จุรินทร์ เล็งนับหนึ่งตั้งกรอ.พาณิชย์- เพิ่มยอดส่งออกให้เอกชนเป็นทัพหน้า
ประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ ชี้แจงภัยแล้ง-ฝนทิ้งช่วง ยันขณะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ฝนตกหลายจว.ภาคอีสาน เตรียมเมล็ดพันธุ์กว่าหมื่นตันเยียวยาเบื้องต้น ขณะที่จุรินทร์ ย้ำชัดนโยบายรัฐบาล คือการประกันรายได้เกษตรกร กับพืช 5 ชนิด เดินหน้าเกษตรพันธสัญญาจับคู่ผู้ซื้อกับสหกรณ์ ตั้งกรอ.พาณิชย์ เพิ่มยอดส่งออกให้เอกชนเป็นทัพหน้า เล็งขันน๊อตการทำงานทูตพาณิชย์ทั่วโลก
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยภายหลังแถลงเสร็จ ได้เปิดให้ ส.ส. และ ส.ว. อภิปรายนโยบาย ซึ่งช่วงหัวค่ำที่ผ่านมา นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการะทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลุกขึ้นชี้แจงถึงสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง
นายประภัตร กล่าวว่า ปัจจุบันน้ำที่ใช้เพื่อการเพาะปลูกมาจากเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ รวมกันประมาณ 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร เลี้ยงพี่น้องชาวนาภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง 22 จังหวัด ซึ่งพอเลี้ยงชาวนาลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้
"นาภาคกลาง น้ำที่มีอยู่เราสามารถใช้ต่อไปได้ตลอดสิ้นเดือนสิงหาคม การปล่อยน้ำเริ่มลดลงเนื่องจากมีฝนตกแล้ว เชื่อว่า สถานการณ์ฝนทิ้งช่วงจะเริ่มดีขึ้นๆ ส่วนความเสียหายขณะนี้ มากสุดอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นาไร่เสียหายประมาณ 8 แสนไร่ ภาคเหนือ 4 แสนไร่ ภาคกลาง 1 หมื่นไร่"นายประภัตร กล่าว และว่า รัฐบาลเล็งหาเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกใหม่ ซึ่งมีอยู่กว่า 1 หมื่นตัน เชื่อว่าพอช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้น
นโยบายประกันรายได้เกษตรกร
จากนั้น เวลา 18:55 น.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาล เขียนไว้ชัด ทั้งใน 5.3.1 และข้อ 4 ของนโยบายเร่งด่วน คือ นโยบายประกันรายได้เกษตรกร โดยรัฐบาลจะเปิดโอกาสให้เกษตรกรมีรายได้ชดเชยจากราคาพืชผลทางเกษตรตกต่ำ ได้รับเงินส่วนต่าง ซึ่งไม่ใช่การประกันราคาพืชผลเกษตร เพราะขัดกับหลักขององค์การการค้าโลก
"การประกันรายได้เกษตรกรสามารถทำได้ คือการประกันความชัดเจนแน่นอนให้เกษตรกรที่ทำพืชผลการเกษตรตัวใดตัวหนึ่งนั้น มีรายได้ที่มีหลักประกัน ในปริมาณที่ทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า สามารถยังชีพในอาชีพที่ทำอยู่ ซึ่งหลักการสำคัญของการประกันรายได้เกษตรกรคือ จะดำเนินการโดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถมีรายได้ชดเชยจากราคาพืชผลการเกษตรที่ตกต่ำ และไม่สามารถขายพืชผลการเกษตรให้มีรายได้ตามที่ควรจะเป็น เปิดโอกาสให้ประกันให้เกษตรกร เช่น ชาวนา สมมติ รัฐบาลประกันรายได้ให้กับชาวนาปลูกข้าวขาว อัตราตันละ 10,000 บาท แปลว่า ชาวนาจะได้รับหลักประกันตันละ 10,000 บาท จากการขายข้าวขาว แต่ขณะที่ราคาตลาดในขณะนั้น ตกแค่ 8,000 บาท เพราะฉะนั้นจะมีส่วนต่าง 2,000 บาท เงินจำนวนนี้รัฐบาลจะจัดส่งเงินผ่านบัญชีเกษตรกรกับ ธ.ก.ส. ส่งไปเข้าบัญชีโดยตรง โอกาสตกหล่นยากมาก นี่คือหลักประกันช่วยให้ชาวนามีรายได้ 2 ทาง ทางแรก จากการขายข้าวในราคาตลาดเท่าที่เขาจะได้ แต่มันไม่พอยังชีพ ก็จะได้รับเงินอีกก้อนเพิ่มเติมขึ้นมา คือรายได้ส่วนต่างอีกเข้าบัญชีธนาคาร"
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงพืชผลการเกษตรที่จะประกันรายได้ ได้แก่ 1.ข้าว 2.ยางพารา 3.มันสำปะหลัง 4.ปาล์มน้ำมัน 5.ข้าวโพด ไม่ได้หมายความว่าพืชผลการเกษตรอื่นรัฐบาลจะไม่ดูแล แต่จะดูแลด้วยวิธีอื่น แต่มีอย่างน้อย 5 รายการที่จะประกันรายได้ให้กับเกษตรกร ส่วนว่าจะประกันราคาเท่าไหร่ จะนัดประชุมหารือกันหลังแถลงนโยบาย โดยจะประชุมร่วม 3 ฝ่าย ไม่ตัดสินใจระหว่างใครคนใดคนหนึ่งลำพัง ให้ตกลงกันเป็นที่พอใจ มีดุลยภาพให้เกษตรกรยังชีพอยู่ได้ คือ 1.ภาครัฐ 2.ภาคเอกชน ผู้ประกอบการล้ง ผู้ประกอบารแปรรูป ผู้ประกอบการส่งออก 3.เกษตรกร ทั้ง 3 ฝ่ายช่วยกันตกลง ราคาควรเป็นอย่างไรเท่าไหร่ นี่คือสิ่งที่ตั้งใจไว้ว่าจะทำ และจะทำโดยเร็ว เพราะนโยบายประกันรายได้เกษตรกร อยู่ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
นายจุรินทร์ กล่าวถึงกรณีส.ส.บางท่านกังวล หากทำนโยบายประกันรายได้อย่างเดียว จะเป็นภาระต่อเงินงบประมาณแผ่นดิน และมันจะพอกพูนขึ้น รัฐบาลต้องชดเชยส่วนต่างเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องทำควบคู่กับมาตรการอื่น ๆ อย่างผสมผสาน เช่น การชดเชย ซึ่งระบุคำว่าชดเชยไว้ในนโยบายรัฐบาลชัดเจน เช่น เวลามีพืชผลการเกษตรบางตัวออกมาปริมาณมาก ช่วงนั้นอาจต้องใช้นโยบายชดเชยเกษตรกร เพื่อเก็บพืชผลการเกษตรไว้กับตัวอย่างเพิ่งขาย และมีรายได้ชดเชยให้ส่วนหนึ่ง เพื่อไม่ทำให้ราคาตก นอกจากนั้นมาตรการผสมผสานอีกอย่าง ได้แก่ การเพิ่มการใช้พืชผลการเกษตรตัวนั้นให้มากขึ้น รัฐบาลจะมีนโยบายในการทำถนนยางพารา ช่วยดูดซับส่วนเกินของผลิตภัณฑ์ยางให้ออกจากตลาด และช่วยให้ราคาพืชผลทางการเกษตรดีขึ้น
เกษตรพันธสัญญา-ฟื้น FTA-EU
ส่วนการทำเกษตรพันธสัญญานั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า จะมีการจับคู่เกษตรกรกับผู้ซื้อให้มาทำสัญญาร่วมกัน ผลิตผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐาน ผู้ซื้อก็จะซื้อตามที่ราคาตกลงกันไว้ เกษตรจะมีรายได้ชัดเจน ผู้ซื้อมีวัตถุดิบ ไม่ขาดแคลน ขณะนี้ เริ่มต้นดำเนินการให้กระทรวงพาณิชย์หาผู้ซื้อ จับคู่กับสหกรณ์ ทำเกษตรพันธสัญญาให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไปหลังการแถลงนโยบาย พร้อมกันนี้จะฟื้นการทำ FTA กับสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ จะเห็นว่า ทางนโยบายเรามีนโยบายชัดเจนเพิ่มการเจรจาทางการค้ากับคู่ค้าที่มีศักยภาพ
สำหรับเพิ่มศักยภาพการส่งออก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ยังเป็นงานหิน เพราะสงครามการค้าสหรัฐกับจีน มีผลกระทบไปทั่วโลก มาตรการที่เตรียมการ นอกจากมาตรการปกติรักษาและขยายตลาดเดิมแล้ว ก็จะฟื้นตลาดข้าวอิรัก เป็นต้น รวมไปถึงการเตรียมตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และภาคเอกชน ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ หรือเรียกว่า กรอ.พาณิชย์ขึ้น ต่อไปนี้จะมีเวทีช่วยข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ เจรจากับภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ สมาคมธนาคารไทย
"นโยบายการส่งออก เอกชนต้องเป็นพระเอก เป็นทัพหน้า ภาครัฐจะเป็นแค่ทัพหลัง ส่งเสริมทัพหน้าบุกตลาด รวมถึงจะให้ความสำคัญการค้าชายแดน ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีอนาคต" รมว.พาณิชย์ กล่าว และว่า เร็วๆ นี้จะนัดประชุมทูตพาณิชย์ของไทยทั้งหมด เรื่องการทำตัวเลขส่งออกของประเทศ ทุกคนต้องมีเป้าตัวเลข ลู่ทาง จะสำเร็จไม่สำเร็จอีกเรื่อง แต่นี่ความตั้ืงใจเพื่อรักษาสถานภาพการส่งออกของประเทศไทย