เครือข่ายแผงลอยฯ จี้รบ. เร่งรัดบรรเทาผลกระทบจัดระเบียบหาบเร่ ชี้ 60 วันแล้วไม่คืบ
เครือข่ายแผงลอยไทยจี้คกก. ชุด รมว.มหาดไทย เป็นประธาน เร่งรัดบรรเทาผลกระทบจัดระเบียบขายของริมทางเท้า หลังผ่านมาเกือบ 60 วัน ไม่คืบหน้า ไร้วี่แววเชิญผู้แทนกลุ่มค้าเข้าร่วม
วันที่ 29 ต.ค. 2561 เครือข่ายวิชาการสร้างเมืองเพื่อทุกคน ร่วมกับเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จัดแถลงข่าว เรื่อง “แผงลอยกับเมือง จัดการปัญหา หันหน้าคุยกัน” เพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการบรรเทาผลกระทบจากการจัดระเบียบสังคม ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2561 เร่งรัดจัดประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาแผงลอย-หาบเร่ ในกทม. อย่างเป็นธรรม โดยต้องเชิญผู้แทนกลุ่มผู้ค้าเข้าร่วมด้วย ณ ห้องประชุมจั๊คส์ อัมโยต์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายเรวัต ชอบธรรม ประธานเครือข่ายแผงลอยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เปิดเผยว่า กทม.มีผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย กว่า 3 แสนราย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ค้าจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบของรัฐบาล ถูกผลักดันออกจากพื้นที่เดิม จนได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากไม่มีแหล่งค้าขายใหม่รองรับที่เหมาะสม ทำให้ขาดรายได้มาจุนเจือครอบครัว ผู้ค้าบางรายเครียด เสียสติ หรือถึงขั้นเสียชีวิต เพราะค้าขายไม่ได้ จนสูญเสียอาชีพ ทั้งที่หาบเร่-แผงลอย เป็นพื้นฐานแรกการดำเนินชีวิตของผู้ด้อยโอกาส เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างฐานะครอบครัว
“ผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย เป็นผู้กระจายสินค้า ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และไม่เคยเรียกร้องของบประมาณจากรัฐบาล” ประธานเครือข่ายแผงลอยฯ กล่าว และระบุถึงงานวิจัยพบว่า อาชีพดังกล่าวสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ เฉพาะกทม. สูงถึง 1 แสนล้านบาท/ปี และหากรวมอีก 76 จังหวัด จะกลายเป็นเงินจำนวนมหาศาล แม้รายได้นี้จะไม่ได้จัดอยู่ในระบบของตาม
นายเรวัต ชอบธรรม ประธานเครือข่ายแผงลอยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายเรวัต กล่าวต่อว่า รัฐบาลไม่ได้ยกเลิกหาบเร่-แผงลอย ทั้งหมด เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น แต่เชื่อมั่นว่า อนาคตจะจัดสรรพื้นที่ใหม่หรือพื้นที่เดิมให้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ต้องรอคณะกรรมการบรรเทาผลกระทบฯ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน มีมติออกมา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ใกล้จะครบ 60 วันแล้ว แต่คณะกรรมการชุดดังกล่าวยังไม่เรียกให้ผู้แทนผู้ค้าเข้าชี้แจงถึงผลกระทบจากนโยบายการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย และหากครบกำหนดวันที่ 10 พ.ย. 2561 ยังไม่มีความคืบหน้า อาจจะรวมตัวกันเพื่อไปทวงถามรัฐบาลจะช่วยเหลืออย่างไร
ทั้งนี้ เครือข่ายผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย ได้ประชุมกันระหว่างรอมติคณะกรรมการ โดยขอให้มั่นใจว่าจะไม่ให้บริเวณที่มีการค้าขายสกปรก แบ่งพื้นที่การค้าบนฟุตปาธ ให้ประชาชนสัญจรไปมาได้สะดวกตามที่ กทม.เคยกำหนดว่า ต้องไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร และจะไม่กีดขวางการจราจร จอดรถเข็นริมถนน นำเก้าอี้ไปวาง เป็นต้น
รศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
ด้านรศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า ผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย มีบทบาทหน้าที่คือการมีงานทำและลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งในส่วนผู้ขาย ซึ่งมีโอกาสจำกัดในการทำงาน และผู้ซื้อต้องการเข้าถึงสินค้าและราคาถูก ดังนั้น ต้องยอมรับร่วมกันว่า เป็นความจำเป็นและต้องจัดการ หน่วยงานที่มีบทบาทดูแลเมือง ต้องไม่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปมากกว่านี้ การให้สัมภาษณ์กับสื่อเกี่ยวกับหาบเร่-แผงลอยในแง่ลบ เช่น อาหารสกปรก ขอให้หยุดการกระทำนั้น เพราะมองว่า ไม่ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น อีกทั้งคนจะตั้งคำถามว่า แล้วทำอะไรกันอยู่ ถึงปล่อยให้เหตุการณ์เกิดขึ้นมาได้
“ให้ยอมรับร่วมกันว่า ต้องอยู่ร่วมกันได้ การค้าขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และทุนข้ามชาติ ต้องอยู่ด้วยกันได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ร้านสะดวกซื้อทำอะไรก็ได้ ทั้งที่ความจริงแล้ว กลุ่มหาบเร่-แผงลอย เป็นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ที่ทำให้เศรษฐกิจของ กทม.เดินต่อไปได้” นักวิชาการด้านสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 222/2561 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบรรเทาผลกระทบจากการจัดระเบียบสังคม มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รองประธาน และกรรมการอีก 12 ราย ได้แก่ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลชาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ตามที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย
โดยประธานกรรมการต้องแต่งตั้งผู้แทนชุมชนหรือผู้ได้รับผลกระทบหรือผู้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว อันเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของคณะกรรมการเข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการในระเบียบวาระดังกล่าวนั้นด้วย โดยมีจำนวนไม่เกิน 3 ราย แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ .