เบื้องลึก! ปัจจัยหลักอนาคตใหม่คะแนนทะลุเป้า ผลัก‘ธนาธร’เล่นบทผู้นำฝ่ายค้านในสภา?
“…ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 106 บัญญัติว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้ง ส.ส. ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภา เมื่อพรรคเพื่อไทย ที่มี พล.ต.อ.วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นหัวหน้าพรรค และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 1 ‘สอบตก’ ทำให้ไม่ได้เข้าสู่สภา โดยรัฐธรรมนูญแล้วพรรคที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดลำดับถัดมาคือพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค จะเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภานั่นเอง…”
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 มีหลายเหตุการณ์ที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ไม่ว่าจะเป็นความพ่ายแพ้แบบแทบสูญพันธุ์ของพรรคประชาธิปัตย์ การผงาดขึ้นมาสู่แถวหน้าของพรรคภูมิใจไทย การได้เก้าอี้ ส.ส. ‘ต่ำ 200’ ในรอบ 18 ปี นับตั้งแต่ปี 2544 ของพรรคไทยรักไทย จนมาถึงพรรคเพื่อไทย เป็นต้น
อย่างไรก็ดีพรรคหน้าใหม่ 2 พรรค ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคอนาคตใหม่ ที่มีอายุทางการเมืองไม่ถึงขวบปี กลับ ‘แจ้งเกิด’ ที่นั่งจำนวน ส.ส. ทั้งแบบเขต และบัญชีรายชื่อ เป็นจำนวนมาก
สำหรับพรรคพลังประชารัฐ ที่ประกาศตัว ‘ลุงตู่อยู่ต่อ’ หลายคนคงทราบปัจจัยหลักไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ‘พลังดูด’ หรือว่าการออกแคมเปญนโยบายต่าง ๆ ที่สานต่อนโยบายรัฐบาลชุดนี้ รวมถึงความเพลี้ยงพล้ำทางการเมืองของพรรคคู่แข่ง ทำให้โกยคะแนนได้เป็นกอบเป็นกำ (อ่านประกอบ : ปรากฎการณ์เลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 'พปชร.-อนาคตใหม่' แจ้งเกิด-ปชป.พ่าย 'อภิสิทธิ์' ลาออก)
แต่สำหรับพรรคอนาคตใหม่ เดิมช่วงเปิดตัว หรือรณรงค์หาเสียงยุคแรก ถูกกูรูทางการเมืองหลายสำนัก ‘ปรามาส’ ว่า อาจเป็นพรรค ‘ต่ำ 20’ ได้จำนวนเก้าอี้ ส.ส. แค่บัญชีรายชื่อ อาจไม่ได้ ส.ส.เขตเลย เนื่องจากมุ่งเน้นชู ‘ตัวบุคคล’ มากกว่าผู้สมัคร ส.ส. ประจำพื้นที่
ทว่าเหตุการณ์ช่วง 1-2 เดือนสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง กลับสร้างปรากฎการณ์กวักมือเรียกประชาชน สร้างฐานเสียง ‘แฟนคลับ’ ได้เป็นจำนวนมาก ทั้งในโซเชียลเน็ตเวิร์ค และชีวิตจริง ส่งผลให้กวาดที่นั่ง ส.ส.เขตไปได้มากถึง 30 เขต (ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ 95%) และอาจได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มากถึง 50 ที่นั่ง รวมทั้ง 2 สัดส่วน ได้ราว 80 ที่นั่ง
มากกว่าพรรคเก่าแก่ที่สุดในประเทศที่ยังเหลืออยู่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ และก้าวข้ามพรรคขนาดกลางอื่น ๆ ทั้งภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา ด้วย
แม้ว่าปัจจัยที่หลายฝ่ายวิเคราะห์กันคือ เป็นเพราะ ‘อุบัติเหตุทางการเมือง’ ของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ส่งผลให้อดีตผู้สนับสนุน ทษช. สวิงคะแนน โหวตให้กับพรรคอนาคตใหม่แทน เช่น จ.แพร่ พื้นที่ของนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตผู้สมัคร ส.ส.ทษช. และ จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ของนางฐิติมา ฉายแสง อดีตผู้สมัคร ส.ส.ทษช. น้องสาวนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำ ทษช. เป็นต้น
(พรรคอนาคตใหม่ ปราศรัยใหญ่ก่อนวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ภาพจากทีมประชาสัมพันธ์พรรคอนาคตใหม่)
อย่างไรก็ดี กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่รายหนึ่ง วิเคราะห์ให้สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ฟังว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พรรคอนาคตใหม่ได้เสียงจำนวนมากราว 5.6 ล้านคะแนน มีอยู่ 3 กรณี
1.เรื่องตัวบุคคล กรรมการบริหารพรรครายนี้ ชี้ให้เห็นว่า กรณีนี้คือปัจจัยหลัก เพราะความนิยมในตัว ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ หัวหน้าพรรค ที่ผันตัวจากนักธุรกิจมาสู่แวดวงการเมือง ช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งที่กระแสขึ้นสูงมาก โดยเฉพาะแคมเปญ #ฟ้ารักพ่อ ที่ขึ้นท็อปเทรนด์ ในทวิตเตอร์ (Twitter) มีคนติดแฮชแท็ก (#) มากกว่า 8 แสนคนภายในวันเดียว รวมถึงตอนโดนรุมกระหน่ำวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลเน็ตเวิร์คหลายประเด็น ทำให้ชื่อของ ‘ธนาธร’ ได้รับความนิยมมากขึ้น
2.เรื่องจุดยืนของพรรค กรรมการบริหารพรรครายนี้ วิเคราะห์ว่า สภาพสังคมปัจจุบันคนสนใจแค่ว่า ‘เอา’ หรือ ‘ไม่เอา’ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก แทบไม่สนใจรายละเอียดเรื่องนโยบายอื่น ๆ
โดยเฉพาะ กทม. ตามพื้นฐานคนกรุงแล้ว ชอบความชัดเจน จะ ‘เอา’ หรือ ‘ไม่เอา’ อย่างไร ส่งผลให้ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ปาดหน้าคว้าชัยเหนือเจ้าของพื้นที่เดิมคือพรรคประชาธิปัตย์หลายเขต เพราะบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ในตอนนี้ถูกลดทอนบทบาทลงจากอดีต เนื่องจากความไม่ชัดเจนของ ‘หัวหน้าพรรคสีฟ้า’
3เรื่องนโยบาย แม้ว่านโยบายพรรคอนาคตใหม่จะหลากหลาย แต่ปัจจัยนี้ส่งผลน้อยที่สุด เพราะ 2 กรณีแรกชี้ให้เห็นว่า ประชาชนในปัจจุบันนิยมในตัวบุคคลคือ ‘ธนาธร’ และเรื่องจุดยืนของพรรคคือ ‘ไม่เอาการสืบทอดอำนาจของ คสช.’ มากกว่า ดังนั้นประเด็นเรื่องนโยบายจึงสู้ 2 กรณีข้างต้นไม่ได้
ประเด็นถัดมาคือ ทษช. ถูกยุบมีผลหรือไม่ ? กรรมการบริหารพรรครายนี้ ยอมรับว่า มีผลในบางพื้นที่จริง ๆ เช่น จ.แพร่ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นต้น อย่างไรก็ดีมีอีกหลายพื้นที่ที่ไม่ส่งผล แต่คนเลือกพรรคอนาคตตาม 3 ปัจจัยข้างต้น เช่น จ.พิษณุโลก จ.นครปฐม เป็นต้น ที่จะเห็นว่า มีผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย บางเขตเป็นฐานเสียงเหนียวแน่นของอดีต ส.ส.หลายสมัย แต่ก็ยังแพ้ให้กับพรรคอนาคตใหม่
ชี้ให้เห็นว่า การที่ ทษช. ถูกยุบ มีผลกับบางพื้นที่จริง แต่ก็ไม่ได้มีผลในภาพรวมระดับประเทศ
อย่างไรก็ดีจุดแข็งของพรรคอนาคตใหม่คือความพยายามในการเชื้อเชิญ ‘New Voter’ หรือคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งได้เลือกตั้งครั้งแรกมาเป็นแฟนคลับ กรรมการบริหารพรรครายนี้ ยอมรับว่า ประเมินค่อนข้างยาก แต่เชื่อว่าคะแนนที่ได้ของพรรคอนาคตใหม่ราว 5.6 ล้านคะแนนเสียง มี New Voter ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง
“เท่าที่เห็นภาพการลงพื้นที่ของพรรคอนาคตใหม่ในหลายจังหวัด มีบางพื้นที่เสียงส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ พอเราแจกแผ่นพับให้เขา เขาก็อ๋อ พรรคนี้ลูกก็ชอบ คือเขาไม่รู้จักเราโดยตรง แต่รู้จักผ่านลูก ตรงนี้เป็นปัจจัยที่น่าเชื่อว่ากระแสของเด็กรุ่นใหม่ทำให้คนรุ่นเก่ามาเลือกพรรคเราด้วย เป็นเรื่องความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่ทำให้เกิดปัจจัยนี้ขึ้น” กรรมการบริหารพรรครายนี้ ระบุ
(นายธนาธรถ่ายรูปร่วมกับผู้สนับสนุน ภาพจากประชาสัมพันธ์พรรคอนาคตใหม่)
ประเด็นถัดมาคือ แม้ว่าพรรคอนาคตใหม่จะได้ ส.ส. ถึง 30 เขต หากนับรวมบัญชีรายชื่อที่คาดว่าจะได้ราว 50 ที่นั่ง รวมเป็น 80 ที่นั่งในสภา แต่การรวมเสียงฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ เป็นไปได้ลำบากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา ?
แม้ว่านายธนาธร พร้อมแกนนำพรรค แถลงจุดยืนว่า จะไม่เสนอชื่อนายธนาธรเป็นนายกรัฐมนตรี และให้เกียรติพรรคลำดับที่ 1 ที่ได้ ส.ส. เยอะสุดจัดตั้งรัฐบาล คือพรรคเพื่อไทยที่ได้ ส.ส.เขต มากที่สุดถึง 137 เขต ก็ตาม แต่ต่อให้พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเพื่อไทย รวม ส.ส. กัน ก็ได้ราว 217 ที่นั่งเท่านั้น
เพราะปัจจัยสำคัญคือการ ‘ดีล’ พรรคอื่น ๆ โดยเฉพาะตัวแปรสำคัญ 2 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ที่ได้จำนวน ส.ส. ทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ รวมกันราว 107 ที่นั่ง มาเข้าพรรคให้ได้ นอกจากนี้ยังต้องประสานกับพรรคขนาดกลาง-เล็กอื่น ๆ เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ มาเข้าพรรคอีกถึงจะมีเสียงโหวตเกิน 376 เสียง ดันคนจากพรรคฝ่ายที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตย’ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้
แต่พรรคตัวแปรอย่าง ‘ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย’ คงยากที่จะร่วมกับ ‘เพื่อไทย-อนาคตใหม่’ เนื่องจากมีปูมหลังในอดีตที่ยากจะ ‘จับมือ-สานสัมพันธ์’ กันต่อได้อีก (อ่านประกอบ : จับกระแสสูตรตั้งรบ.ใหม่ เพื่อไทย VS. พปชร. ชิงธงนำ 'แค้นเก่า-งูเห่า' ตัวแปรสำคัญ)
ในเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ จึงเป็นไปได้สูงว่า พรรคอนาคตใหม่ กับพรรคเพื่อไทย และพรรคจุดยืนเดียวกันอื่น ๆ เช่น พรรคเสรีรวมไทย อาจจับมือกันร่วมเป็นฝ่ายค้านในสภา
เมื่อหันมาที่พรรคเพื่อไทย ตามสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบระบบจัดสรรปันส่วนผสมในรัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้พรรคเพื่อไทย ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่รายเดียว ได้แค่ ส.ส. เขต ส่งผลให้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรค แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 2 อดเป็น ส.ส. ค่อนข้างแน่นอนแล้ว
ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 106 บัญญัติว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้ง ส.ส. ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภา
เมื่อพรรคเพื่อไทย ที่มี พล.ต.อ.วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นหัวหน้าพรรค และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 1 ‘สอบตก’ ทำให้ไม่ได้เข้าสู่สภา โดยรัฐธรรมนูญแล้วพรรคที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดลำดับถัดมาคือพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค จะเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภานั่นเอง
สิ่งที่ต้องจับตาดูต่อไปคือ บทบาทของนายธนาธรในสภา ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน จะดำเนินการตรวจสอบโนยบายของรัฐบาลชุดใหม่อย่างแข็งขัน ดุดันตามสไตล์ รวมถึงการตั้งกระทู้ถาม และอภิปรายไม่ว้วางใจได้อย่างถึงพริกถึงขิงหรือไม่ คงต้องรอดูกัน
(นายธนาธร พร้อมแกนนำพรรค แถลงจุดยืนหลังการเลือกตั้ง ภาพจากประชาสัมพันธ์พรรคอนาคตใหม่)
อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้นายธนาธรทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาได้เป็นอย่างดีคือ คะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทย เมื่อรวมกับอนาคตใหม่ และพรรคเครือข่ายอื่น ๆ อาจได้สูงถึง 13 ล้านเสียง (พรรคเพื่อไทยราว 7 ล้านเสียง พรรคอนาคตใหม่ราว 5.6 ล้านเสียง และพรรคเครือข่ายอื่น ๆ หลายแสนเสียง) จากยอดผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดแบบไม่เป็นทางการ 95% ประมาณ 30 ล้านคน
นั่นหมายความว่าการทำหน้าที่ในสภาครั้งนี้ของพรรคอนาคตใหม่ เพื่อไทย และเครือข่าย มีเสียงสนับสนุน หรือพูดให้ชัดขึ้นคือเสียงที่ไม่เอา ‘บิ๊กตู่’ มากถึง 13 ล้านเสียง เกือบครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด
ย่อม ‘เขย่าขวัญ’ ให้พรรคเครือข่ายที่สนับสนุน ‘บิ๊กตู่’ ในการทำหน้าที่รัฐบาลหน้า ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลว่า ทำไมพรรคอนาคตใหม่จึงกวาดคะแนนเสียงได้ ‘เกินเป้า’ และนายธนาธร จึงเป็นผู้มีบทบาทสูง ในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภา
อย่างไรก็ดีนี่เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลดิบเบื้องต้นจาก กกต. และประเมินสถานการณ์หลังการเลือกตั้งเพียง 2 วันเท่านั้น ยังเหลือเวลาอีกมากก่อนจะถึงวันที่ 9 พ.ค. 2562 ที่ กกต. ประกาศผลเลือกตั้งทางการ
และหลายพรรคคงจับมือดีลกันจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว ?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ผลเลือกตั้ง ส.ส.เขตไม่เป็นทางการ 95% เพื่อไทย 137 พปชร. 97 ภท. 39 ปชป. 33 อนค. 30
9 พ.ค.ประกาศผลเลือกตั้งทางการ! กกต. ยันระบบนับคะแนนล่ม เหตุโดนแฮ็ค-คนทำผิดพลาด
สถานทูตไทยในนิวซีเเลนด์ ยันส่งบัตร ลต.ออกจากกรุงเวลลิงตัน ตั้งเเต่ 18 มี.ค.
ผลเลือกตั้งไม่เป็นทางการเฉพาะ ส.ส.เขต เพื่อไทย 129 พปชร.102 ภท.เบียดแซง ปชป.
ผลคะแนนไม่เป็นทางการ พปชร.นำ 7.3 ล.- 'อุตตม' รับต่อสายคุยบางพรรคจัดตั้งรบ.แล้ว
กกต.รับบัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์โมฆะมาไม่ทันปิดหีบ-ประกาศผล ส.ส.ทางการใน 60 วัน
สรุปเลือกตั้ง'62 ฉีกบัตร 21 จว.-ร้องผู้สมัครทำผิด กม. 58 เรื่อง มีซื้อเสียง-สวมสิทธิ
พท.-พปชร.-ปชป. เเถลงขอบคุณคนไทยหลังปิดหีบ
51 ล้านคน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศ กกต.เชื่อ 9 ชม.ลงคะแนนทัน