- Home
- Isranews
- ข่าว
- จัดซื้อวัวไม่มีหลักฐาน! สตง.สุ่มตรวจกองทุนหมู่บ้านอุดรธานี ยุค 'บิ๊กตู่' ส่อทุจริตเพียบ
จัดซื้อวัวไม่มีหลักฐาน! สตง.สุ่มตรวจกองทุนหมู่บ้านอุดรธานี ยุค 'บิ๊กตู่' ส่อทุจริตเพียบ
เผยผลสอบ สตง. สุ่มตรวจโครงการกองทุนหมู่บ้าน จว.อุดรธานี ปี 59 ยุค บิ๊กตู่ พบโครงการมีความเสี่ยงไม่บรรลุผลสำเร็จ ส่อเกิดปัญหาทุจริตเพียบ จัดซื้อวัวไม่มีเอกสารหลักฐานให้ตรวจสอบก่อนนำของผู้อื่นมาสวมสิทธิ์แทน ปธ.ชุมชนศรีผดุง นำปุ๋ยเคมีไปใช้ส่วนตัว ส่วนแห่งอื่นเอาเงินให้ญาติกู้ยืมใช้ปย. จัดซื้อตู้น้ำมันหยอดเหรียญ-น้ำประปาพลังงานแสงอาทิตย์แพงกว่าท้องตลาด จี้ ผู้บริหารสทบ.แก้ไขปัญหาด่วน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปรายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานสุ่มตรวจโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในพื้นที่ จังหวัดอุดรธานี ประจำปี 2559 จำนวน 95 กองทุน 107 โครงการ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 47.50 ล้านบาท พบประเด็นข้อตรวจพบส่าคัญหลายประการ อาทิ การดำเนินงานโครงการมีความเสี่ยงต่อการบรรลุถึงผลสำเร็จของโครงการ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง และไม่เป็นไปตามระเบียบ คู่มือ แนวทางและวิธีการที่กำหนด การใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามกิจกรรมที่ก่าหนดไว้หรือเป็นการใช้จ่ายเงินเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในราคาสูงกว่าราคาตามท้องตลาด นอกจากนี้ การดำเนินงานยังไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา/ใบสืบราคา เสนอราคา
โดยในประเด็นดำเนินการโครงการที่มีความเสี่ยงต่อการบรรลุถึงผลสำเร็จของโครงการ พบว่ามีจำนวนถึง 93 กองทุน จากทั้งหมด 95 กองทุน คิดเป็นร้อยละ 97.89 มี 3 กองทุน ที่การบริหารจัดการมีความไม่โปร่งใส่ หรือไม่สามารถตรวจสอบได้ คือ 1.กองทุนหมู่บ้านป่าเลา หมู่ 2 ตำบลศรีธาตุ อำเภอศรีธาตุ ไม่มีเอกสารหลักฐานในการบริหารโครงการให้ตรวจสอบ และนำวัวของผู้อื่นมาสวมสิทธิ์แอบอ้างเป็นวัวของโครงการ 2.กองทุนหมู่บ้านศรีชมชื่น หมู่ 11ตำบลนิคมสงเคราะห์ อำเภอเมืองอุดรธานีเอกสาร หลักฐานไม่ตรงตามข้อเท็จจริงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการจัดซื้อวัวทั้งหมดจำนวนเท่าใด 3. กองทุนชุมชนศรีผดุง หมู่ 7 ตำบลศรีสุทโธ อำเภอบ้านดุง ประธานกองทุนฯ นำปุ๋ยเคมี ไปใช้ส่วนตัวโดยไม่ได้ทำเอกสารหลักฐานการซื้อขายหรือเอกสารสัญญากู้ยืมปุ๋ย แต่ได้นำชื่อของสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน (เงินทุนหมุนเวียน) ที่ไม่ได้ซื้อปุ๋ยมาทำสัญญากู้ยืมปุ๋ยแทนตนเองโดยที่สมาชิกที่ถูกนำชื่อมาทำสัญญาไม่ได้รับทราบ
จากการตรวจสอบยังพบว่า มีกองทุนหมู่บ้านฯ ไม่ได้นำเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรไปดำเนินกิจกรรมตามแผนการใช้จ่ายเงินที่ได้เสนอโครงการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ และตามที่อนุมัติ โดยนำเงินงบประมาณที่ได้รับไปดำเนินโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยนำไปจัดซื้อที่ดินและปรับปรุงพื้นที่เพื่อก่อสร้างที่ทำการกองทุนหมู่บ้าน หรือมีการนำเงินบางส่วนไปปรับปรุงพื้นที่ ต่อเติมบ้านพักซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลเพื่อให้กองทุนหมู่บ้านฯ เช่าเป็นสถานที่ดำเนินโครงการ และมีการนำเงินเหลือจ่ายไปใช้ส่วนบุคคล
โดยมีกองทุนหมู่บ้าน จำนวน 8 กองทุน ไม่ได้นำเงินรายได้ของกองทุนมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการซื้อสินค้ามาจ่าหน่ายให้กับประชาชน และไม่ได้นำเงินฝากเข้าบัญชีประชารัฐ แต่นำเงินดังกล่าวไปให้คณะกรรมการฯ สมาชิก ประชาชน หรือญาติของตนเองกู้ยืมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ส่วนบุคคล และบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการกู้ยืมเงินส่วนใหญ่เป็นคณะกรรมการผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นบุคคลเพียงบางกลุ่ม
ส่วนการที่สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้กำหนดแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างให้กับคณะผู้รับผิดชอบการจัดซื้อจัดจ้าง ทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้าง ไม่ต้องอิงระเบียบของทางราชการ แต่มีการกำหนดว่าวัสดุอุปกรณ์ ต้องมีคุณภาพดี ราคาเหมาะสม จากการตรวจสอบกองทุนที่ดำเนินการโครงการตู้น้ำมันหยอดเหรียญและโครงการน้ำประปาพลังงานแสงอาทิตย์ มีการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ ในราคาสูงกว่าราคาท้องตลาดหลายโครงการ ทำให้ราชการเสียหาย
เบื้องต้น สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งถึงผู้บริหารสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ทั้งในส่วนจังหวัดอุดรธานี และส่วนกลาง รับทราบปัญหาเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และดำเนินการสอบสวนเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงานของกองทุนต่างๆ ที่ตรวจสอบพบปัญหาความไม่โปร่งใสด้วย
ทั้งนี้ เกี่ยวกับข้อมูลการดำเนินงานโครงการกองทุนหมู่บ้านนั้น เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินทุนให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจำนวน 79,556 กองทุน ผ่านสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กองทุนละไม่เกิน 500,000 บาท ภายใต้วงเงินรวม 3.5 หมื่นล้านบาท โดยกองทุนหมู่บ้าน ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ได้รับอนุมัติโครงการและงบประมาณ จำนวน 1,839 กองทุน จำนวน 1,979 โครงการ เป็นเงิน 918.36 ล้านบาท