กรณ์ จาติกวณิช กับภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก
สรรพากรควรมีมาตรการเด็ดขาดในการเอาผิดธนาคารใดที่มีพฤติกรรมชัดเจนในการช่วยลูกค้ารายใหญ่หลีกเลี่ยงการเสียภาษี เช่นการแนะนำให้ 'ปิดบัญชี’ เมื่อรายรับดอกเบี้ยใกล้จะถึง 20,000 บาท เพื่อเปิดใหม่เมื่อพ้นรอบการเสียภาษี
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟชบุ๊ก ประเด็นเรื่องภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก
นายกรณ์ ระบุว่า จากการสอบถามที่มาที่ไปจากเจ้าหน้าที่ในกรมสรรพากร จึงขอนำเสนอข้อมูลเผื่อเป็นประโยชน์ ดังนี้
1. ประเด็นสำคัญที่สุดคือยังคงมีการยกเว้นการหักภาษี ณ ที่จ่ายรายรับดอกเบี้ยเงินฝาก 20,000 บาทแรกตามเดิม
2. แต่ที่ผ่านมามีกรณีการหลีกเลี่ยงภาษีด้วยการเปิดบัญชีหลายธนาคาร เพื่อให้รายรับดอกเบี้ยในแต่ละธนาคารต่ำกว่า 20,000 บาท และเนื่องจากแต่ละธนาคารไม่มีข้อมูลธนาคารอื่น เจ้าของบัญชีจึงหลีกเลี่ยงภาษีได้
3. สรรพากรจึงออกคำสั่งให้ทุกธนาคารส่งข้อมูลทุกบัญชีมาที่กรมฯ และกรมฯจะเป็นคนตรวจสอบว่ามีใครควรต้องเสียภาษีบ้าง
4. คราวนี้กรมสรรพากรก็กังวลว่าจะมีปัญหาเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล จึงได้ออกคำสั่งให้เจ้าของบัญชีอนุมัติให้ธนาคารของตนส่งข้อมูลให้สรรพากร (และใครที่ไม่อนุมัติจะเสียสิทธิการยกเว้นภาษีโดยปริยาย)
และนี่คือปัญหา เพราะกลายเป็นภาระของประชาชนส่วนใหญ่ที่มีเงินฝากตํ่ากว่าเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี (คือประมาณ 4 ล้านบาท) ที่มีภาระที่จะต้องแสดงตน
จริงๆเรื่องนี้แก้ไขได้หากกรมสรรพากรและแบงก์ชาติสามารถประสานการทำงานร่วมกันได้ เพราะแบงค์ชาติเข้าถึงข้อมูลข้ามธนาคารได้อยู่แล้วแน่นอน แต่เนื่องจากสองหน่วยงานมีกฎหมายกำกับต่างกัน จึงไม่สามารถแชร์ข้อมูลกันได้
"ผมเลยได้แสดงความเห็นกับทางสรรพากรว่า แทนที่จะให้เป็นภาระของเจ้าของบัญชีต้องแจ้ง ควรให้เป็นหน้าที่ของธนาคารที่จะแจ้งกับเจ้าของบัญชี"
และสรรพากรควรมีมาตรการเด็ดขาดในการเอาผิดธนาคารใดที่มีพฤติกรรมชัดเจนในการช่วยลูกค้ารายใหญ่หลีกเลี่ยงการเสียภาษี เช่นการแนะนำให้ ‘ปิดบัญชี’ เมื่อรายรับดอกเบี้ยใกล้จะถึง 20,000 บาท เพื่อเปิดใหม่เมื่อพ้นรอบการเสียภาษี
หากกรมสรรพากรปรับวิธีการเล็กน้อยตามที่ผมเสนอ (ซึ่งเข้าใจว่าหลังจากรับทราบกระแสความสับสนของประชาชน กรมสรรพากรก็ได้ไปปรึกษากับสมาคมธนาคารแล้ว) โดยสรุป ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แต่การหลีกเลี่ยงภาษีโดยเศรษฐีเงินฝากจะทำได้ยากขึ้น
และธนาคารพาณิชย์จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้อีกต่อไป