คำต่อคำ:วิษณุ ระบุ การถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงปมนายกฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่คบ ระบุชัดขนาดศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้อง ไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด ย้ำชัดต่อไปนี้ รัฐบาลมีหน้าที่เดียวเท่านั้น คือก้มหน้าก้มตาปฏิบัติงานด้วยกำลังใจ เพื่อให้เป็นไปตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ
วันที่ 18 ก.ย. 2562 ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 24 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ โดยจะมีการพิจารณา "ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี" โดยเมื่อเวลา 16.55 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรา 152 เรื่องการตั้งกระทู้ถาม เจตนาเพื่อต้องการให้ส.ส.สอบถามและเสนอแนะต่อครม. มองว่า เป็นเรื่องดี ปรากฎตามเอกสารรายงานการประชุมของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีคำอธิบายเจตนารมณ์ไว้ทุกมาตรา โดยเฉพาะมาตรา 152 ต้องการให้มีการปรึกษาหารือมากกว่าการต่อสู้ทางการเมือง หากประสงค์ต่อสู้ทางการเมือง ก็ต้องใช้กลไกการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ
"วันนี้ผมรู้สึก เราได้บรรยากาศที่ตอบสนองเจตนารมณ์มาตรา 152 สอบถาม หารือ มากกว่าการต่อสู้ทางการเมืองจริงๆ"
นายวิษณุ กล่าวถึงการถวายสัตย์ปฏิญาณ คำนี้เราใช้กันอีกหลายครั้ง ผมใช้ถวายสัตย์ปฏิญาณ หลายคนเข้าใจว่า ใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่อย่างไร บางท่านอาจลืม ยิ่งหากอภิปรายมีถ่ายทอดเสียงไปทั่วประเทศ อาจลืมใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่ โดยลำดับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 หลังจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ นายกฯ และครม. ทั้ง 36 คน เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ ครม.จะต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้ ซึ่งมีถ้อยคำนั้น
"ครม.36 คนได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้เป็นเรื่องลึกลับซับซ้อนอะไร มีข้าราชการในพระองค์ ข้าราชการราชสำนักหลายท่าน ฝ่ายรัฐบาล ข้าราชการหลายคน รวมถึงผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ที่ไปถ่ายทำ โดยเมื่อเริ่มเวลาเสด็จออก นายกรัฐมนตรีเปิดกรวยดอกไม้ถวายบังคม เริ่มการกล่าวคำถวายสัตย์ฯ ล้วงหยิบเอาบัตรแข็งจากกระเป๋าเสื้อออกมา เหมือนนายกรัฐมนตรีทุกคนที่เคยผ่านมาในอดีต บัตรแข็งนี้สำนักนายกฯ ได้จัดเตรียมเช่นเดียวกับเตรียมให้กับนายกรัฐมนตรีทุกคนในอดีต
ผมได้เขียนหนังสือหลังม่านการเมือง มีนายกรัฐมนตรี อยู่คนเดียวที่ไม่ล้วงกระเป๋าหยิบอะไรออกมา คือ นายชวน หลีกภัย นายกฯอื่นต่อให้แม่น จำได้ ก็หยิบล้วงจากกระเป๋าเสื้อทั้งนั้น เช่นเดียวกับนายกฯ ประยุทธ์ หยิบหน้าแรกอ่านคำเบิกตัว และพลิกหน้าที่ 2 คำถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อนายกฯ กล่าวแต่ละท่อน ครม.ทุกคนกล่าวตาม ทุกคนกล่าวตามไปที่ละท่อน จนจบตามนายกฯ กล่าว
ผมไม่กราบเรียนว่า ถ้อยคำที่นายกฯ อ่าน และทุกคนกล่าวตามนั้นมีว่าอย่างไร ผมไม่ทราบเบื้องหน้าเบื้องหลังการอ่านไปตามนั้น และแค่นั้นเป็นเพราะเหตุใด แต่อธิบายได้คำกลางๆ คือการถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ คำนี้ผมไม่ได้พูดขึ้นเอง ในหนังสือซึ่งบอกเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ จำได้แม่นหน้า 279 อธิบายไว้ว่า การถวายสัตย์เป็นเรื่องที่ต้องการยืนยันต่อองค์ผู้เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย คือพระมหากษัตริย์
และในคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 11 กันยายน ได้เขียนไว้ฉบับย่อ หน้า 2 บรรทัดที่ 3 ศาลใช้คำว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นความสัมพันธ์ระหว่างครม.กับพระมหากษัตริย์ ผมถึงได้สรุปแบบนั้น
แล้วทำไมจึงบังอาจทำให้ไม่เหมือนในรัฐธรรมนูญ ประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณ นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ต้องกระทำกับพระมหากษัตริย์ จึงใช้คำว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณ เวลาเอ่ยต้องเริ่มข้าพระพุทธเจ้า แปลว่า มีผู้ถวาย มีผู้รับการถวาย ไม่เหมือนกรณี ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่มีผู้รับ
"ผมอดคิดไม่ได้ ไม่มีใครมีสิทธิเปลี่ยนแปลงถ้อยคำนั้น ใครจะเป็นคนไปอนุญาตท่าน ดังนั้นเมื่อมีการถวายสัตย์ปฏิญาณเสร็จ ก็จะจบด้วยมีพระราชดำรัสตอบทุกครั้ง ไม่มีอะไรเป็นเรื่องลับ ซึ่งการถวายสัตย์ปฏิญาณจะทำกับบุคคล 4 ประเภทเท่านั้น คือ 1.องคมนตรี 2.รัฐมนตรีรวมถึงครม. 3.ผู้พิพากษา และ 4.ตุลาการ"
นายวิษณุ กล่าวว่า ในเวลาต่อมามีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชดำรัสทุกคำ พร้อมลายพระราชหัตถ์มายังรัฐบาลอีกด้วยซ้ำไป กรณีอย่างนี้ พระราชดำรัสเป็นคำที่ครม. 36 คน จำได้ขึ้นใจ พระราชกระแสเริ่มว่า "ขอถือโอกาสนี้ให้กำลังใจแก่ท่าน ให้ท่านมีความมั่นใจ และความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ได้ตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ ให้ปฏิบัติไปตามคำการถวายสัตย์ปฏิญาณ และขอให้ท่านเข้าทำหน้าที่ รับหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่" ครม.รับพระราชกระแสนี้ใส่เกล้าใส่กระหม่อม ไม่ต้องตีความ แต่ถือนี่คือพระบรมราชานุญาต และปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อถึงศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้อง แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้เหตุผลและมีคำอธิบายประกอบ จึงอธิบายประกอบที่ไม่รับเพราะอะไร เป็นความเห็นเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญด้วย เพราะเป็นเรื่องทางการเมือง แต่ศาลฯ ยังบอกอีกว่า การถวายสัตย์ฯ ของครม.ไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจตรวจสอบได้ สภาฯ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะชี้หรือไม่ชี้ก็ไปว่าในอนาคต
"หากมีเรื่องของมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรม สามารถส่งเรื่องไป ป.ป.ช.ได้ แต่กรณีของครม.ร้องป.ป.ช. จากนั้นป.ป.ช.จะไปร้องต่อศาลฎีกา ไปตามขั้นตอนนั้น จึงไม่มีอะไรต้องวิตก ทุกอย่างดำเนินการไปตามปกติ วันนี้รัฐบาลมีหน้าที่เดียวเท่านั้น คือก้มหน้าก้มตาปฏิบัติงานด้วยกำลังใจ เพื่อให้เป็นไปตามคำถวายสัตย์ปฏิญาณ"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/