- Home
- Isranews
- ผ่านมา 15 ปี ไม่คิดว่าจะมีอะไรอีก! เปิดใจ 'นพ.สุรชัย' แจงเบื้องลึกจัดซื้ออุปกรณ์แพทย์ กทม.
ผ่านมา 15 ปี ไม่คิดว่าจะมีอะไรอีก! เปิดใจ 'นพ.สุรชัย' แจงเบื้องลึกจัดซื้ออุปกรณ์แพทย์ กทม.
"....ก่อนหน้าที่จะมีการพิจารณาราคากันนั้น มีบริษัทเอกชนรายหนึ่งที่ซื้อซอง แต่ไม่ได้เข้าร่วมแข่งขันออกมาร้องเรียน บริษัทนี้พยายามจะส่งจดหมายมาบอกว่าเขาไม่สามารถยื่นซองประกวดราคาได้ เพราะว่าราคาของผลิตภัณฑ์ที่เขามีและตรงสเปกนั้นจะเกินราคากลางที่คณะกรรมการกำหนดไปประมาณล้านกว่าบาท แล้วเขาก็ขอให้ทางเรายกเลิกการประกวดราคาในครั้งนี้ โดยมองว่ามันอาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับบางบริษัทหรือไม่..."
นพ.สุรชัย ทรัพย์โมกข์ ปรากฎชื่อเป็น 1 ใน 6 กลุ่มนายแพทย์และพยาบาลวิชาชีพ ของ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีเอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคาบางราย ได้มีสิทธิทำสัญญาในการจัดซื้อชุดตรวจ และบันทึกสัญญาณทางสรีรวิทยา แบบศูนย์รวมสำหรับ 7 เตียง และ เครื่องเฝ้าติดตามการทำงานของหัวใจ พร้อมวัดอัตราการหายใจ ความดันโลหิตแบบภายในและ ภายนอก พร้อมวัดปริมาณก๊าซ ในขณะดมยาสลบและความผิดปกติ ของสมองพร้อมอุปกรณ์และ ระบบบันทึก (อ่านประกอบ:ป.ป.ช.เชือดกราวรูด 'หมอ-พยาบาล' สำนักการแพทย์ กทม. 6 ราย-เอกชน 2 เอื้อปย.ซื้อชุดตรวจ)
ล่าสุดในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.สุรชัย ทรัพย์โมกข์ ซึ่งปัจจุบันเกษียณอายุราชการไปแล้ว เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีดังกล่าว
โดย นพ.สุรชัย ยืนยันกับสำนักข่าวอิศราว่า การจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ในคดีดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยมุ่งเน้นประโยชน์ ความคุ้มค่าของสำนักการแพทย์เป็นสำคัญ
“ผมต้องเล่าก่อนว่ากรณีนี้นั้นมันมีการแข่งประกวดราคาเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน ช่วงประมาณปี 2547 มีบริษัทมาซื้อซองอุปกรณ์การแพทย์อยู่ประมาณ 5 บริษัท แต่เวลาส่งซองเข้าชิงนั้น ปรากฏว่ามี 2 บริษัทที่แข่งขันกัน คือ บริษัท ไพร์ม เมดิคอล จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอ.ซี.อุปกรณ์การแพทย์ ที่สามารถสู้ราคาได้ตามเงื่อนไข"
"โดยการสั่งซื้อนั้นเป็นความต้องการของเราที่จะเปิดห้องฉุกเฉิน ซึ่งเราสั่งเครื่องมือรุ่นใหม่ที่ใช้ระบบดิจิตัล เพื่อลดกำลังพลการแพทย์ในการดูแลคนไข้ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางหัวใจ ซึ่งระบบนี้นั้นมีใช้ในต่างประเทศแล้ว แต่เมืองไทยยังไม่มีใช้ โดยคุณลักษณะของอุปกรณ์ที่ว่ามานั้นสามารถติดตามการเต้นของคลื่นหัวใจ สถานะและความผิดปกติต่างๆได้จากทุกที่ แตกต่างจากเครื่องมือเก่าที่บุคลากรทางการแพทย์จะต้องจะต้องเฝ้าหน้าจอ ดูที่หน้างานเครื่องมือตลอดเวลา"
นพ.สุรชัย ยังชี้แจงต่อว่า "ดังนั้น จึงมีตั้งงบราคากลางการจัดซื้อประมาณ 5.5 ล้านบาท และเราก็ตรวจคุณสมบัติของบริษัททั้งคู่แล้ว มีหนังสือรับรองเรียบร้อยทั้ง 2 บริษัท อย่างไรก็ตาม พอตรวจสอบดูก็พบว่า หจก.ไอ.ซีฯ นั้น ไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายจากบริษัทในต่างประเทศจริง ก็เลยมีการเพิกถอน หจก.ไอซีฯไป จึงทำให้เหลือแค่บริษัทไพรม์ เมดิคอล เพียงบริษัทเดียว"
นพ.สุรชัย ยังระบุด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะมีการพิจารณาราคากันนั้น มีบริษัทเอกชนรายหนึ่งที่ซื้อซอง แต่ไม่ได้เข้าร่วมแข่งขันออกมาร้องเรียน
"บริษัทนี้พยายามจะส่งจดหมายมาบอกว่าเขาไม่สามารถยื่นซองประกวดราคาได้ เพราะว่าราคาของผลิตภัณฑ์ที่เขามีและตรงสเปกนั้นจะเกินราคากลางที่คณะกรรมการกำหนดไปประมาณล้านกว่าบาท แล้วเขาก็ขอให้ทางเรายกเลิกการประกวดราคาในครั้งนี้ โดยมองว่ามันอาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับบางบริษัทหรือไม่ โดยเขาได้พยายามเสนอขายเครื่องมือการแพทย์ที่เคยขายให้กับเราประมาณ 4 ล้านกว่าบาท"
"แต่เรามองว่าอุปกรณ์มันเป็นแบบอนาล็อกที่เราไม่ต้องการ เราก็เลยไม่เอา และต่อมาบริษัทแห่งนี้ก็สืบทราบในภายหลังเช่นเดียวกับที่เราสืบทราบว่าทางหจก.ไอซีนั้นไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายจากต่างประเทศจริง เขาก็เลยจะดำเนินการทางกฎหมายกับเราว่าไปเอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งในการแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งตรงนี้ผมมองว่าเขาเสียผลประโยชน์มากกว่า"
"ต่อมาหลังจากที่เราได้ของมาแล้วประมาณ 1 ปี ทางบริษัทนี้ก็ได้ดำเนินการฟ้องเราข้อหาว่าปล่อยให้การจัดซื้อนั้นเหลือแค่บริษัทเดียว ส่วนชื่อบริษัทนี้ผมคงขอไม่เอ่ยดีกว่า เพราะขณะนี้คดียังไม่สิ้นสุด ถ้าเอ่ยชื่อไปเดี๋ยวจะมีปัญหาตามมาได้"
ส่วนการเตรียมฟ้องในการต่อสู้คดีหลังถูก ป.ป.ช.ชี้มูลนั้น นพ.สุรชัย กล่าวว่า "โดยส่วนตัวไม่ได้คิดว่าเรื่องนี้จะมีปัญหาอะไร แต่ทาง ป.ป.ช.ก็พยายามสอบถามในประเด็นว่า เมื่อเหลือแค่บริษัทเดียว ทำไมถึงไม่หยุดกระบวนการจัดซื้อ ผมก็ชี้แจง ป.ป.ช.ไปชัดเจนแล้วว่าไม่ได้คิดว่าเอกชนรายนี้มันปลอม เพราะที่ผ่านมาก็เข้ามาดูแลอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับสำนักการแพทย์โดยตลอด "
"จริงๆแล้วถ้าเราทราบว่ามันเหลือแค่บริษัทเดียว เราก็สามารถขอไปทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้จัดซื้อด้วยวิธีพิเศษได้ แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีเอกชน 2 รายมาแข่งขันกัน เราก็เลยไม่ได้ใช้วิธีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้นั้นทางกทม. ก็ได้ลงโทษภาคทัณฑ์ไปแล้ว ซึ่งผมก็ไม่ได้คิดว่าจะมีประเด็นอื่นๆตามมาอีกโดยเฉพาะในช่วงเวลา 15 ปีหลังจากวันนั้น"
นพ.สุรชัย ยังกล่าวย้ำว่า "ผมต้องขอเรียนว่ากรณีการจัดซื้อนั้น มีการเปิดซองประมูลให้ซื้อซอง กำหนดลักษณะของเอกชนกันก่อนว่าใครสามารถเข้าร่วมการจัดซื้อได้ คณะกรรมการจัดซื้อนั้นคงไม่ได้เอาคุณลักษณะของเอกชนรายใดรายหนึ่ง มาทำสเปคเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ใครอย่างแน่นอน"
"กรณีการจัดซื้อครั้งนี้นั้นผมก็ต้องขอเรียนว่าเป็นการดำเนินการที่มีความโปร่งใสและเน้นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเป็นสำคัญ ณ วันนี้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จัดซื้อมาในครั้งนั้นก็ยังคงสามารถใช้งานได้ดีอยู่"
"สำหรับการดำเนินการทางกฎหมายที่ผ่านมานั้น ทางสำนักการแพทย์ ก็ได้มีการขึ้นบัญชีดำกับทางหจก.ไอ.ซีฯ ไปแล้วในประเด็นเรื่องที่เขาไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายจากบริษัทต่างประเทศจริง ส่วนทิศทางการต่อสู้ในคดีหลังจากนี้นั้นก็คงจะต้องมีการยื่นเรื่องไปยังศาลให้พิจารณากันต่อไป"
ทั้งหมดนี่ คือ คำชี้แจงและท่าที ของ นพ.สุรชัย ทรัพย์โมกข์ ภายหลังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดในคดีการจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ตามที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:
เกษียณเกือบหมดแล้ว! สำนักการแพทย์ แจงกรณี ป.ป.ช.ชี้มูล 6 หมอ-พยาบาล รอผู้ว่าฯ รับเรื่อง
ป.ป.ช.เชือดกราวรูด 'หมอ-พยาบาล' สำนักการแพทย์ กทม. 6 ราย-เอกชน 2 เอื้อปย.ซื้อชุดตรวจ