ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ :500 บาท/หัว นี่คือราคาตลาดการซื้อเสียงในประเทศไทย
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ชี้การเลือกตั้งที่จะมาถึงปีหน้า รูปแบบการหาเสียงหนีไม่พ้น แจกเงินซื้อเสียง เหตุระบบการเลือกตั้งลดทอนความเข้มแข็งพรรคการเมือง ออกแบบให้การแข่งขันไปอยู่ที่ระบบเขตเลือกตั้ง การแข่งขันด้วยนโยบายจะลดน้อยลง
วันที่ 14 ธันวาคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ จัดเวทีเสวนาสาธารณะ “สวัสดิการประชาชน และมาตรการแก้จนของรัฐบาล บนโจทย์วินัยทางการคลัง” ณ ห้อง Conference room ชั้น 2 ทีดีอาร์ไอ
ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งในเวทีถึงสวัสดิการประชาชนว่า ไม่มีใครปฏิเสธ เราอยากเห็นรัฐบาลจ่ายเงินด้านสวัสดิการทางสังคมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูง แต่การใช้จ่ายเงินอย่างไรให้ยั่งยืน และแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำได้จริง นั่นคือคำถาม
สำหรับการแจกเงินลักษณะ one-time ครั้งเดียวหมดไป ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นรูปแบบนโยบายไม่พึงปรารถนาเท่าไหร่ จะเห็นว่า นโยบายประชานิยมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะทำนโยบายซ้ำรอยกันเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้ง ยิ่งจะเห็นลักษณะการแจกเงินให้แล้วจบไปยิ่งมากขึ้น ทั้งหมดมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ยังไม่มีการแก้ไข และเราจะอยู่กับสภาวะนี้เรื่อยๆ
การศึกษาเรื่องการเลือกตั้งกับพรรคการเมือง อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ.กล่าวว่า วิธีการหาเสียงจะมีแค่ 3 วิธีหลักเท่านั้น
1.การแจกเงิน รายหัว หรือแจกสิ่งของ ยุคหนึ่งเราถึงขั้นแจกปลาทู ให้รองเท้าไปก่อน 1 ข้าง เป็นต้น
2.เป็นการให้เชิงโครงการ ให้กับคนในพื้นที่นั้นๆ เช่น การตัดถนนเข้าหมู่บ้าน การสร้างบ่อน้ำ สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น
และ 3.การหาเสียง สัญญาจะให้เชิงนโยบาย ครอบคลุมคนทั้งประเทศ
"ในสังคมที่พรรคการเมืองอ่อนแอ จะพบ 2 รูปแบบแรกเป็นหลัก ยิ่งสังคมไร้เสถียรภาพทางการเมือง ก็จะหาวิธีรวดเร็วที่สุดเอาชนะใจประชาชน ก่อนปี 2540 เราพบรูปแบบการซื้อเสียง แจกเงิน รูปแบบที่ 1 และรูปแบบที่ 2 มาช่วงปีหลัง 2540 ที่เราพบการแข่งขันเชิงนโยบายมากขึ้น เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งดีกว่านโยบายรถคันแรก บ้านหลังแรก แต่ก็ยังไม่ดีอย่างที่เราปรารถนา แต่ดีกว่ายุคแรกๆ" ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าว และว่า การหาเสียงของพรรคการเมืองช่วงหลังปี 2540 ก็ยังเป็นแบบรูปผสม พบทั้ง 3 รูปแบบ การซื้อเสียงก็ยังไม่หมดไป ยิ่งไม่มีฐานเสียงแน่นหนา ก็ต้องแจกเงินไว้ก่อน ระบบอุปถัมภ์ยังอยู่ รูปแบบที่ 3 ก็งอกขึ้นมา
ผศ.ดร.ประจักษ์ ยกตัวอย่าง วิธีหาเสียงรูปแบบที่ 1 หลายคนคงได้ยินโรคร้อยเอ็ด ปี 2522 สมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ลงเล่นการเมืองไม่มีฐานเสียง ไม่มีความนิยมทางการเมือง จะทุ่มแจกเงินเยอะ งานวิจัยพบว่า ส.ส.ที่มีฐานเสียงแน่นหนาจะมาทำแบบที่ 2 มากกว่า และมีอัตราการจ่ายเงินที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก็ยังชนะเลือกตั้ง เพราะให้ประชาชนมาตลอดชีวิต เช่นที่สุพรรณบุรี
ผศ.ดร.ประจักษ์ ยังกล่าวถึงตัวเลขค่าเฉลี่ยการซื้อเสียงของประเทศไทย อยู่ที่ 500 บาทต่อหัว ฉะนั้น 500 บาท ไม่ได้มาโดยบังเอิญ มีการทำการบ้านมาแล้ว นี่คือราคาตลาดการซื้อเสียง และระดับชาติราคาถูกกว่าท้องถิ่น ถ้าระดับอบต.เทศบาลอาจไปที่ 1-2 พันบาทต่อหัว เพราะจำนวนผู้เลือกตั้งน้อย ส่วนจังหวัดที่ตระกูลการเมืองผูกขาด จ่าย 100 บาทก็พอ
ส่วนการเลือกตั้งที่จะมาถึงปีหน้านั้น อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ.กล่าวว่า รูปแบบการหาเสียงจะกลับไปรูปแบบที่ 1 และ 2 เพราะรัฐธรรมนูญ และระบบการเลือกตั้งลดทอนความเข้มแข็งพรรคการเมือง ออกแบบให้การแข่งขันไปอยู่ที่ระบบเขตเลือกตั้ง การแข่งขันเชิงนโยบายจะลดน้อยลง เราจะเห็นทำไมพรรคการเมืองถึงดูดส.ส.เจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลเข้าไปอยู่มากที่สุด ไม่มีปาร์ตี้ลิสแล้ว
"ตัวดีไซด์การออกแบบการเมือง ระบบเลือกตั้งใหม่ เราจะพบการแจกเงิน ซื้อเสียง การหาเสียงระยะสั้นมากกว่าการหาเสียงด้วยนโยบาย ปัจจุบันเราเห็นนโยบายของขวัญปีใหม่ออกมาช่วงนี้ ผูกกับฤดูเลือกตั้ง หากเรากลับไปดูอดีต ทหารไทยเก่งทำรัฐประหารไม่เก่งในการเมืองการเลือกตั้งมาตั้งแต่สมัยจอมพลถนอมแล้ว เมื่ออยากมีอำนาจต่อก็อาศัยบริการนักการเมืองตั้งพรรคใหม่ (พรรคเฉพาะกิจ พรรคนอมินี เน้นชนะเลือกตั้ง) และเห็นนโยบายการแจกแบบนี้ ถ้าเรียนประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาจะแสนปกติ บิดานักประชานิยมคนแรก คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์"
สุดท้ายสังคมที่เหลื่อมล้ำสูง แต่คนไม่สิทธิ์เลย ภาคประชาสังคมอ่อนแอ สิ่งที่เราพบ นโยบายแบบสังคมสงเคราะห์ ขึ้นอยู่กับความเมตตาของรัฐเท่านั้น สำหรับสังคมที่เหลื่อมล้ำสูง ประชาชนมีแค่สิทธิการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองเข้มแข็งหน่อย รัฐบาลจะออกนโยบายประชานิยม ตอบโจทย์ระยะสั้นและระยะกลาง สุดท้ายหากเราอยากได้สวัสดิการถ้วนหน้าอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่องระยะยาว ต้องนำมาสู่การปรับโครงสร้างภาษี ฉะนั้น การแก้ไขปัญหาสุดท้ายจะตัดปัจจัย "อำนาจทางการเมือง" ออกไปไม่ได้ หากอยากได้ระบบสวัสดิการในสังคมที่เหลื่อมล้ำสูง ต้องเพิ่มอำนาจต่อรองของประชาชน การรวมกลุ่ม เพิ่มความเข้มแข็งเพื่อให้มีอำนาจต่อรอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
แก้เหลื่อมล้ำ โอน แจกเงิน คนจน ดร.สมชัย ชี้ต้นทุนต่ำ บรรเทาผลกระทบได้ตรงจุดกว่า