เพราะเขาเชิญมาเป็นทางการ ผมก็ไปเยี่ยมทหาร แล้วเขาก็พาไปดูรถถัง ก็ดูแล้วพิจารณาเพราะมันมีหลายบริษัทเสนอเข้ามา” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวและขอย้ำว่าไม่กลัวการตรวจสอบเรื่องนี้แต่อย่างใด
@'ชัยชาญ'ยัน ซื้อเรือดำน้ำ-รถถังสอดคล้องความต้องการกองทัพ รับไม่ได้ปรับยูเครนปมส่งมอบล่าช้า
ต่อมา พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมได้ชี้แจงถึงประเด็นข้อวิจารณ์เรื่องการจัดซื้ออาวุธของกระทรวงกลาโหมว่าต้องขออภิปรายในประเด็นดังนี้คือ 1.สาเหตุที่ต้องจัดหาอาวุธนั้นจะต้องมีการเตรียมกำลังและการใช้กำลังพลนั้น โดยการเตรียมกำลังพลก็คือเตรียมคน การฝึก ยุทโธปกรณ์และก็แบบแผน ต้องขอเรียนว่ากองทัพนั้นเตรียมกำลังเอาไว้เท่าที่จำเป็นตามที่ได้ประเมินสถานการณ์ประมาณ 5-10 ปี ต้องขอเรียนว่ากองทัพนั้นไม่ได้เตรียมกำลังเอาไว้ทั้งหมด แต่เตรียมเอาไว้ตามที่เป็นไปได้
พล.อ.ชัยชาญกล่าวว่าในประเด็นที่ถามว่าเราเตรียมไว้ทำไมเมื่อความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคอาเซียนเป็นไปได้ด้วยดี ต้องขอเรียนว่าประเทศไทยนั้นมีเส้นแบ่งเขตแดนทางบก 5,656 กิโลเมตร และต้องใช้กำลังผลจำนวนประมาณ 40,000 คน เพื่อทำหน้าที่เฝ้าชายแดนเหล่านี้ โดยต้องทำภารกิจทั้งในด้านลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ยาเสพติด ตัดไม้ทำลายป่า และเรามีน่านน้ำที่ยาวกว่า 3,000 กิโลเมตรโดยประมาณ ซึ่งส่งผลต่อความจำเป็นต่อการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยอาวุธที่มีนั้นจัดหามานานแล้ว และส่วนมากมีอายุประมาณ 30-50 ปี ซึ่งการกำหนด
พล.อ.ชัยชาญกล่าวต่อว่าในงบประมาณการจัดหาอาวุธนั้นจึงต้องแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.การซ่อมแซมอาวุธที่มีอยู่และ 2.การจัดหาทดแทนเท่าที่จำเป็น ซึ่งได้กำหนดแนวทางกองทัพไปแล้วว่าต้องจัดหา 1 ใน 3 ของยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ และที่เหลือก็ให้ซ่อมแซมตามความเหมาะสมต่อไป โดยการจัดหาอาวุธ อาทิรถถังที่ผ่านมาก็จะมีคณะกรรมการเลือกแบบของกองทัพบกเพื่อมาตัดสินถึงรถถังว่าจะอยากได้แบบไหนถึงจะเหมาะสมกับความต้องการของเหล่าทัพ การจัดซื้อจัดจ้าง และการตรวจรับพัสดุ โดยขั้นตอนการตรวจรับก็จะมีการตรวจอีกมีว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ ตรงกับความต้องการหรือไม่
“ที่กล่าวว่าจัดหามาแล้วใช้งานไม่ได้ จัดหามาแล้วเป็นยุทโธปกรณ์เก่า คณะกรรมการตรวจรับก็ต้อง่รับผิดชอบว่าเมื่อตรวจรับแล้วจะต้องมีประสิทธิภาพตามทีโออาร์ โดยวิธีการจัดหาหลักนั้นก็จะเป็นรัฐบาลต่อรัฐบาลหรือจีทูจี โดยต้องผ่านกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ร่วมลงนาม” พล.อ.ชัยชาญกล่าว
พล.อ.ชัยชาญกล่าวต่อถึงการจัดซื้อเรือดำน้ำต่อว่าเนื่องจากประเทศมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 24 ล้านล้านบาทต่อไป จึงมีความสำคัญมากในประเด็นเรื่องความมั่นคงทางทะเล การจัดหาเรือดำน้ำต้องเรียนว่าเทศอาเซียนรอบๆนั้นมีเรือดำน้ำประมาณ 3-4 ลำแล้ว ต้องขอเรียนว่าสาเหตุที่จัดหาเรือดำน้ำมานั้นไม่ใช่ว่าแข่งกันว่าเขามีแล้วเราต้องมี แต่เป็นการรักษาดุลยอำนาจทางทะเลที่ประเทศไทยควรจะมีเพราะเราก็เป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียน ส่วนสาเหตุทีต้องมี 3 ลำก็เพราะว่าเรามีทะเลอยู่ 2 ฝั่ง จึงต้องมีเรือดำน้ำทั้ง 2 ฝั่งอย่างละ 1 ลำ และอีก 1 ลำสำรองซ่อมเอาไว้ตามวงรอบ ซึ่งขั้นตอนการจัดหาเรือดำน้ำก็เริ่มจากกำหนดความต้องการ แล้วไล่มาตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามการจัดหาเรือดำน้ำนั้นต้องใช้เวลา 6-7 ปี เพราะว่าประเทศไทยต้องส่งกำลังพลไปฝึกตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อเรียนรู้การใช้งาน
พล.อ.ชัยชาญกล่าวว่าสำหรับการจัดหารถถังยูเครนนั้นประเทศไทยต้องการจัดหามาเพื่อทดแทนรถถังแบบ M41 ซึ่งวิจารย์ว่าเป็นรถถังในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งใช้มา 60 ปีแล้วและก็ชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ จึงต้องมีการจัดหารถถัง Oplot ซึ่งเป็นรถถังมือหนึ่งที่ทันสมัยและผลิตใหม่ขึ้นมา โดยการจัดหารถถัง Oplot มีการลงนามเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2554 ผ่านสถานทูตยูเครนในไทย เป็นการจัดซื้อจีทูจี มีการตรวจสอบสัญญาโดยสำนักอัยการสูงสุด ซึ่งประเด็นเรื่องการส่งรถถังไม่เป็นไปตามกำหนดก็เพราะว่าโรงงานผลิตรถถังนั้นอยู่ที่พื้นที่ใกล้สนามรบกับ แต่เรื่องนี้ไม่ได้มีการเรียกค่าปรับแต่อย่างใด
นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานในการประชุม แจ้งเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา โดยนับตั้งแต่ 24 ก.พ. 2563 เวลา 13.32 น.-25 ก.พ. 2563 เวลา 17.00 น. ยังไม่นับเป็นเวลาอภิปราย และเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. 2563 เวลา 17.00 น.-27 ก.พ. 2563 เวลา 02.43 น. โดยคณะรัฐมนตรี และพรรคร่วมรัฐบาลใช้เวลาไปแล้ว 5 ชั่วโมง 39 นาที 42 วินาที ฝ่ายค้านใช้เวลา 17 ชั่วโมง 42 นาที 14 วินาที รวมใช้เวลา 23 ชั่วโมง 21 นาที 56 นาที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ที่ประชุม 3 ฝ่าย (คณะรัฐมนตรี วิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน) หารือกันโดยแบ่งเวลาให้คณะรัฐมนตรี และพรรคร่วมรัฐบาล มีเวลา 10 ชั่วโมง และฝ่ายค้านมีเวลา 21 ชั่วโมง ดังนั้นฝ่ายรัฐบาลจึงเหลือเวลาประมาณ 4 ชั่วโมงเศษ ส่วนฝ่ายค้านเหลือเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเศษเท่านั้น ทั้งนี้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ระบุว่า ภายในเวลา 19.00 น. วันที่ 27 ก.พ. 2563 จะยื่นขอปิดอภิปรายทันที ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เลขานุการวิปฝ่ายค้าน ระบุว่า ขออย่าดูเวลา แต่ให้ดูเนื้อหาที่อภิปราย (อ่านประกอบ : ซักฟอกเหลือ 11 ชม.! วิป รบ.ยัน 1 ทุ่ม 27 ก.พ.ยื่นปิด-ฝ่ายค้านขออย่าสนเวลาให้ดูเนื้อหา)
@ส่งตัว ส.ส.หญิง พปชร.ไปตรวจแล็ป รพ.แล้ว-ทำความสะอาดฆ่าเชื้อทั้งสภา
นายศุภชัย แจ้งอีกว่า ส่วนเรื่องตื่นตระหนกเมื่อวานนี้ (26 ก.พ. 2563) มี ส.ส. ท่านหนึ่งเดินทางกลับจากญี่ปุ่น (น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ) ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จึงขออนุญาตนำรายงานของรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่สรุปเรื่องนี้มาแจ้งให้ทราบ เพื่อให้คลายความกังวลตามที่มีสมาชิกหารือในที่ประชุม โดยมี ส.ส. ท่านหนึ่งเดินทางไปญี่ปุ่น และอาจได้รับเชื้อโควิด-19 นั้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และบุคลากรในวงงานรัฐสภา ที่ประชุมมีการเสนอความเห็นอย่างกว้างขวาง ประธานในที่ประชุมขณะนั้น (นายชวน หลีกภัย) บัญชาให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หามาตรการแก้ไขเรื่องดังกล่าวเร่งด่วน โดยเมื่อเช้าวันนี้ (27 ก.พ. 2563) สำนักบริการทางการแพทย์ ร่วมกับสำนักรักษาความปลอดภัย ดำเนินการดังนี้
1.กรณี ส.ส. เดินทางไปญี่ปุ่น สำนักบริการทางการแพทย์ ประสานงานกับ ส.ส. ท่านดังกล่าว ประสานแพทย์โรงพยาบาลบำราศนราดูร เพื่อตรวจสอบแล้ว ตั้งแต่คืนวันที่ 26 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา โดย ส.ส. ท่านดังกล่าวได้รับการตรวจทางแล็ปกับโรงพยาบาลแล้ว แพทย์ไม่ได้รับตัวแอดมิตเนื่องจากไม่มีอาการไข้ และรอฟังผลตรวจแล็ปวันนี้ ผลเป็นประการใดจะแจ้งให้ ส.ส. ทราบต่อไป
2.มาตรการรักษาความสะอาดและป้องกันเชื้อ สำนักบริการทางการแพทย์ และสำนักรักษาความปลอดภัย ร่วมกันทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคโดยทั่วแล้ว ตั้งแต่โต๊ะ เก้าอี้ ไมค์โครโฟน ราวระเบียง บริเวณด้านหน้าห้องประชุม ด้านหลังห้องประชุม ที่จับประตูราวบันได ห้องน้ำ พื้นที่โดยรอบ ทางเดินชั้น 2 และพื้นที่ชั้น 1 ตั้งแต่ทางเข้า พื้นที่ที่สื่อมวลชนนั่ง ที่แถลงข่าว ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว จึงเรียนมาเพื่อความสบายใจ (อ่านประกอบ : แจง ส.ส.หญิง พปชร.เพิ่งกลับจากญี่ปุ่นเป็นไข้หวัดธรรมดา-อยู่ในการดูแลแพทย์ตลอด)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/