ต้องเซ็นสัญญาต้นปี’62! เบื้องหลัง ครม.ไฟเขียวเวนคืนที่ดินสร้าง รฟฟ.เชื่อม 3 สนามบิน
เบื้องหลัง! ครม.บิ๊กตู่ ไฟเขียวร่าง พ.ร.ก.เวนคืนที่ดิน โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2.2 แสนล้าน พบบอร์ด EEC เสนอความเห็นต้องเซ็นสัญญาเอกชนผู้ชนะต้นปี’62 เร่ง ก.คมนาคม ดำเนินการเรื่องให้แล้วเสร็จ เพื่อส่งมอบที่ดินให้แก่คู่สัญญาได้ทันภายในกำหนด สำนักงบฯเตือนทำอย่างรอบคอบ-คำนึงถึงภาระที่อาจเกิดในอนาคต
จากกรณีเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2562 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบหลักการตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอร่าง พ.ร.ก.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนเพื่อดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมสำรวจเส้นทางพื้นที่เพื่อออก พ.ร.ก.ดังกล่าว โดยมีพื้นที่ต้องเวนคืนทั้งส่วนหน่วยงานรัฐ และพื้นที่ประชาชน แบ่งเป็น 3 จุด ครอบคลุมราว 20 ตำบล ในหลายจังหวัด เช่น กทม. สมุทปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นต้น นั้น (อ้างอิงข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว พบว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อลงมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.ก.เวนคืนที่ดินดังกล่าว มีการพิจารณาความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC ระบุว่า คณะกรรมการ EEC กำหนดให้โครงการนี้มีการลงนามในสัญญาร่วมทุนระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกในช่วงต้นปี 2562 ดังนั้น ขอให้ รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินกระบวนการขั้นตอนการเวนคืนที่ดินเพื่อใช้ในโครงการ เพื่อให้ รฟท. สามารถปฏิบัติตามหน้าที่ในการจัดหา และส่งมอบที่ดินให้แก่เอกชนคู่สัญญาได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการดังกล่าวได้อย่างถูกต้องครบถ้วน (ดูเอกสารประกอบท้ายข่าว)
ทั้งนี้สำนักงบประมาณ เสนอความเห็นว่า เพื่อให้ร่าง พ.ร.ก.เวนคืนที่ดินดังกล่าว เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ เห็นสมควรให้ รฟท. ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุนที่เหมาะสม และผลสัมฤทธิ์ หรือประโยชน์ที่ทางราชการ และประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ รวมทั้งความเสี่ยง และภาระเพิ่มเติมที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญกับการพิจารณาผลกระทบด้านการระบายน้ำภายหลังจากการก่อสร้าง เพื่อมิให้เกิดปัญหาเรื่องการระบายน้ำในพื้นที่ดังกล่าวในอนาคตด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ระบุว่า เงินลงทุนเริ่มต้นในส่วนของค่าเวนคืนที่ดิน ประมาณ 3,570.29 ล้านบาท จากงบประมาณเงินลงทุนทั้งหมดราว 2.2 แสนล้านบาท รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาก่อสร้าง เสนอราคาต่ำสุดที่ 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 119,425 ล้านบาท
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพประกอบรถไฟฟ้าความเร็วสูงจาก เว็บไซต์ EEC