องค์การอนามัยโลก ชงโยก ศปถ. สังกัดสำนักนายกฯ แทนกรม เพิ่มบทบาททำงานลดอุบัติเหตุ
วงหารือร่วม ครั้งที่ 3 หาทางออกอุบัติเหตุบนถนน คาดการณ์ไทยลดการสูญเสียครึ่งหนึ่ง ส่งผลจีดีพีโตสูงสุด 6% จากเดิม 4% ในปี 61 เหตุภาระรายจ่ายรัฐน้อยลง ด้านผู้แทนองค์การอนามัยโลก พบไทยใช้กลไกแก้ปัญหาไม่เต็มที่ เสนอโยกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยฯ ขึ้นกับสำนักนายกฯ หรือกระทรวง แทนระดับกรม หวังเพิ่มอำนาจ
วันที่ 22 ต.ค. 2561 โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย พ.ศ. 2561-2564 แผนงานความปลอดภัยทางถนน โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก จัดกิจกรรม Big Talk 3 นโยบายพรรคการเมืองบนทาง 3 แพร่ง “ลดความสูญเสียบนถนน 3 ด้าน เศรษฐกิจ สังคม นโยบาย” ณ รร.แกรนด์ ฟอร์จูน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผอ.ศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์กรอนามัยโลก เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์การสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ไม่ได้มีเพียงการเสียชีวิต แต่ที่ผ่านมามีการบาดเจ็บมากกว่า 1 ล้านราย/ปี และพิการมากกว่า 4 หมื่นราย/ปี ทำให้ไทยได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ของโลก ทั้งในแง่ประเทศที่มีการเสียชีวิตมากที่สุดในโลก มีคนขับรถเลวร้ายที่สุดในโลก และถนนอันตรายที่สุดในโลก
“คาดการณ์มูลค่าการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ. 2557 น่าจะมีการสูญเสียมากกว่า 5 แสนล้านบาท หรือประมาณ ร้อยละ 5 ของจีดีพี”
ผอ.ศูนย์ความร่วมมือฯ ยังระบุถึงการศึกษาของ ศ.ดร.พิชัย ธานีรณานนท์ ซึ่งได้รับการอ้างอิงมากที่สุดในขณะนี้ พบมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (บาท/ราย) กรณีเสียชีวิต 4.6 ล้านบาท, พิการ 5.4 ล้านบาท, บาดเจ็บสาหัส 1.2 แสนบาท, บาดเจ็บเล็กน้อย 30,461 บาท และทรัพย์สินเสียหาย 40,220 บาท
ทั้งนี้ หากไม่มีการสูญเสียทางเศรษฐกิจบนท้องถนนหรือลดเหลือครึ่งหนึ่ง คาดการณ์ว่า จีดีพีจะเพิ่มเป็นสูงสุดเป็นร้อยละ 6 จากเดิม ร้อยละ 4 ในปี พ.ศ. 2561 เพราะรายจ่ายของภาครัฐลดลง
ด้าน Dr.Liviu Vedrasco ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. 2559 องค์การอนามัยโลกได้สนับสนุนการศึกษาเรื่องสถาบันและกฎหมายในประเทศไทยเกี่ยวกับถนนปลอดภัย ซึ่งพบว่า ประเทศไทยมีโครงสร้างและกลไกการทำงานอยู่แล้ว แต่อาจยังไม่มีประสิทธิภาพ และมีข้อท้าทายในด้านความสามารถเชิงวิชาการ การประสานงาน และบูรณาการ
“ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบของไทย อยู่ภายใต้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน” ผู้แทนองค์การอนามัยโลก กล่าว และว่า ศูนย์อำนวยการฯ ดังกล่าว ค่อนข้างเป็นหน่วยงานเล็กมากในกระทรวง ทำให้ขาดอำนาจในการบูรณาการอย่างทั่วถึง
Dr.Liviu ระบุถึงข้อเสนอให้มีการปรับปรุงกลไกให้ศูนย์อำนวยการฯ เป็นหน่วยงานเฉพาะกิจ อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี หรือกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เพื่อให้มีอำนาจรับผิดชอบเต็มที่และภายใต้การกำกับของรัฐมนตรี โดยไม่ใช่หน่วยงานย่อมในระดับกรมเหมือนปัจจุบัน
ส่วนเชิงกฎหมาย ผู้แทนองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า มีกฎหมายความปลอดภัยทางถนนอยู่แล้ว แต่ค่อนข้างมีความล้าสมัย เนื่องจากมีอายุมากกว่า 40 ปี อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการทบทวนกฎหมาย เช่น เรื่องความเร็ว หมวกนิรภัย เบาะสำหรับเด็ก และแอลกอฮอล์ ค่อนข้างดี แต่กลับพบปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้ยังไม่ดีพอ
ภาพประกอบ:http://www.konkao.net/read.php?id=23081