ดร.วิรไท สันติประภพ : 4 บทบาทภาครัฐ พลิกโฉมเศรษฐกิจ แข่งขันพัฒนาประเทศ
"...ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญมาก คือการดูแลให้ผู้บริโภคที่มีอำนาจต่อรองต่ำกว่าสถาบันการเงิน ได้รับบริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม ไม่ถูกหลอกลวง บังคับ หรือเอารัดเอาเปรียบจากผู้ให้บริการ ผลักดันให้สถาบันการเงินต้องยกระดับมาตรฐานด้านการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม หรือ market conduct อย่างจริงจัง..."
ดร.วิรไท กล่าวว่า ในงานสัมมนาวิชาการครั้งที่ผ่าน ๆ มา เราได้พูดถึงปัจจัยหลายด้านที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญของการเพิ่มผลิตภาพ การยกระดับเทคโนโลยี รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรม สิ่งเหล่านี้ทำให้เราใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
กุญแจสำคัญตัวหนึ่งที่สร้างแรงจูงใจให้เราก้าวข้ามขีดจำกัดของทรัพยากร ขีดจำกัดทางเทคโนโลยี และผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ครั้งแล้วครั้งเล่า คือ “การแข่งขัน” ซึ่งเป็นประเด็นหลักของงานสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปีนี้
การแข่งขันเป็นกลไกสำคัญในการสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ การแข่งขันผลักดันให้ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ต้องพัฒนาความสามารถของตนให้สูงขึ้นกว่าเดิม นำไปสู่ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง คุณภาพผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสังคมโดยรวม
ความสำคัญของการแข่งขันต่อผลิตภาพของประเทศนี้ไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่เป็นหลักพื้นฐานสำคัญที่ถือกำเนิดและพัฒนาควบคู่มากับวิชาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ Adam Smith ได้กล่าวไว้ในหนังสือ The Wealth of Nations เมื่อเกือบ 250 ปีที่แล้วว่า การแข่งขันเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างประโยชน์สูงสุด
การแข่งขันที่ดีต้องเปิดกว้าง เป็นธรรม ส่งเสริมพัฒนานวัตกรรม
ผู้ว่า ธปท. กล่าวต่อว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นระบบเศรษฐกิจสังคมนิยม หรือระบบเศรษฐกิจที่เน้นการวางแผนจากส่วนกลาง ปรับตัวเองมาเป็นระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพิงกลไกตลาดและการแข่งขันมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชากรในระบบเศรษฐกิจเหล่านั้นพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด
โดยธรรมชาติแล้ว ผู้ประกอบการมักจะไม่ค่อยชอบการแข่งขัน และลืมไปว่าการแข่งขันก็เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการในระยะยาวด้วย โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าระบบเศรษฐกิจในประเทศไม่มีการแข่งขันที่มากพอแล้ว ผู้ประกอบการอาจชะล่าใจ ไม่พัฒนาตนเองมากเท่าที่ควร ระบบนิเวศของการทำธุรกิจจะเฉื่อยชาและมีต้นทุนสูง ผู้ประกอบการจะขาดทักษะในการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงวันหนึ่งที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันซึ่งอาจมาจากภายนอก หรือจากรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่มากับพัฒนาการของเทคโนโลยี ผู้ประกอบการก็จะตั้งตัวไม่ทัน
นอกจากนี้ การแข่งขันยังช่วยสร้างแรงจูงใจให้แรงงานพัฒนาทักษะของตนเองเพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงานและมีรายได้สูงขึ้น รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดและเติบโตของธุรกิจอีกด้วย แรงงานและธุรกิจที่ไม่พัฒนาตนเองให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและค่อย ๆ ถูกคัดกรองให้ออกจากตลาดไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่ดีจะต้องเป็นการแข่งขันที่เปิดกว้าง เป็นธรรม และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในหลายธุรกิจที่มีต้นทุนในการเข้าสู่ตลาดสูง หรือมีการประหยัดจากขนาด (economy of scale) ผู้ประกอบการที่อยู่รอดมักเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบในด้านต่าง ๆ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยหรือผู้ประกอบการรายใหม่ไม่สามารถเข้ามาแข่งได้ ทำให้หลายครั้งการแข่งขันจึงอาจจบลงด้วยการผูกขาดกินรวบในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้น การแข่งขันในหลายภาคธุรกิจยังถูกจำกัดด้วยสิทธิพิเศษที่ผู้ประกอบการบางรายได้รับจากภาครัฐ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หลายครั้งการแข่งขันถูกจำกัดด้วยการใช้ผลประโยชน์จากอำนาจผูกขาดไปยับยั้งกฎเกณฑ์และกติกาที่จะทำให้ตนเองเสียประโยชน์และกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ไม่ให้เข้ามาแข่งขัน ถูกจำกัดโดยการใช้อำนาจเหนือตลาดหลากหลายรูปแบบ ถูกจำกัดด้วยเครือข่ายความสัมพันธ์ หรือถูกจำกัดด้วยกฎเกณฑ์กติกาของภาครัฐที่ล้าสมัย สร้างภาระให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและรายใหม่ จนไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการส่งเสริมการแข่งขันไม่ใช่เรื่องง่าย มีประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน หลากหลายมิติ แต่ถ้าปล่อยปัญหาเหล่านี้ไว้ ไม่แก้ไขอย่างจริงจังแล้ว จะสร้างผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์หลายด้านเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งด้านทรัพย์สิน รายได้ และโอกาส ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญของระบบทุนนิยมในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย นอกจากนี้ จะบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวด้วย ถ้าคนเก่งไม่ได้รับโอกาสให้เข้ามาแข่งขันอย่างเป็นธรรม
ดร.วิรไท ยังกล่าวว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดและกระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันกำลังทำให้ภูมิทัศน์ของการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนไป เกิดความท้าทายมิติใหม่ ๆ ที่ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น
ในด้านหนึ่งนั้น เทคโนโลยีเป็นปัจจัยส่งเสริมการแข่งขัน ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เกิดการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ ธุรกิจหลายประเภทต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทั้งจากคู่แข่งรายเดิมและจากคู่แข่งประเภทใหม่ ๆ หลายธุรกิจกำลังปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว มีต้นทุนการผลิตและต้นทุนการเข้าสู่ตลาดลดลง ระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (sharing economy) และ online platform ต่าง ๆ เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ขายทั่วโลกเชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายขึ้น ให้บริการตั้งแต่ขายสินค้า จองที่พัก เช่าเครื่องจักรการผลิต ตลอดจนถึงระดมทุน ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้รวดเร็ว และเริ่มทำธุรกิจเล็ก ๆ ของตนเองได้โดยไม่ต้องลงทุนสูง สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยส่งเสริมการแข่งขันทั้งสิ้น
ในทางกลับกัน เทคโนโลยีก็สามารถเป็นปัจจัยหน่วงรั้งการแข่งขันได้เช่นกัน ความไม่เท่าเทียมกันของการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงที่อาจต้องอาศัยความรู้ ทักษะ และเงินทุนสูง ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อมเสียเปรียบผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่สามารถสร้างเครือข่ายและใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้ธุรกิจที่ครอบครองข้อมูลปริมาณมากได้เปรียบคู่แข่ง โดยเฉพาะคู่แข่งรายใหม่ที่ไม่มีฐานข้อมูลเดิม ในวันนี้เราเห็นหลายธุรกิจที่พัฒนา online platform ยอมขาดทุนอย่างมากในช่วงแรก เพื่อแลกกับการเร่งยึดครองส่วนแบ่งการตลาด ซึ่งหมายถึงการครอบครองข้อมูลของลูกค้าจำนวนมากที่สุดไว้ก่อนด้วย การแข่งขันที่เอื้อผู้ประกอบการรายใหญ่ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่เช่นนี้ อาจนำไปสู่การผูกขาดในระยะยาว และสร้างความเหลื่อมล้ำในรูปแบบใหม่ได้
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจึงเป็นเหรียญสองด้าน มีบทบาททั้งสนับสนุนและคุกคามการแข่งขันได้ในเวลาเดียวกัน
ความท้าทายสำคัญที่เรากำลังเผชิญในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อนี้คือ เราจะส่งเสริมการแข่งขันที่เปิดกว้าง เป็นธรรม และยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและการยกระดับผลิตภาพอย่างต่อเนื่องในอนาคต ไปพร้อมกับการดูแลให้ผลประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจกระจายอย่างทั่วถึงได้อย่างไร ในยุคที่โลกไร้พรมแดนและเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด
ภาครัฐกับบทบาท ส่งเสริม-ออกแบบ แข่งขันศักยภาพประเทศ
ผู้ว่า ธปท. ระบุในฐานะผู้กำหนดนโยบายและผู้เขียนกฎกติกาสำหรับการแข่งขัน ภาครัฐมีบทบาทสำคัญยิ่งในการส่งเสริมและออกแบบการแข่งขันที่จะทำให้ผลิตภาพและศักยภาพของประเทศพัฒนาได้ต่อเนื่อง มีอย่างน้อย 4 บทบาท ที่อยากกล่าวถึง
บทบาทแรก ภาครัฐมีส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เอื้อให้เกิดการแข่งขันอย่างเปิดกว้างและเป็นธรรม เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีศักยภาพเข้ามาแข่งขันและเติบโตในธุรกิจที่ผู้ประกอบการรายเดิมเป็นเจ้าตลาดได้ โดยภาครัฐจะต้องดูแลไม่ให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งเอาเปรียบผู้ประกอบการรายอื่นหรือใช้อำนาจเหนือตลาดกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ บังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดอย่างเข้มงวดและไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ นโยบายและมาตรการของภาครัฐเองควรมีความเสมอภาค ไม่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งเป็นพิเศษ
บทบาทที่สอง การช่วยเหลือของภาครัฐให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถแข่งขันได้ในโลกใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะต้องเน้นที่การช่วยเหลือเพื่อเพิ่มผลิตภาพของผู้ประกอบการ มีระบบจูงใจ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสภาพแวดล้อมของการทำธุรกิจ การให้เงินอุดหนุนหรือให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อลดภาระผู้ประกอบการในระยะสั้น โดยไม่ได้ยึดโยงกับการพัฒนาผลิตภาพและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ อาจเป็นเพียงการยืดปัญหาออกไปในอนาคต ทำให้ผู้ประกอบการติดอยู่ในวงจรหนี้ที่สูงขึ้น ไม่ได้ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนในระยะยาว
บทบาทที่สาม ท่ามกลางเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดและรูปแบบการทำธุรกิจที่ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว กฎระเบียบภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนให้ยืดหยุ่น สอดรับกับสภาวะแวดล้อมและรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีต้นทุนต่อหน่วยของการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หลายอย่างสูงกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนแฝงที่มีอยู่มากในสังคมไทย กฎหมายที่ไม่จำเป็นควรถูกยกเลิก ข้อบังคับที่ล้าหลังควรได้รับการแก้ไขให้เท่าทันกับสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน
บทบาทสุดท้าย การแข่งขันจะต้องไม่นำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค ผู้บริโภคจะต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม กำไรที่เพิ่มขึ้นต้องมาจากการเพิ่มผลิตภาพ ไม่ใช่มาจากการผลักภาระต้นทุนไปให้ผู้บริโภคหรือมาจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบการเพื่อสร้างอำนาจผูกขาด นอกจากนี้ ในโลกยุคดิจิทัล การคุ้มครองผู้บริโภคจะต้องรวมถึงการใช้ข้อมูลของผู้บริโภคด้วย ธุรกิจจะต้องไม่อาศัยศักยภาพในการประมวลผลข้อมูลที่สูงกว่าหาประโยชน์จากผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรม
ดร.วิรไท กล่าวอีกว่า ภาคการเงินเป็นภาคธุรกิจหนึ่งที่นวัตกรรมและการแข่งขันได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจไปจากเดิมหลายด้าน นอกจากเทคโนโลยีจะช่วยลดต้นทุนและสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ แล้ว เทคโนโลยียังช่วยสร้าง platform เปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่จากทั้งในและนอกภาคการเงิน จากทั้งในและต่างประเทศ เข้ามาประกอบธุรกิจทางการเงินได้ง่ายขึ้นด้วย
ตามที่ได้กล่าวไปตอนต้นแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นเหรียญสองด้านที่อาจสนับสนุนและคุกคามการแข่งขันได้ในเวลาเดียวกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเหมาะสม เปิดกว้าง และเป็นธรรม
ในช่วงสามปีที่ผ่านมานี้ เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในระบบการชำระเงินของประเทศอย่างก้าวกระโดด ทั้งผ่านระบบพร้อมเพย์และการใช้ Thai Standard QR Code หลายท่านอาจคิดว่านี่เป็นเพียงเรื่องของการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่แท้จริงแล้ว การออกแบบระบบนิเวศและโครงสร้างการแข่งขันเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า ทั้งสองโครงการถูกออกแบบโดยยึดหลัก interoperability ที่เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการชำระเงินหลากหลายประเภท ทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์และไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ สามารถใช้ประโยชน์จากมาตรฐานกลางและโครงสร้างพื้นฐานกลางที่เชื่อมโยงกันได้สะดวก ไม่แบ่งแยกเป็นวง ๆ ทำให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้นมาก เกิดนวัตกรรมการชำระเงินรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะเป็นฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากนี้ การยกเลิกโครงสร้างค่าธรรมเนียมแบบเดิมที่แบ่งรายได้ระหว่างสถาบันการเงินต้นทางกับสถาบันการเงินปลายทางซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการแข่งขัน ได้นำไปสู่การแข่งขันกันลดค่าธรรมเนียมการบริการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย การมีระบบการชำระเงินที่เปิดกว้างยังทำให้ข้อมูลการชำระเงินรายธุรกรรมที่เป็นหัวใจสำคัญของโลกการเงินดิจิทัล อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่มาตรฐานของผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่งที่จะมีอำนาจเหนือตลาดได้ในอนาคตอีกด้วย
การแข่งขันที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ประชาชนและธุรกิจขนาดย่อมได้รับความสะดวกในการชำระเงินมากขึ้นมาก สามารถโอนเงินได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม และเชื่อมต่อกับ online platform ต่าง ๆ ได้ง่าย ขยายโอกาสในการทำธุรกิจไปได้ทั่วประเทศและทั่วโลก สถาบันการเงินเองแม้ว่าจะสูญเสียรายได้ค่าธรรมเนียมไปมาก ก็สามารถลดต้นทุนการบริหารเงินสดและการให้บริการผ่านสาขา และยังสามารถนำข้อมูลที่เกิดขึ้นไปบริหารความเสี่ยงและต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินใหม่ ๆ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้อีกด้วย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวมและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้นด้วย
นอกจากการพัฒนาระบบการชำระเงินแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญมาก คือการดูแลให้ผู้บริโภคที่มีอำนาจต่อรองต่ำกว่าสถาบันการเงิน ได้รับบริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม ไม่ถูกหลอกลวง บังคับ หรือเอารัดเอาเปรียบจากผู้ให้บริการ ผลักดันให้สถาบันการเงินต้องยกระดับมาตรฐานด้านการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม หรือ market conduct อย่างจริงจัง ซึ่งบทบาทดังกล่าวรวมถึงการกำกับดูแล และส่งเสริมให้เกิดความโปร่งใสในการนำเสนอข้อมูล เงื่อนไข และค่าธรรมเนียมของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน สร้างระบบที่ประชาชนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลและเงื่อนไขผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ ได้ รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลสถิติเหตุการณ์ระบบอิเล็กทรอนิกส์ขัดข้อง (downtime) รายสถาบันการเงิน และเปิดเผยข้อมูลสถาบันการเงินที่ถูกปรับจากการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ market conduct ด้วย เพื่อให้การแข่งขันระหว่างสถาบันการเงินมีความพอดี ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรม
ดร.วิรไท กล่าวด้วยว่า การพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดนั้นจำเป็นต้องเพิ่มผลิตภาพของประเทศให้สูงขึ้น การแข่งขันที่เหมาะสม เปิดกว้าง และเป็นธรรม เป็นกุญแจสำคัญที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจไทยมีศักยภาพสูงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้อย่างยั่งยืน การแข่งขันที่เป็นธรรม ยังจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย ถ้าปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะด้านโอกาสในการแข่งขันไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว จะบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และคุณภาพชีวิตของคนไทยในระยะยาวด้วย .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/