บีอีเอ็ม แจ้งตลท.ไกล่เกลี่ยยุติข้อพิพาทคดีทางด่วน 1.3 แสนล้าน ลุ้นครม.เห็นชอบ
บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงข้อตกลงไกล่เกลี่ยยุติข้อพิพาทคดีทางด่วน 1.3 แสนล้าน ทั้งการยุติข้อพิพาททั้งหมด ขยายสัญญาสัมปทาน ขึ้นค่าทางด่วนคงที่ ลงทุนสร้างทางด่วนแก้รถติด ระบุ กทพ.จะนำผลเจรจา เสนอครม.เห็นชอบตามขั้นตอน ชี้อาจเปลี่ยนแปลงไปจากแนวทางนี้ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 7 กุมภาพันธ์ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องสารสนเทศการได้มาจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์จากการยุติข้อพิพาทกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(แก้ไข) ว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2562 ได้มีมติอนุมัติให้นำเสนอที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 ในวันที่ 18 มีนาคม 2562 เพื่อพิจารณาอนุมัติให้บริษัทฯ และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ("บริษัทย่อย") ยุติข้อพิพาททั้งหมดกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ("กทพ.") โดยการทบทวนและแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สัญญาเพื่อการต่อขยายโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน - ปากเกร็ด
ซึ่งในการยุติข้อพิพาททั้งหมดดังกล่าว กทพ.และบริษัทฯ/บริษัทย่อย ตกลงที่จะมีการขยายระยะเวลาสัญญาสัมปทานและให้บริษัทฯ ลงทุนปรับปรุงระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ซึ่งการตกลงดังกล่าว ถือเป็นการได้มาจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ.20/2551 เรื่องหลักเกณฑ์ในการทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่ายเป็นการได้มา หรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ และประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติของบริษัทจดทะเบียนในการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ พ.ศ.2547
สำหรับสาระสำคัญ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ ได้ระบุถึงข้อตกลงไกล่เกลี่ยยุติข้อพิพาทบนพื้นฐานที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อรัฐ ประชาชน และเป็นธรรมต่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ดังนี้
1.กทพ.และบริษัทฯ/บริษัทย่อยตกลงยุติข้อพิพาทที่ได้มีคำตัดสินแล้ว หรืออยู่ระหว่างขั้นตอนการฟ้องร้องคดีต่อศาล การเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และการเสนอข้อพิพาทต่อคณะผู้พิจารณาที่เกิดขึ้นแล้ว หรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคตในประเด็นเดียวกัน หรือประเด็นที่เกี่ยวเนื่องตามสัญญาเดิมทั้งหมด
2.กทพ.และบริษัทฯ/บริษัทย่อย ตกลงร่วมกันทบทวนและแก้ไขสัญญาสัมปทาน ดังนี้
2.1 ขยายระยะเวลาของโครงการระบทางด่วนขั้นที่ 2 สัญญาเพื่อการต่อขยาย โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด จากเดิมที่จะครบสัญญาในปี 2563 และปี 2570 และปี 2569 ตามลำดับ ให้สัญญาสิ้นสุดวันที่ 21 เมษายน 25600
2.2 บริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการให้บริการและบำรุงรักษาทางด่วนขั้นที่ 2 และบริษัทย่อยเป็นผู้ดำเนินการให้บริการและบำรุงรักษาทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด โดยบริษัทฯ/บริษัทย่อยได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางตลอดระยะเวลาสัญญา ดังนี้
- ส่วนแบ่งรายได้จากค่าผ่านทางทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ส่วนในเมือง ร้อยละ 40 และรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดจากทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนซี และทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนดี
-ส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดจากทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด
2.3 การปรับค่าผ่านทาง กทพ.และบริษัทฯ/บริษัทย่อย ตกลงให้มีการปรับค่าผ่านทางเพิ่มขึ้นแบบคงที่ ทุกระยะเวลา 10 ปี สำหรับรถทุกประเภท ตามอัตราที่กำหนดไว้ชัดเจนในทั้ง 3 สัญญา
2.4 บริษัทฯ มีหน้าที่ลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงทางด่วนขั้นที่ 2 ใช้เงินลงทุนประมาณ 31,500 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรที่ติดขัดภายหลังรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของกทพ.ได้รับความเห็นชอบ
ทั้งนี้ กทพ.จะนำผลการเจรจาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบตามขั้นตอนพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากแนวทางที่เสนอข้างต้น
3.กทพ.และบริษัทฯ/บริษัทย่อยจะลงนามสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานเดิมภายหลังจากได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น และภายหลังจากที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
สำหรับขนาดสินทรัพย์ บีอีเอ็ม ระบุว่า การยุติข้อพิพาทกับกทพ.ดังกล่าว ถือเป็นการจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์ โดยข้อพิพาทที่บริษัทฯ/บริษัทย่อย ตกลงยุติ เป็นข้อพิพาทที่มีการฟ้องร้องคดีต่อศาล ข้อพิพาทที่เสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และข้อพิพาทที่เสนอต่อคณะผู้พิจารณาที่เกิดขึ้นแล้ว หรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ในประเด็นเดียวกันหรือประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันตามสัญญาฯ ทั้งหมด มูลค่าประมาณ 137,517 ล้านบาท
โดยข้อตกลงไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนี้สามารถทำให้ความเสึ่ยงจากข้อพิพาทตามสัญญาหมดไป เพราะในการดำเนินงานของบริษัทฯ/บริษัทย่อย กับกทพ.ตามสัญญาสัมปทาน มีการตีความในสัญญาที่แตกต่างกันในเรื่องต่างๆ ที่เกิดข้อพิพาทอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาสัญญา ซึ่งกระบวนการระงับข้อพิพาทตามสัญญา โดยรวมตั้งแต่ชั้นคณะผู้พิจารณา ชั้นอนุญาโตตุลาการ และชั้นศาลปกครอง ใช้ระยะเวลานานกว่า 15 ปี และมีความไม่แน่นอนว่า บริษัทฯ/บริษัทย่อยจะชนะคดี หรือหากชนะคดีก็อาจไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา อันเนื่องจากคู่กรณี เป็นหน่วยงานรัฐ ที่ไม่อาจฟ้องบังคับยึดทรัพย์ หรือมีเหตุปัจจัยภายนอกที่บริษัทไม่อาจควบคุมได้ ฉะนั้นการที่สามารถยุติข้อพิพาทที่มีต่อกันตามสัญญา จึงเป็นการบริหารความเสี่ยงที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิดข้อมูล 23 คดี การทางพิเศษฯ ถูกฟ้องร้อง เป็นเงินกว่า 5.2 หมื่นล้าน
รองปลัดคมนาคม ระบุพร้อมประชุมพิจารณาผลเจรจา 'กทพ.-บีอีเอ็ม' ขยายสัมปทานทางด่วน 2
เช็คลิสต์ 5 คดีค้าง กทพ. พิพาททางด่วนกับ 2 เอกชนยักษ์ใหญ่
เปิดผลเจรจาข้อพิพาท 'กทพ.-บีอีเอ็ม' ก่อนได้ข้อยุติขยายสัมปทาน แลกใช้หนี้แสนล้าน