เปิดสูตรฝ่ายเอา vs ไม่เอา‘บิ๊กตู่’ ตัวแปรคนนั่งเก้าอี้ หน.ปชป.-พท.มืดแปดด้าน?
“…จะเห็นได้ว่า ‘ฝ่ายเอาประยุทธ์’ ค่อนข้างได้เปรียบอย่างมากในช่วงนี้ แม้จะการันตี ส.ส. ได้น้อยกว่า พรรคเพื่อไทย ก็ตาม แต่หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงการดีลให้พรรคขนาดกลางมาร่วมรัฐบาลค่อนข้างมีภาษีกว่ามาก และหากโหวตเลือกในสภาไม่ได้ ก็ยังมีช่องให้ ส.ว. 250 เสียงมาโหวตเลือก ‘บิ๊กตู่’ การันตีเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัยได้ด้วย…”
ฝุ่นควันเริ่มจางลง เริ่มมองเห็นตัวละครทางการเมืองชัดเจนมากขึ้นแล้ว!
โดยเฉพาะในห้วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจนมาถึงต้นสัปดาห์นี้ ที่หลายพรรคการเมืองเริ่มขยับ ผู้บริหารระดับสูงในพรรคเริ่มหารือกันอย่างเปิดเผย โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่+1 กลุ่มการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มสามมิตร ที่ถือเป็น ‘คีย์แมน’ สำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต ประกอบด้วยพรรคขนาดกลาง เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรครวมพลังประชาชาติไทย (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อยู่เบื้องหลัง) ส่วนพรรคขนาดเล็กที่อาจเข้ามามีบทบาทอยู่บ้าง เช่น พรรคพลังชล ที่ค่อนข้างชัดเจนว่าอยู่ฝั่งไหน และพรรคอนาคตใหม่ ที่อนาคตไม่ค่อยแน่นอนนัก
โดยเฉพาะ ‘สูตรใหม่’ ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยเขียนไปในช่วงสัปดาห์ที่แล้วว่า พรรคเพื่อไทย อาจเดินเกม ‘เซอร์ไพรส์’ โหวตเลือก ‘เดอะมาร์ค’ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เถลิงสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกคำรบ เพื่อแก้เผ็ดฝ่ายทหาร (อ่านประกอบ : กางสูตรเลือก หน.พรรค-นายกฯ‘เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์’ เป็นไปได้ไหมร่วมมือกันตั้ง รบ.?)
เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่า พรรคเพื่อไทยเริ่มใช้สูตรนี้ โดยส่งนายโภคิน พลกุล อดีตนักการเมืองชื่อดัง ไปคุยกับนายอภิสิทธิ์ ที่สำนักกฎหมายธรรมนิติ ว่ากันว่าคุยกันถึงขั้นจะยกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้คนในประชาธิปัตย์ แม้พรรคเพื่อไทยจะได้เสียงมาเป็นลำดับหนึ่งก็ตาม เพื่อจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล ล้มเครือข่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปิดช่องไม่ให้ 250 ส.ว. ที่ คสช. ตั้งมากับมือ โหวตเลือก ‘บิ๊ก คสช.’ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี (อ้างอิงข่าวจาก ไทยโพสต์)
อย่างไรก็ดีทางเลือกนี้ของฝ่ายพรรคเพื่อไทย แม้จะมีโอกาสไม่ถึงขั้น ‘ริบหรี่’ แต่ก็ ‘ยาก’ เต็มที เนื่องจาก
1.ในการประชุมกรรมการบริหารพรรค เพื่อโหวตเลือกหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคที่จะถึงนี้ นายอภิสิทธิ์ ต้องได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง ถึงจะดำเนินการได้ นอกจากนี้จะต้องไม่มีการใส่ชื่อ ‘คนอื่น’ ลงในบัญชีเลือกนายกรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์นอกเหนือจากนายอภิสิทธิ์ด้วย
2.ว่ากันว่า ขณะนี้ ส.ส.บางกลุ่มในพรรค เริ่มเดินเกมกดดันให้การเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ ใส่ชื่อ ‘บิ๊กตู่’ ลงในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี เพื่อ ‘แทงกั๊ก’ หากได้เก้าอี้ ส.ส. ไม่ครบตามเป้า เผื่อ ‘กลับลำ’ โหวตสวนฝ่ายนายอภิสิทธิ์ เลือก ‘บิ๊กตู่’ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัย ต่อรองโควตา ‘รัฐมนตรี’ ได้
3.ในการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หนนี้ นายอภิสิทธิ์ ที่มี ‘นายหัวชวน’ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคหนุนหลัง ต้องชน ‘ของแข็ง’ อย่าง ‘หมอวรงค์’ นพ.วรงค์ เดชวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ว่ากันว่า มีความชิดเชื้อกับปีก กปปส. ภายในพรรค ซึ่งปีก กปปส. ขณะนี้ค่อนข้างมีอิทธิพลในพรรคคุมกำลัง ส.ส.ภาคใต้ ส่วนใหญ่เอาไว้ หากท้ายที่สุดการดีลไม่ลงตัว นายอภิสิทธิ์ เพลี้ยงพล้ำพ่ายแพ้ให้แก่ นพ.วรงค์ พรรคเพื่อไทยก็อดใช้สูตรนี้ และต้องเริ่มเดินเกมใหม่อีกครั้ง และหาก นพ.วรงค์ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคได้ การใส่ชื่อ ‘บิ๊กตู่’ ลงในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี ย่อมทำได้อย่างง่ายดาย ตามหมากที่ กปปส. วางไว้
แม้ว่ากระแสข่าวที่ค่อนข้างเป็นไปได้ ณ ขณะนี้คือ การวางหมากให้นายอภิสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อไปอีกสมัย เพราะแกนนำพรรคประเมินกันแล้วว่า ไม่น่าได้เก้าอี้ ส.ส. เกิน 80-90 ที่นั่ง ดังนั้นหากพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ ค่อยไปเลือกหัวหน้าคนใหม่จะสง่างามกว่าก็ตาม แต่ก็ไม่แน่เหมือนกันว่าสูตรให้นายอภิสิทธิ์นั่งหัวหน้าอีกสมัยนั้น จะมีการสอดไส้ใส่ชื่อ ‘บิ๊กตู่’ ลงในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีอีกคนหรือไม่ ?
ขณะที่ผู้คร่ำหวอดทางการเมืองหลายราย วิเคราะห์กันว่า ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป ตัวแปรสำคัญอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การควบคุมของกลุ่มสามมิตร และพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นักการเมือง ‘ซูเปอร์ดีล’ อยู่เบื้องหลัง
กลุ่มสามมิตร เริ่มเปิดตัวอดีต ส.ส. ‘เกรดเอบวก’ และ ‘เกรดเอ’ ให้สาธารณชนรับทราบกันไปแล้ว โดยเฉพาะในโซนภาคกลาง ภาคอีสานตอนบน และตอนกลาง ที่เชื่อขนมกินได้เลยว่า จะได้รับเลือกตั้งแน่นอน การันตีอย่างน้อย 50 ที่นั่ง และยังมีนักการเมือง ‘เกรดรอง’ ที่ขับเคี่ยวกับพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ อย่างถึงพริกถึงขิงอีกอย่างน้อย 30 ที่นั่ง ซึ่งกลุ่มสามมิตร และพรรคพลังประชารัฐนี้ ออกตัวชัดเจนว่าหนุน ‘บิ๊กตู่’ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัย
ส่วนพรรครวมพลังประชาชาติไทยของนายสุเทพ เริ่มเดินเกม ‘พลังดูด’ ส.ส.ภาคใต้ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ไปหลายราย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง การันตีเก้าอี้ ส.ส. ให้มากที่สุด หนุน ‘บิ๊กตู่’ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี อีกสมัยเช่นเดียวกัน
ดังนั้นหากแบ่งขั้วการเมืองอย่างกว้าง ๆ ตอนนี้มีอย่างน้อย 2 ฝ่าย ได้แก่ ‘ฝ่ายเอาประยุทธ์’ นำโดยพรรคพลังประชารัฐ ร่วมหัวจมท้ายด้วยพรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคพลังชล ส่วน ‘ฝ่ายไม่เอาประยุทธ์’ นำโดยพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่
ส่วนฝ่ายที่ยัง ‘แทงกั๊ก’ เอาแน่เอานอนไม่ได้ คือ พรรคประชาธิปัตย์ ที่กำลังเกิดศึกภายใน ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย ยังคงดูท่าทีอยู่
จะเห็นได้ว่า ‘ฝ่ายเอาประยุทธ์’ ค่อนข้างได้เปรียบอย่างมากในช่วงนี้ แม้จะการันตี ส.ส. ได้น้อยกว่า พรรคเพื่อไทย ก็ตาม แต่หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงการดีลให้พรรคขนาดกลางมาร่วมรัฐบาลค่อนข้างมีภาษีกว่ามาก และหากโหวตเลือกในสภาไม่ได้ ก็ยังมีช่องให้ ส.ว. 250 เสียงมาโหวตเลือก ‘บิ๊กตู่’ การันตีเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกสมัยได้ด้วย
ส่วน ‘ฝ่ายไม่เอาประยุทธ์’ ลำพังเสียงพรรคเพื่อไทยต่อให้ได้โควตาประมาณ 200 ที่นั่ง แต่พรรคอนาคตใหม่ แม้จะเปิดตัวร้อนแรงในโซเชียลเน็ตเวิร์ค แต่ในโลกความเป็นจริงโอกาสเข้าไปนั่งในสภาเป็นไปได้น้อย อย่างมากที่สุดอาจไม่ถึง 10 ที่นั่งด้วยซ้ำ
ดังนั้นสูตรพรรคเพื่อไทยจับมือพรรคประชาธิปัตย์ จึงอาจเป็นสูตรเดียวที่ล้มเครือข่าย คสช. และฝ่ายทหารลงไปได้ พรรคเพื่อไทยจึงต้องพยายามทำทุกวิถีทางให้เกิดขึ้นให้ได้ แต่การจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องให้ศึกภายในพรรคประชาธิปัตย์สงบลง และเป็นไปตามแผนข้างต้นเสียก่อน
อย่างไรก็ดีนี่เป็นเพียงช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีเวลาอีกอย่างน้อย 2 เดือนเศษกว่าจะเข้าสู่ ‘โหมดเลือกตั้ง’ อย่างจริงจัง จึงต้องรอจับตาดูในช่วง ‘โค้งสุดท้าย’ ว่า ท้ายที่สุดสูตรการเมืองเหล่านี้จะเป็นจริงหรือไม่ และใครจับมือกับใคร คงเห็นกันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น !
อ่านประกอบ :
ทำความรู้จัก‘พรรคเพื่อธรรม’หลัง‘เจ๊แดง’รีแบรนด์ดิ้ง-เหตุผล‘ชินวัตร’มีพรรคอะไหล่?
งดไพรมารีโหวต!คสช.คลายล็อคพรรคการเมือง-ห้ามใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หาเสียง
กกต.ประกาศแล้วจำนวน ส.ส. 77 จังหวัด - กรุงเทพฯ 30 โคราช 14 เชียงใหม่ 9 คน
ตามไปดู กม.ลูก ส.ส.-ส.ว.เลือกตั้งเมื่อไหร่ วุฒิสมาชิกสรรหายังไง-กองทัพจอง 6 ที่
มีผลแล้ว!กม.ลูก ส.ส.-ส.ว. ขีดเส้น กกต. 150 วันกำหนด ลต.-คสช. ตั้ง กก.สรรหา ส.ว.