โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง : “อัยการนั่งฟังยังน้ำตาซึม ไม่คิด ผู้สูงอายุจะเจอแบบนี้ ”
“วันนี้สภาพสังคม เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงไป เข้าสู่ยุคทุนนิยม คดีแบบนี้เกิดขึ้นเยอะ ซึ่งไม่เหมือนสมัยก่อนที่วิถีชีวิตแบบพอเพียง เราจะไม่เห็นเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นเลย”
แต่ไหนแต่ไรมา สังคมไทยกับค่านิยมเอื้ออาทร เห็นคุณค่า แสดงความกตัญญูต่อบิดา มารดา และผู้มีพระคุณ มักอยู่คู่กันเสมอ ทว่า พฤติกรรมที่เน้นวัตถุนิยมและบริโภคนิยมมากขึ้น คาดการณ์กันว่าในอนาคตประเทศไทยจะพบ ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งบ่อยขึ้น
สำนักงานอัยการสูงสุด หนึ่งในหน่วยงานที่ให้องค์ความรู้ทางกฎหมาย คำปรึกษาด้านกฎหมาย คดีความ การฟ้องร้องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดผู้สูงอายุ
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษก อัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) โดยระบุว่า สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ได้รับเรื่องเกี่ยวกับผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ
“อัยการบางทีนั่งฟังยังน้ำตาซึม ไม่คิดว่า ผู้สูงอายุจะเจอเหตุการณ์แบบนี้ กรณีมีการให้มรดกลูกหลานไปแล้ว ก็ไม่ดูแล ไม่เหลียวแล”
รองโฆษก อัยการสูงสุด ชี้ว่า หากเหตุยังไม่ถึงขั้นประพฤติเนรคุณ อัยการก็จะมีการแนะนำไปว่า ยังไม่ถึงขั้นไปฟ้องเพิกถอนการให้ได้ ซึ่งจะดูเรื่องเข้าข่ายหรือไม่ โดยยึดตัวบทกฎหมาย และแนวทางฏีกา เทียบเคียง
“คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายที่มาหาเรา ส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ ถูกหลอก ถูกโกง ลูกหลานเนรคุณ บางทีไม่มีลูกหลาน มีทรัพย์สินเก็บไว้ ก็ถูกเขาหลอก บางรายถูกปลอมลายมือถอนเงินจากธนาคารก็มี สำนักงานฯ ก็จะแนะนำ มีทนายความอาสาคอยช่วยเหลือ”
นายโกศลวัฒน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กลุ่มหนึ่งจะอายุยืน ลูกหลานที่กตัญญูกับพ่อแม่ก็จะดูแลท่านเหล่านี้เป็นอย่างดี บางท่านอายุ 90 กว่า ลูกหลานพาไปร้านทำเล็บทำผม นำเงินใส่กระเป๋า ด้วยความที่ไว้วางใจ ผู้หลักผู้ใหญ่บางทีก็เปิดกระเป๋าให้หยิบเงิน พนักงานหยิบไปเกินบ้าง แม้แต่ภายในบ้าน ก็มีกรณีคนรับใช้หยิบฉวยทรัพย์สิน นี่คือตัวอย่างการละเมิดทรัพย์สินผู้สูงอายุ
สำหรับคนในครอบครัว ลูกหลานที่ได้รับทรัพย์สินจากการให้ไปแล้ว พอเริ่มสูงอายุ ก็ทอดทิ้ง ไม่ดูแลยามแก่เฒ่า รองโฆษก อัยการสูงสุด ชี้ว่า สถิติคดีเริ่มมากขึ้น หากท่านเหล่านี้สติสัมปชัญญะครบไม่หลงลืม สามารถทวงคืนได้ เข้ามาตรา มาตรา 531 ของประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์
มาตรา 531 ของประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ ระบุว่า อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาชญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาชญา หรือ
(2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ
(3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้
“คดีส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่กับลูก คนที่ไม่ใช่พ่อแม่แต่เป็นคนอื่นก็มีแต่น้อยมาก เช่น คนไม่มีลูกหลาน แล้วเก็บเด็กมาเลี้ยง เอาลูกของญาติมาเลี้ยง”
ขณะที่ มาตรา 532 ระบุว่า ทายาทของผู้ให้อาจเรียกให้ถอนคืนการให้ได้แต่เฉพาะในเหตุที่ผู้รับได้ฆ่าผู้ให้ตายโดยเจตนาและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือได้กีดกันผู้ให้ไว้มิให้ถอนคืนการให้
แต่ว่าผู้ให้ได้ฟ้องคดีไว้แล้วอย่างใดโดยชอบ ทายาทของผู้ให้จะว่าคดีอันนั้นต่อไปก็ได้
มาตรา 533 ระบุว่า เมื่อผู้ให้ได้ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้นแล้วก็ดี หรือเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้วหกเดือนนับแต่เหตุเช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้นั้นก็ดี ท่านว่าหาอาจจะถอนคืนการให้ได้ไม่
อนึ่ง ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสิบปีภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้น
มาตรา 534 เมื่อถอนคืนการให้ ท่านให้ส่งคืนทรัพย์สินตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยลาภมิควรได้
มาตรา 535 การให้อันจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านว่าจะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้ คือ
(1) ให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้
(2) ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน
(3) ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา
(4) ให้ในการสมรส
ทั้งนี้ นายโกศลวัฒน์ ได้ยกคำพิพากษาศาลฎีกา ที่มีการฟ้องศาล และศาลตัดสินต้องคืน เช่น
ประทุษร้ายผู้ให้ซึ่งเป็นมารดา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 412/2528 การที่จำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ผู้เป็นมารดาจนได้รับอันตรายแก่กาย ย่อมเป็นการแสดงว่าจำเลยขาดความกตัญญู แม้โจทก์จะได้รับบาดเจ็บไม่ถึงสาหัสก็ถือได้ว่า จำเลยได้ประพฤติเนรคุณโดยประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(1) แล้ว โจทก์จึงเรียกถอนคืนการให้ได้
หมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7301/2559 จำเลยด่าโจทก์ว่า เป็นคนจัญไร ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความหมายไว้ว่า "เลวทราม เป็นเสนียด ไม่เป็นมงคล" อันเป็นถ้อยคำรุนแรงไร้ความเคารพนับถือเป็นการลบหลู่เหยียดหยาม อกตัญญูต่อบิดาผู้มีพระคุณ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ซึ่งเป็นบิดาและเป็นผู้ให้อย่างร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้โจทก์เรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 980/2550 โจทก์เจ็บป่วยไปขอความช่วยเหลือจากจำเลย จำเลยไม่พอใจพร้อมพูดว่า บักหมามึงแก่แล้ว พูดจากลับไปกลับมาเหมือนเด็กเล่นขายของ มึงไม่มีศีลธรรม มึงไปตายที่ไหนก็ไป ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง จึงมีเหตุจำเลยประพฤติเนรคุณที่โจทก์ถอนคืนการให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (2)
รองโฆษก อัยการสูงสุด กล่าวว่า ลูกหลานที่รับทรัพย์สมบัติไปแล้ว ต่อมาประพฤติเนรคุณ สามารถถอนคืนการให้ได้ ฟ้องการเรียกทรัพย์สินได้ตามกฎหมาย
“วันนี้สภาพสังคม เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลงไป เข้าสู่ยุคทุนนิยม คดีแบบนี้เกิดขึ้นเยอะ ซึ่งไม่เหมือนสมัยก่อนที่วิถีชีวิตแบบพอเพียง เราจะไม่เห็นเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นเลย”
ช่วงท้าย นายโกศลวัฒน์ อยากให้คนไทยมีจิตสำนึก กตัญญู ระลึกถึงบุญคุณพ่อแม่ เพราะความกตัญญูจะส่งต่อเป็นแบบอย่างให้แก่ลูก หลาน ส่งต่อรุ่นต่อรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันผู้สูงอายุ และวันครอบครัว อยากให้ทุกครอบครัวยึดวัฒนธรรมที่ดีงามแบบไทยๆ ความรักที่เราให้กับพ่อแม่จะทำให้เรามีความสุขตามไปด้วย