สีสันสภา! วิวาทะ‘ปิยบุตร-คารม’ vs ‘เสรี’ปมหนุน-ต้าน‘บิ๊กตู่-ธนาธร’นั่งนายกฯ?
“กระบวนการสืบทอดอำนาจกำลังจะได้เข้าเส้นชัยวันนี้แล้ว แรงสุดท้ายจริง ๆ ขอแรง ส.ส. ช่วยกันหยุดยั้งครั้งนี้ด้วยการไม่ลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ vs การพิจารณาเป็นคุณสมบัติห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีของคุณธนาธร จะมีน้ำหนักมากกว่าที่จะไม่เหมาะสม ยังไม่วินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติหรือไม่ แต่ถ้าพูดถึงกับสิ่งที่เป็นคดีเกิดขึ้น หัวหน้าอนาคตใหม่ มีข้อด่างพร้อยมากกว่า”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีวาระการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อภิปรายกรณีคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯพรรคพลังประชารัฐ ต่อมานายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายกรณีคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แคนดิเดตนายกฯพรรคอนาคตใหม่ โดยมีการพาดพิงถึงนายคารม พลพรกลาง รวมถึงประเด็นเรื่อง ‘เผาบ้านเผาเมือง’ และ ‘จริยธรรมทางการเมือง’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงกรณี ‘ถือครองหุ้นสื่อ’ ของนายธนาธร ด้วย มีรายละเอียด ดังนี้
----
@ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่
วันนี้เป็นวันสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะนายกฯคนใหม่ จะเป็นนายกฯคนแรกหลังรัฐประหารเมื่อปี 2557 ดังนั้นการพูดคุยเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ผมไม่ได้พูดว่าใครดีกว่าใคร แต่เดินตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญ แคนดิเดตนายกฯ 2 คนนี้ใครมีคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 ไม่ใช่เวทีแถลงว่าใครดีกว่าใคร ไม่พูดว่าใครเหมาะกว่าใคร ใครเก่งกว่าใคร แต่จะพูดตามมาตรา 160
บุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯท่านหนึ่ง น่าจะขาดคุณสมบัติมีลักษณะต้องห้ามเป็นนายกฯ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 159 เขียนว่า จะต้องมีไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 เราตั้งประเด็นไว้ตรงไหน ตัว พล.อ.ประยุทธ์ มีลักษณะต้องห้าม มีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 160 (5) มาตรฐานจริยธรรมออกมาแล้ว โดยศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้บังคับใช้กับ ส.ส. ส.ว. และนายกรัฐมนตรีด้วย
มาตรฐานจริยธรรมฉบับนี้ประกาศใช้ ม.ค. 2561 การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมหมวด 1 ถือว่า มีลักษณะร้ายแรง คือ หมวดอันเป็นอุดมการณ์ ตั้งแต่ข้อที่ 5-10 ไล่ดูแล้ว น่าจะขัดทุกข้อ แต่เพื่อไม่รบกวนเวลา ขออภิปรายตามข้อ 5 บัญญัติว่า ต้องยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ
การปกครองระบอบประชาธิปไตยฯนั้น มีลักษณะสำคัญอย่างไรบ้าง ในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย ตั้งแต่ปี 2490 จนถึงปี 2560 ทุกฉบับรับรองตรงกันหมดว่า ประเทศไทยปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัริย์ทรงเป็นประมุข (ต่อไปจะย่อว่า ระบอบประชาธิปไตยฯ-ผู้เขียน) ดังนั้นนี่คือหัวใจของรัฐธรรมนูญไทย เนื้อหาสำคัญคือ เวลาพูดถึงหมวดทั่วไป มาตราต้น ๆ ของรัฐธรรมนูญแสดงถึงเอกลักษณ์ของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ โดยหมายรวมถึงอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องยึดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ เสมอภาค และรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด
“เขาเรียกว่า Constitutional Identity จะแตะต้องเรื่องพวกนี้ไม่ได้ สำคัญทุกยุคทุกสมัย”
ที่พูดมาว่า พฤติการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะฝ่าฝืน เวลาดูคำตามกฎหมาย ให้ดูว่า มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนต่อการปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมหรือไม่ ใครมีพฤติกรรมอย่างไร ไม่สามารถดูได้ชั่วข้ามคืน ต้องสะสมไปเรื่อย ๆ ว่ามีพฤติกรรมเหล่านั้นหรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ได้แต่ใดมา คำตอบคือ 22 พ.ค. 2557 ช่วงเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์ เป็น ผบ.ทบ. ข้าราชการประจำ อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายกฯ และ รมว.กลาโหม จากรัฐบาลเลือกตั้ง แต่ตัวท่านตัดสินใจรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 หลังจากนั้นตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ปกครองไทยโดยไม่มีรัฐธรรมนูญเลย แต่ปกครองโดยใช้คำสั่งของท่านแต่เพียงผู้เดียว เรียกกันตามกฎหมายของไทย คือรัฏฐาธิปัตย์ หลังจากนั้นจึงมีการตรารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ออกมา
“รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตราสุดท้ายนิรโทษกรรมการก่อการรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค. 2557 ความข้อนี้หมายความว่า ตัว พล.อ.ประยุทธ์ รู้แก่ใจว่า การยึดอำนาจเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ถ้ารู้ว่าไม่ผิด ก็ไม่ต้องนิรโทษกรรม ผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 คือความผิดฐานกบฏ ล้มล้างรัฐธรรมนูญ โทษสูงสุดประหาร หรือจำคุกตลอดชีวิต เมื่อทราบแก่ใจว่ามีความผิดฐานกบฏ ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 จึงนิรโทษกรรม สะท้อนถึงการรัฐประหารคืออาชญากรรมสูงสุดในระบอบประชาธิปไตยฯ คือฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งทั้งฉบับ และยึดอำนาจปกครองประเทศ โดยตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจสูงสุดเด็ดขาด”
ความข้อนี้แสดงให้เห็นอยู่เองว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ยึดมั่น หรือธำรงระบอบประชาธิปไตย ถ้ายึดมั่น หรือธำรงรักษาไว้จริง จะต้องไม่ก่อรัฐประหาร ต้องไม่ยึดอำนาจ และต้องไม่ใช้กำลังทางอาวุธฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งทั้งฉบับ
ขณะที่มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 บัญญัติให้ หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ใช้แล้วให้ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมายทั้งหมด คือจะทำอะไรก็ได้ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น หัวหน้า คสช. เพียงคนเดียว
ส่วนประเด็นคำถามพ่วงในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 คือมาตรา 272 ให้วุฒิสภามีโอกาสเห็นชอบเลือกนายกฯ 5 ปีแรก ประชาชนไม่เข้าใจ อ่านดูแล้วไม่มีวันเข้าใจได้เลย ทุกวันนี้กลับไปถาม ตอนไปกาทราบหรือไม่ว่า สว มีโอกาสเลือกนายกฯ เขาบอกอ่านยังไงก็ไม่เข้าใจ ผลก็ออกมา ไม่นับว่าตอนรณรงค์ประชามติ เอกสารของฝ่ายรณรงค์ให้รับ เต็มไปหมด มีเสรีภาพในการรณรงค์เต็มไปหมด แต่ฝ่ายไม่รับ แทบไม่มีโอกาสรณรงค์เลย มีคุกมีตะรางด้วย
ทั้งหลายทั้งปวงที่พูดไป ยืนยันว่า มีพฤติกรรมขัดกับหลักการประชาธิปไตยฯ เน้นย้ำ เพราะมาถึงวันนี้ มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น บ้านเมืองกำลังกลับเข้าสู่ระบบปกติ กลไกรัฐธรรมนูญ คำถามพ่วงต่าง ๆ แสดงให้เห็นขบวนการสืบทอดอำนาจ ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา เวลาคณะรัฐประหารยึดอำนาจ ไม่ช้าก็เร็ว ต้องกลับไปเลือกตั้ง แต่บางคณะครองอำนาจไปมา ติดใจ อยากสืบทอดอำนาจต่อ ใช้กลไกต่าง ๆ เข้ามา รัฐธรรมนูญปี 2560 มีนัยไปทิศทางนั้นตอนปี 2535 หลายพรรค ตอนนั้นผมเป็นเด็ก ติดตามข่าวต่าง ๆ นักการเมืองหลายคนพยายามช่วยกันยับยั้งสืบทอดอำนาจ เรียนว่า มาจากการเลือกตั้ง มีโอกาสสุดท้ายจริง ๆ ร่วมแรงร่วมใจกันเลิกสืบทอดอำนาจของหัวหน้า คสช. จะเห็นหรือไม่ สุดแท้แต่ว่า เขาอยากออกไปจากอำนาจแบบเดิม ดังนั้นอย่าพยายามปล่อยปละละเลย จนลื่นไถล และเกิดเหตุการณ์ปี 2535 สุดท้ายสืบทอดอำนาจสำเร็จ จบด้วยโศกนาฏกรรม
“สภาผู้แทนราษฎรต้องรับผิดชอบต่อประชาชนในจุดนี้ มีโอกาสหยุดยั้งสืบทอดอำนาจ กลับมาบริหารกันในระบบปกติ มาว่ากันใหม่ เริ่มต้นกันใหม่ ยับยั้งไม่ให้เหตุการณ์ลงท้องถนน แล้วจบแบบปี 2535 กระบวนการสืบทอดอำนาจกำลังจะได้เข้าเส้นชัยวันนี้แล้ว แรงสุดท้ายจริง ๆ ขอแรง ส.ส. ช่วยกันหยุดยั้งครั้งนี้ด้วยการไม่ลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ ส่วน ส.ว. ได้รับการแต่งตั้งเป็นอิสระจาก คสช. ผู้แต่งตั้งท่านแล้ว โอกาสทอง ช่วยกันงดออกเสียง อย่าลงมติให้ความเห็นชอบ พล.อ.ประยุทธ์”
@เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.
หากพิจารณาคุณสมบัติ เห็นด้วย ที่สมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติเมื่อสักครู่ (นายปิยบุตร) มาเปรียบเทียบพิจารณาดู แต่การเปรียบเทียบพิจารณาดูดังกล่าว ควรจะเปรียบเทียบไปพร้อม ๆ กัน ว่าท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ของพรรคการเมืองดังกล่าว มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยว่าใครเหมาะสมกว่ากัน
สิ่งหนึ่งที่ต้องกราบเรียนก่อนว่า สมาชิกวุฒิสภา ทุกท่านที่เข้ามา มีอิสระ ไม่ได้มีสิ่งใดที่จะต้องมาตอบแทนใคร อย่างที่เมื่อกี้ท่านสมาชิกได้อภิปรายไป จะพิจารณาเรื่องนี้ด้วยเหตุผล จะพิจารณาเรื่องเหล่านี้ด้วยข้อมูล
ในสถานการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมา เมื่อท่านสมาชิกได้กรุณาพูดถึงว่าท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขาดคุณสมบัติในเรื่องจริยธรรม ไม่เหมาะสมเป็นนายกฯ มาในช่วงที่ผ่านมา หรือมาโดยวิธีการรัฐประหารในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็ต้องดูข้อมูล จะเชื่อตามท่านหรือไม่ คิดว่าท่านพูดโดยข้อมูลท่าน
แต่ปัญหาไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราผ่านเหตุการณ์ในบ้านเมืองมามากมาย ไม่ใช่จู่ ๆ จะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. 2557 ไม่ใช่จู่ ๆ มีทหารเข้ามายึดอำนาจ ในช่วงเวลาดังกล่าว บ้านเมืองวิกฤติ ผมอยู่ในเหตุการณ์นั้นตลอดเวลา บ้านเมืองมีความแตกแยก บ้านเมืองมีความอลหม่าน ชุมนุมกันแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ประชาชนออกมาสู้รบ ประหัตประหารซึ่งกันและกัน สู้รบกันเองจนบ้านเมืองวิกฤติ แทบจะเป็นกลียุค อลหม่านไปหมด ปิดถนนกันเป็นปี ๆ ลามไปยังต่างจังหวัด
“มีการเผาบ้านเผาเมือง เพราะฉะนั้น สถานการณ์เหตุการณ์อย่างนี้ มันเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง คนในครอบเดียวกันแบ่งเป็นฝักฝ่าย ยังทะเลาะกันเอง สิ่งที่มันเกิดขึ้นในบ้านเมืองไทย”
@คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่
ในระหว่างนี้นายคารม พลพรกลาง ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ได้ประท้วงขึ้นว่า ท่านเสรี เป็น ส.ว. เรียบร้อยแล้ว วันนี้ยกมือออกจากบ้าน ก็เลือก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องมาตีฝีปาก สอนนักการเมือง ผมในฐานะ ส.ส. ท่านสมาชิกท่านนี้ (นายเสรี) ก่อนมาวันนี้ เราเคารพวิธีชอบท่านชอบรัฐประหาร ท่านชอบไป ท่านไม่มีหน้าที่มาบังคับ เสี้ยมสอน สั่งสอนพวกผม เผาบ้านเผาเมือง อย่ามาตีกิน ใช้ความเก๋าทางการเมืองมารับใช้อำนาจที่ท่านชาติ ไม่มีใครกลัวใคร ถ้าอยู่ในสภาแห่งนี้
นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ระบุว่า ขอให้การอภิปรายไม่ให้กระทบบุคคลใด เป็นเรื่องราวในทางประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตามเพื่อรักษาบรรยากาศ ขอความกรุณา ท่านเสรี ให้เข้าประเด็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เหมาะสมอย่างไร กล่าวถึงคุณธนาธรหรือไม่ก็แล้วแต่ เอาเข้าประเด็น ห้ามพูดจาวนเวียน ซ้ำซาก ห้ามใส่ร้าย เสียดสีบุคคลใด
นายเสรี อภิปรายต่อว่า สิ่งที่อภิปรายอยู่ในเนื้อหา อภิปรายจากสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ได้อภิปรายไปก่อนหน้าตน ไม่ได้นอกเรื่อง นอประเด็น การพูดถึงเผาบ้านเผาเมือง ไม่ใช่สถานการณ์ของประเทศ ท่านมาเดือดร้อนเรื่องอะไร มารับสารภาพทำไม (นายพรเพชร แทรกขึ้นมาว่า ไปกันใหญ่แล้ว) เป็นห่วงท่านคารม (นายพรเพชร แทรกว่า ไม่ต้องเป็นห่วง)
หลังจากนั้นประมาณ 10-15 นาที นายเสรี กับนายคารม มีวิวาทะกันในประเด็นเรื่อง ‘ทนายความ’ โดยนายคารมอภิปรายทำนองว่า นายเสรีเป็นถึงทนายความ เรื่องเผาบ้านเผาเมืองมีคำพิพากษาของศาลฎีกามาแล้ว ทนายความที่ดีไม่ทำอย่างนี้ (นายพรเพชร แทรกขึ้นว่า ขอให้ไม่พูดถึงเรื่องทนายความ) อย่างไรก็ดีนายเสรี อภิปรายสวนทำนองว่า ทนายความที่ดีไม่พูดแบบนี้ ก็แสดงว่าผมไม่ดี เพราะฉะนั้นยังไม่ได้อะไรสักคำ ท่านว่าผมฉอด ๆ
@เสรี อภิปรายต่อ
ต้องกราบเรียนว่า สิ่งที่ได้อภิปรายไปนั้น เป็นข้อเท็จจริงว่า ที่ท่านกล่าวหาว่า คนที่ผมจะสนับสนุน ผมยอมรับ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ แต่ในเมื่ออภิปรายไม่เหมาะสมอย่างไร ก็เป็นสิทธิของผมว่า พล.อ.ประยุทธ์ เหมาะสมอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ข้างนอก ไม่ได้อภิปรายชี้แจง อยากให้สมาชิกท่านอื่นสนับสนุน ถ้าไม่อธิบาย ไม่ชี้แจง สมาชิกท่านอื่นเข้าใจผิด ก็ไม่ลงคะแนนให้ สิ่งที่ตั้งใจก็ไม่ได้รับการสนอง สิ่งที่อภิปรายอยู่ในขอบเขตสิ่งที่หารือกัน
สิ่งที่บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ กระทำผิดจริยธรรมนั้น ท่านไม่ได้กระทำผิดอะไรเลย สิ่งที่ทำหน้าที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นการแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ ไม่ได้มีเจตนา หรือกระทำการใด ๆ ต้องการปฏิวัติรัฐประหาร ทุกคนมีความเห็นแบบนั้น แต่เกิดจากปัจจัยของประเทศ ที่อยู่ในสภาพบังคับก่อให้เกิดเรื่องเหล่านั้น
สิ่งที่สมาชิกได้อภิปรายไปว่า มีการสืบทอดอำนาจนั้น ต้องทำความเข้าใจว่า ส.ว. แม้ได้รับการเลือกจาก คสช. ก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ที่กระบวนการบัญญัติ จะชอบหรือไม่ถูกใจอย่างไร แต่รัฐธรรมนูญก็เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่ทุกคนต้องปฏิบัติ และสมาชิกทั้งหลายที่มาในสภาแห่งนี้ได้ ท่านไม่ชอบ แต่ก็เข้ามาตามรัฐธรรมนูญ กระบวนการที่เกิดขึ้นหลังมีการเลือกตั้งแล้ว เราจะมี ส.ส. ส.ว. รัฐธรรมนูญบอกว่า ส.ว. ต้องทำหน้าที่ลงคะแนนเลือกนายกฯด้วย กระบวนการเหล่านี้ เป็นกระบวนการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ไม่ใช่เรื่องการสืบทอดอำนาจ คนได้รับการเสนอชื่อ ผ่านกระบวนการพรรคการเมือง
“ประชาชนไม่มีเสรีภาพตรงไหน ประชาชนมีเสรีภาพ คงมีจำกัดในเรื่องทางการเมืองส่วนหนึ่ง ที่เป็นปัญหาของประเทศ จำกัดไว้เท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไป ลองไปถาม มีความพึงพอใจหรือไม่ บ้านเมืองสงบเรียบร้อย มี นี่คือความเหมาะสมของคนที่แก้ปัญหาที่ผ่านมา เหมาะสมมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป”
ส่วนคุณสมบัติ ถ้าจะว่าไปแล้วเปรียบเทียบว่า ไม่ได้มองด้านเดียว มองในส่วนที่ท่านวิพากษ์วิจารณ์ความเห็นต่าง ๆ ที่ไม่เห็นด้วย แต่ขณะเดียวกัน ถ้าจะพิจารณาหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถามว่า ผมให้ความสนใจหรือไม่ ผมสนใจตลอด พยายามติดตามว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯในครั้งนี้ ก็ต้องเปรียบเทียบ ต้องดูข้อมูลว่า เหมาะสมหรือไม่จะเป็นนายกฯ
เชื่อหรือไม่ ได้พิจารณาจากข้อมูลเอกสารทั้งหลาย ไม่ได้พูดถึงตัวบุคคล ต้องกราบเรียน ไม่ได้พูดถึงท่านสมาชิก หรือท่าน ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ แต่จะพูดถึงท่านหัวหน้าพรรคที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ามา ท่านเข้ามาในพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค อนาคตใหม่เหมาะสมหรือไม่ ที่จะมีผู้นำเป็นนายกฯ
“แต่น่าตกใจ ไปดูข้อบังคับพรรคทุกพรรค ในข้อบังคับพรรคของอนาคตใหม่ ไม่มีข้อความในเรื่องเมื่อพูดถึงประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แม้สักคำเดียว แต่พรรคอื่นมีหมด พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา มีข้อความเหล่านี้”
ทำไมผมให้ความสำคัญตรงนี้ ถ้าไม่มี ผมก็ไม่ไว้ใจ ผมไม่ไว้ใจว่า คนจะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ข้อบังคับพรรคท่าน ไม่มีเรื่องเหล่านี้ ผมก็เลยเลือกไม่ได้ มันเป็นเหตุผลว่า ทำไมผมถึงเลือกท่านไม่ได้ อาจเป็นคนรุ่นใหม่ มีความคิดใหม่ ๆ ดูแล้วเหมาะสม ได้คนรุ่นใหม่บริหารประเทศ แต่ติดข้อบังคับพรรค อยากให้ท่านไปปรับปรุง ไปแก้ไข แล้วข้อบังคับพรรคตรงนี้ ขัดกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 14 ช่วยกรุณาไปดูว่าในมาตราดังกล่าว เขียนไว้อย่างไร
“เปรียบเทียบระหว่างคุณธนาธร กับ พล.อ.ประยุทธ์ ประสบการณ์การบริหารประเทศที่ผ่านมา มีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน ด้วยอาจเป็นครั้งแรกเข้ามาวงการเมือง ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ผลงานอาจน้อย หรือแทบไม่เห็น แต่ถ้าเทียบแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านกระบวนการแก้ปัญหาประเทศมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เห็นความแตกต่างว่า ผลงานที่ผ่านมา เป็นเครื่องกำหนด ว่าแก้ไขปัญหาอะไรบ้าง จึงเป็นข้อเปรียบเทียบว่าทำไมผมต้องเลือก พล.อ.ประยุทธ์ ประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาก็ดีกว่า”
มีการพูดถึงว่า คุณสมบัติว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สมาชิกหลายคนอภิปรายว่าขาดคุณสมบัติ ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (15) เพราะฉะนั้นสิ่งที่เอ่ยถึงในเรื่องเหล่านี้ เราต้องไปดูว่า รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าอย่างไร เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐมีเยอะแยะไปหมด มีทั้งเจ้าพนักงานที่ยกคำพิพากษาศาลฎีกาขึ้นมา เจ้าหน้าที่ระดับลูกจ้าง พนักงาน เยอะไปหมด แต่มาตรา 98 บัญญัติคุณสมบัติ สส สว และความเป็นนายกรัฐมนตรี เอาไปใช้ด้วย
เพราะฉะนั้น เขาก็จำกัดเอาไว้ว่า คุณสมบัติคนจะเป็นนายกฯ มีอะไรได้บ้าง ซึ่งมีเยอะแยะ แล้วพอมาพูดถึงเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ตรงไหนเป็นข้อจำกัด เขาจะเขียนเอาไว้ในมาตรา 98 (15) คือไม่ได้ตีความทำให้สังคมเข้าใจผิดทั้งประเทศ การเป็นนายกฯ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มันเป็น แต่มันเป็นเจ้าหน้าที่อื่นตาม 98 (15) หรือไม่ ตรงนี้คือประเด็น เหมือนกำปั้นทุบดิน เป็นแล้วเป็นข้อห้ามหรือไม่ นี่คือประเด็นปัญหา ถ้าไปตีความเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ แต่เป็นปัญหาไม่ให้เป็น สส สว นายกรัฐมนตรี หรือไม่ ดังนั้นคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 5/2543
“พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ขาดคุณสมบัติของรัฐ มีคุณสมบัติจะเป็นได้ แต่อย่าไปตีความ จนท.รัฐ ในเรื่องอื่น มาเทียบเคียง หรือใช้ มันเป็นคนละเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ทำผิดรัฐธรรมนูญ ดูแล้วถึงได้ตัดสินใจเรื่อง แต่ของคุณธนาธร ท่านถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ ขาดคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. แล้วเรื่องเหล่านี้ กกต. ก็รับไปพิจารณา กกต. พิจารณาเห็นว่ามีมูลส่งศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยในเบื้องต้นรับคดีไว้ และสั่งห้ามปฏิบัติหน้าที่ เพราะฉะนั้นคุณสมบัติบุคคลทั้ง 2 ท่านมันแตกต่างกัน ส่วนข้อวินิจฉัยว่า ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะอยู่ระหว่างพิจารณา แต่การพิจารณาเป็นคุณสมบัติห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีของคุณธนาธร จะมีน้ำหนักมากกว่าที่จะไม่เหมาะสม ยังไม่วินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติหรือไม่ แต่ถ้าพูดถึงกับสิ่งที่เป็นคดีเกิดขึ้น หัวหน้าอนาคตใหม่ มีข้อด่างพร้อยมากกว่า”
อย่างไรก็ดีในช่วงท้ายนายเสรี อภิปรายด้วยระยะเวลานานกว่าสมาชิกรัฐสภาคนอื่น รวมถึงมีการพาดพิงบุคคลอื่น ๆ ทำให้นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และนายคารม พลพรกลาง ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ประท้วงหลายครั้ง ท้ายที่สุดนายพรเพชร ให้เวลานายเสรีพูดอีกราว 1 นาทีเศษ ก่อนจะตัดบทในที่สุด
@ปิยบุตร ชี้แจงปมข้อบังคับพรรค
หลังจากนั้นนายปิยบุตร ได้อภิปรายกรณีถูกพาดพิงเรื่องข้อบังคับพรรค ตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุไว้แล้วว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ้ามีปัญหา กกต.ไม่ปล่อยพวกผมมาถึงวันนี้ แต่ กกต. อนุมัติให้เรามีการจัดตั้งพรรคการเมืองนี้ได้ ดังนั้นข้อบังคับสอดคล้องทั้งหมด คำว่า ประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญที่เขียนไว้แล้ว
นอกจากนั้นเสียดายที่เมื่อกี้ไม่มีโอกาสให้แคนดิเดตนายกฯได้แสดงวิสัยทัศน์ โดยช่วงบ่ายนายธนาธรได้แสดงวิสัยทัศน์บริเวณจุดแถลงข่าว จึงขอชี้แจงกรณีนี้ด้วย โดยนายธนาธร ยืนยันว่า จะเป็นนายกฯพาประเทศไทยเป็นข้างหน้า ขอยืนยันหลักการ ปชต แน่วแน่อีกครั้ง จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงผ่านระบบรัฐสภา ยึดมั่นนิติรัฐ มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขควบคู่กับประชาธิปไตยยั่งยืนสืบไปสถาพร
----
นี่คือบางห้วงบางตอนวิวาทะระหว่างนายปิยบุตร นายเสรี พาดพิงไปถึงนายคารม และบุคคลอื่น ๆ อีกหลายคน กินเวลายาวนานนับชั่วโมง สีสันในระบอบประชาธิปไตย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/