เกษียณเกือบหมดแล้ว! สำนักการแพทย์ แจงกรณี ป.ป.ช.ชี้มูล 6 หมอ-พยาบาล รอผู้ว่าฯ รับเรื่อง
'สมชาย จึงมีโชค' ผอ.สำนักการแพทย์ กทม. แจงกรณี ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด นายแพทย์-พยาบาล 6 ราย พร้อมกก.บริษัท-หุ้นส่วนหจก. 2 ราย คดีเอื้อปย.จัดซื้อชุดตรวจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นเรื่องเก่าเกิดมากว่า 10 ปีแล้ว ผู้ถูกชี้มูลโดนไต่สวนตั้งแต่สมัยเป็นขรก.ตัวเล็ก ปัจจุบันเกษียณลาออกราชการไปเกือบหมดแล้ว ส่วนการลงโทษทางวินัย รอผู้ว่าฯ รับเรื่องส่งต่อเข้า ก.ก. พิจารณาตามขั้นตอน
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.2562 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ข้าราชการสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และตัวแทนบริษัทเอกชน จำนวนรวม 8 ราย ประกอบไปด้วย 1. นายสุรชัย ทรัพย์โมกข์ นายแพทย์ 7 วช. สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 2. นายพิพัฒน์ เกรียงวัฒนศิริ นายแพทย์ 7 วช. สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 3. นายประเสริฐ โอภาสเมธีกุล นายแพทย์ 7 วช. สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 4. นางสาวสุภคณา การุณ นายแพทย์ 6 วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์และวชิรพยาบาล สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 5. นางขวัญใจ พรรณมณีทอง พยาบาลวิชาชีพ 6ว. วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ และวชิรพยาบาล สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 6. นางสาวกนกวรรณ บางเสงี่ยม พยาบาลวิชาชีพ 6 ว. วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ และวชิรพยาบาล สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 7. นายไพบูลย์ หาญดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพร์ม เมดิคอล จำกัด 8. นายอนุวัชร ปิยพงศ์ผาติ หุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอ.ซี.อุปกรณ์การแพทย์
ในคดี เอื้อประโยชน์ให้ผู้เสนอราคาบางราย ได้มีสิทธิทำสัญญาในการจัดซื้อชุดตรวจ และบันทึกสัญญาณทางสรีรวิทยา แบบศูนย์รวมสำหรับ 7 เตียง และ เครื่องเฝ้าติดตามการทำงานของหัวใจ พร้อมวัดอัตราการหายใจ ความดันโลหิตแบบภายในและ ภายนอก พร้อมวัดปริมาณก๊าซ ในขณะดมยาสลบและความผิดปกติ ของสมองพร้อมอุปกรณ์และ ระบบบันทึก (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.เชือดกราวรูด 'หมอ-พยาบาล' สำนักการแพทย์ กทม. 6 ราย-เอกชน 2 เอื้อปย.ซื้อชุดตรวจ)
(นายสมชาย จึงมีโชค ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม./ที่มาภาพจากhttp://www.prbangkok.com)
ล่าสุด ในช่วงสายวันที่ 13 มิ.ย.2562 ที่ผ่านมา นายสมชาย จึงมีโชค ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์สำนักข่าวอิศราว่า เกี่ยวกับคดีนี้ เพิ่งได้รับทราบเรื่องจากข่าวที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอเช่นกัน แต่เท่าที่ทราบเป็นเรื่องเก่าที่เกิดขึ้นมาประมาณกว่า 10 ปีแล้ว ป.ป.ช. น่าจะเพิ่งไต่สวนคดีเสร็จ จึงมีการเผยแพร่ข้อมูลออกมาเป็นทางการ
"เท่าที่อ่านจากข่าว ตามขั้นตอนทาง ป.ป.ช. คงจะส่งเรื่องไปยังผู้ว่าราชการกทม. ให้พิจารณา และคงจะมีการนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร หรือ ก.ก. พิจารณาโทษทางวินัยผู้ถูกชี้มูลตามที่ ป.ป.ช.แจ้งรายชื่อมาเป็นทางการ เรื่องคงไม่ได้มาผ่านที่ สำนักการแพทย์ โดยตรง ตอนนี้ก็ต้องรอดูว่าผลการพิจารณาของ ก.ก. จะออกมาเป็นอย่างไร แต่เท่าที่ดูรายชื่อผู้ถูกชี้มูลตามข่าว มีหลายคนที่เกษียณอายุราชการ และลาออกจากราชการไปแล้ว"
เมื่อถามถึงรายละเอียดการจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ นายสมชาย กล่าวว่า "ไม่ค่อยทราบรายละเอียดเหมือนกัน เพราะอย่างที่บอกไปเป็นเรื่องเก่าที่เกิดขึ้นมานานเป็น10ปีแล้ว ไม่แน่ใจว่าตอนที่เกิดเรื่องในขณะนั้น การจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์เหล่านี้ ถูกยกเลิก หรือดำเนินการจัดซื้อต่อ "
เมื่อถามว่า จากการตรวจสอบข้อมูลนายแพทย์และพยาบาลที่ถูกชี้มูลความผิด เบื้องต้นพบว่า มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานสังกัดสำนักการแพทย์หลายคน นายสมชาย กล่าวว่า "ตอนที่เกิดเรื่องบุคคลเหล่านี้ ยังเป็นข้าราชการระดับเล็กๆ และคงได้รับมอบหมายให้เข้ามาทำหน้าที่ เป็นคณะกรรมการพิจารณากำหนด รายละเอียดหรือคุณลักษณะเฉพาะของอุปกรณ์เครื่องมือที่จัดซื้อกัน แต่หลังจากที่เกิดเรื่องขึ้น ป.ป.ช.รับเรื่องไต่สวน ยังไม่ได้มีการชี้มูลความผิดอะไร บุคคลเหล่านี้ ก็ถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ก็ทำงานตามปกติและเติบโตกันขึ้นมาเรื่อยๆ ส่วนรายละเอียดในขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของพวกเขาในช่วงนั้น มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง ผมไม่ทราบเหมือนกัน ซึ่งในส่วนของ นายสุรชัย ทรัพย์โมกข์ นายพิพัฒน์ เกรียงวัฒนศิริ ปัจจุบันเกษียณอายุราชการไปแล้ว ส่วนนายประเสริฐ โอภาสเมธีกุล ก็กำลังจะเกษียณราชการในปีนี้"
อนึ่งก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรารายงานไปแล้วว่า ในการชี้มูลความผิดของป.ป.ช.ในคดีนี้ นายสุรชัย ทรัพย์โมกข์ นายพิพัฒน์ เกรียงวัฒนศิริ และนายประเสริฐ โอภาสเมธีกุล ถูกชี้มูลในฐานะคณะกรรมการพิจารณากำหนด รายละเอียดหรือคุณลักษณะเฉพาะ และ คณะกรรมการพิจารณาผลการ ประกวดราคาการจัดซื้อชุดตรวจและ บันทึกสัญญาณทางสรีรวิทยาแบบศูนย์รวม สำหรับ 7 เตียง จำนวน 2 ชุด มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 157 และ ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมีอำนาจหรือหน้าที่ในการอนุมัติ การพิจารณาหรือการดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอราคาครั้งใด รู้หรือมีพฤติการณ์ปรากฏแจ้งชัดว่าควรรู้ ว่าการเสนอราคาในครั้งนั้นมีการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัตินี้ ละเว้นไม่ดำเนินการ เพื่อให้มีการยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับ การเสนอราคา ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน ของรัฐหรือผู้ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐ โดยทุจริตทำการออกแบบ กำหนดราคา กำหนดเงื่อนไข หรือกำหนดผลประโยชน์ตอบแทน อันเป็นมาตรฐานในการเสนอราคา โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการ เสนอราคาอย่างเป็นธรรม หรือเพื่อช่วยเหลือ ให้ผู้เสนอราคารายใดได้มีสิทธิเข้าทำสัญญา กับหน่วยงานของรัฐโดยไม่เป็นธรรม หรือเพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใดมิให้ มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่าง เป็นธรรม และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ใน หน่วยงานของรัฐกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคา อย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้า ทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิ ทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยว กับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือ ผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริต ต่อหน้าที่ราชการ และฐานปฏิบัติหน้าที่ ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็นเหตุให้ เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ พลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 85 วรรคสอง ประกอบ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 8
ส่วน นางสาวสุภคณา การุณ นางขวัญใจ พรรณมณีทอง และนางสาวกนกวรรณ บางเสงี่ยม ในฐานะคณะกรรมการกำหนดรายละเอียด และคุณลักษณะเฉพาะของเครื่องเฝ้าติดตาม การทำงานของหัวใจ พร้อมวัดอัตราการหายใจ ความดันโลหิตแบบภายในและภายนอก พร้อมวัดปริมาณก๊าซขณะดมยาสลบและ ความผิดปกติทางสมอง พร้อมอุปกรณ์และ ระบบบันทึก จำนวน 1 ชุด มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย ความอุตสาหะ เอาใจใส่ และ ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ พลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 84 วรรคหนึ่ง และ มาตรา 85 วรรคหนึ่ง ประกอบ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 8
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/