ทปอ. มติ กก.สภามหาวิทยาลัย ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน -เตรียมชง ป.ป.ช. ทบทวน
ข้อสรุปที่ประชุม ทปอ. เห็นด้วยให้ "อธิการบดี-รองอธิการบดี" ยื่นบัญชีทรัพย์สินตามประกาศ ป.ป.ช. ยกเว้น "กรรมการสภามหาวิทยาลัย" เหตุไม่มีส่วนได้ส่วนเสียบริหารงาน มีหน้าที่วิชาการเป็นหลัก ขณะที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านการยกเว้นการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเหล่าสภามหาวิทยาลัย
จากกรณีที่กรรมการสภามหาวิทยาลัย และอีกหลายองค์กรของรัฐทยอยลาออกจากการเป็นกรรมการ เนื่องจากต้องแจ้งและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามประกาศกำหนดตำแหน่งผู้ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 7 พฤศจิกายน เวลา 15:30 น. ณ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นัดประชุมหารือถึงประเด็นการกำหนดตำเเหน่งนายกสภาเเละกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเเละหนี้สิน หลังมีข่าวกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภามหาวิทยาลัยหลายคนเตรียมลาออก ซึ่งในการประชุมวันนี้มีการเชิญตัวแทนจากที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) ร่วมประชุมหารือด้วย
โดยภายหลังการหารือร่วมกันกว่า 3 ชั่วโมง ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีเเห่งประเทศไทย (ทปอ.) เเถลงผลข้อสรุปว่า
1.ที่ประชุมอธิการบดีเห็นด้วยในหลักการป้องกันเเละตรวจสอบมิให้มีการทุจริตในภาครัฐ ดังนั้นผู้บริหารมหาวิทยาลัยระดับสูง ได้เเก่ อธิการบดี เเละรองอธิการบดี จึงสมควรยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ตามที่กำหนดในประกาศ เเต่การที่กำหนดให้กรรมการสภามหาวิทยาลัย ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับด้านวิชาการเป็นหลัก เช่น ให้ข้อเสนอเเนะนโยบายด้านการเรียนการสอน การวิจัยเเละนวัตกรรม การอนุมัติหลักสูตร การอนุมัติการให้ปริญญา เเละการอนุมัติตำเเหน่งทางวิชาการ กรรมการสภามหาวิทยาลัยมิได้มีอำนาจเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐโดยตรง อันอาจจะทำให้เกิดการทุจริตในตำเเหน่งหน้าที่ กรรมการสภามหาวิทยาลัยจึงไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารหรือเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร จึงไม่มีความจำเป็นที่จะกำหนดให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อกรรมการ ป.ป.ช.
2.ผลกระทบจากประกาศฉบับนี้ทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยบางเเห่งไม่ประสงค์จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพราะเหตุว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินเเม้นจะเป็นการเเสดงความบริสุทธิ์ใจตามหลักการตรวจสอบ เพื่อธรรมาภิบาลก็ตาม เเต่ก็สร้างภาระเเก่ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินมากเกินควร รวมทั้ง จำเป็นต้องยื่นทรัพย์สินของคู่สมรสเเละบุตรที่เป็นผู้เยาว์อีกด้วย ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศเพียง 60 วัน จึงไม่เพียงพอต่อการยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ถูกต้อง ครบถ้วนได้ หากยื่นบัญชีผิดพลาดเเม้มิได้เจตนา ก็อาจมีโทษทางอาญาเเละถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกดังเช่นที่เป็นข่าวอยู่เสมอ จึงได้มีกรรมการสภามหาวิทยาลัยบางเเห่งได้ยื่นใบลาออกจากตำเเหน่ง ส่งผลกระทบให้สภามหาวิทยาลัยบางเเห่งที่กรรมการได้ลาออกไปมีกรรมการสภาไม่ครบองค์ประชุม ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ อันจะทำให้เกิดผลเสียต่อการบริหารงานของมหาวิทยาลัย เเละนิสิตนักศึกษา ที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเเห่งนั้น
จึงเห็นควรเสนอให้กรรมการป.ป.ช. ได้พิจารณาทบทวนข้อกำหนดในประกาศฉบับดังกล่าวให้มีความเหมาะสมกับการบริหารงานของมหาวิทยาลัย
ขณะที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ล่าสุดได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง คัดค้านการยกเว้นการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเหล่าสภามหาวิทยาลัย
ใจความในแถลงการณ์ ระบุว่า
ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ม.234(3) บัญญัติให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอํานาจกําหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลต่างๆ ดังกล่าว ตามพรป. ป.ป.ช.2561 ม. 4 ม.28(3) ประกอบ ม.102
ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้ออกประกาศ เรื่อง กําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 แล้วและจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนด 30 วัน ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีตำแหน่งตามประกาศต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินภายในวันที่ 1 ธ.ค.2561 โดยบิดพลิ้วไม่ได้ เพื่อความโปร่งใส และตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาล
แต่ทว่ากลับปรากฏว่ามีบรรดานายกสภาและกรรมการมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐบางท่านและบอร์ดวิชาชีพต่าง ๆ ไม่ต้องการที่จะเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน โดยเตรียมลาออกจากตำแหน่งหรือพยายามที่จะกดดันหรือผลักดันให้มีการแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าว กระทั่งมีข้อเสนอให้ใช้ ม.44 เพื่อยกเว้นให้กับตนเองและพวกเสียนั้น
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยขอคัดค้านการดำเนินการดังกล่าว เพราะเป็นการทำลายเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างน่าละอาย แม้การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน ภรรยาและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ อาจจะเป็นข้อยุ่งยากอยู่บ้าง แต่เมื่อท่านทั้งหลายเหล่านั้นยอมที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง มามีอำนาจชี้ขาดทั้งทางตรงและทางอ้อม กินเงินเดือน เงินเบี้ยเลี้ยงจากภาษีประชาชน ย่อมต้องมีสำนึกรับผิดชอบที่จะต้องแสดงออกถึงความโปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อที่จะได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักศึกษาและข้าราชการระดับล่างได้ปฏิบัติตามในอนาคต และต้องคำนึงไว้เสมอว่าในยุคนี้เป็นยุคของการปฏิรูป การใช้พฤติกรรมแบบเดิม ๆ คือการบริหารแบบอยู่หลังฉาก แล้วใช้นอมินีมาสั่งการแทนตนนั้นเป็นเรื่องที่ล้าสมัยในยุคโบราณเต่าล้านปีไปแล้ว ซึ่งในแต่ละปีๆ งบประมาณในสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐและในสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดของรัฐหรือองค์กรวิชาชีพมีการตั้งและใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมาก ซึ่งมักปรากฏเป็นข่าวอยู่เนือง ๆ ต่อการใช้อำนาจของบอร์ดในการเล่นพรรคเล่นพวก การประมูลงาน จนกระทั่งมีการฟ้องหรือร้องเรียนกันอยู่เสมอ
ดังนั้นในเมื่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ทุกท่านต้องแสดงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เมื่อเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่สังคมยกย่องว่าเป็นคนดี ก็พึงต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้น หรือเล่นแง่ที่จะขอข้อยกเว้นเหนือผู้อื่น หากทรัพย์สินความร่ำรวยของท่านได้มาโดยสุจริต ก็ไม่ควรที่จะปกปิดแต่อย่างใด เว้นเสียแต่ความร่ำรวยนั้นมาจากการคอร์รัปชั่นโดยที่ไม่มีใครเคยตรวจสอบมาก่อนเท่านั้น ถ้าเช่นนั้นก็จงรีบลาออกไปเสีย เพราะยังมีคนที่ดีจริง คนมีความรู้ความสามารถ และมีความพร้อมที่จะเข้ามาทำงานเพื่อส่วนรวมอยู่อีกมากเต็มทั้งแผ่นดิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ไม่ใช่เรื่องเล็ก! 'บิ๊กตู่'สั่ง'วิษณุ'ถก ป.ป.ช. ปมตำแหน่ง จนท.รัฐเปิดเผยทรัพย์สิน
ผ่าปมร้อน! กฎหมาย ป.ป.ช.ใหม่ เช็คตำแหน่ง ‘บิ๊ก'หน่วยงานรัฐต้อง‘เปิดเผย’ทรัพย์สิน
เพื่อความโปร่งใส! ปธ.ป.ป.ช.ลั่น‘บิ๊กมหาวิทยาลัย’ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน
อ้างประกาศป.ป.ช.ทำป่วน!'ดํารง พุฒตาล' ลาออกกก.สภามหาวิทยาลัย 2 แห่ง