วสท.คาดปฏิบัติงานผิดพลาด ต้นเหตุ 'เครน' ถล่มใส่หลังคา ‘อัสสัมชัญ คอนเเวนต์’
วสท.ลงพื้นที่เกิดเหตุ 'เครน' ถล่มใส่หลังคา รร.อัสสัมชัญ คอนเเวนต์ คาดเกิดจากช็อกโหลด ชี้ติดตั้งอุปกรณ์ไม่ต้องขออนุญาตเฉพาะเเยกจากก่อสร้าง ยันผู้ขับต้องผ่านอบรมภาคทฤษฎี-ปฏิบัติ จากกระทรวงเเรงงาน
จากเหตุการณ์เครน (ปั้นจั่น) ก่อสร้างต่อเติมคอนโดมีเนียมปรับเป็นโรงแรมริเวอร์ การ์เดน ของบริษัท ริเวอร์ การ์เด้น จำกัด มีนายวรพล อุดมโชคปีติ เป็นผู้จัดการโครงการ ถล่มลงมาโดนหลังคาที่คลุมสนามบาสเกตบอลของโรงเรียนอัสสัมชัญ คอนแวนต์ กทม. ซึ่งตั้งอยู่ติดกัน เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2562 เป็นเหตุให้แผ่นโครงเหล็กหลังคาและอุปกรณ์ก่อสร้างถล่มลงมายังชั้นล่าง ซึ่งขณะเกิดเหตุมีนักเรียนกำลังนั่งรวมแถวอยู่ภายในสนามบาสเกตบอล ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 10 ราย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 20 มิ.ย.62 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา และนายหฤษฏ์ ศรีนุกูล อนุกรรมการยกหิ้วและปั้นจั่นไทย ลงพื้นที่ตรวจสอบในพื้นที่เกิดเหตุดังกล่าว
รศ.เอนก กล่าวถึงสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากเครนก่อสร้าง ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีไปแล้วกว่า 20 ครั้ง ซึ่งได้สร้างผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนและผู้สัญจร รวมทั้งความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากมาย และยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามปริมาณกิจกรรมของการก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คอนโดมิเนียม รวมไปถึงโครงการขนาดใหญ่รูปแบบต่าง ๆ
ทั้งนี้ การติดตั้งเครนไม่จำเป็นที่จะต้องขออนุญาตแยกจากการขออนุญาตการก่อสร้าง แต่จะต้องแจ้งให้กับคนที่จะติดตั้งหรือเจ้าของอาคาร ทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับและหลักความปลอดภัย เช่น ตามข้อบัญญัติ กทม.ห้ามส่วนใดส่วนหนึ่งของเครนออกนอกพื้นที่ก่อสร้าง การแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตั้งเครน ควรมีการแจ้งเพื่อติดตั้งเครน ซึ่งต้องมีผู้รับผิดชอบความปลอดภัยลงนามกำกับ ผู้ดำเนินการการก่อสร้างผู้ดำเนินการก่อสร้างหรือเจ้าของอาคารต้องทำประกันภัยบุคคลที่ 3
ด้าน นายหฤษฏ์ กล่าวถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ว่า เกิดจากการติดขัดของระบบ (ช็อกโหลด) ยกขึ้นติด จึงสะบัด เเละหงายหลังในที่สุด
ส่วนการใช้เครนให้ปลอดภัยนั้นจะต้องมีบุคลากร 4 กลุ่ม ที่เกี่ยวข้อง คือ ผู้ขับเครน ซึ่งจะต้องผ่านการอบรมความรู้และทักษะความเชี่ยวชาญตามมาตรฐาน ผู้ให้สัญญาณ ผู้รัดวัสดุ และผู้ควบคุมการใช้เครน
“มีการอบรมผู้ขับเครน 2 รูปแบบ คือ ภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อนำไปสอบรับใบอนุญาตขับขี่ โดยผู้ฝึกอบรมจะเป็นวิทยากรจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน อย่างไรก็ตาม ต่อให้มีใบอนุญาต หากไม่ใส่ใจก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้” อนุกรรมการยกหิ้วและปั้นจั่นไทย กล่าว และว่า กรณีนี้ คาดเป็นข้อบกพร่องของผู้ใช้เครน โดยเกิดจากความประมาท ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการตามหาตัวผู้ขับเครน เพื่อนำมาตรวจสอบคุณสมบัติว่ามีใบอนุญาตขับหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า วสท. ยังมีข้อแนะนำสำหรับประชาชน กรณีข้างบ้านมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ดังนี้
1.ก่อนเริ่มการก่อสร้าง ผู้ควบคุมงานหรือผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างจะต้องติดต่อกับเจ้าบ้านหรืออาคารข้างเคียงโดยรอบ เพื่อทำการสำรวจสภาพปัจจุบันของอาคารรายรอบแต่ละหลัง เพื่อเป็นข้อมูลในการเตรียมการป้องกันปัญหาเบื้องต้น ซึ่งเจ้าของโครงการก่อสร้างมักจะทำประกันเพื่อชดใช้ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้นหากมีการก่อสร้างแล้วไม่มีผู้ติดต่อขอมาตรวจสอบ จะต้องถ่ายภาพสภาพปัจจุบันของบ้านหรืออาคารของตนเองเก็บไว้เป็นหลักฐาน
2.สำรวจสภาพภายใน และภายนอกบ้านหรืออาคาร หากพบว่ามีพื้นที่ส่วนใดที่เสี่ยงต่อการพังทลาย เช่น ส่วนต่อเติมที่มีความเสียหายอยู่แล้ว แนะนำให้ติดต่อผู้รับเหมาให้มาดำเนินการค้ำยันให้แข็งแรงก่อนที่จะพังในขณะที่มีการก่อสร้าง
3.ช่วงการก่อสร้างชั้นใต้ดินจะเป็นงานที่มักจะมีผลกระทบต่ออาคารข้างเคียงมากที่สุด เพราะดินอาจเลื่อนตัวได้ ทำให้อาคารแตกร้าวเสียหายได้ค่อนข้างมาก หากเจ้าของบ้านพบความผิดปกติ เช่น ผนังเกิดรอยแตกร้าวขึ้น พบรอยแตกที่พื้นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากต้องรีบแจ้งผู้รับเหมาให้มาตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อหาวิธีปรับแก้การทำงานเพื่อลดผลกระทบ
4.หากได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง เช่น ฝุ่นผง เสียง กลิ่น และรวมไปถึงความสั่นสะเทือนจากการทำงาน เจ้าของบ้านควรขอเบอร์โทรศัพท์ผู้ที่รับผิดชอบเพื่อแจ้งให้ปรับปรุงวิธีการทำงาน หรือในบางกรณีที่ไม่สามารถดำเนินแก้ไขได้ผู้รับเหมาก่อสร้างมีหน้าที่จะต้องดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ติดตั้งแผงกันวัสดุ แผงบังฝุ่น ผนังกันเสียงเพื่อลดเสียง หรือแม้แต่ย้ายผู้ได้รับผลกระทบออกจากพื้นที่ชั่วคราว
อ่านประกอบ: ย้อนบทเรียนเครนถล่ม ‘นายกสภาวิศวกร’ แนะสนง.เขต เข้มงวด พบประมาท ‘ขึ้นบัญชีดำ’
ไม่ใช่ครั้งแรก- กทม.ย้ายหน.ฝ่ายโยธาเขตบางรัก หลังเครนหล่นใส่หลังคา ร.ร.อัสสัมชัญฯ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/