'อุตตม' ยันไม่ประมาทหนี้ครัวเรือน-สนธิรัตน์ โชว์บัตรสวัสดิการฯกระตุ้นศก.ภูมิภาค
รมว.คลัง แจงงบกลางฉุกเฉิน 4 แสนล้าน มี 11 รายการ เป็นงบฉุกเฉินจริงๆ แค่ 1 แสนล้านเท่านั้น ส่วนตั้งงบฯ ขาดดุล ยันทำเมื่อจำเป็น ขณะที่สนธิรัตน์ โชว์ตัวเลขบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐ กระตุ้นศก.ฐานรากโต
เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2562 ที่อาคารทีโอที แจ้งวัฒนะ ที่ประชุมรัฐสภาชั่วคราว มีการประชุมร่วมรัฐสภาระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานในที่ประชุมแทนนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยเป็นการอภิปรายนโยบายรัฐบาลต่อเนื่องจากวันที่ 25 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา
เมื่อเวลาประมาณ 11.40 น. นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลุกขึ้นชี้แจงการอภิปรายของส.ส.ฝ่ายค้านในเรื่องงบประมาณ การเงินการคลังของประเทศ และงบกลางฉุกเฉิน 4 แสนล้านบาท ว่า โดยเฉพาะงบกลาง 4 ล้านบาท รวม 11 รายการ ทั้งเรื่องบำเหน็จ บำนาญ งบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล เป็นงบฉุกเฉินจริงๆ ใน 4 แสนล้าน แค่ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น
ส่วนพ.ร.บ.ว่าด้วยการงบประมาณฯ นายอุตตม กล่าวว่า มีมาตั้งแต่ปี 2502 มาตรา 45 พูดถึงงบประมาณ 50,000 ล้านบาท เงินทุนสำรองจ่ายเพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเหตุจำเป็นฉุกเฉินจริงๆ ซึ่งแหล่งเงินอื่นไม่สามารถนำมาใช้ได้ ใช้พร่ำเพรื่อไม่ได้ และต้องผ่านคณะรัฐมนตรี ที่สำคัญเอาไปใช้แล้วต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชดเชยทันที
สำหรับการตั้งงบประมาณขาดดุลนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลพิจารณาจากสถานการณ์ให้สอดรับกัน สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้จำเป็นหรือไม่ และสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ซึ่งปี 2557-2558 เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ช่วงนั้นรัฐบาลตั้งงบประมาณขาดดุล เพราะจำเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนต่อเนื่อง จนทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ อย่างไรก็ตาม หากจะใช้นโยบายตั้งงบประมาณขาดดุลก็อยู่ภายใต้วินัยการเงินการคลังอยู่ดี มีทั้ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561 พ.ร.บ.วิธีการการงบประมาณฯ และพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมอยู่เสมอ
"หนี้สาธารณะต่อจีดีพีได้ลดลงจากร้อยละ 43.3 จากปี 2557 เหลือร้อยละ 41 ปัจจุบัน ซึ่งยังอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ร้อยละ 60 ของจีดีพี"
นายอุตตม กล่าวว่า หากมองไปในระยะปานกลาง และระยะยาว วินัยการเงินการคลังที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณ เราต้องทำแผนการคลังระยะปานกลาง วางแผนการคลัง 3-5 ปี เพื่อเป็นกรอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ต้องวางเป้าหมายในแผนดังกล่าว เราจะกลับเข้าสู่งบประมาณสมดุลได้เมื่อไหร่ เป็นต้น
เรื่องของประชาชนการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ นายอุตตม กล่าวว่า การเข้าถึงแหล่งเงินทุนคนมีรายได้น้อย รัฐใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ เน้นการอำนวยสินเชื่อเงินทุนให้กับคนที่มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อย ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน นอกจากนั้น รัฐบาลกำลังพัฒนาแหล่งเงินทุนทางเลือกอื่นสำหรับผู้มีรายได้น้อย เช่น นาโนไฟแนนซ์ ทั้งหมดอยู่ภายใต้กำกับดูแลของรัฐ
"เรื่องของหนี้ครัวเรือน เติบโตตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ หัวใจสำคัญอยู่ที่ว่า ประชาชนเอาไปใช้ทำอะไร หนี้ครัวเรือนของไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อสร้างรายได้ ซื้อที่อยู่อาศัย ซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้วางใจเรื่องนี้ กระทรวงคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยจะดูแลการก่อหนี้ครัวเรืออย่างครบวงจร ให้ข้อมูล ให้ทักษะการก่อหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะวัยทำงาน ให้ก่อหนี้ให้เหมาะสม และหากเกิดปัญหาจริงๆ ขึ้นมา ต้องมีองค์กรกลางดูแล ช่วยเหลือประชาชนประสบปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสม เราไม่ประมาทเรื่องหนี้ครัวเรือน"
นายอุตตม ยังกล่าวถึงวินัยการเงินการคลัง ปัจจุบันถือว่า อยู่ในระดับที่น่าพอใจ มูดีส์อินเวสเตอส์เซอร์วิส (Moody’s Investors Service (Moody’s) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ปรับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย จากมีเสถียรภาพ เป็นแนวโน้มเชิงบวก เช่นเดียวฟิทช์ เรทติ้งส์ ปรับอันดับความน่าเชื่อถือเช่นกัน ทั้งหมดสะท้อนความน่าเชื่อถือการเงินการคลังของไทย อยู่ในระดับน่าพอใจ
โชว์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปชช.ชื่นชม
ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงถึงเรื่องงบประมาณบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่สมาชิกรัฐสภาเป็นห่วงว่า เป็นการใช้งบประมาณที่ไม่ได้ก่อเกิดประโยชน์ เอื้อเจ้าสัวต่าง ๆ นั้น เรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้นเป็นครั้งแรกที่ได้มีการขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อยและมีแผนพัฒนาผู้มีรายได้น้อย โดยช่วยเหลือในเบื้องต้นและพัฒนาให้พ้นจากความยากจนในระยะถัดไป จากการดำเนินงานทั้งหมดในตอนเริ่มต้น มีผู้วิจารณ์ว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เรียกว่า บัตรคนจน ตอนแรกไม่มีคนให้ความร่วมมือ เพราะถือว่า เป็นการประจานประชาชน แต่เมื่อสังคมเข้าใจเจตนารมณ์ก็ทำให้มีผู้มาลงทะเบียนมากขึ้นเรื่อยๆ
"การที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เมื่อมีผู้เข้ามามาก ทำให้รัฐมีระบบข้อมูลและก็สามารถพัฒนาได้ ผู้ที่ลงทะเบียนได้มีการปรับตัวและพัฒนาตัวเอง อย่างเช่นมีข้อมูลจากการดำเนินการในช่วงเวลาระยะเวลาไม่ถึง 1 ปีมีผู้ที่มีรายได้น้อยต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีพ้นเกณฑ์ 30,000 บาท ร่วมล้านกว่าคน ดังนั้น ทิศทางที่ดำเนินการไม่ใช่เพียงเข้าไปดูแล แต่เพื่อจะพัฒนาพี่น้องประชาชน
นายสนธิรัตน์ กล่าวต่อถึงช่วงที่ดำเนินการได้มีการมอบบัตรสวัสดิการซื้อขายสินค้าได้เพียงร้านค้า แต่มีข้อวิจารณ์ว่า เป็นร้านค้าเฉพาะ แต่เพราะร้านค้าเฉพาะเหล่านั้นคือร้านค้าที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลใดเลยมามากกว่า 20 ปี คือ ร้านค้าโชห่วย ร้านเล็กๆที่อยู่ตามหมู่บ้านอำเภอ จึงมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการโดยการที่ซื้อของผ่านร้านโชห่วยนั้นถึง 30,000 กว่าราย ผ่านเครื่อง EDC เพื่อนำไปสู่ระบบดิจิตอลในอนาคตและมีการซื้อขายโดยการสมัครเข้ามาเป็นแผงร้านค้าเล็กร้านค้าน้อยที่ได้แอพพลิเคชั่นถุงเงินประชารัฐ อีก 27,000 กว่าราย รวมแล้วทั้งหมด 6 หมื่นกว่าบาท
จากนั้น ประชาชนก็ต้องไปซื้อของกินของใช้ที่จำเป็นและมีข้อมูลที่ได้ว่าจ้างบริษัทวิจัยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาพบว่า สินค้าจำหน่ายในร้านค้าประชารัฐ จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภครวมถึงน้ำตาล ข้าวสาร ซอสปรุงรสต่างๆ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 อีกประมาณมากกว่าร้อยละ 40 เป็นสินค้าชุมชน ซึ่งนโยบายนี้รัฐบาลเดิมนั้นพยายามผลักดันอย่างยิ่งและรัฐบาลใหม่ก็คาดว่าจะนำนโยบายนี้มาดำเนินการต่อ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าชุมชนในชุมชน สินค้าเกษตรของชุมชน เป็นต้น รวมทั้งสินค้าลำไย กระเทียม หอมหัวใหญ่เวลาเกิดปัญหาด้วย
"ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 ถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 ปัจจุบันบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ให้ใช้จ่ายผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าการค้าสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้นถึงร้อยละ 7.4 หรือคิดเป็นเม็ดเงินมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 78,000 ล้านบาท แต่สำคัญกว่านั้นคือการกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคถึง 38,000 ล้านบาทและกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม การค้าการขายที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 320,000 กว่าล้านบาท
รมว.พลังงาน กล่าวว่า อยากจะทำความเข้าใจมาตรการเหล่านี้ได้ช่วยเหลือประชาชนและทำให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้รับความชื่นชมจากพี่น้องประชาชน และจะเป็นนโยบายที่รัฐบาลจะดำเนินการต่อไป
ขณะที่ด้านพลังงาน นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ถูกมองมติเดียว เอกชนลงทุน แต่รัฐบาลนี้จะมองประชาชนทุกระดับ เข้าถึงพลังงาน เพิ่มรายได้ ทบทวนแผน GDP ในมิตินำพลังงานหมุนเวีนยนเข้าไปสู่ชุมชน และให้ชุมชนมีส่วนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารพลังงาน มีรายได้จากพลังงาน กลไกเหล่านี้ พลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ใช่วัสดุเหลือใช้ภาคเกษตร ทางกระทรวงพลังงานจะใช้กองทุนอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้เกิดการผลิตพลังงาน การสร้างอาชีพ และจะดำเนินการมากขึ้นในปีนี้ รวมไปถึงระบบสูบน้ำทางการเกษตร เพิ่มพื้นที่เกษตร หรือการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ดังนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจ นโยบายรัฐบาลด้านพลังงานจะสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนมีส่วนร่วม เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ขอให้มั่นใจว่าคนไทยทุกคนจะเป็นการนำไปสู่อนาคต และการใช้พลังงานเป็นพลังงานของทุกคน
20 ปีที่ผ่านมา ไทยมีงบประมาณสมดุลเพียงครั้งเดียว
ต่อจากนั้น ช่วงบ่าย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงการลงทุนและการกู้ยืม ว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ในบางครั้งถ้าเราไม่ลงทุนอะไรเลย ถึงแม้ว่าประเทศอยู่ได้ แต่จะเสียโอกาสและเสียจังหวะในการที่จะพัฒนาได้ ฉะนั้นรัฐบาลก็มีความจำเป็นที่ต้องกู้ยืม
ส่วนการทำงบประมาณขาดดุล สมดุลนั้น รองนายกฯ กล่าวว่า การที่บอกว่า ต้องทำงบประมาณสมดุล ไม่ได้หมายความว่า ดีเสมอไป ที่ผ่านมาเกือบ 20 ปีนี้ เรามีงบประมาณสมดุลเพียงครั้งเดียวในปี 2548 เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเพราะว่า ถูกบีบบังคับจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ให้กลับมาสู่ความสมดุลของการชำระหนี้คืน แต่พอเรากดตรงนี้นานๆ ทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่า อัตราการทำอะไรได้บ้างนั้น ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้นการลงทุนจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ทั้งนี้ รัฐบาลก็พยายามที่จะหาแหล่งต่างๆ ทั้งเรื่องของการกู้ยืม การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญคือรัฐบาลชุดที่ผ่านมานี้เป็นชุดที่ออก พ.ร.บ.วินัยการคลังฯ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างฯ ร่วมกับสภาฯ เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้โดยบุคคลที่อยู่ภายนอกว่า รัฐบาลดำเนินการทุกอย่างด้วยความรอบคอบ
ดร.สมคิด กล่าวอีกว่า การทำงานของรัฐบาลไม่เพียงแต่มีการตรวจสอบภายในประเทศเท่านั้น ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก, ฟิทช์ เรทติ้งส์, มูสดี้ ,เอสแอนด์พี (Standard & Poor's) สถาบันการจัดอันดับเพื่อประเมินเมืองไทย ถือว่าเป็นกระจกส่องหน้าเรา ถือว่า การจัดอันดับขององค์กรเหล่านี้ มีประโยชน์มาก เพราะบางทีคนไทยด้วยกันเองบอกว่า หยวนๆ อะลุ่มอล่วยกัน แต่ว่าต่างประเทศเขาไม่มาอะลุ่มอล่วยกับเรา
“เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ฟิทช์ เรทติ้งส์, ปรับอันดับของเราขึ้นไปสู่ระดับ เชิงบวก (Positive Outlook) เหตุผลของ ฟิทช์ เรทติ้งส์, คืออะไร ก็คือพูดถึงเรื่องของพลังของ Public Finance กับ External Finance ฐานะทางการคลังของเรา ฐานะความสามารถในการชำระหนี้ของเรามีความแข็งแกร่งมาก ประกอบกับการที่เรามีรัฐบาลพลเรือนเป็นครั้งแรกหลังเลือกตั้ง เขาก็ปรับอันดับให้
เมื่อคืนนี้อย่างที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังได้กล่าวมา มูสดี้ ซึ่งไม่เคยขึ้นอันดับให้เรามานานมากนับ 10 ปี เมื่อคืนประกาศอัพเกรดเราขึ้นมาสู่ทางที่ดีขึ้น เหตุผลหลักก็คือว่า 1 ความแข็งแรงของคลังรัฐบาล กับเรื่องของการลงทุนจากภายนอก ของเรานี้สร้างความมั่นใจว่ามีความแข็งแกร่งพอที่จะดูดซับแรงกระแทรกที่จะเกิดขึ้นจากเรื่องของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ได้ ไม่เพียงเท่านั้นเขายังบอกว่าเรามีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและทุนมนุษย์ เพียงพอที่จะทำอนาคตข้างหน้านี้ การเติบโตสามารถดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน "