ดีขึ้นเยอะ -ปรับทบทวนหมดทุกประเด็น สนช.เชื่อร่างพ.ร.บ.ข้าวฯ จะเป็นที่น่าพอใจ
สนช.แถลงยันร่างพ.ร.บ.ข้าว พิจารณาวาระ 2-3 วันที่ 26 ก.พ. ได้เพิ่มประสิทธิภาพกลไกภาครัฐ-ส่งเสริม พัฒนาชาวนาเข้าไปแล้ว เชื่อคนที่ค้านจะพอใจ เปลี่ยนใจ อยากให้มีกฎหมายฉบับนี้
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 11.50 นาฬิกา ณ ห้อง 302 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าว พ.ศ. .... นำโดย พลเอก มารุต ปัชโชตะสิงห์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธาน คณะกรรมาธิการวิสามัญ แถลงข่าวในประเด็นการทบทวนร่าง พ.ร.บ. ข้าว ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในวันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 09.00 นาฬิกา
พลเอก มารุต กล่าวว่า ช่วง 2 ปีสมาชิกสนช.ลงเก็บข้อมูลจนพบว่า ชาวนาทุกจังหวัดเรียกร้องอยากให้มีกฎหมายเกี่ยวกับข้าว โดยได้ทราบประเด็นที่ชาวนาต้องการ 1.ต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ 2.อยากให้มีการรับซื้อข้าวเปลือกที่ราคาตายตัว และ 3.ให้โรงสีรับซื้อข้าวเปลือกในราคาสะท้อนเป็นจริงและเป็นธรรม ดังนั้นสนช.จึงร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา
สำหรับหลักการของร่างพ.ร.บ.ข้าว มุ่งเน้นไม่ให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวนา การยกร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกภาครัฐ ในการขับเคลื่อนนโยบายในการส่งเสริม พัฒนาชาวนา รวมถึงภาคการผลิตและภาคการตลาดให้มีความเข้มแข็ง ให้ผลผลิตข้าวมีคุณภาพ มีมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น
"ปัญหาร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการนำมาทบทวนหมดแล้วทุกประเด็น คิดว่า หากร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไปจะเป็นที่น่าพอใจ ส่วนใหญ่อยู่ในมาตรา 27/1 - 27/5 เน้นการส่งเสริมมากกว่าการควบคุมกำกับ" พลเอก มารุต กล่าว
ด้านพลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการรับฟังความคิดเห็นตลอดเวลา และได้นำข้อมูลมาเพิ่มเติม หลายประเด็นมีการปรับแก้ จากควบคุมเป็นเน้นส่งเสริม ร่างพ.ร.บ.ข้าวฯ เราใช้ พระราชบัญญัติพันธุ์พืช 2518 บังคับใช้เป็นเวลา 44 ปี มีการกำหนดควบคุมเข้มงวด แต่ร่างพ.ร.บ.ข้าวฯ มีการควบคุมน้อยมาก บทลงโทษน้อยมาก
"หากเห็นเนื้อหาแล้วอาจจะเปลี่ยนใจ อยากให้มีกฎหมายฉบับนี้"พลเอก สิงห์ศึก กล่าว และว่า เรื่องการรับรองพันธุ์ข้าว ในอดีตก็มีอยู่ในพระราชบัญญัติพันธุ์พืชมาตรา 13 อนุหก มีการควบคุม มีบทลงโทษ โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพ เมื่อ 44 ปีที่แล้ว มีบทควบคุมหมด เพียงแต่ ร่างพ.ร.บ.ข้าวฯ ฉบับใหม่ แบ่งการควบคุมเป็น 3 ส่วน ส่วนที่รับรองตามกฎหมายพันธุ์พืชเดิม ที่เป็นพันธุ์ของท้องถิ่นก็ใช้ไป แต่หากเป็นพันธุ์ข้าวใหม่ มาขอรับรองพันธุ์หรือไม่รับรองพันธุ์ก็ค้าขายได้ เพียงแต่หากมีการรับรองพันธุ์ข้าวจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ประชาชนรับรู้ว่า เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดี
ขณะที่พลโทจเรศักดิ์ อานุภาพ สนช. กล่าวถึงผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวสามารถดำเนินการได้ตามปกติ ไม่มีการบังคับหรือควบคุมใดๆ ทั้งสิ้น นักวิชาการ นักพัฒนาพันธุ์ ดำเนินการได้ปกติ เว้นแต่เอกชนรายใดอยากให้มีการรับรอง ก็จะประกาศและประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมให้ประชาชนรับทราบ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเมล็ดพันธุ์ข้าว
"ภาครัฐต้องการส่งเสริมให้มีการรับรองเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อให้เกษตรกรได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี ซึ่งกรมการข้าวก็ต้องปรับตัว ผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพให้ได้เพิ่มมากขึ้น"
ส่วนักวิชาการที่ติดตามร่างกฎหมายฉบับนี้ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงร่าง พ.ร.บ.ข้าวล่าสุด ซึ่งเหมือนกับร่างเมื่อวันที่ 7 ก.พ. หลังจากที่มีการปรึกษาระหว่างพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กับพลโท จเรศักดิ์ อานุภาพรองประธารกรรมาธิการฯ พบว่า ร่างพ.ร.บ.ข้าวฯ ล่าสุดมีการตัดมาตรา 27/1 วรรค 3 และมาตรา 34/2 ออก และเติมข้อความใหม่ในมาตรา 27/1 วรรค 3 ให้ยกเว้นไม่ใช้มาตรา27/1 สองวรรคแรกกับพันธ์ุข้าวพื้นเมือง หรือพันธ์ุใหม่ที่ได้รับการรับรองตามกม.คุ้มครองพันธ์พืช เช่น ไรซ์เบอร์รี่
นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ข้าวฯ ได้เติมมาตรา27/2 ให้หยุดจำหน่ายพันธ์ุที่อาจเกิดความเสียหายรุนแรง และมีการเติมมาตรา27/3 เรื่องการส่งเสริมชาวนาให้ใช้พันธ์ดีเข้าไปด้วย ที่สำคัญ มาตรา 13/2 วรรค 2 ได้มีการเติมผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตามข้อเสนอดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้คิดค้นข้าวไรซ์เบอร์รี่