รอรัฐบาลใหม่ดีกว่า! "นิพนธ์" ฉะร่าง พ.ร.บ.ข้าวฯ ล้าหลัง เสี่ยงทุจริต สูญงบฯ มหาศาล
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ระบุ ร่าง พ.ร.บ.ข้าวฯ ขัดมาตรา 77 ของรธน. ปิดกั้นการพัฒนาพันธุ์ข้าว สูญเสียงบฯ มหาศาล โดยเฉพาะการไปเพิ่มบุคลากรให้กรมการข้าว ทำงานขี่ตั๊กแตกจับช้าง ร่างกฎหมาย กำกับ ควบคุม มีโทษจำคุก ย้อนกลับไปยุคสงครามโลก แนะแก้ไข-พิจารณาไม่ทัน ก็รอให้รัฐบาลใหม่ดีกว่า
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) จัดสัมมนาระดมสมองเรื่อง“ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. ...... : ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง" เพื่อหาทางออกให้ ร่าง พ.ร.บ. ข้าว พ.ศ.... .ฉบับนี้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย ณ ห้องประชุม ชั้น 2 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ถ.รามคำแหง 39 กรุงเทพฯ
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงสาระสำคัญ ร่าง พ.ร.บ.ข้าวฯ หลังผ่านวาระ 1 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ว่า ทุกฝ่ายเห็นควรต้องมีร่าง พ.ร.บ.ข้าวฯ แต่ต้องเป็นกฎหมายที่สามารถปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนา รวมถึงปรับปรุงมูลค่าตลอดห่วงโซ่ ผลิตข้าวมีคุณภาพ มีชาวนารุ่นใหม่เข้าสู่อาชีพ โดยไม่ควรเป็นกฎหมายที่มุ่งเข้ามากำกับควบคุม ลงโทษ มิเช่นนั้น เสมือนอยู่สมัยสงครามโลก และจะเกิดความเสียหายมากกว่าเป็นประโยชน์
"สนช.เองที่เสนอร่าง พ.ร.บ.ข้าวฯ แม้จะหวังดี มีเหตุผลดี แต่ก็ต้องความเข้าใจให้ตรงกันด้วย"
รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวต่อถึงร่าง พ.ร.บ.ข้าวฯ ในมาตราการพัฒนาก็มีจุดอ่อนที่ไม่น่าจะสัมฤทธิ์ผล โดยเฉพาะจุดอ่อน การตั้งคณะอนุกรรมการ การจัดทำฐานข้อมูล กลับไปเน้นการควบคุมแทนการใช้ข้อมูลเพื่อการพัฒนา ซึ่งเสมือนการขี่ช้างจับตั๊กแตน
รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ข้าวฯ นั้นร่างแรกแย่กว่านี้เยอะ จนมีการปรับปรุงชั้นกรรมาธิการ หลังวาระ 1 มีการลดความขัดแย้งของราชการ ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กับกรมการข้าว, ลดบทลงโทษการออกใบรับซื้อข้าวเปลือก จากเดิมมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท เป็นปรับไม่เกืน 2 หมื่นบาท, ลดโทษการไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ แต่ก็ยังกลับไปให้อำนาจหน้าที่ในการเข้าไปในนาข้าว เคหสถาน สถานที่เก็บข้าวมากขึ้น
"อำนาจนี้ให้อำนาจกรมการข้าวยิ่งกว่าตำรวจ และยังมองการค้าข้าวเป็นอาชญากรรม"
นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อถึงมาตราที่จะเป็นผลเสียหายต่อชาวนา การพัฒนาพันธุ์ข้าว และวงการค้าข้าว คือ มาตรา 27/1 และมาตรา 33/2 การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ยังไม่ได้รับรองพันธุ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมาตรานี้จะปิดกั้นขัดขวางการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ของไทย
"ในอดีตข้าวพันธุ์พื้นเมืองหลายพันธุ์ที่กลายเป็นพันธุ์ยอดนิยมได้แพร่หลายไปในหมู่ชาวนาก่อนที่หน่วยราชการจะให้การรับรองพันธุ์ หากร่างพ.ร.บ.ข้าวฯ ออกมาใช้ก่อนปี 2500 คนไทยคงอดมีพันธุ์ข้าวดอกมะลิ 105 ขาวตาแห้ง 17 ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวสังหยด ข้าวทับทิมชุมแพ" รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าว และว่า ที่กังวลมากในร่างพ.ร.บ.ข้าวที่อยู่ในวาระการพิจารณาของสนช. คือ ร่างกฎหมายฉบับนี้ ผู้ร่างไม่มีความรู้ ไม่มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญพัฒนาพันธุ์ข้าวมาให้ความรู้ กรมการข้าว เป็นหนึ่งในการกระบวนการพัฒนาคุณภาพข้าวเท่านั้น ขณะที่การตั้งคณะกรรมการด้านการผลิตและการตลาด (มาตรา 13) ก็คิดว่า ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นผู้รู้ดีที่สุด ซึ่งควรเป็นกรรมการจากอธิบดี มาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จากภาครัฐ ชาวนา ผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ โรงสี ผู้ส่งออก และนักวิชาการสาขาต่างๆ
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวสรุปช่วงท้ายด้วยว่า ร่างพ.ร.บ.ข้าวฯ ขัดมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ นอกจากเกิดความเสียหาย ยังสร้างภาระต่อสังคม ปิดกั้นการพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย สูญเสียงบประมาณ เพิ่มบุคลากรให้กรมการข้าว ทำงานขี่ตั๊กแตนจับช้าง ทั้งๆที่ กรมการข้าวทำงานวิจัยดีอยู่แล้ว แต่กลับให้อำนาจมากำกับดูแล ฉะนั้น อยากจะขอให้สนช.ยืดเวลาการนำร่างกฎหมายนี้เข้าสู่วาระ 2 -3 เปิดกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทุกด้าน ทุกสมาคม เปลี่ยนกฎหมายควบคุม กำกับ มาเป็นกฎหมายสนับสนุนความร่วมมือของทุกฝ่าย และถ้าไม่ทัน ก็ขอให้สนช.รอรัฐบาลใหม่จะดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ในเวทีระดมความเห็น ผู้แทนจากสมาคมโรงสีข้าวไทย มองว่า ร่างพ.ร.บ.ข้าว เนื้อหาสาระมุ่งจับโรงสี ชาวนา โดยเฉพาะ จับคนเข้าคุกอย่างเดียว อีกทั้งคนร่างกฎหมายก็ไม่มีความรู้ หรืออยู่ในอุตสาหกรรมข้าวเลย จึงมองว่า ร่างพ.ร.บ.ข้าวฉบับนี้ไม่มีประโยชน์
ส่วนตัวแทนนายกสมาคมชาวนาไทย เห็นพ้องว่า ร่างพ.ร.บ.ข้าว ไม่มีประโยชน์กับชาวนาไทยเลย เขียนออกมาโดยไม่มีความรู้ แม้ในร่างพ.ร.บ.ข้าว หลักการและเหตุผลเขียนดี แต่เนื้อในกฎหมายกลับไม่มีมาตราใดเลยเป็นประโยชน์กลับชาวนา โดยเตรียมทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และประธานสนช.อย่าเร่งออกกฎหมายนี้ออกมา เพราะจะเป็นภาระกับประเทศไทย สร้างความแตกแยกให้องค์กรชาวนา
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติข้าว พ.ศ.....ซึ่งนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สภานิติบัญญัติแห่งชาติกับคณะรวม 32 คน เป็นผู้เสนอ โดยสนช.รับหลักการวาระ 1 ไปแล้ว และมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
หวั่นผลกระทบวงกว้าง ทีดีอาร์ไอ เปิดเวทีเชิญทุกฝ่ายถกหาทางออก ร่าง พ.ร.บ. ข้าว 11 ก.พ.นี้
เปิด พ.ร.บ.ข้าว ดึงชาวนาแก้ปัญหา-ราคาตก ยึดข้าวสวมสิทธิ์ได้-‘บิ๊กตู่’หนุนเต็มที่