เปิดชื่อ 5 บุคคลครอบครองทรัพย์สินเครือข่าย‘ไซซะนะ’-ปปง.ยึดรถหรูเสี่ย จ.อุดรฯ 6 คัน
เปิดทรัพย์สินเครือข่ายยาเสพติด ฟอกเงิน ‘ไซซะนะ แก้วพิมพา’ ปปง.ยึดอายัด 43 รายการ 52.4 ล้าน พบ 5 บุคคลครอบครอง รถหรูเบนท์ลีย์ คัน ละ 17 ล. พอร์ช นิมิคูเปอร์ เมอร์ซิเดสเบนซ์ BMW
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2562 คณะกรรมการธุรกรรมในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่งที่ ย.16/2562 ยึดและอายัดทรัพย์สิน เพิ่มเติม ราย นายไซซะนะ แก้วพิมพา สัญชาติลาว ผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่กับพวก จำนวน 43 รายการมูลค่า 52,412,658.04 บาท ทรัพย์สินที่ยึดและอายัด ประกอบด้วย รถยนต์หรู รถจักรยานยนต์ นาฬิกาหรู ไม้แปรรูป เงินสด ธนบัตรต่างประเทศ กระเป๋าสะพาย แว่นตากันแดด คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค เครื่องบันทึกภาพกล้องวงจรปิด กระเป๋าสตางค์ เงินฝากในบัญชี โฉนดที่ดินพร้องสิ่งปลูกสร้าง อยู่ในชื่อของบุคคล 5 คน
1.นางพรกนก ธนโชติพรสกุล 1 รายการ ได้แก่ รถยนต์ยี่ห้อ BMW มูลค่า 2,299,000 บาท (กรุงเทพฯ)
2.นายรัชพล รัฐสพลพกรณ์ 24 รายการ ได้แก่ คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค เครื่องบันทึกภาพกล้องวงจรปิด เงินสด ธนบัตรประเทศจีนและ สปป.ลาว นาฬิกาข้อมือ 14 เรือน อาทิ ยี่ห้อ PATEK PHILIPPE ราคา 1 ล้านบาท กระเป๋าสะพาย แว่นตากันแดด กระเป๋าสตางค์ เงินฝาก 2 บัญชี
3.นายสมบูรณ์ ธนโชติพรสกุล 13 รายการ ได้แก่ รถยนต์ 6 คัน อาทิ ยี่ห้อเบนท์ลีย์ป้ายแดง ราคา 17 ล้านบาท (กรุงเทพฯ), เมอร์ซิเดสเบนซ์ ราคา 7 ล้านบาท (ทะเบียน กต.199 อุดรธานี) , พอร์ช ราคา 6,500,000 บาท (ทะเบียน กล 199 อุดรธานี) จักรยานยนต์ 4 คัน ไม้แปรรูป ไม้ท่อนเหลี่ยม และบัญชีเงินฝาก 1 รายการ
4.น.ส.อัญชลี สว่างกิจรุ่งโรจน์ 1 รายการ รถยนต์ มินิคูเปอร์ ราคา 2,890,000 บาท (ทะเบียน กธ 199 อุดรธานี)
5.น.ส.อัญพัชญ์ สว่างกิจรุ่งโรจน์ 4 รายการ ได้แก่ บัญชีเงินฝาก โฉนดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 1 หลัง
คำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมระบุว่า ด้วยสํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สํานักงาน ปปง.) ได้รับรายงาน จากกองบัญชาการตํารวจปราบปรามยาเสพติด ตามหนังสือที่ ตข 0027.313/17 ลงวันที่ 31 มกราคม 2560 รายงานพฤติการณ์การกระทําความผิดที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและการถือครองทรัพย์สิน ที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด รายนายไซซะนะ แก้วพิมพา กับพวก ซึ่งเป็นกรณีมีพฤติการณ์แห่งการกระทํา ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด กล่าวคือ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2558 เจ้าพนักงานตํารวจทางหลวง ได้มีการจับกุมตัวนายวิทยา โสภา ที่จังหวัดชุมพร พร้อมของกลางเมทแอมเฟตามีนประมาณ 2,300,000 เม็ด และจากการสืบสวนสอบสวนขยายผลการตรวจสอบจึงเชื่อว่านายไซซะนะ แก้วพิมพา (สัญชาติลาว) และนายชุมพร พนมไพร เป็นผู้สั่งการในการลําเลียงยาเสพติดดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2560 เจ้าพนักงานตํารวจกองบัญชาการตํารวจปราบปรามยาเสพติด ได้จับกุมนายไซซะนะ แก้วพิมพา ในข้อหา “สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้กระทําผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เพราะเหตุที่ได้สมคบกัน” ดังนั้น พฤติการณ์ของนายไซซะนะ แก้วพิมพา กับพวก จึงเข้าข่ายเป็นความผิด เกี่ยวกับยาเสพติด อันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 (1) และกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายไซซะนะ แก้วพิมพา กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่ เกี่ยวกับการกระทําความผิดดังกล่าว
ในการนี้ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน ในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ประชุม มีมติมอบหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดําเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ประกอบกับคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ ม. 74/2560 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2560 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรม หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด และคําสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การฟอกเงิน ที่ ม. 771/2561 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2561 เรื่อง มอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด (เพิ่มเติม) รายนายไซซะนะ แก้วพิมพา กับพวก พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดําเนินการตรวจสอบรายงานการทําธุรกรรมหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทําธุรกรรมของบุคคล ดังกล่าวแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่านายไซซะนะ แก้วพิมพา นายรัชพล รัฐสพลพกรณ์ กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทําอันเข้าลักษณะเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ. 2542 หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทําความผิด มูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และจากการตรวจสอบข้อมูลการทําธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิด รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐานปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับ การกระทําความผิด จํานวน 43 รายการ พร้อมดอกผล และเนื่องจากทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิด ในคดีนี้เป็นสังหาริมทรัพย์ประเภทรถจักรยาน นาฬิกา และประเภทอื่น ๆ อันเป็นทรัพย์สินที่ไม่ปรากฏหลักฐาน ในทางทะเบียน โดยเจ้าของหรือผู้ครอบครองสามารถโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย สังหาริมทรัพย์ประเภทรถยนต์ รถจักรยานยนต์ อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียน ในการควบคุมการเสียภาษีหรือการเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าว โดยผู้มีชื่อเป็นผู้ครอบครอง อาจดําเนินการโอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้โดยง่าย สังหาริมทรัพย์ประเภทเงิน ในบัญชีเงินฝากธนาคาร อันเป็นทรัพย์สินที่สามารถโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นได้โดยง่าย สังหาริมทรัพย์ ประเภทเงินสด อันเป็นทรัพย์สินที่มีสภาพคล่อง สามารถปกปิด ซ่อนเร้น หรือโอนเปลี่ยนมือได้โดยง่าย และอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียน ในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง โดยผู้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครอง อาจดําเนินการทางนิติกรรม โอน เปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครองในทางทะเบียนได้ หากมิได้มีการออกคําสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิ ในทรัพย์สินดําเนินการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้ มีคําสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สํานักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าว กลับคืนมาได้ จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านายไซซะนะ แก้วพิมพา นายรัชพล รัฐสพสพกรณ์ กับพวก ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดและอาจมีการโอน จําหน่าย ยักย้าย ปกปิดหรือซ่อนเร้น ทรัพย์สินดังกล่าว
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 34 (3) และมาตรา 48 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุม ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 และระเบียบคณะกรรมการธุรกรรมว่าด้วยการรับเรื่อง การตรวจสอบ การพิจารณาดําเนินการ และการควบคุมตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2556 ข้อ 25 คณะกรรมการธุรกรรมจึงมี คําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไว้ชั่วคราว จํานวน 43 รายการ พร้อมดอกผล มีกําหนดไม่เกิน 90 วัน (เก้าสิบวัน) กล่าวคือ มีคําสั่งให้ยึดทรัพย์สิน จํานวน 36 รายการ ได้แก่ รายการที่ 1 ถึงรายการที่ 36 นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 14 เมษายน 2562 และมีคําสั่งให้อายัดทรัพย์สิน จํานวน 7 รายการ ได้แก่ รายการที่ 37 ถึงรายการ ที่ 43 นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ กล่าวคือ นับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 14 เมษายน 2562 โดยมีรายการทรัพย์สินที่ยึดและอายัดปรากฏตามบัญชีทรัพย์สินแนบท้ายคําสั่งนี้
ทั้งนี้ ให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์หรือดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวด้วย
ในกรณีผู้ซึ่งถูกยึดและอายัดทรัพย์สินตามคําสั่งนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินดังกล่าว ประสงค์จะขอให้มีการเพิกถอนคําสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวนั้น ให้ยื่นคําขอต่อเลขาธิการคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพร้อมด้วยหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกยึดและ อายัดดังกล่าวนั้น มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหรือ ทราบคําสั่งนี้
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ก่อนหน้านี้วันที่ 2 พ.ค.2560 เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับกุมจับกุมเครือข่ายยาเสพติดชาวลาว นายไซซะนะ แก้วพิมพา และนายสีสุก ดาวเฮือง ในพื้นที่ จ.อุดรธานี ผู้ต้องหาประกอบด้วย 1.นายเอีย มิ้งไซย หรือเอก อายุ 22 ปี ราษฎรชาวสะหวันนะเขต สปป.ลาว 2.นายรัชพล รัฐสพลพกรณ์ หรือกิมเล้ง อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 92/12 ถนนโพนพิสัย ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี ลูกชายนายสมบูรณ์ ธนโชติพรสกุล นักธุรกิจใหญ่ จ.อุดรธานี ยึดทรัพย์สินหลายรายการมูลค่า 100 ล้านบาท
ที่มาภาพ:จากไทยรัฐ