การตกเป็น” โมฆะ” ของรัฐธรรมนูญ 2560
เป็นไปไม่ได้เลยที่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ จะเห็นชอบ ทุกประพจน์หรือทุกประโยค ซึ่งก็คือทุกมาตรา จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นชอบทุกหมวด ทั้งฉบับ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 มาตรา 4 วรรคห้า บัญญัติไว้ ดังนี้
“การจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ให้ออกสียงประชามติว่า จะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นทั้งฉบับ....”
ตามกฎตรรกะประชาชนที่จะต้องออกเสียง “เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ “ทั้งฉบับ” วิเคราะห์ตามหลักตรรกะได้ ดังนี้
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่มีทั้งหมด 279 มาตรา
มีประเด็นที่เกี่ยวข้องนับเป็นร้อยๆ กว่าประเด็นประชาชนผู้จะต้องออกเสียงลงประชามติที่ จะต้องพิจารณา
ไม่ใช่เรื่องแปลกหากว่าบางประเด็น บางมาตราของร่างรัฐธรรมนูญ จะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถูกใจและไม่ถูกใจ
ไม่ใช่เรื่องแปลก หากว่าบางคนจะเห็นด้วยในบางมาตรา บางประเด็น และมีอีกบางประเด็นหรือบางมาตราที่ไม่เห็นด้วยในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และความจริงก็ควรที่จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องนี้
แต่การที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 บัญญัติว่า “....ให้ออกเสียงประชามติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นทั้งฉบับ....”
ถ้าอ่านกันอย่างผิวเผินๆ ก็อาจนึกว่าเป็นเพียงพลความ แต่ความเป็นจริงแล้ว คำว่า “ทั้งฉบับ” เป็นใจความที่เน้นไว้ในมาตรา นี้อย่างชัดเจน การบัญญัติที่พ้นวิสัยอย่างนี้มีมาแล้วในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550
แต่ที่เน้นคำนี้ไม่อาจที่จะหยั่งทราบถึงเจตนาที่แท้จริงได้แต่ข้อความ “ทั้งฉบับ”นี้ มีความชัดเจนอยู่ในบัตรการออกเสียงลงประชามติ( โปรดดูตัวอย่างบัตรการลงประชามติ)
แต่เป็นการบัญญัติให้ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือเป็นการพ้นวิสัยด้วยเหตุผลทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และหลักตรรกะ ดังนี้
1. ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่จะประชาชนออกเสียงประชามติมีสองประเด็นคือประเด็นที่ 1 ได้แก่ “ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... “ทั้งฉบับ” และประเด็นเพิ่มเติมในประเด็นที่ 2 ที่มีความว่า
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฎิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนด ไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”
ในประเด็นที่ 2 นี้มีข้อสังเกตว่า ได้เพิ่มเติมเข้ามาภายหลังและแม้จะเป็นประเด็นเดียว แต่ก็มีความไม่ชัดเจนและกำกวม คลุมเครือ ข้อสำคัญมีความหมายได้หลายนัย
ขอย้อนกลับมาในประเด็นที่ 1 การให้ความเห็นหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ “ทั้งฉบับ “ย่อมประกอบด้วย คำปรารภ.ที่มี หมวดและ ส่วนต่างๆ และบทเฉพาะกาลด้วย
หมวดต่างๆ แต่ละหมวด ย่อมประกอบด้วยมาตราต่างๆ
มาตราต่างๆ แต่ละมาตรานั้น แต่ละมาตราย่อมประกอบด้วยวรรค ต่างๆ
วรรคต่างๆ แต่ละวรรคนั้น แต่ละวรรคย่อมประกอบด้วยประพจน์หรือประโยค (Statement) ต่างๆ
ประพจน์หรือประโยคต่างๆ แต่ละประพจน์หรือประโยคอาจเป็นสิ่งที่คนเห็นชอบหรือสิ่งที่คนไม่เห็นชอบ เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งได้เท่านั้น
เป็นไปไม่ได้เลยที่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ จะเห็นชอบ ทุกประพจน์หรือทุกประโยค ซึ่งก็คือทุกมาตรา จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นชอบทุกหมวด ทั้งฉบับ
อีกทั้งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เห็นชอบ ทุกประพจน์หรือทุกประโยค ซึ่งก็คือทุกมาตรา จึงเป็นไปไม่ได้ที่ไม่เห็นชอบทุกหมวด ทั้งฉบับ
บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา ตรงนี้ จึงบัญญัติในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือเป็นการพ้นวิสัย ผลคือการนั้นตกเป็นโมฆะ
เพราะบัญญัติในสิ่งที่ไม่ดำรงอยู่จริง
ผลคือบัญญัติในสิ่งที่เป็นเท็จ ย่อมทำลายตัวเอง ใช้บังคับไม่ได้ ไม่ว่าผลการออกเสียงประชามติจะเป็นอย่างไร
พิจารณาจากกฎตรรกะ (Logic)
(1)สิ่งที่เป็นไม่ได้ คือสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ใครบัญญัติสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คือผู้ที่บัญญัติสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง หรือบัญญัติความเป็นเท็จ
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่มาจากบทบัญญัติ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เฉพาะในส่วนดังกล่าวนี้ มาจากสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง นั่นก็คือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในส่วนนี้มาจากบทบัญญัติความเป็นเท็จ ประกาศใช้เมื่อใด ก็เป็นเท็จเมื่อนั้น ย่อมไม่มีผลใช้บังคับได้
(2) ทั้งฉบับ คือ ทั้งเซต (set)
หมวด คือ อนุเซต (subset) ของทั้งฉบับ
มาตรา คือ อนุเซตของหมวด
ประพจน์หรือประโยค คือ อนุเซตของมาตรา
เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทั้งฉบับ = เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทุกประพจน์หรือทุกประโยค ซึ่งมีเป็นร้อยๆ พันๆ ประพจน์หรือประโยค
เป็นไปไม่ได้ หรือเป็นการพ้นวิสัยที่บุคคลจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทุกประพจน์หรือทุกประโยค
ข้อเสนอแนะในเชิงปรึกษากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงถ้าจะมีการยกเลิกหรือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและจะต้องมีประชามติ
ถ้าเป็นไปไม่ได้ควรจะแก้ไขอย่างไร มิใช่เพียงพูดว่า ไม่มีหน้าที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ถ้าการเป็นว่าต้องการให้ “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ”ที่ไม่ขัดต่อหลักกฎหมายและกฎตรรกะก็ตามที โดยตัดคำว่า “ทั้งฉบับ” ออกไป เหลือเพียงความให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในรัฐธรรมนูญ เพียงเท่านี้ จะมีคำว่า “ทั้งฉบับ” ตามมาไม่ได้
(ขอให้ดูตัวอย่างในรัฐธรรมนูญทุกฉบับและในมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่บัญญัติในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของวุฒิสภาจะต้องให้ความ “เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ” เท่านั้น ไม่มีคำว่า “ทั้งฉบับ” แต่อย่างใด เป็นการบัญญัติที่ถูกทั้งหลักกฎหมายและกฎตรรกะ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่สมาชิกทุกคนจะต้องเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ร่างงบประมาณรายจ่ายทุกวงเงินและทุกรายการที่มีหลากหลาย)
เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ตกไปทั้งฉบับหรือตกเป็น “โมฆะ” ผลจะเป็นอย่างไร จะได้หยิบยกมาวิเคราะห์ให้เห็นในบทความต่อไป
ขอบคุณภาพจาก:http://www.nhrc.or.th/Human-Rights-Knowledge/Laws/Constitution.aspx