ทีดีอาร์ไอแนะรัฐดึงคนอายุ 50-69 เข้าตลาดแรงงาน แก้อัตราลดเติบโตศก.
'ดร.สมเกียรติ' คาดคนไทยเกิดตั้งเเต่ ปี 59 อายุยืนเกือบ 100 ปี เสนอวาระเพิ่มอายุเกษียณ ผลิตภาพผู้สูงวัย ช่วยเพิ่มอัตราเติบโตศก. หวังรัฐบาลใหม่ทำทันที
วันที่ 13 พ.ค. 2562 สถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาสาธารณะ ประจำปี 2562 เรื่อง สังคมอายุยืน แข่งขันได้ และอยู่ดีมีสุขได้อย่างไร ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ เปิดเผยบางช่วงบางตอนว่า ตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา คนไทยมีอายุขัยคาดการณ์ตามช่วงเวลาเพิ่มขึ้น 4.4 เดือน/ปี ดังนั้น ทำให้คนไทยมีอายุขัยคาดการณ์เมื่อเกิดถึง 75.3 ปี ในปี 2559 จากเดิมในปี 2504 อยู่ที่ 55 ปี
ทั้งนี้ ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า อายุขัยคาดการณ์ของรุ่นเราจะเป็นอย่างไร แต่จากการประมาณการณ์ พบว่า มีความเป็นไปได้ที่คนไทยเกิดในปี 2559 จะมีอายุยืนเฉลี่ย 80-98.3 ปี หรือเกือบ 100 ปี ดังนั้น จะไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไปที่ประเทศไทยจะมีคนอายุ 100 ปี
“ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุปี 2560 คนไทยอายุยืน 100 ปี จำนวน 9,041 คน ขณะที่อายุ 90-99 ปี จำนวน 162,532 คน”
เมื่อคนไทยอายุยืนและมีสุขภาพดีขึ้น ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุไม่ดีมีสัดส่วนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันเหลือเพียงร้อยละ 15 และประสาทสัมผัสยังชัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น มองเห็นชัดเจนขึ้นโดยไม่ต้องใส่แว่น ได้ยินชัดเจนขึ้นโดยไม่ต้องใส่หูฟัง รับประทานอาหารได้โดยไม่ต้องใส่ฟันปลอม อย่างไรก็ตาม แม้ประสาทสัมผัสจะชัดเจนขึ้น แต่กลับพบว่า ผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อมากขึ้น เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ซึ่งโรคเจ็บป่วยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับพฤติกรรม ไม่ออกกำลังกาย การทำกิจวัตรพื้นฐานด้วยตนเองลดลง
ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า ขณะที่ในด้านการศึกษาและการทำงาน พบผู้สูงอายุไทยจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและทำงานมากขึ้น เพราะต้องการหาความหมายในชีวิต เหมือนกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นว่าตนเองยังแข็งแรงและทำประโยชน์ได้ จึงขอเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย รวมถึงผู้สูงอายุมีรายได้หลักจากการทำงานมากขึ้นด้วย ขณะที่การรับเงินจากคู่สมรส บุตรหลาน หรือเงินออม ลดน้อยลง
ส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่บ้าน พบว่า บ้านยังต้องได้รับการปรับปรุงและสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอีกมากขึ้น โดยพบว่า ในปี 2560 มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ชั้นสองของบ้าน ร้อยละ 22 จากเดิมในปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 32.2 และไม่ได้ใช้ห้องน้ำที่มีชักโครกห้อยขาได้ ทั้งนี้ เชื่อว่า ในอนาคตจะเป็นโอกาสในการปรับปรุงธุรกิจห้องน้ำ
“คนไทยอายุยืนขึ้น ซึ่งปัจจุบันคนอายุ 60 ปี อาจไม่ใช่ผู้สูงอายุแล้ว ดังนั้น อายุเป็นเพียงตัวเลข หรือเป็นสิ่งสมมติ เพราะฉะนั้นการมองอายุตามปีปฏิทิน จึงไม่ใช่คำตอบเดียวที่ถูกต้อง เพราะยังพบว่า เราสามารถวัดอายุได้จากความรู้สึก เช่น คิดว่าอายุ 40 ปี จากอายุจริง 58 ปี เพราะรู้สึกร่างกายแข็งแรง หรือวัดอายุตามบรรทัดฐานสังคม ตามสภาพร่างกาย”
ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า อายุยืนขึ้นไม่ใช่แก่นานขึ้น แต่อาจหมายถึงวัยกลางคนและวัยรุ่นยืดขยายอายุออกไป ชีวิตมีหลายช่วงมากยิ่งขึ้น เรียนหนังสือ ทำงาน กลับไปเรียนหนังสือ กลับไปทำงาน กึ่งเกษียณ เกษียณ จากเดิมมีเพียง 3 ช่วง คือ เรียนหนังสือ ทำงาน เกษียณ ดังนั้น หากไม่เข้าใจว่าโลกเปลี่ยนไป คนไทยอายุยืนขึ้น เราจะมองโลกไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงหลายอย่าง เช่น การนิยามผู้สูงอายุ โดยใช้อายุต่ำเกินไป ซึ่งประเทศไทยนิยาม 60 ปี ตามสหประชาชาติ และเหมาะสมกับประเทศกำลังพัฒนา แต่ถ้าอายุของคนไทยเพิ่มสูงขึ้นคล้ายคนในประเทศพัฒนาแล้ว ต้องนิยามผู้สูงอายุเป็น 65 ปี
“กรณีของญี่ปุ่น ขยายอายุเกษียณออกไปเป็น 62 ปี และ 65 ปี ขณะที่ปีก่อนหน้านี้ มีการสนออายุเกษียณเป็น 75 ปี ซึ่งเราจะเห็นในอนาคตของไทยอีกไม่นาน ทั้งนี้ ขอเสนอให้ใช้คำว่า สังคมอายุยืน แทน สังคมผู้สูงอายุ”
ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อถึงความท้าทายเกี่ยวกับการรักษาการเติบโตให้ต่อเนื่อง ซึ่งพบแรงงานมีจำนวนลดลง ผู้สูงอายุเยอะขึ้น เพราะฉะนั้นเรารักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยให้สามารถสร้างรายได้เลี้ยงคนไทยในเวลาที่อายุยืนขึ้นได้อย่างไร รวมถึงผลิตภาพแรงงานยังลดลงตามอายุด้วย โดยพบเมื่อคนไทยอายุ 50 ปี ผลิตภาพจะต่ำลง และการได้สิทธิบำนาญอายุ 55 ปี ในกองทุนประกันสังคม เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้คนไทยจำนวนมากออกจากตลาดแรงงาน
ทั้งนี้ ยังประมาณการณ์ พบว่า แรงงานลดลง ผลิตภาพลดลง จะมีผลในการลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยโดยเฉลี่ยตลอด 30 ปีข้างหน้า โดยประมาณร้อยละ 0.8 ต่อปี
แนวทางแก้ไข ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุต้องลดการออกจากตลาดแรงงานของคนอายุ 50-59 ปี โดยหากเพิ่มประสิทธิภาพของคนอายุดังกล่าวได้ร้อยละ 12 ผู้สูงอายุเหล่านี้จะกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น และหากดึงคนอายุ 60-69 ปี กลับเข้ามาด้วย สามารถช่วยแก้ปัญหาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงได้ประมาณ ร้อยละ 11 และจะมีผลต่อทางสังคมอีกหลายประการ เพราะทำให้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมดีขึ้นด้วย
อีกทั้ง ยังมีข้อเสนอเเนะให้ลดจำนวนทหารเกณฑ์ลงครึ่งหนึ่ง จะมีส่วนทำให้เเก้ไขปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงไปได้ราวร้อยละ 6-7
ดร.สมเกียรติ กล่าวอีกหนึ่งความท้าทายเกี่ยวกับการออม โดยข่าวร้าย คือ กองทุนประกันสังคม จะล้มละลายปี 2590 และการมีเงินไม่พอใช้จะเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมอายุยืน ดังนั้นต้องรู้หา รู้ออม พร้อมจะอยู่นาน พร้อมเสนอให้สำนักงานประกันสังคมเพิ่มเงินสมทบมากขึ้น เเละขยายอายุจาก 55 ปี เป็น 60 ปี และต้องสนับสนุนให้ผู้สูงอายุเรียนรู้คู่ไปกับการทำงาน สร้างเมืองให้คนมีพลังสู้ในการเดินทางสะดวก สนับสนุนให้รักษาสุขภาพให้ดีขึ้น เพื่อลดจำนวนผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ซึ่งแนวโน้มพบว่า ปี 2580 จะมีผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงเกือบ 1 ล้านคน และจะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ภาระการดูแล และคนนั้นจะมีสุขภาพทรุดโทรมอย่างรวดเร็วด้วย ทั้งนี้ คาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเร่งดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องระยะยาวต้องเริ่มทำตั้งเเต่วันนี้ เเม้คาดว่ารัฐบาลจะมีอายุสั้นก็ตาม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/